ปริศนา ‘หอพระธรรมมณเฑียร’ ในวัดพระธาตุหริภุญชัย เคยมีทั้งหมดถึงสามหลัง?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ทุกวันนี้เมื่อเราเข้าไปในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน จะเห็นว่ามี “หอพระไตรปิฎก” หรือเรียกย่อๆ ว่า “หอไตร” แต่ทางภาคเหนือมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “หอธรรม” (เอกสารโบราณเขียน “หอธัมม์”) อยู่หนึ่งหลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุเจดีย์

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของหอไตรหรือหอธัมม์หลังนี้ พบว่าเป็นสิ่งก่อสร้างรุ่นเก่าที่น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยล้านนาอย่างน้อยประมาณ 500 ปี

มีรูปแบบเป็นอาคารทรงสูงสองชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารเครื่องไม้ ตั้งอยู่บนฐานสูง ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ตัวอาคารมีมุขทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง ตลอดทั้งหลังแกะลวดลายฉลุไม้ปิดทองประดับกระจก

หลังคาทำลดชั้นประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ อ่อนช้อยแบบล้านนาโบราณ

บนสันหลังคาเรียงรายด้วยบราลี หรือ “ปราสาทเฟื้อง” หลังคามุงด้วยกระเบื้องโลหะคล้ายแผ่นดีบุก

ถือว่าหอธัมม์แห่งนี้ยังรักษาเค้าโครงของสถาปัตยกรรมล้านนาแบบดั้งเดิมที่มีอายุร่วม 500 ปีเพียงไม่กี่หลังที่ยังหลงเหลืออยู่ในลำพูนและทั่วล้านนา

ยิ่งเมื่อได้มีการพบศิลาจารึกหลักหนึ่งภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย (แต่จุดที่พบกลับไม่ใช่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุ กลายเป็นพบที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมธาตุ ซึ่งจุดที่พบนี้มีเงื่อนงำ ติดตามอ่านคำเฉลยต่อไป)

จารึก “หริปุญชปุรี” (ลพ.15) พบที่โคนฐานพระธาตุหริภุญไชยด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จุดที่เคยมีหอธัมม์หลังหนึ่ง สร้างโดยพระเมืองแก้วและพระราชมารดา แต่ปัจจุบันหอธัมม์หลังนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว

จารึกหริปุญชปุรี

กรมศิลปากรกำหนดเรียกจารึกหลักนี้ว่า ศิลาจารึกหริปุญชปุรี เลขทะเบียน 327/18 หรือ ลพ.15 เป็นจารึกที่มีรูปร่างผอมสูง เขียนด้วยตัวอักษรล้านนา (ฝักขาม) สองด้าน ด้านที่หนึ่งจารไว้ถึง 32 บรรทัด ด้านที่สองมีความยาว 19 บรรทัด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย

ความสำคัญของจารึกหลัก ลพ.15 คือ กล่าวถึงการสร้าง “หอพระธรรมมณเฑียร” โดยบุคคลสำคัญคือ พระเมืองแก้วพร้อมด้วยพระราชมารดา ก็ยิ่งช่วยตอกย้ำว่าหอธัมม์หลังนี้น่าจะเป็นหลังเดียวกันกับในจารึก

ดังข้อความที่นักภาษาโบราณของกรมศิลปากร ได้ปริวรรตออกมาตั้งแต่ราวปี 2518 และทีม ดร.ฮันส์ เพนธ์ นักจารึกวิทยาชาวเยอรมัน แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ปริวรรตซ้ำอีกครั้ง เนื่องด้วยจารึกหลักนี้มีเนื้อหายาวมาก กอปรกับการใช้ภาษาที่อ่านยาก

จึงขอสรุปใจความพอเป็นสังเขปมาดังนี้

“เมื่อจุลศักราช 862 ปีกดสัน (ปีวอกโทศก ตรงกับพุทธศักราช 2043) สมเด็จบพิตรมหาราชเจ้า ตนเป็นอธิบดีในศรีพิงคราษฎร์ได้ฐาปนากงธรรม กับพระกรรโลงรักอัครราชมารดา มีญาณยุตวิสุทธ สรัธาในพุทธศาสนามากนัก สมเด็จพระองค์มหาราชเจ้าทั้งสอง ให้สร้างพระธรรมมนเทียร อันอาเกียรณ์ดารดาษมาศด้วยสุพรรณบุษบกผกาวัลย์ เฉกไพชยนต์ปราสาท

ให้สร้างพระธรรมอันเป็นพุทธวาจา ตราได้ 84,000 พระธรรมขันธ์ กับคันถันตรปกรณ์ สาตฺถกถา ฎีกานุฎีกา คณนาทั้งมวลได้ 420 คัมภีร์ ให้นำสุพรรณพระพุทธรูปเจ้ามาสถาปนาไว้ในหอพระธรรมมนเทียร ที่ทรงสร้างขึ้นด้วยเงิน 200,000 เป็นประมาณ ทรงให้เงินทุนเพื่อนำดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายซื้อหมากเมี่ยงและข้าวบูชาพระธรรม ทรงให้ภาษีนาปีละ 2,000,000 เบี้ย เพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ดูแลหอ กับพนักงานคนอื่นๆ ทรงถวายข้าคน 12 ครอบครัว เพื่อปฏิบัติรักษาหอพระธรรมมนเทียรและพระไตรปิฎก ทรงห้ามใช้คนเหล่านี้ทำงานอื่น

ขอกุศลอนันตเจตนาฝูงนี้ จุ่งให้สมเด็จมหาราชเจ้าทั้งสองพระองค์ทรงธนสารสองประการ คืออัชฌัตติกพาหิรธนอันบริวรณ์ดี และมียศเดโชชัย แลทรงปรัชญาอันเฉลียวฉลาด อาจตรองตรัสอรรถธรรม ที่สุดให้ได้มหานิโรธโพธิญาณ และอุทิศกุศลให้แด่พระบิดา มหาอัยกา อัยกี อินทร์ พรหม ยมราช จาตุโลกบาล แลเทวดาอารักษ์แห่งเมืองหริปุญชปุรี ให้ช่วยรักษาพุทธศาสนาในสถานที่นี้กาลเท่าวันฯ สิทธิสวัสดีฯ”

เมื่อพิจารณาจากศักราชที่ปรากฏ ปี พ.ศ.2043 ที่ “มหาราชเจ้า” พระองค์นั้นได้สร้าง “หอพระธรรมมณเฑียร” (จารึกใช้ มนเทียร) ตรงกับรัชสมัยของ “พระเมืองแก้ว” กษัตริย์ราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาลำดับที่ 11 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2038-2068) ส่วนพระราชมารดา (พระกรรโลงรักอัครราชมารดา) ของพระองค์ก็คือ “พระนางโป่งน้อย” หรือเจ้าศรีอโนชาเทวีนั่นเอง

แม้จะมีหลักฐานรองรับถึงอายุสมัยการสร้าง “หอธัมม์หลังหนึ่ง” ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยว่ามีความเก่าแก่ถึงสมัยของพระเมืองแก้วก็จริง แต่ปัญหาที่ตามมามีอยู่ว่า ในอดีตบริเวณวัดแห่งนี้ มิได้มีหอธัมม์เพียงแค่หลังเดียว หากมีมากถึง 3 หลัง!

หอธัมม์ หรือหอพระไตรปิฎกในวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ด้านทิศใต้ ซึ่งน่าจะเป็นผลงานของแม่ท้าวหอมุข มากกว่าจะสร้างโดยพระนางอโนชาเทวี พระมารดาของเมืองแก้ว

ปิฎกไตรเก่า ปิฎกไตรใหม่ ปิฎกด้านเหนือ

หนังสือเรื่อง “ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย” ที่ปริวรรตโดย อาจารย์มหาสิงฆะ วรรณสัย จากต้นฉบับเดิมที่จารด้วยอักษรธัมม์ล้านนา เป็นจดหมายเหตุบันทึกความเป็นไปของการก่อสร้างเสนาสนะหลังต่างๆ ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ตั้งแต่ยุคแรกสร้างคือสมัยพระญาอาทิตยราชแห่งสมัยหริภุญไชย เรื่อยมาจนล้านนาตกเมืองขึ้นของพม่า หลังจากปี 2109 การบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ก็หยุดชะงักลงโดยสิ้นเชิง

หน้าที่ 23 ของหนังสือเล่มดังกล่าวระบุว่า ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1985-2030) ได้มาหยาดน้ำถวายนาและป่ายางแด่พระมหาชินธาตุเจ้า ให้เป็นที่บิณฑบาตปัจจัยแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอกสารช่วงนี้กล่าวถึงการถวายที่นาจำนวน 3 ผืน ให้แก่ผู้เฝ้าหอพระไตรปิฎก 3 หลัง

อันประกอบด้วย หอพระไตรปิฎกหลังเก่า ได้รับการถวายนาไว้ 8,320,000 นา, หอพระไตรปิฎกหลังใหม่ มี 2,000,000 นา และหอพระไตรปิฎกด้านทิศเหนืออีก 8,020,000 นา

ข้อความนี้ชวนให้สงสัยว่า หอพระไตรปิฎกทั้งสามหลังนี้ มีหลังใดบ้างไหมที่เป็นต้นเค้าของหอธัมม์ที่เหลือเพียงหลังเดียวในปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้?

และสิ่งที่ยิ่งสงสัยมากเป็นพิเศษก็คือ คำว่าหอพระไตรปิฎกหลังเก่านั้น เก่าถึงยุคใดกันเล่า? แค่สมัยพระญากือนา หรือพระญามังราย? หรือว่าเก่าไปถึงยุคพระญาสรรพสิทธิ์ พระญาอาทิตยราชเลยทีเดียว

อีกทั้งเอกสารเล่มนี้มิได้บอกที่ตั้งของหอพระไตรปิฎกหลังเก่ากับหลังใหม่ ว่าอยู่ทิศไหนขององค์พระธาตุ ครั้นพอจะกล่าวถึงหอธัมม์หลังสุดท้าย กลับระบุว่า หอธัมม์ด้านทิศเหนือ แสดงว่าหอธัมม์อีกสองหลังทั้งเก่าและใหม่ ไม่ได้อยู่ทิศเหนือหรือเช่นไร

หอธัมม์ของล้านนา เป็นการจำลองคติเขาพระสุเมรุมาสร้าง ภายในกรอบช่องกระจกหรือช่องลูกฟัก (ทางเหนือเรียกว่า “ช่องแว่น”) ใต้บานพระบัญชรรายล้อมด้วยสัตว์ในป่าหิมพานต์ เช่น ดุรงคปักษิณ นรสิงห์ คชสีห์ ฯลฯ สัตว์เหล่านี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ อาทิ มกรหมายถึงน้ำ กินรีหมายถึงความมีชีวิตชีวา หงส์หมายถึงการคุ้มครองรักษา

หอธัมม์อีกสองหลังในสมัยพระเมืองแก้ว

ยังไม่ทันสิ้นสงสัย เปิดไปหน้า 31 ของหนังสือเล่มเดียวกัน เมื่อหมดยุคของพระเจ้าติโลกราชแล้ว ก็กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยพระยอดเชียงรายแต่เพียงสั้นๆ จากนั้นพรรณนาถึงการก่อสร้างเสนาสนะหลังใหม่ขึ้นภายในวัดสมัยพระเมืองแก้ว เน้นข้อมูลการสร้างพระวิหารหลวง ว่ามีลักษณะเป็นทรงจัตุรมุข (คล้ายที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง) ไม่ใช่วิหารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจคือมีการบันทึกว่า หลังจากที่สร้างวิหารหลวงซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์พระธาตุเสร็จแล้ว พระเมืองแก้วได้บำรุงดูแลเสนาสนะหลังต่างๆ โดยกล่าวถึงหอพระไตรปิฎกว่ามีสองหลัง คือหลังด้านทิศเหนือกับหลังด้านทิศใต้

หอพระไตรปิฎกด้านทิศใต้เป็นของ แม่ท้าวหอมุข, ท้าวอวยกา สร้างในราคา 2,200,000 นา ส่วนหอพระไตรปิฎกหลังเหนือ สร้างโดย ท้าวอโนชาเทวี พระราชมารดาของพระเมืองแก้ว หมดเงินไป 83,000 เงิน

มีการสร้างคัมภีร์และผ้าห่อคัมภีร์สิ้นเงิน 36,000 เงิน, มอบถวายนาไว้ 8,100,000 นา และมอบทาสถวายไว้ให้เฝ้าหอพระไตรปิฎกหลังละ 4 ครัวเรือน

เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลมาวิเคราะห์ คงเป็นไปไม่ได้ที่ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ แห่งเดียวจะมีหอธัมม์จำนวนมากถึง 5 หลัง (หอธัมม์เก่า+หอธัมม์ใหม่+หอธัมม์หลังทิศเหนือ สมัยพระเจ้าติโลกราช กับหอธัมม์ทิศใต้ของแม่ท้าวหอมุข+หอธัมม์ทิศเหนือของท้าวศรีอโนชา สมัยพระเมืองแก้ว)

หอธัมม์ 3 หลังยุคพระเจ้าติโลกราช กับ 2 หลังยุคพระเมืองแก้ว เมื่อพินิจพิเคราะห์หาจุดซ้ำหรือการทับที่กันแล้ว พบว่าหอธัมม์ด้านทิศใต้ของแม่ท้าวหอมุข น่าจะเป็นหอธัมม์หลังเดียวกันกับที่ระบุว่าเป็นหอธัมม์หลังใหม่ ด้วยคงเพิ่งสร้างเสร็จไม่นานในสมัยพระเจ้าติโลกราช อีกทั้งตัวเลขค่าก่อสร้างในราคา 2,200,000 นา (ที่ระบุในยุคพระเมืองแก้ว) ก็ใกล้เคียงกับตัวเลข 2,000,000 นา ที่ระบุในสมัยพระเจ้าติโลกราช

การตกแต่งผนังอาคารหอธัมม์ล้านนา นิยมทำเป็นลายดอกไม้ทิพย์ หรือลายพุ่มข้าวบิณฑ์ หมายถึงความผลิบาน การโปรยพรด้วบุปผามาลา ของเหล่าเทวดาร่วมแซ่ซ้องสาธุการต่อการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า

กรณีของ แม่ท้าวหอมุข (เอกสารเล่มอื่น ใช้หอมุก) มีคำขยายว่า “ท้ายอวยกา” (ไอยกา/อัยกา – ย่า, ยาย, ทวด) ต่อท้ายด้วย แม่ท้าวหอมุขคือสนมเอกของพระเจ้าติโลกราช ผู้ซึ่งนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่านางได้ติดตามพระญายุทธิษเฐียร มาตั้งแต่สองแคว แสร้งสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช สุดท้ายกระทำการใส่ไคล้ ให้ร้ายป้ายสีพระโอรส คือพ่อท้าวบุญเรือง ทำให้พระเจ้าติโลกราชหลงประหารราชบุตร

ส่วนหอธัมม์ด้านทิศเหนือที่พระนางอโนชาเทวีพระราชมารดาของพระเมืองแก้วสร้างนั้น ก็น่าจะเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์หอธัมม์ที่มีมาแต่เดิมหลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศเหนือเหมือนกันมากกว่าที่จะสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด (อย่างน้อยทิศเหนือนี้ก็เคยมีหอธัมม์มาแล้วหนึ่งหลังในสมัยพระเจ้าติโลกราช)

อีกทั้งตัวเลขที่มีการกัลปนาที่ดินจำนวน 8,020,000 นา ถวายแด่หอธัมม์ด้านทิศเหนือสมัยพระเจ้าติโลกราช ก็ใกล้เคียงกับตัวเลขที่ระบุในสมัยพระเมืองแก้วว่ามีการถวายที่นาแด่หอธัมม์หลังนี้ 8,100,000 นา

ส่วนหอธัมม์หลังเก่าสุดที่ระบุว่าเคยมีในสมัยพระเจ้าติโลกราชนั้นไม่ทราบว่าตั้งอยู่ทิศไหน จะยังมีอยู่หรือไมในสมัยพระเมืองแก้ว เหตุที่ไม่ได้กล่าวถึง

เกี่ยวกับทิศที่พบจารึก “หริปุญชปุรี” ซึ่งบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์สองแม่ลูกที่ได้ช่วยกันสร้างหอพระธรรมมณเฑียรนั้น ตอนเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรไปพบครั้งแรก ได้ข้อมูลว่าปักอยู่ที่โคนฐานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ หาใช่ด้านทิศใต้หรือตะวันออกเฉียงใต้ไม่

เกิดอะไรขึ้นล่ะหรือ? ณ วันนี้ หอธัมม์ฝั่งทิศเหนือไม่เหลืออีกแล้ว ถูกรื้อไปตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือโดนอัคคีภัย วาตภัย? ทุกวันนี้ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ จึงเหลือหอธัมม์แค่ทางทิศใต้หลังเดียว

และด้วยความที่เราเข้าใจผิด (กันหรือเปล่า?) จึงเอาป้ายไปติดว่า นี่คือหอธัมม์หลังเดียวกันกับที่ปรากฏในจารึกหริปุญชปุรี ผลงานของกษัตริย์สองแม่ลูก

ที่ไหนได้ หอธัมม์ด้านทิศใต้ เอกสารระบุชัดว่าเป็นผลงานของแม่ท้าวหอมุข! •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ