กว่าจะเป็น We are the world

วัชระ แวววุฒินันท์

Check your EGO at the door

ตรวจสอบ “อีโก้” ของคุณ ก่อนเข้าประตู

นี่คือ ข้อความที่เขียนด้วยลายมือแปะไว้บนประตูทางเข้าสตูดิโอบันทึกเสียงขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในนครลอสแองเจลิส

ให้ตรวจสอบอีโก้… คนที่จะมีอีโก้ ก็ต้องเป็นคนดัง มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ ยิ่งดังมาก สำเร็จมาก ได้รับการชื่นชมมากเท่าไหร่ ดูเหมือนอีโก้ก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

ใช่แล้วครับ ผมกำลังจะพูดถึงคนดังที่เป็น “ศิลปินนักร้องตัวพ่อตัวแม่ในยุค 80” อยู่ครับ และไม่ใช่แค่คนสองคน แต่ร่วม 40 คนได้ เพราะฉะนั้น ถ้า 40 อีโก้มารวมกัน มันคือ นรกชัดๆ

และเมื่อคิดถึงเวลาในการทำงาน บวกกับรายละเอียดต่างๆ ก็ต้องบอกว่ามันยิ่งกว่านรก

ผมกำลังเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานของเพลงดังระดับโลกที่ชื่อ “We are the world” ซึ่งเป็นสารคดีมีชื่อว่า “The Greatest Night in Pop” ผลิตโดย Netflix มีความยาวเกือบ 2 ชั่วโมง

คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปคงจำบทเพลงและโปรเจ็กต์ใหญ่นี้ได้ดี เพลงนี้ได้รับการบันทึกเสียงเมื่อวันที่ 28 มกราคม 1985 นั่นคือเมื่อ 39 ปีที่แล้ว

โปรเจ็กต์นี้ทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้และเจ็บป่วยในประเทศเอธิโอเปีย โดยเริ่มจากที่ศิลปินนักร้องและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ชื่อ “แฮร์รี่ เบลาฟอนเต” เจ้าของเพลงดัง “The Banana Boat Song” ที่มีเนื้อร้องที่ขึ้นต้นเพลงว่า “Day-O” ไงครับ เขาได้โทร.หาศิลปินผิวดำเช่นกันที่ชื่อ “ไลโอเนล ริชชี่” ชวนให้ทำโปรเจ็กต์สำคัญเพื่อช่วยเด็กในทวีปแอฟริกากัน

“เราไม่เคยมีคนดำช่วยคนดำ เราต้องช่วยเผ่าพันธุ์ตัวเองจากภัยความหิว”

ไลโอเนลตอบตกลงทันที และโปรเจ็กต์ที่ว่านี้คือ “บทเพลง” เขาจึงไปชวนคนดำอีกสามคนให้มาช่วยกันทำงาน คือ “ควินซี่ โจนส์” นักแต่งเพลงชื่อดังที่ได้รับการยอมรับทั้งวงการ, “ไมเคิล แจ๊กสัน” ศิลปินป๊อปที่ดังที่สุดในยุคนั้น และ “สตีวี่ วันเดอร์” ศิลปินตาบอดที่มีพรสวรรค์

เป็น 5 ทหารเสือที่กดปุ่มงานนี้ด้วยกัน แต่ไม่ใช่มีแค่ศิลปินผิวดำเท่านั้น พวกเขายังได้ชวนศิลปินผิวขาวมาร่วมงานด้วย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิวสี แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม

 

เพื่อจะให้บทเพลงนี้ดังในชั่วข้ามคืน ก็ต้องระดมนักร้องชั้นนำของอเมริกามารวมกันให้มากที่สุด งานล่าตัวนักร้องจึงเกิดขึ้นอย่างโกลาหล เพราะแต่ละคนนั้นงานแน่น คิวเต็มเอี้ยดกันทั้งนั้น

การบันทึกเสียงร้อง พวกเขาไม่ได้นึกถึงการอัดเสียงทีละคน แต่นึกถึงการอยู่ร่วมกันทั้งหมดและอัดเสียงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งถึงแม้ว่าเหล่านักร้องดังๆ เหล่านั้นจะเอาด้วย แต่การจะหาคิวที่ลงตัวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

และทางออกที่ดีที่สุดคือใช้งานประกาศรางวัล “อเมริกันมิวสิกอวอร์ด” เป็นคิวของการทำงาน เพราะในงานนี้ศิลปินนักร้องชื่อดังของวงการจะไปรวมตัวกันอยู่แล้ว

แผนคือเมื่องานเสร็จก็จะต้อนพวกเขามาที่ห้องอัดทันทีเพื่อทำการบันทึกเสียงร้อง

แต่ปัญหาที่ตามมาคือ งานที่ว่านี้จะมีขึ้นในอีก 10 วันข้างหน้า…โอมายก็อด มันคือนรกของการทำงานชัดๆ ไหนจะต้องเร่งแต่งเพลงที่ต้อง “โดน” บันทึกเป็นเดโม และส่งให้นักร้องที่มาร่วมได้ฟังก่อน ไหนจะต้องเตรียมเรื่องการบันทึกเสียงร้อง แค่หาสถานที่ที่เหมาะสมก็ยากแล้ว ไหนจะเรื่องการนัดหมายและจัดหาทีมทำงานในส่วนต่างๆ อย่างเร่งด่วน เพราะทุกอย่างจะต้องให้เสร็จในคืนๆ นั้น

และที่สำคัญทุกอย่างต้องเป็นความลับ จะให้สื่อมวลชนหรือแฟนเพลงรู้ไม่ได้เลย

แม้จะมีเวลาจำกัด แต่ไลโอเนลและไมเคิลก็ช่วยกันเนรมิตเพลงออกมาจนได้ จากนั้นก็จะส่งให้ควินซี่ โจนส์ เพื่อเรียบเรียงและทำเป็นเดโม ตอนนั้นมีเวลาเหลืออยู่แค่ 5 วัน เมื่อโจนส์ได้ฟังเพลง เขาก็บอกว่า ใช่เลย เพลงนี้ต้องดังแน่นอน

เมื่อเดโมเสร็จ ทีมงานก็ระดมกันแพ็กตัวเทปพร้อมเนื้อร้องและจดหมายเชิญส่งไปยังศิลปินและผู้เกี่ยวข้องร่วม 50 ชุด โดยมีการใช้ปากกาสีดำขีดทับชื่อสถานที่ที่จะใช้บันทึกเสียง ซึ่งก็คือ “A&M studio” ออกไป เพื่อให้เป็นความลับที่สุด

ไม่น่าเชื่อว่า พวกเขาสามารถรวบรวมนักร้องดังแห่งยุคมาได้มากมายเช่นนี้ ทุกคนยินดีมาร่วมงานด่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็น ไดอาน่า รอสส์, บ็อบ ดีแลน, ทีน่า เทอร์เนอร์, วิลลี่ เนลสัน, ซินดี้ ลอเปอร์, เคนนี่ โรเจอร์,สตีฟ แพร์รี่, เคนนี่ ล็อกกิ้น, พอล ไซม่อน, เรย์ ชาลส์, เบตต์ มิดเลอร์, บรูซ สปริงสตีน ก็ตอบรับ โดยเมื่อจบคอนเสิร์ตใหญ่ในคืนก่อนวันนัด เขาก็จะตรงมาที่ลอสแองเจลิสเลย รวมทั้ง ดิออน วอร์วิก ที่บอกว่า ตอนที่เครื่องบินพาเธอมาถึงที่ลอสแองเจลิส เธอยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่เมื่อควินซี่ โจนส์ โทร.ไปชวน เธอก็เชื่อว่ามันต้องเป็นงานที่คุ้มค่าถ้าได้มีส่วนร่วม

จริงๆ แล้วพวกเขาอยากได้ศิลปินดังมารวมตัวกันให้มากที่สุด ติดที่หลายคนติดทัวร์คอนเสิร์ต เช่น มาดอนน่า, เดวิด เบิร์น, แวน เฮเลน แต่เท่านี้ก็สร้างความปวดหัวพออยู่แล้ว

งานเบื้องหลังที่ยากต่อมาคือ ใครจะได้ร้องเดี่ยวบ้าง และใครจะร้องท่อนไหน ร้องกับใคร ภาระนี้ตกเป็นของ “Tom Bahler” บุคคลเบื้องหลังที่สำคัญในวงการเพลง

เขาเป็นเด็กผิวขาวที่โตมาในโบสถ์คนดำ จึงมีทักษะในการร้องเพลงที่หลากหลาย

ทอมไล่ฟังเสียงร้องจากแผ่นของนักร้องที่จะได้ร้องท่อนเดี่ยว ดูลักษณะช่วงเสียงและสไตล์การร้องของแต่ละคน เพื่อหาท่อนที่เหมาะสมกับเสียงนั้นๆ และดูว่าใครควรร้องต่อจากใคร

บอกก่อนเลยนะครับว่างานนี้ไม่หมู เพราะต้องเผชิญกับคำถามของนักร้องว่าทำไมได้ร้องท่อนนี้ ได้ร้องกับคนนี้ เปลี่ยนท่อนได้ไหม เพราะนี่คือ “อีโก้” ส่วนหนึ่ง

วันสำคัญมาถึง คือวันงานประกาศผลอเมริกันมิวสิกอวอร์ด ซึ่งไลโอเนลรับหน้าที่เป็นพิธีกรในงานสำคัญนี้ด้วย จึงเป็นหนึ่งสัปดาห์ที่หนักหนาสำหรับเขาอย่างมาก ไหนจะต้องเนรมิตให้โปรเจ็กต์นี้เป็นจริงให้ได้ ไหนจะต้องท่องบทและเตรียมตัวสำหรับการขึ้นเวทีอีก

เขาได้บอกให้ศิลปินที่ต้องร้องเพลงว่า พอเสร็จงานแล้วอย่ามัวแต่เตร็ดเตร่ จะมีรถมารับพวกเขาออกจากงานทันที เพื่อมุ่งหน้าไปยังห้องบันทึกเสียง โดยการไปครั้งนี้ไปแค่ตัวศิลปิน ไม่มีผู้ติดตามใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อลดความยุ่งยาก

เมื่อพวกเขาไปถึงก็จะพบว่ามีใครมากันบ้าง เป็นความตื่นเต้นของกันและกัน บรรยากาศเหมือนงานปาร์ตี้ที่ทุกคนทักทายสวมกอดกัน และในช่วงหนึ่งของการทำงาน ไดอาน่า รอสส์ ก็เดินไปขอลายเซ็นจาก แดริล ฮอลล์ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกลายเซ็นกันอย่างสนุก

โชคดีที่ไลโอเนลได้เขียนป้ายเตือนเรื่อง Check your EGO ไว้ก่อนแล้ว

การทำงานเหมือนจับปูใส่กระด้ง คนที่เหนื่อยที่สุดน่าจะเป็นไลโอเนล แต่ด้วยบุคลิกของเขาทำให้งานที่แสนยากได้รับการประคับประคองจนผ่านไปได้ เพราะไม่มีวันไหนอีกแล้ว มีแค่คืนนี้คืนเดียว เท่านั้น ทีมงานทุกคนตระหนักดี

ก่อนเริ่มอัดเสียง ไลโอเนลให้ “บ็อบ เกลดอฟ” ผู้ก่อตั้ง Band AID และได้มีประสบการณ์ที่เอธิโอเปียมาเล่าเรื่องราวที่นั่นให้เหล่าศิลปินได้ฟัง บ็อบได้พูดว่า

“ผมไม่รู้ว่าพวกเราในที่นี้จะเข้าใจคำว่า ยากไร้ ไหม? แต่ ยากไร้ คือการไม่มีน้ำจะดื่ม บางค่ายคุณจะเห็นแป้ง 15 กระสอบสำหรับคน 27,500 คน คุณจะเห็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรีย ไทฟอยด์ แพร่ระบาดเต็มไปหมด คุณจะเห็นศพคนตายนอนเรียงกัน ผมไม่ได้อยากให้ใครเศร้า แต่บางทีนี่อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ความรู้สึกที่แท้จริงของคุณมีคำตอบว่า คุณมาที่นี่คืนนี้ทำไม? โดยแสดงออกมาผ่านบทเพลงในคืนนี้”

จากคำเกริ่นนำนี้ คงพิสูจน์ได้ดีถึงความเป็นศิลปินของพวกเขา เมื่อได้ฟังเพลง ทุกคำร้องของพวกเขามันได้สะท้อนความหมายและความรู้สึกที่ลึกซึ้งและพิเศษออกมาจริงๆ

การบันทึกเสียงคืนนั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายเหมือนจะท้าทายทุกคน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนในห้องที่มากถึง 70 คน ดวงไฟขนาด 5,000 วัตต์ที่สุมเข้ามา กล้องเก็บภาพจำนวน 4 ตัวที่ต้องไวและเงียบที่สุด ไม่นับกับความเหนื่อยล้าของพวกเขาทั้งจากการเพิ่งมาจากงานประกาศรางวัล หรือเพิ่งเดินทางไกลมาถึง รวมทั้งความหิว ที่สุดท้ายต้องมีการพักเบรกเพื่อสั่งอาหารว่างมากินกัน

มีปัญหาน่ารักๆ อย่างตอนที่ ซินดี้ ลอเปอร์ ร้อง แล้วมีเสียงบางอย่างแทรกเข้ามา ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะหาเจอว่ามาจากสร้อยคอ กำไล และตุ้มหูจำนวนมากที่เธอใส่นั่นเอง

หรือตอนที่ทุกอย่างกำลังเคร่งเครียดและเหนื่อยล้า ก็มีคนร้องเพลง “The Banana Boat Song” ขึ้นมา และทุกคนก็ร้องตามอย่างสนุกสนาน เสียงหัวเราะและอารมณ์ขันช่วยผ่อนคลายบรรยากาศได้มากทีเดียว

แม้จะเร่งทำเวลาและแข่งขันกับอุปสรรคเพียงไร พวกเขาก็ได้เริ่มบันทึกเสียงกันตอน ตี 1 กับ 28 นาที และไปเสร็จสิ้นทั้งหมดเอาตอน 8 โมงเช้า

ตอนงานเสร็จ ศิลปินแยกย้ายกันกลับ สำหรับพวกเขาแล้ว มันเป็นความสุขผสมกับความเหนื่อยล้าที่หาไม่ได้อีกแล้วในชีวิตนี้ แต่คนที่ยังอ้อยอิ่งอยู่คือ ไดอาน่า รอสส์ แล้วเธอก็ร้องไห้ออกมา สตีวี่ที่อยู่ใกล้ๆ ถามว่าเธอเป็นอะไร ไดอาน่าพูดทั้งน้ำตาว่า

“ฉันไม่อยากให้มันจบเลย”

ทำไมเธอถึงพูดอย่างนั้น หากได้ดูสารคดีเรื่องนี้และดูมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ จะเห็นว่าเธอมีความสุขจริงๆ ความสุขที่ได้เจอะเจอและได้ร่วมงานกับเพื่อนศิลปิน ความสุขที่ได้ใช้การร้องเพลงเพื่อช่วยคนที่ทุกข์ยาก แฮร์รี่ เบลาฟอนเต ที่คิดทำโปรเจ็กต์นี้บอกว่า

“ศิลปิน คือ ผู้ที่ตีแผ่สังคมให้ทุกคนเห็น”

และศิลปินเหล่านี้เองก็ได้ใช้บทเพลงในการเยียวยาปัญหาสังคม ในตอนท้ายของสารคดีมีคำพูดดีๆ ที่ว่า

“ดนตรี เป็นสิ่งที่แปลกประหลาด เพราะเราสัมผัสไม่ได้ ดมกลิ่นไม่ได้ กินไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ แต่มันอยู่ตรงนั้น มันคือพลังที่กล้าแกร่งที่เข้าถึงจิตวิญญาณมากๆ”

และเพลง “We are the world” ก็ได้เปล่งพลังอย่างน่าอัศจรรย์ใจ 3 เดือนหลังคืนวันนั้น ในเวลา 07.50 น. คนทั้งโลกก็ได้ฟังเพลงเพลงนี้พร้อมกัน ด้วยเทคโนโลยีทำให้เพลงได้เดินทางไปสู่ผู้คนนับพันล้านคนได้

แผ่นซิงเกิลเพลงนี้ทำยอดจำหน่ายเกินล้านในสัปดาห์แรกที่วางแผง กลายเป็นเพลงฮิตติดหู และแน่นอน “ติดในความรู้สึก” ที่คนทุกภาษาพากันร้อง จนได้รับรางวัลแกรมมี่ประจำปี 1986 ในสาขาเพลงแห่งปีและบันทึกเสียงยอดเยี่ยม

แต่รางวัลที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังมากกว่า คือการตื่นตัวของการรับรู้ เกิดการรวบรวมเงินบริจาคเพื่อช่วยเด็กที่อดอยากในดินแดนต่างๆ ได้อีกมาก

ไลโอเนลในปัจจุบันที่ให้สัมภาษณ์ในสารคดีชุดนี้ พูดปิดท้าย ณ ห้องสตูดิโอที่ใช้ในการบันทึกเสียงครั้งประวัติศาสตร์ในคืนนั้นไว้ว่า

“พ่อเคยบอกกับผมว่า สนุกกับการกลับบ้านซะ เพราะถึงช่วงเวลาหนึ่ง แกจะกลับไปที่บ้านไม่ได้อีก ตัวบ้านจะยังอยู่ แต่คนในบ้านจะไม่อยู่ได้ตลอดไป และนี่คือห้องนั้น (หมายถึงสตูดิโอ) ผมคิดว่าห้องนี้เป็นบ้านของผม เป็นบ้านที่ We are the world ได้สร้างขึ้น”

ไลโอเนลยิ้มปิดท้ายพร้อมปาดน้ำตา เป็นยิ้มที่เปี่ยมด้วยความสุข แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 40 ปีแล้วก็ตาม •