วิกฤตงานสอบสวน ความซ้ำซากจำเจ ที่ไม่มีใครแก้

จริงทีเดียวว่า ใครๆ ก็อยากจะนั่งเก้าอี้ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” แต่เมื่อนั่งแล้วก็รู้สึกสัมผัสได้ว่า “ชนชั้นสูงของตำรวจ” มักจะละม้ายคล้ายกันไปหมด นั่นก็คือ ตาดูดาว เท้าไม่แตะดิน

มองแต่ข้างบน ไม่เหลียวแลเบื้องล่าง หลายปัญหาจึงสั่งสมจนกลายเป็นวิกฤต

หนึ่งในวิกฤตนั้นคือ “งานสอบสวน” งานที่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงชอบโอ่คำหรูๆ ว่าเสมือนเป็น “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรม

เป็นต้นธารแล้วไง

ชีวิตจริงของ “พนักงานสอบสวน” เปล่าเปลี่ยวเดียวดายที่สุด

 

ปลายสัปดาห์ก่อน มีพนักงานสอบสวน “สาวหัวใจสิงห์” ร.ต.อ.หญิง ศิราณี บัวพันธ์ หรือ “ผู้กองอุ้ม” รอง สว.สอบสวน สภ.วชิรบารมี จ.พิจิตร โพสต์คลิปแสดงความคิดเห็นผ่านแอพพ์ TikTok

เธอเริ่มต้นอย่างน่ากังวลว่า

“ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดอาจจะตายก็ได้นะคะ…”

ร.ต.อ.หญิง ศิราณี จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน รุ่นที่ 72 รับราชการเป็น “รองสารวัตรสอบสวน” มาตั้งแต่ 2562 จนบัดนี้ มีผลงานรางวัลดีเด่นมากมายการันตีคุณภาพ

ดังนั้น เมื่อโพสต์คลิป TikTok จึงลงมือด้วยความรัดกุม บรรจงบรรยายข้อความเอาไว้ว่า “คลิปนี้ ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด เพียงอยากให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ได้รับบริการที่รวดเร็ว งานสอบสวนได้รับการพัฒนา พนักงานสอบสวนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

จุดมุ่งหมายใหญ่ใจความครบถ้วนสมบูรณ์ กลายเป็นไวรัลโด่งดังทั่วประเทศในชั่วข้ามคืน!

 

ทุกถ้อยคำของ “ผู้กองอุ้ม” สะท้อนภาพ “งานสอบสวน” ว่า ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากผู้นำหน่วย ที่มักจะมีก็แต่ “คำสั่ง” การเร่งรัด ติดตาม และความกดดัน

ดังเช่นที่ว่า

“…ประเด็นคือ พนักงานสอบสวนขาดแคลนมาก ต่อให้รับแจ้งมา 100 เรื่อง แล้วใครจะทำ คนทำก็คือพนักงานสอบสวนอยู่ดี ทุกโรงพักขาดแคลน โรงพักเราอยู่กัน 3 คนทั้งโรงพัก พนักงานสอบสวนเข้าเวรกันแค่ 3 คน อันนี้คือปัญหา คนทำก็ทำไป คนไปไหนไม่ได้ก็ทำไป คนหนีงานก็หนีไป อย่างแจ้งความออนไลน์ เดี๋ยวนี้ก็แจ้งได้ โทร. 1441 แป๊บเดียว แต่สุดท้ายใครทำสำนวน ใครทำคดี ก็พนักงานสอบสวนโรงพัก ถูกบี้ให้ออกหมายจับ ถูกบี้ให้ชี้แจง ว่าเรื่องไปถึงไหน แต่ไม่เคยมีคนมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตรอง ผบ.ตร. (มือสอบสวน) ถึงกับโพสต์ในเฟซบุ๊กสนับสนุน “ผู้กองอุ้ม” ในทันทีว่า 1.เป็นความจริง 2.เป็นปัญหาเรื้อรังมานานจนเกิดความเสียหาย และ 3.พนักงานสอบสวนอยู่ในสภาพสิ้นหวังกับความเจริญก้าวหน้า

อย่างน้อยๆ “เอก อังสนานนท์” ที่มีประสบการณ์ถูกปาดหน้าจนตกเก้าอี้มาแล้ว

“ผู้นำตำรวจ” มักไม่ได้สนใจพัฒนางานสอบสวนให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาในฐานะที่เป็น “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรม

ทั้งยังไม่ได้บริหารจัดการงานปัดเป่าบรรเทาทุกข์ให้กับพนักงานสอบสวนที่ “ขาดแคลน” และถูกปาดหน้า “ไม่เจริญก้าวหน้า”

 

อดีตพนักงานสอบสวนมือดีรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ณ โรงพักแห่งหนึ่ง มีพนักงานสอบสวน 15 คน แต่วิ่งไปช่วยราชการ 8 คน

เหลือเข้าเวรสอบสวนที่โรงพัก 7 คน

พอสิ้นปีงบประมาณ พนักงานสอบสวน 7 คนนั้นไม่มีใครได้ “2 ขั้น” แม้แต่คนเดียว

ในขณะที่ รอง สวป. มี 5 คน ได้ 2 ขั้น 2 คน

รองสารวัตรสืบสวน มี 3 คน ได้ 2 ขั้น 1 คน

รองสารวัตรจราจร มี 3 คน ได้ 2 ขั้น 1 คน

เมื่อฝีแตกบ่อยๆ ก็ระส่ำระสาย จึงกำหนดให้ทุกโรงพักต้องจัดแบ่งโควต้า “2 ขั้น” ให้พนักงานสอบสวนกันเสียบ้าง

 

ร.ต.อ.หญิง ศิราณี ผู้มีดีกรี “รางวัลข้าราชการตำรวจดีเด่นต้นแบบ ประจำปี 2566” ถึงแม้จะเข้าสู่ระบบตำรวจได้ไม่นานนัก แต่เธอก็ประจักษ์แก่ใจ ตาสว่าง กล้าที่จะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “พนักงานสอบสวนไม่เจ๊งก็เจ๊า เป็นงานที่โดดเดี่ยวมาก ไม่มีนายเหลียวแล เพราะไม่ได้สร้างชื่อเสียง สร้างประโยชน์อะไรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเลย พูดง่ายๆ เป็นงานที่โชว์ไม่ได้ แต่มันคือหัวใจหลักของโรงพัก”

“ต้นธารกระบวนการยุติธรรม” ก็แค่คำประโลมใจ

ในโลกแห่งความเป็นจริงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แทบจะไม่มีใครอยากอยู่หรืออยากจะทำหน้าที่ “พนักงานสอบสวน”

หากจำเป็น “ต้องเป็น” ก็ด้วยเหตุที่มี “บทบังคับ”

เช่นว่า ใครจะขึ้นเป็น “หัวหน้าสถานีตำรวจ” จะต้องผ่านเกณฑ์งานสอบสวนเบื้องต้น ในขั้นต่ำ ต้องผ่านการเป็นรองสารวัตรสอบสวน 3 ปี, เป็นสารวัตรสอบสวน 2 ปี และเป็นรองผู้กำกับการ (สอบสวน) 1 ปี

งานสอบสวนเป็น “วิชาชีพ” ตำรวจในสายงานสอบสวนมีความเข้าใจและไม่ได้มีปัญหาที่ “รายได้” จะต้องรู้จัก รู้เจียมการใช้จ่าย

“รองสารวัตร” เริ่มต้นที่เงินเดือน+เงินประจำตำแหน่ง รวมกันราว 30,000 บาท มีเงินค่าทำสำนวนให้อีกคดีละ 500-1,500 บาท + เงินค่าชันสูตรศพละ 1,200 บาท พอจะตั้งอยู่ได้ในความสุจริต

แต่ไม่พอ ถ้าจะต้อง “เจียดนาย”!

ไม่เพียงแต่เท่านั้น “งานสอบสวน” ยังไม่สามารถจะเอารายละเอียดสำนวนสอบสวนมาตีแผ่เผยแพร่เป็นผลงานชิ้นโบแดงให้นายได้ “โชว์” ก่อนจะขึ้นรับตำแหน่งสำคัญๆ ได้

 

ในวัฒนธรรมองค์กรที่ผิดเพี้ยนพิกลพิการ “พนักงานสอบสวน” จึงไม่ใช่บุคลากรชั้นนำที่ควรค่าแก่การส่งเสริมให้เสียเก้าอี้

ด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายให้คุณให้โทษที่ไม่มีระบบแน่นอนและเป็นธรรมนี้ การตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความรู้ความสามารถและความขยันขันแข็ง ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า “จะเป็นคุณ” จึงเป็นเหตุผลทำให้หลายคนต้องวิ่งเต้นย้ายงาน ส่วนคนที่รับไม่ได้กับระบบก็ “ลาออก”

ที่ประชาชนเข็ดขยาดหวาดผวากับงานบริการของโรงพัก ที่ไม่มั่นใจตำรวจ ที่งานสอบสวนล้นมือ สำนวนสอบสวนไม่มีคุณภาพ พนักงานสอบสวนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งโยกย้าย ทั้งหลายเหล่านั้นไม่ใช่ “ปัญหาแก้ยาก”

ทุกรัฐบาลไม่ได้คิดจะแก้

ผู้นำทางการเมืองกับผู้นำตำรวจกี่คนมาแล้วที่เป็นผู้ “สร้างปัญหา”!?!!