หนักอก

ญาดา อารัมภีร
อิเหนาฉายกริช ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดโสมนัสราชวรวิหาร

‘หนักอก’ ในที่นี้ไม่ได้เกิดจากสตรีมีทรวงอกขนาดใหญ่ (เวลาเดินหรือวิ่งแล้วหน้าอกกระเพื่อมขึ้นลงจนทำให้เจ้าของอกรู้สึกหนักและเจ็บแปลบหากสั่นสะเทือนแรงและเร็วเกินไป)

แต่เป็นความหนักอกหนักใจของบุรุษที่รู้สึกราวกับมีภูเขาหลวงหรือภูเขาพระสุเมรุมาทับอยู่บนอก

วรรณคดีสมัยอยุธยาเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” หลังจากพระโพธิ์เทพารักษ์อุ้มสม (อุ้มพระเอกมาสมสู่กับนางเอก) แม้ความสุขสมจะเกิดขึ้นอย่างงงงวยด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่พระสมุทรโฆษและนางพินทุมดีต่างก็อิ่มเอมสุขจนหลับใหลไปด้วยกัน

“สองเสวยสุขสุดสงกา ชมลาภมหา

อันเทพยแสร้งเอาสม

สองเสวยรสกรีฑารมย์ สุขในพระบรรทม

เลวงด้วยสร้อยเสาวคนธ์

สองสมสุขเล่นกลอยกล กามาโดยดล

ตระการเทียรทุกลบอง

แล้วเคลิ้มหลับในแท่นทอง ชวาลาเรืองรอง

แลแสงจำรัสส่องศรี”

ต่อจากนั้นไม่นานนักเทพารักษ์ที่อุ้มหนุ่มมาก็พาหนุ่มกลับ ความสุขที่พลันหายวับทำให้พระสมุทรโฆษทุกข์ระทมราวกับมีภูเขาหลวงหรือภูเขาพระสุเมรุทับอยู่บนอก

“ถนัดล่มหล้าฟ้าปั่นปวง ถนัดภูผาหลวง

และท่าวมาทับทรวงศรี”

แค่ภูเขาธรรมดาก็หนักมากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นภูเขาหลวงหรือเขาพระสุเมรุ น้ำหนักยิ่งทวีขึ้นจนสุดประมาณ เพราะสูงตระหง่านใหญ่โตมโหฬารเหนือภูเขาทั่วไป ทำให้ตระหนักถึงความรู้สึกที่พระสมุทรโฆษเผชิญอยู่ขณะนี้เป็นความทุกข์ความหนักใจใหญ่หลวงเกินกว่าจิตใจจะต้านรับไหว

 

น่าสังเกตว่า วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์หลายเรื่อง นิยมเปรียบความทุกข์ ความวิตกกังวล ฯลฯ กับภูเขาหลวงหรือภูเขาพระสุเมรุ ดังตอนที่อิเหนาปรับทุกข์กับพี่เลี้ยงว่าเสียดายนางบุษบาผู้สูงส่งด้วยชาติกำเนิด งามพร้อมด้วยรูปลักษณ์จะอภิเษกกับระตูจรกาตระกูลต่ำช้า หน้าตาอัปลักษณ์ อิเหนารู้สึกหนักใจราวกับยกเอาภูเขาพระสุเมรุมาทับอกไว้ น้ำหนักมหาศาลของเขานี้แทบจะทำให้ทรวงอกอิเหนาแตกทำลายไม่มีชิ้นดี

บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” บรรยายวาจาและท่าทีของอิเหนา ดังนี้

“เมื่อนั้น พระโฉมยงทรงโทมนัสา

จึงว่าเมื่อไม่สมดังจินดา จะกินโภชนาไปว่าไร

น้องจะใคร่กลั้นใจให้ดับจิต สุดคิดที่จะทนทานได้

อันความร้อนรนเป็นพ้นไป ดังนอนอยู่ในอัคคีกาล

หนักอกดังยกภูเขาหลวง มาทับทรวงให้แยกแตกฉาน

แม้นมาตรม้วยมุดสุดปราณ ก็ดีกว่าทรมานไม่สมคิด”

 

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิมพิลาไลย หนุ่มก็ตัดพ้อสาวทำนองเดียวกัน ว่าความทุกข์อันเกิดจากความรักหนักอกราวกับมีภูเขาพระสุเมรุทับอยู่

“อันความรักหนักแน่นแสนวิตก ระอาอกแทบเท่าภูเขาหลวง

ไม่ต่างอะไรกับ “ลิลิตตะเลงพ่าย” ตอนที่พระมหาอุปราชาอาลัยความสุขในเวียงวัง ได้รำพันถึงความทุกข์ที่หนักอกยามนี้ว่า

“หน่ายเชยหนักอกช้ำ ก่ำทรวง

ถนัดดั่งภูผาหลวง ทุ่มแท้

หนักหาบที่พลปวง ปลงพัก ได้นา

หนักเสน่ห์นึกแก้ เกี่ยงให้เบาไฉนฯ”

ความทุกข์ที่ถาโถมใจเปรียบดังภูเขาพระสุเมรุที่หนักแสนหนักทุ่มทับลงมาก็ไม่ปาน

หนักอกหนักใจเมื่อใด ใจ ‘เสียศูนย์’ เมื่อนั้น •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร