การทหารนำการทูตไทย! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำทหารไทยและผู้นำทหารเมียนมานั้น เป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป และว่าที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องเก่าที่เป็นมรดกของยุคสงครามเย็นแต่อย่างใด เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายสงครามเย็น แต่กลับมีพัฒนาการอย่าง “ลึกลับ-ลึกล้ำ-ลึกซึ้ง” อย่างไม่น่าเชื่อ และในหลายส่วนของความสัมพันธ์เช่นนี้ ไม่ชัดเจนว่าอะไรคือผลประโยชน์ของประเทศ อะไรคือผลประโยชน์ส่วนตนของผู้นำทหาร และที่สำคัญหลายครั้งอาจพบว่า เป็นผลส่วนตนของผู้นำทหารทั้งสองฝ่ายด้วย

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองในเมียนมาที่มีผลต่อภูมิภาคครั้งใด ก็มักจะมี “ความเชื่อ” ที่ถูกนำเสนอทั้งในเวทีเปิดและเวทีปิดว่า ผู้นำทหารไทยอาจจะเป็น “ตัวเชื่อม” ที่ดีในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ หรืออย่างน้อยอาจจะเป็นช่องทางในการพูดคุยเพื่อลดทอนความรุนแรงของปัญหา แต่ในอีกด้านก็มีเสียงเตือนให้ตระหนักว่า การเอานโยบายต่างประเทศไทยไปแขวนไว้กับบทบาทของผู้นำทหารอย่างไม่ประสีประสาของรัฐบาลพลเรือนนั้น อาจนำไปสู่ภาวะ “การทหารนำการทูต” ในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้

สำหรับกระแสความเชื่อมั่นต่อบทบาทของกองทัพกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น วางอยู่บน “ภาพลักษณ์” ของผู้นำทหารไทยในความสัมพันธ์กับผู้นำประเทศเพื่อนบ้านในช่วงปลายสงครามเย็น ดังเช่น บทบาทของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นนายทหารที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาความมั่นคงไทยกับสถานการณ์สงครามในประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะในกรณีกัมพูชาและลาว และความสัมพันธ์ของพลเอกชวลิตในเรื่องนี้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทยที่ปฎิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะบทบาทของนายทหารท่านนี้ในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา

จนต้องยอมรับว่า ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทหารในภูมิภาคนั้น พลเอกชวลิตเป็น “กุญแจ” สำคัญดอกหนึ่ง และหากจะมีผู้นำไทยอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทในเรื่องนี้ ก็คงเป็นพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร แต่ก็มีบทบาทในความสัมพันธ์กับทางผู้นำทหารพม่าเป็นด้านหลัก

แต่ในยุคหลังของการเมืองไทย นายทหารระดับสูงของไทยที่จะมีประสบการณ์ในงานด้านการต่างประเทศของกองทัพ ที่ไม่ใช่เป็นในแบบ “รับแขก” ซึ่งเป็นเรื่องของการต้อนรับผู้นำทหารประเทศเพื่อนบ้านที่มาเยือนไทยนั้น ดูจะหาได้ยาก จนต้องกล่าวในยุคปัจจุบันว่า ผู้นำทหารไทยในระดับสูงและฝ่ายอำนวยการรอบตัวไม่มึความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเช่นนี้ ต่างกับผู้นำทหารเมียนมาที่เล่นอยู่ในเวทีสากลมาอย่างยาวนาน จนต้องยอมรับว่า ผู้นำทหารเมียนมาเป็น “นักการเมือง-นักการทูต” ของภูมิภาค ส่วนผู้นำทหารไทยเป็นได้แค่ “นักการเมืองท้องถิ่น” ที่มีบทบาทอยู่กับการต่อสู้ภายใน และไม่มีทักษะทางการทูตในเวทีภูมิภาคแต่อย่างใดด้วย

นอกจากนี้ อาจต้องยอมรับว่าผู้นำทหารในยุคหลังที่มีความสามารถในการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ให้มีความ “ลึกซึ้ง” เช่นในแบบของพลเอกชวลิต หรือพลเอกเชษฐานั้น หาได้ยากมาก ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นเพียง “เรื่องฉาบฉวย” ที่เกิดในงานเลี้ยง งานต้อนรับ งานประชุม หรือแม้อาจจะเกิดในสนามกอล์ฟบ้าง แต่ก็ไม่มีความลึกซึ้งเช่นในอดีต กล่าวคือ ผู้นำทหารไทยในยุคปัจจุบันไม่มีโอกาสที่จะรู้จักการเมืองในภูมิภาค

หากพิจารณาบทบาทของผู้นำทหารในยุคหลังรัฐประหาร 2557 แล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดถึงความเป็นทหารที่อยู่กับ “โลกภายใน” ของสังคมไทย และทั้งมีอาการ “หมกมุ่น” อยู่กับปัญหาการเมืองภายใน ที่พวกเขาจะต้องต่อสู้และเอาชนะฝ่ายต่อต้านรัฐประหารให้ได้ ในอีกด้านหนึ่ง นายทหารระดับสูงเหล่านี้ไม่มีองค์ประกอบหลักของการทำงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศคือ ขาด “ความรู้-ความเข้าใจ-วิสัยทัศน์” ในการมองสถานการณ์ระหว่างประเทศ และเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างผิวเผิน ทั้งไม่เข้าใจถึงความซับซ้อนของปัญหาในเวทีระหว่างประเทศ เช่น มีความเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า ผู้นำทหารไทยจะเป็น “คนกลาง” ในการเจรจายุติศึกในเมียนมา ทั้งที่ปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้ มีปมที่ทับซ้อนกันในเรื่องของปัญหาการสร้างประชาธิปไตย การควบคุมบทบาททางการเมืองของทหาร และการจัดความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในการสร้างสมาพันธ์รัฐ เป็นต้น ซึ่งองค์ความรู้ทางทหารที่พวกเขามีอยู่ในกองทัพอาจไม่ช่วยตอบปัญหาเหล่านี้ได้เท่าที่ควร หรืออาจไม่ช่วยเลย

ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำทหารไทยในส่วนของกองทัพ และสายสัมพันธ์ระหว่างผู้นำรัฐประหารทั้ง 2 ฝ่ายนั้น ทำให้ผู้นำรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย หรือรัฐบาล NUG และบรรดาผู้นำชนกลุ่มน้อย ไม่มีความไว้วางใจต่อทหารไทยแต่อย่างใด ยิ่งปรากฏภาพการเยือนเมียนมาของผู้บัญชาการทหารอากาศในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เพื่อประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งดูจะเป็นหัวข้อที่ “น่าฉงนใจ” สำหรับผู้นำกองทัพอากาศที่จะมาคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมในยามสงคราม ตลอดรวมถึงมีข่าวการเตรียมการเยือนของผู้บัญชาการเหล่าทัพบางคน ภาพเหล่านี้เกิดโดยปราศจากความชัดเจนว่า การเดินทางเยือนของนายทหารระดับสูงนั้น ได้ “ไฟเขียว” จากรัฐบาล หรือเป็นการตัดสินใจอย่างเป็นเอกเทศภายใต้ชุดความคิดแบบ “การทหารนำการทูต” ที่บรรดาผู้นำทหารและฝ่ายอำนวยการบางส่วนในกองทัพคิดเอาเอง โดยปราศจากความละเอียดอ่อนทางการทูต และขาดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางการเมืองต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีทางการทูต

แน่นอนไม่มีใครปฎิเสธว่า การติดต่อระหว่างผู้นำทหารระดับสูงเป็นสิ่งที่ต้องดำรงไว้ แต่การเดินทางเยือนของผู้นำทหารระดับสูงในภาวะเช่นนี้ น่าจะต้องถือว่าเป็น “ความอ่อนหัด” ทางการทูตของฝ่ายไทย เพราะผู้นำทหารเมียนมาสามารถนำภาพการเยือนมาขยายผล ซึ่งจะทำให้เกิดการตีความว่าเป็นการสนับสนุนที่ใกล้ชิดของรัฐบาลและกองทัพไทย ภาพเช่นนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากสื่อของรัฐบาลทหารคือ “The Global New Light of Myanmar” ซึ่งต้องยอมรับว่า ภาพดังกล่าวไม่น่าเป็น “ผลบวก” ต่อการต่างประเทศไทยในขณะนี้แต่อย่างใด

วันนี้ รัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็น “ผู้กำหนด” นโยบายต่อปัญหาเมียนมา แม้กองทัพจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการทำนโยบาย แต่กองทัพไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย และไม่มีอำนาจในการดำเนินนโยบายอย่างเป็นเอกเทศ การกล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่า รัฐบาลจะไม่ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในนโยบายต่างประเทศ หากเป็นการใช้ภายใต้การกำหนดทิศทางของรัฐบาลบนหลักการ “การเมืองนำการทหาร” ในนโยบายต่างประเทศ ซึ่งผลของการไม่ยึดกุมหลักการนี้ จะนำไปสู่ภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” ในการต่างประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าผู้นำทหารคิดเป็น น่าจะต้องยอมรับว่าหมดเวลา “จัดทัวร์ทหาร” ให้ระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพไปเที่ยวเล่น รับของฝาก และถ่ายภาพร่วมกับผู้นำทหารเมียนมาในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะจะส่งผลให้ไทยตกเป็นเป้าหมายของความหวาดระแวงทั้งของรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายชนกลุ่มน้อยอย่างไม่จบสิ้น!