เปิด…ร่างเอ็มโอยู แก้หนี้ครู ฉบับ ศธ. พร้อมหลักเกณฑ์หักเงินเดือนจ่ายเงินกู้

หลังรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ ตามที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ชูนโยบายไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดย “หนี้ครู” ถือเป็นหนี้ในระบบ ที่อยู่ในกลุ่มที่ 2 จากที่แบ่งลูกหนี้ไว้ 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 2 ถือเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืน ลูกหนี้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ข้าราชการ ครู ตำรวจ และทหาร ซึ่งจะเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน และหนี้บัตรเครดิต

ส่วนแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ของรัฐ มี 3 แนวทาง ได้แก่

แนวทางแรก การลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ

แนวทางที่สอง ต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้

และแนวทางที่สาม บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี

 

ล่าสุด นายกฯ เศรษฐาได้แถลงความคืบหน้าผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ โดยแบ่งกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม โดยในกลุ่มที่ 2 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงจนเกินไป โดยไม่ควรเกินร้อยละ 4.75 ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงแล้ว คาดว่าจะช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้มากกว่า 3 ล้านราย นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิต ได้เข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในโครงการคลินิกแก้หนี้แล้วมากกว่า 1.5 แสนบัญชี

สำหรับหนี้ครู ซึ่งปัจจุบันมีครูสังกัด ศธ.กว่า 9 แสนคน มีมูลค่าหนี้สินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยมี “สหกรณ์ออมทรัพย์ครู” เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% ของยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.64%

ขณะที่เจ้าหนี้รองลงมา ได้แก่ ธนาคารออมสิน มูลค่าหนี้ 3.49 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6.9% ธนาคารกรุงไทย มูลค่าหนี้ 6.3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7.12% และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มูลค่าหนี้ 6.1 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6.4%!!

 

สําหรับแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.ที่มีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

โดยมอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องสำรวจ และสรุปข้อมูลหนี้สิน โดยแยกประเภทหนี้วิกฤต ใกล้วิกฤต และปกติ เพื่อรวบรวมสรุปผลภาพรวมนำเสนอในที่ประชุม

ที่ประชุมยังรับทราบเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินครู ที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เปิดรับเรื่องผ่านช่องทางต่างๆ รวม 106 เรื่อง แบ่งเป็น ขอความอนุเคราะห์ใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือน พ.ศ.2551 รวมหนี้ให้อยู่ในกรอบไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือน 60 เรื่อง คดีความ ชะลอ ไกล่เกลี่ยชำระหนี้ 30 เรื่อง และอื่นๆ เช่น ติดตามเรื่องหนี้สินครู ปรับโครงสร้างหนี้ เสนอแนะจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย อีก 16 เรื่อง โดยมอบฝ่ายกฎหมายทุกองค์กรหลักติดตามดูแลอย่างเคร่งครัด และกรณีเรื่องร้องเรียนอื่นๆ เร่งแจ้งสถานีแก้หนี้ในพื้นที่นั้นๆ ช่วยเหลือ

นอกจากนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ.ดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 โดยให้พิจารณาปรับปรุงกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนที่ชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด ต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากชำระหนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

หรือเมื่อรวมหนี้แล้วห้ามไม่ให้หักเกินร้อยละ 70!!

 

อย่างไรก็ตาม ศธ.เตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงาน และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งรายละเอียดในร่างเอ็มโอยูฉบับนี้ มีสาระสำคัญ 4 มาตรการ ได้แก่

1. ขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 4.75

2. ชะลอการฟ้องล้มละลายครูที่มีหนี้วิกฤต หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เป็นระยะเวลา 3 ปี

3. ขยายงวดการผ่อนชำระถึงอายุ 75 ปี

และ 4. การรวมหนี้รีไฟแนนซ์ โดยจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง ธปท. และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย เพื่อลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการ

ขณะเดียวกัน นายสุรศักดิ์ยังได้กำชับผ่านที่ประชุมไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ว่า การหักเงินเดือนครูเพื่อชำระหนี้ จะต้องให้ครูมีเงินเหลือใช้ในชีวิตประจำวันร้อยละ 30 ของเงินเดือน ซึ่งประเด็นนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้แสดงความห่วงใย และกำชับไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึงให้แก้ไขหนังสือยินยอมให้หักหนี้ จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำไว้ เป็นยินยอมให้หักเงินเดือนได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือน หากหักเงินเกิน ผู้ถูกหักสามารถฟ้องคดีอาญาได้

อย่างไรก็ตาม กรณีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง ถ้าครูถูกฟ้องล้มละลาย จะต้องออกจากราชการหรือไม่ ประเด็นนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ยืนยัน นั่งยันว่าครูที่ถูกฟ้องล้มละลายจากการกู้เงิน ที่ไม่ใช่การทุจริต จะไม่ถูกออกจากราชการ

ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้กับหน่วยงานราชการทุกแห่ง!!

 

ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ถึงหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด และองค์กรในกำกับ ศธ.เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวทางให้ทุกส่วนราชการในสังกัด และองค์กรในกำกับ ศธ.ไปดำเนินการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูฯ ของ ศธ.เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้

1. ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือนฯ อย่างเคร่งครัด

2. ประชาสัมพันธ์ให้ครูที่ต้องการให้ต้นสังกัดหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ และหักเงินเดือนเพื่อสิทธิประโยซน์อื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ทำหนังสือยินยอมให้ส่วนราชการหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ แต่จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

3. ให้สถานีแก้หนี้ คณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัด และผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยประสานกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือสถาบันการเงินอื่น เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

และ 4. กรณีผู้ที่มีหนี้สิน และต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ให้สถานีแก้หนี้ และผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด พิจารณาแก้ไขปัญหา โดยให้เชิญเจ้าหนี้ทุกรายร่วมเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ หรือแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ แล้วรายงานผลการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ทราบ

โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สรุปรวบรวมนำเสนอภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน…

ต้องติดตามว่า มาตรการ “แก้หนี้” ในครั้งนี้ จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน!! •

 

| การศึกษา