สยามสินธรยุคใหม่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กรุงเทพฯ – โฉมหน้าเมืองหลวงสมัยใหม่ ด้วยพลังขับเคลื่อนพิเศษหลายทาง ให้ไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยเจ้าที่ดินรายใหญ่ ตามแผนการปรับเปลี่ยนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบดั้งเดิม สู่ยุคสมัยใหม่อย่างจริงจัง เป็นระลอกคลื่น

ภาพกว้างๆ นำเสนอไว้ในตอนที่แล้ว (“กรุงเทพฯ เมืองหลวงยุคสมัย” มติชนสุดสัปดาห์ 16 กุมภาพันธ์ 2567) คราวนี้ขอโฟกัส อรรถาธิบายขยายความเกี่ยวกับบริษัทหนึ่งซึ่งดำเนินกิจการมากว่า 3 ทศวรรษ อย่างที่นำเสนอไว้คร่าวๆ ในตอนที่แล้วเช่นกัน

จากยุคแรก “การก่อตั้ง ‘สยามสินธร’ ธุรกิจใหม่ในเครือข่ายสำนักงานทรัพย์สินฯ มีขึ้นปี 2530 ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู เป็นแผนสืบเนื่องจากโครงการอาคารสินธร (ปี 2523) ในฐานะศูนย์กลางการเงิน ที่ตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย…พลิกมาสู่โอกาสทางธุรกิจอย่างเต็มที่ในช่วงตลาดหุ้นไทยขยายตัวอย่างครึกโครม…”

มาสู่อีกยุค

“…สยามสินธร ได้เผชิญปัญหาครั้งใหญ่ ในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ปี 2540 กว่าจะตั้งหลัก และมีการปรับตัวอีกครั้ง ในอีกทศวรรษถัดมา สยามสินธรเข้าสู่ยุคใหม่…”

 

ภาพ “สยามสินธรยุคใหม่” ถือว่าตั้งใจเปิดขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อปีที่แล้ว พิจารณาจาก Website อย่างเป็นทางการ (https://siamsindhorn.com/) ตั้งใจนำเสนอเรื่องราว อย่าง “Living in Sindhorn Village” (May 14, 2023) ในภาคภาษาอังกฤษ มีทั้งคลิป และภาพพร้อมคำบรรยายสั้นๆ อย่างน่าติดตาม (https://siamsindhorn.com/news/ssd202305111528)

ตามมาติดๆ กับการเปิดเผยแผนการปรับโฉม “ดิโอลด์สยาม” ซึ่งมีอายุครบ 30 ปี (มิถุนายน 2566)

ภาพและเรื่องราวนั้น สะท้อนความแตกต่างระหว่างยุคแรกกับอีกยุค ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวทางความเป็นไปของยุคใหม่ ส่วนหนึ่งมาจากการสรุปบทเรียนยุคแรกด้วย

 

หนึ่งทศวรรษของยุคแรก เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีสีสันและโลดโผนอย่างยิ่ง

สยามสินธร เดิมชื่อ สยามพาณิชย์อุตสาหกรรม ก่อตั้งปี 2530 ช่วง ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นกิจการร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ กับ บริษัทแลนด์แอนด์เฮาส์ เริ่มแรกเข้าทำโครงการต่อเนื่องจากอาคารสินธร และโครงการมิ่งเมือง ที่เรียกว่า ดิโอลด์สยามพลาซ่า ในช่วง จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เพิ่งเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ

เริ่มแรกโครงการสินธร โดยมีผู้เช่าหลัก-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างเสร็จในปี 2525 ในช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำ ขณะผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นกิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ และมีค่าเช่าค่อนข้างต่ำ ต่อมาบริษัทสยามพาณิชย์อุตสาหกรรม เข้ามาบริหารพร้อมแผนการใหม่ โครงการใหม่ ในช่วงเวลาธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มบูม สัมพันธ์กับภาวะตลาดหุ้นร้อนแรง จึงกลายเป็นโมเดลความสำเร็จทางธุรกิจอันน่าทึ่ง

ปลายปี 2537 แผนการใหญ่กว่านั้น เริ่มขึ้นด้วยการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัทสยามพาณิชย์อุตสาหกรรมเปลี่ยนชื่อเป็น สยามสินธร สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่ 37.5% เท่าๆ กับแลนด์แอนด์เฮาส์ ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ถือเพียง 25%

แผนการใหญ่ขึ้น ดูเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะเข้าไปเกี่ยวข้อง บริษัท คริสเตียนี และนีลเส็น กับการซื้อกิจการบริษัทแม่ในต่างประเทศ รวมทั้งร่วมทุนกับ โรงแรมดุสิตธานี ขยายการลงทุนและซื้อเครือข่ายโรงแรมในต่างประเทศ ถือเป็นภาวะการลงทุนผิดจังหวะเวลาไปมาก

เมื่อมาเผชิญภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจปี 2540 ผลกระทบจึงรุนแรงและขยายวง ใช้เวลาแก้ปัญหาอยู่หลายปี

 

สยามสินธรยุคใหม่ เริ่มต้นอย่างเงียบๆ ภาพที่ชัดด้วยปรากฏชื่อกรรมการคนใหม่ (ตั้งแต่ปี 2553) – ชุมพล ณ ลำเลียง อยู่ในช่วงเขาเพิ่งพ้นตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี (2536-2548) ไม่นาน

จากข้อมูลทางการเอสซีจี ในฐานะตำแหน่งปัจจุบัน เป็นรองประธานกรรมการ ระบุไว้ด้วยว่า ในช่วงคาบเกี่ยวเข้ามาเป็นกรรมการสยามสินธร ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นกรรมการ Kempinski International SA อยู่ด้วย (2555-2560) รวมทั้ง ปัจจุบันเป็นกรรมการ บริษัท เคบปินสยาม จำกัด (ตั้งแต่ปี 2555) ด้วยเช่นกัน

จากนั้นในปี 2557 สยามสินธร เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีทีมผู้บริหารชุดใหญ่หลายคนเป็นอดีตผู้บริหารเอสซีจีในยุคชุมพล ณ ลำเลียง พร้อมกับเปิดตัวโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ในทำเลใจกลางกรุงเทพฯ บนที่ดิน 56 ไร่ ระหว่างถนนหลังสวนและซอยต้นสน (52 ไร่) กับอีกแปลงถนนหลังสวนติดโรงเรียนมาแตร์เดอี (4 ไร่) เป็นหนึ่งในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ

มีบุคคลสำคัญคนหนึ่งในทีมงาน สยามสินธรยุคใหม่-ชลาลักษณ์ บุนนาค อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2538-2548) มีบทบาทในธุรกิจที่แตกแขนงออกจากธุรกิจหลัก มีประสบการณ์ในดีลสำคัญ โดยเฉพาะกรณีร่วมทุนธุรกิจยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก Michelin เชื่อกันว่า เขาเหมาะกับงานดีลใหญ่ๆ ทั้งกับผู้เช่าที่ดั้งเดิมในย่านสารสิน-หลังสวน และการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ระดับโลก

“ปัจจุบัน สยามสินธรได้ขยายศักยภาพในการพัฒนาโครงการมากมาย ซึ่งรวมถึงโครงการที่อยู่อาศัย สำนักงาน คอมมูนิตี้มอลล์ และโรงแรมในทำเลที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงเทพฯ” ข้อมูลทางการของสยามสินธร ให้ภาพกว้างทางธุรกิจไว้ ขณะมีข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมา แม้เป็นข้อความสั้นๆ แต่มีสาระขยายความบางมิติ

2554-เริ่มพัฒนาโครงการสาธรวิลเลจ 2559-สยามสินธร จำกัดเพิ่มทุนเป็น 15,000 ล้านบาท 2562-โครงการสินธรวิลเลจ พัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์ และปี 2566 กล่าวไว้เป็นภาพใหญ่

“ดำเนินกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการพัฒนาโครงการ และบริหารอาคาร 7 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโรงแรม สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และเบเกอรี่ บริหารอาคารและอื่นๆ”

 

ในนั้น ควรมีเชิงอรรถเรื่องหนึ่งไว้ด้วย หนึ่งในเครือโรงแรมหรูในโครงการสินธรวิลเลจ มีชื่อว่า Sindhorn Kempinsky Hotel Bangkok เชื่อว่าสะท้อนร่องรอย ความสัมพันธ์สยามสินธรสองยุคอย่างมิพักสงสัย

ราวปี 2537 กิจการร่วมทุนระหว่างสยามสินธร กับ ดุสิตธานี ได้เข้าซื้อเครือข่ายโรงแรมในนาม Kempinsky ครั้นเมื่อเผชิญวิกฤต ดุสิตธานีได้ถอนตัวออกไปในปี 2541 ตามที่มีข้อมูลพอจะอ้างอิงได้ในปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ Kempinsky ตั้งแต่ปี 2550 เป็นนักลงทุนในประเทศบาห์เรน

ส่วนฝ่ายไทยคงถือหุ้นข้างน้อย

 

สยามสินธรยุคใหม่ ภายใต้หนึ่งทศวรรษ ช่วงเวลาพอๆ กับภาวะโลดโผนของยุคแรก ดำเนินกิจการในแบบแผนที่แตกต่างๆ

หนึ่ง-มีมุมมองและบทวิเคราะห์กว้างกว่า เชื่อมโยงกับภาพใหญ่ โดยเฉพาะกับช่วงทศวรรษการพัฒนากรุงเทพอย่างครึกโครม โดยพลังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ กับโครงข่ายคมนาคมโดยรัฐ

สอง-โฟกัสทางธุรกิจไปตามแผนด้วยจังหวะก้าวที่ดี กับพื้นที่ในกรรมสิทธิ์สำนักงานทรัพย์สินฯ เท่านั้น

อีกกรณีที่มีนัยยะที่น่าสนใจ-การพลิกโฉมดิโอลด์สยามพลาซ่า เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่ง แนวทางขยายธุรกิจอย่างหลักแหลมและระแวดระวัง

มีที่มาจาก “โครงการมิ่งเมือง” โครงการศูนย์การค้าในใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ กว่าจะเริ่มโครงการได้ ต้องจัดการกับคดีฟ้องร้องกับผู้เช่าเก่าจำนวนหลายราย โครงการสร้างเสร็จในปี 2535 และเปิดดำเนินการในปี 2536

ตลาดมิ่งเมือง เป็นตลาดเก่า มีมาตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ชื่อว่าเป็นย่านการค้าหลักของกรุงเทพฯ สืบเนื่องมา ในทำเลเชื่อมต่อเส้นทางสัญจรสำคัญ ทั้งถนนพาหุรัด ถนนตรีเพชร ถนนเจริญกรุง และถนนบูรพา สู่ยุคปัจจุบันเชื่อมต่อระบบขนส่งทางราง ใกล้ MRT สถานีสามยอด แผนการรีโนเวตครั้งใหญ่ใช้งบฯ 400 ล้านบาท เป็นทั้งความพยายามคงเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมยุค ร.5 ปรับให้เข้าวิถีสังคมปัจจุบัน และสัมพันธ์กับพื้นที่อนุรักษ์เพื่อแหล่งท่องเที่ยว

สยามสินธรยุคใหม่ ได้กลายเป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ รายสำคัญของกรุงเทพฯ ไปแล้ว หากเชื่อมกับสาระในตอนก่อนหน้า จะก้าวต่อไป ส่วนจะพลิกแผนหนึ่งอีกครั้งหรือไม่ เช่นเดียวในยุคแรก เป็นเรื่องน่าติดตาม

นั่นคือ ปี 2538 กับแผนการซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ในการนำสยามสินธรเข้าตลาดหุ้น •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com