มาร์กซิสต์เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดหรือไม่ (จบ)

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายของชุดบทความ 3 ตอนจบชื่อ “มาร์กซิสต์เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดหรือไม่”

ซึ่งตอนที่ 1 ได้สรุปภาพรวมโดยสังเขปของทฤษฎีมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม (Classical Marxism) ตามทฤษฎีของนักปรัชญาชาวเยอรมันสองคนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือ คาร์ล มาร์กซ์ และฟรีดิช เองเกลส์ ในลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_746104

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดนี้จะเป็นที่แพร่หลายและทรงอิทธิพลต่อโลกอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดก็ล้มเหลวจากการนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศคอมมิวนิสต์และรัฐสังคมนิยมอื่นๆ ทั่วโลก

ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีประเทศคอมมิวนิสต์เหลืออยู่เพียง 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ จีน ลาว เวียดนาม คิวบา กับเกาหลีเหนือ

และในบรรดา 5 ประเทศนี้ก็แทบไม่มีประเทศใดเลยที่เป็นรัฐคอมมิวนิสต์จริงๆ หรืออาจมีความเป็นสังคมนิยมน้อยกว่าทุนนิยมไปแล้วก็ได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ https://worldpopulationreview.com/country-rankings/communist-countries)

การที่แนวคิดมาร์กซิสต์ไม่ประสบความสำเร็จในการนำมาใช้และพ่ายแพ้แก่ทุนนิยมไปอย่างราบคาบนี้ทำให้เกิดคำอธิบายมากมายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

บทความนี้หยิบยกเหตุผลบางส่วนที่ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดมาร์กซิสต์มีความบกพร่องอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาจับกับสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน

โดยอ้างอิงจากบทความเรื่อง “Eight Criticisms of the Traditional Marxist View of Society” หรือ “ข้อวิจารณ์แปดประการต่อทัศนะทางสังคมของแนวคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม” ของคาร์ล ทอมป์สัน (Karl Thompson) ทางเว็บไซต์ https://revisesociology.com

 

บทความตอนที่ 1 บอกเล่าคำอธิบาย

ข้อ 1.โครงสร้างทางชนชั้นในปัจจุบันสลับซับซ้อนกว่าในอดีตมาก จึงไม่สามารถวิเคราะห์สภาพสังคมว่าเป็นแค่ความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพได้

ส่วนข้อ 2-5 อยู่ในตอนที่ 2 ได้แก่ 2.ระบบทุนนิยมในปัจจุบันมีการกดขี่ขูดรีดน้อยลง 3.การควบคุมฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายความว่าจะสามารถควบคุมโครงสร้างส่วนบนได้ 4.แนวคิดเรื่องจิตสำนึกที่ผิดพลาดถูกตั้งคำถาม 5.ความแปลกแยกลดน้อยลงในปัจจุบัน ตามลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_747409

สำหรับฉบับนี้เป็นตอนสุดท้าย เป็นการเล่าต่อในข้อที่เหลือคือ 6-8 ดังนี้

 

6.ทุนนิยมเปลี่ยนไปและรับใช้คนหมู่มาก

มาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมเป็นแนวคิดแบบ “นิยัตินิยมทางเศรษฐกิจ” (Economic Determinism) หมายความว่าเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความเป็นไปต่างๆ ทางสังคม ซึ่งมาร์กซ์มองว่ากฎหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบคนจน และทำให้คนรวยยิ่งมั่งคั่งขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ทอมป์สันชี้ว่า “ระบบทุนนิยมโลก” (Global Capitalist System) มีวิวัฒนาการที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีฐานะดีขึ้น ถึงแม้ว่ายิ่งนานวันคนรวยจะยิ่งมั่งคั่งขึ้นก็ตาม แต่ความอดอยากยากแค้นก็ลดลงด้วย รูปการณ์ที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นนี้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่าสามสิบปีแล้ว

แต่ละสังคมซึ่งมีลักษณะที่ไม่เหมือนกันก็ตอบสนองต่อระบบทุนนิยมที่แตกต่างกัน บางแห่งกลายเป็น “เสรีนิยมใหม่” (Neo-Liberalism) เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปกลายเป็น “ประชาธิปไตยเชิงสังคม” (Social Democracy) และใช้รัฐเป็นกลไกในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการถูกกดขี่ขูดรีดของทุนนิยม ดังที่เห็นอย่างแพร่หลายในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

การที่รัฐเป็นผู้ควบคุมทุนและตลาดทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นกว่าในโลกทุนนิยมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แม้จะเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพอยู่ด้วยก็ตาม แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเมื่อมองในระยะยาว

เมื่อมองไปที่อินเดียกับจีนซึ่งเป็นสองประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาก็จะเห็นว่ามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด และสามารถใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ ถึงแม้จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันแต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะร่วมอยู่ด้วย คือต่างก็มีการขยายตัวของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

7.ความล้มเหลวของคอมมิวนิสต์

การปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกไม่ได้นำไปสู่ความเสมอภาคและเสรีภาพอย่างที่มาร์กซ์คาดหวัง การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ.1989 เป็นหมุดหมายสำคัญที่บ่งบอกถึงกาลอวสานของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

ส่วนประเทศต่างๆ ที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตก็กลายเป็นประเทศทุนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นทุนนิยมทั้งหมดในเวลาต่อมา ไม่เว้นแม้กระทั่งพี่ใหญ่ในโลกคอมมิวนิสต์อย่างจีนที่นับวันก็ยิ่งกลายพันธุ์ไปสู่ทุนนิยมขึ้นทุกที

ความล้มเหลวของประเทศคอมมิวนิสต์ทั่วโลกคือประจักษ์พยานที่ทำให้ตระหนักว่ายากที่ระบบใดจะขึ้นมาเป็นตัวเลือกหรือคู่แข่งของระบบทุนนิยมได้ ถึงแม้ว่าพวกมาร์กซิสต์ร่วมสมัยหรือนักคิดมาร์กซิสต์ในยุคปัจจุบันจะอ้างว่าประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกไม่ใช่ “สังคมคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง” (True Communism) ตามทฤษฎีหรือตามอุดมคติของคอมมิวนิสต์ก็ตาม

 

8.แนวคิดมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมเป็นเรื่องเพ้อฝัน

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กล่าวมาแล้วในข้อที่ 4 เรื่อง “จิตสำนึกที่ผิดพลาด” (False Consciousness) ซึ่งอนุมานได้ว่าเมื่อมีจิตสำนึกที่ผิด ดังนั้น จึงต้องมี “จิตสำนึกที่ถูก” (Correct Consciousness) นั่นคือการที่แรงงานตระหนักว่าพวกเขากำลังถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ ส่งผลให้พวกเขาผนึกกำลังกันปฏิวัติสังคมไปสู่การเป็นคอมมิวนิสต์

แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้เป็นการมองโลกในทิศทางเดียวเพราะทัศนะพื้นฐานที่ยึดถือความจริงที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวนั่นเอง

ซึ่งท่าทีเช่นนี้เป็นสิ่งที่พวกนักคิดหลังสมัยใหม่เห็นว่าเป็นปัญหา เนื่องจากแนวคิดสกุล “หลังสมัยใหม่” (Postmodernism) นั้นเชื่อว่าความจริงมิได้มีเพียงหนึ่งเดียว หากแต่มีหลากหลาย และต่างก็จริงอย่างเท่าเทียมกันขึ้นอยู่กับมุมมองของการตีความ

นักคิดหลังสมัยใหม่โต้แย้งมาร์กซ์ว่าการสร้างทฤษฎีใหญ่โตเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้อธิบายโลกอย่างกว้างขวาง (Grand Theorizing) นั้นมันทำไม่ได้

ดังนั้น แทนที่จะพยายามปฏิวัติหรือสร้างสังคมสมบูรณ์แบบตามอุดมคติขึ้นมา ก็ควรที่จะพิจารณาปัญหาแบบเจาะลงไปเป็นเรื่องๆ และมุ่งเน้นในประเด็นเฉพาะของแต่ละสังคมเสียมากกว่า

 

เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้กระจ่างขึ้น ขออธิบายเพิ่มเติมให้ทราบคร่าวๆ เสียก่อนว่าคำศัพท์สำคัญที่นักปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ใช้กันก็คือคำว่า “เรื่องเล่า” (Narrative) ซึ่งมองว่าการอธิบายโลกต้องผ่านการตีความของมนุษย์เสมอ

ดังนั้น คำอธิบายความจริงของโลกนั้นอันที่จริงแล้วคือการตีความสิ่งต่างๆ ผ่านสายตาผู้มองว่าโลกที่เห็นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมีลักษณะเป็นแบบอัตวิสัย (Subjective) คือขึ้นต่อตัวผู้มองเป็นสำคัญ

การตีความสิ่งต่างๆ ที่ออกมาเป็นชุดคำอธิบายและวิธีการอธิบายนี้คือเรื่องเล่าชุดหนึ่ง เมื่อมนุษย์และสังคมมีหลากหลาย คำอธิบายโลกจึงมีมากมายตามไปด้วย ทำให้มีชุดเรื่องเล่าเป็นจำนวนมาก เรื่องเล่าใดที่มีอิทธิพลเหนือเรื่องเล่าอื่นๆ ในสังคม โดยครอบหรือรวบสิ่งต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้คำอธิบายใหญ่เพียงชุดเดียวได้ก็เรียกว่าเป็น “เรื่องเล่าหลัก” ของสังคม ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Grand Narrative” หรือ “Metanarrative”

เรื่องเล่าหลักมีอำนาจในการตีความว่าความจริงเป็นอย่างไรเหนือกว่าเรื่องเล่าอื่นๆ เรื่องเล่าหลักจึงใหญ่โตกว่าเรื่องเล่าเล็กๆ

แต่ไม่ได้หมายความว่านั่นคือ “ความจริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวและเป็นสากล” (Transcendent and Universal Truth)

ในขณะที่เรื่องเล่าอื่นไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด อันที่จริงแล้วพวกนักคิดหลังสมัยใหม่มองว่าเรื่องเล่าอื่นๆ ก็มีสถานะที่เป็นความจริงเช่นกัน เพียงแต่มันไม่ได้พยายามจะอ้างว่าเป็นคำอธิบายความจริงของโลกทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทุกด้านแบบที่เรื่องเล่าหลักทำ

การที่แนวคิดแบบหลังสมัยใหม่มองว่าเรื่องเล่าหลักเป็นเพียงเรื่องเล่าชุดหนึ่งซึ่งพยายามอธิบายความจริงของโลกอย่างใหญ่โตเกินขอบเขต เพราะฉะนั้น จึงไม่ถูกต้องหรือเป็นเรื่องเพ้อฝัน และการที่ทฤษฎีของมาร์กซ์แบบดั้งเดิมก็เป็นเรื่องเล่าหลักชุดหนึ่งของสังคมสมัยใหม่เช่นกัน

ดังนั้น การอ้างความถูกต้องชอบธรรมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมเหนือเรื่องเล่าชุดอื่นจึงเป็นแนวคิดที่ผิดพลาด