กรุงเทพฯ เมืองหลวงยุคสมัย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กรุงเทพฯ – โฉมหน้าเมืองหลวงสมัยใหม่ มีแรงขับเคลื่อนพิเศษให้ไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุด ตามแผนการใหญ่ปรับเปลี่ยนอาคารเชิงพาณิชย์แบบดั้งเดิม สู่ยุคสมัยใหม่อย่างจริงจังต่อไป (อ่านรายละเอียดได้ จากสื่อในเครือมติชน – “เปิดประมูลที่ดิน 7 ทำเลทอง…” ประชาชาติธุรกิจ 7 กุมภาพันธ์ 2567)

ที่ผ่านมา การปรับโฉมกรุงเทพฯ โดยพลังขับเคลื่อนสำคัญ เมื่อมองผ่าน “ตึกรามบ้านช่อง” สะท้อนสอดคล้องยุคสมัย และปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคมช่วงต่างๆ

 

เริ่มเปลี่ยนผ่าน

จาก “ใจกลาง” ยุคสมัยดั้งเดิม

กรณีคลาสสิคมักอ้างถึงเป็นกรณีแรกในยุคแรก เกี่ยวกับ วังบูรพาภิรมย์ (สร้างขึ้นปี 2418) ท่ามกลางและคาบเกี่ยวช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กรุงเทพฯ ครั้งสำคัญ สัมพันธ์กับช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2475) ต่อเนื่องกับสงครามโลกครั้งที่สอง (2482-2488)

ทายาทราชสกุล ภาณุพันธุ์ ได้ตัดสินใจขายวังบูรพาให้กับ โอสถ โกศิน นักกฎหมายและนักธุรกิจยุคนั้น ถือเป็นการ “รื้อวัง” กรณีแรกๆ ซึ่งได้รับความสนใจมากทีเดียวในเวลานั้น สะท้อนกระแสในเวลาต่อมา ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนที่พำนักราชสกุล ไปสู่วงจรเชิงพาณิชย์

อีกกรณีที่สำคัญควรกล่าวถึงด้วย เป็น “ชิ้นส่วน” สัมพันธ์เรื่องราวร่องรอย ยุคอาณานิคม กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่กระบวนการปรับเปลี่ยนใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันสืบเนื่องเป็นโฉมหน้าใหม่กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

ที่ดินผืนใหญ่ย่านราชประสงค์ พื้นที่ประมาณ 65 ไร่ เดิมเป็นวังพระน้องยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ชื่อว่า “วังเพชรบูรณ์” ได้ตกทอดถึงทายาท ระยะต่อมาถูกนำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ธนาคาร เพื่อการบุกเบิกธุรกิจบางอย่าง แต่มีปัญหาจนถูก ธนาคารศรีนคร (ธนาคารของตระกูลเตชะไพบูลย์ ปิดกิจการไปแล้ว ช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540) ยึดที่ดินแปลงนี้ไป

ในที่สุดสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ตัดสินใจเข้าซื้อที่ดินผืนดังกล่าว ในปี 2526 มีผู้เช่ารายใหม่ ตั้งใจสร้างศูนย์การค้าใหญ่ กว่าจะแล้วเสร็จ เปิดตัวต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย

ในที่สุด (ปี 2545) กลุ่มเซ็นทรัล ได้เข้ามารับช่วงบริหาร ด้วยแผนการปรับปรุงครั้งใหญ่ กลายเป็น “เซ็นทรัลเวิลด์” ในปัจจุบัน (เปิดบริการในปี 2549)

 

ขยายวงเปลี่ยนผ่าน

สู่บ้านเรือน โรงเรียน และตึกแถวยุคเก่า

จาก “บ้านศาลาแดง” ถึง “ดุสิตธานี” เป็นอีกกรณีหนึ่ง เป็นภาพสะท้อนกระแสการเปลี่ยนแปลง ขยายวงมากขึ้น จากวังสู่บ้านเรือนขุนนาง กรณีนี้เป็นไปอย่างทับซ้อนกันหลายยุค จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นท่ามกลางโอกาสที่เปิดขึ้นอย่างกว้างขวางสำหรับธุรกิจไทย ในยุคสงครามเวียดนาม กับระลอกคลื่นลงทุนจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะธุรกิจอเมริกัน และตามมาด้วยญี่ปุ่น

“ท่านเสนาบดีจึงเดินลงบันไดไม้สักมาที่เฉลียงหินอ่อน หน้าตึก ‘บ้านศาลาแดง’ รถยนต์ยี่ห้อ Essex จอดติดเครื่องรออยู่แล้ว Essex เป็นรถยนต์สร้างในอังกฤษ เจ้าพระยายมราชได้สั่งเข้ามาลองใช้เป็นรถยนต์ส่วนตัวในประเทศไทยรุ่นแรกๆ”

กับอีกบางฉากให้ภาพกรุงเทพฯ ศตวรรษที่แล้ว “…ถนนในสมัยนั้นก็ยังเป็นดินโรยด้วยหิน ระหว่างทางทั้งสองข้างเป็นป่าไผ่หนาทึบเป็นหย่อมๆ ไปตลอดทาง… การค้าขายจำกัดอยู่ในวงชาวจีนที่ตั้งร้านค้าขนาดเล็กเป็นห้องแถวอยู่ริมถนน และมีห้างฝรั่งอยู่เพียง 2-3 แห่ง” (อ้างจากหนังสือ “ยมราช ถึงสุขุมวิท เหตุการณ์ใน 4 รัชกาล” โดย ประสงค์ สุขุม (ทายาทรุ่นที่สาม ของเจ้าพระยายมราช)

เจ้าพระยายมราช ข้าราชการคนสำคัญยุคต่อเนื่องจากรัชกาลที่ 5 และ 6 ด้วยบทบาทสำคัญยุค Westernization of Siam ว่าด้วยบทบาทสำคัญในการปรับโฉมหน้าใหม่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม รวมไปถึงการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองสมัยใหม่ ตั้งแต่โรงไฟฟ้า ระบบประปา และเป็นผู้ก่อตั้งโรงงานซีเมนต์แห่งแรกของไทยด้วย “บ้านศาลาแดง” จากเจ้าของคนแรกเป็นฝรั่ง ก่อนมาเป็นของ พระคลังข้างที่ (ชื่อเดิมของสำนักงานทรัพย์สินฯ) จากนั้นเป็นที่พำนักของเจ้าพระยายมราชและครอบครัว อาศัยอยู่นานราว 5-6 ทศวรรษ จนมาถึงช่วงประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดโรงแรมดุสิตธานี

กล่าวกันว่า “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนถนนสีลม ถือเป็น ‘สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ยุคสมัยใหม่แห่งแรก’ สร้างขึ้นเมื่อปี 2513 ตั้งตระหง่านเป็นอาคารที่สูงโดดเด่นใจกลางกรุงเทพฯ” ตํานาน โรงแรมดุสิตธานี โรงแรมชั้นหนึ่งรายแรกๆ ของไทยว่าไว้ ภายใต้สัญญาเช่าที่ดินทำเลทองกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เช่นกัน

อีกราวครึ่งศตวรรษถัดมา โรงแรมดุสิตธานี มีการปรับโฉมหน้าใหม่อีกครั้ง เปิดโครงการใหญ่ (ต้นปี 2560) ด้วยความร่วมมือกันทางธุรกิจครั้งสำคัญ ระหว่างโรงแรมดุสิตธานี กับกลุ่มเซ็นทรัล

 

จัดตั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจัง

การก่อตั้ง “สยามสินธร” ธุรกิจใหม่ในเครือข่ายสำนักงานทรัพย์สินฯ มีขึ้นปี 2530 ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู เป็นแผนสืบเนื่องจากโครงการอาคารสินธร (ปี 2523) ในฐานะศูนย์กลางการเงิน ที่ตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านช่วงขลุกขลักมาบ้างในระยะแรกๆ ทั้งโมเดลธุรกิจไม่ลงตัว และปัญหาเศรษฐกิจส่งผลกระทบ

พลิกมาสู่โอกาสทางธุรกิจอย่างเต็มที่ในช่วงตลาดหุ้นไทยขยายตัวอย่างครึกโครม ตามมาด้วยโครงการใหม่อีก 2 ทาวเวอร์ (สร้างเสร็จในปี 2537)

ขณะเดียวกันได้สะสมบทเรียน จากการบุกเบิกธุรกิจแนวคิดใหม่ กับการจัดการกับผู้เช่ารายย่อยดั้งเดิม ด้วยมีแรงเสียดทานพอควร (โครงการ ดิโอลด์ สยามพลาซา สร้างเสร็จในปี 2535)

จากนั้น สยามสินธรได้เผชิญปัญหาครั้งใหญ่ ในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ปี 2540 กว่าจะตั้งหลัก และมีการปรับตัวอีกครั้ง ในอีกทศวรรษถัดมา

สยามสินธรเข้าสู่ยุคใหม่ เปิดฉากขึ้นในปี 2557 ด้วยทีมผู้บริหารมืออาชีพชุดใหญ่ อดีตผู้บริหารเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี พร้อมเปิดโครงการยิ่งใหญ่ในทำเลใจกลางกรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง บนที่ดินแปลงใหญ่อีกแปลงหนึ่ง ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ย่านถนนหลังสวน ในซอยต้นสน

กับอีกแปลงติดโรงเรียนมาแตร์เดอี

 

ดีลใหญ่ๆ ดำเนินไปด้วย

อีกด้านหนึ่ง สำนักงานทรัพย์สินฯ ดำเนินธุรกิจตามแบบแผนดีลใหญ่ ควบคู่ไปด้วย กรณีสำคัญที่เพิ่งไปผ่านไปไม่นานโครงการดำเนินการใกล้เสร็จสมบูรณ์ เป็นข่าวครึกโครมครั้งใหญ่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว – “One Bangkok พลิกโฉมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในไทย” (4 เมษายน 2560 ) ทั้งนี้ ได้ปรากฏถ้อยแถลงของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้นำกลุ่มธุรกิจในเครือทีซีซี ในฐานะผู้เช่า ได้กล่าวไว้หลายตอนอย่างตั้งใจเป็นพิเศษ “ทางกลุ่มรู้สึกเป็นเกียรติที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ให้ความไว้วางใจในการพลิกโฉมพื้นที่ผืนสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ” เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ระดับ 100 ไร่ ที่ตั้งเดิมของโรงเรียนเตรียมทหาร

ว่าไปแล้ว ความเคลื่อนไหวล่าสุด (อ้างอิงข่าวกล่าวไว้ในตอนต้น) เป็นไปตามโมเดลเดียวกันกับข้างต้น สำนักงานทรัพย์สินฯ กับที่ดินทำเลสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ แปลงใหม่ๆ หลายแปลง ทั้งย่านเฉลิมบุรี ตลาดเฉลิมลาภ และแถวเพลินจิต (ที่ตั้ง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือบริษัททีโอที ในปัจจุบัน)

แรงขับเคลื่อนเป็นพลังไม่หยุดนิ่ง ในการปรับตัว เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ สะสมความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่อง สัมพันธ์ สอดคล้องกับบริบทสังคมไทยแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะกับพัฒนาการเมืองหลวง-กรุงเทพฯ

เชื่อว่าเป็นไปตามบทวิเคราะห์อันหลักแหลม มุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคม เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ผู้คนเชื่อมโยงกันมากขึ้นในหลายมิติ ทั้งในสังคมไทย ระดับภูมิภาค และโลก กรุงเทพฯ มีฐานะและบทบาทมากขึ้น-ศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งในระดับภูมิภาค

แรงกระเพื่อมดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาเชิงระบบทุกมิติให้สมเหตุสมผลมากขึ้น ไม่ว่าระบบราชการ กฎกติกาแห่งรัฐ รวมถึงระบบการเมือง •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com