ควันความ – ควันไฟ

ญาดา อารัมภีร
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ บ้านเมืองถึงคราววิบัติ “ล่มสลาย” บ้านแตกสาแหรกขาด ภาพนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

สํานวนไทยที่เกิดจากการสังเกตธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีอยู่มากมาย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ‘ควันความ’ และ ‘ควันไฟ’ ทั้งสองสำนวนหมายความว่า เมื่อทำอะไรเป็นเรื่องอื้อฉาวแล้ว จะปกปิดเรื่องนั้นไม่สำเร็จ โลกนี้ไม่มีความลับ การกระทำดังกล่าวจะเป็นความลับอยู่ตลอดไปไม่ได้ วันหนึ่งก็ต้องเปิดเผยออกมา ไม่ผิดอะไรกับควันที่ต้องกระจายลอยตัวขึ้นมาให้ใครๆ เห็น

‘ควันความ’ เป็นสำนวนเก่าแก่ สมัยอยุธยาก็มีใช้กันแล้ว วรรณคดีเรื่อง “ลิลิตพระลอ” ตอนที่ความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างพระลอ เมืองสรวงกับพระเพื่อนพระแพง เมืองสอง (สองเมืองนี้เป็นศัตรูกัน) ไม่เป็นความลับอีกต่อไป กวีได้บรรยายว่า

“ควันความจนรั่วรู้ ผู้หนึ่งเห็นสะกิดผู้

หนึ่งให้แลดู ฯ”

ความหมายก็คือ ความลับที่ปกปิดไว้เปรียบเสมือนควันไฟ ต่อให้เอาอะไรปิดบังไว้ ควันก็สามารถรั่วลอดออกมาจนผู้คนรู้ พอคนหนึ่งเห็นก็สะกิดอีกคนให้ดู รู้กันต่อๆ ไป

 

ไม่ต่างอะไรกับข่าวลือเรื่อง พระอนิรุทธลอบมีสัมพันธ์ลับกับนางอุษา พระธิดาเจ้ากรุงพาณ ถึงขนาดในราชสำนักสะกิดกันให้วุ่น พากันซุบซิบนินทา

ดังที่วรรณคดีเรื่อง “อนิรุทธคำฉันท์” เล่าว่า

“รู้แท้ว่าพระศรี อนิรุทธลอบลอง

สะกิดกันทั้งเรือนทอง ก็กระซาบกระซิบกัน”

เรื่องที่เกิดแก่นางอุษานี้เปรียบได้กับควันไฟที่ปิดอย่างไรก็ปิดไว้ไม่อยู่ แม้พระยายักษ์ เจ้ากรุงพาณจะทั้งปรามทั้งห้ามไว้ก็ตาม

“คดีนี้บดี นฤบดีบิดาปราม

ควันความมิใช่ความ ฤจะปิดจะป้องคง”

โดยเฉพาะ 2 วรรคสุดท้าย ‘ควันความมิใช่ความ ฤจะปิดจะป้องคง’ คนมักจำคลาดเคลื่อนว่า ‘ควันความบ่ควรความ ฤจะปิดจะป้องคง’ คือเปลี่ยนคำว่า ‘มิใช่’ เป็น ‘บ่ควร’ เพราะเสียงคำไพเราะ ออกเสียงคล่องปากกว่าคำแรก

 

บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ มีอยู่ตอนหนึ่ง พี่เลี้ยงทั้งสอง (นางบาหยันและประเสหรัน) แนะให้อุณากรรณหรือนางบุษบาแกล้งทำสังวาสกับนางกุสุมาเพื่อป้องกันเรื่องอื้อฉาวว่าสาวมาอยู่ด้วยทั้งที หนุ่มไม่ยอมมีอะไรๆ ด้วย ผู้คนจะสงสัยได้

“เมื่อแปลงองค์เป็นชายจะอายไย จะเป็นที่สงสัยแก่เสนา

เขาจะว่าทรามวัยมิใช่ชาย จึงเฉยเชือนเอื้อนอายเสน่หา

ธรรมเนียมบุรุษในโลกา ย่อมปองปรารถนานารี

แต่นางมาอยู่ก็หลายวัน ไม่คิดกันควันความก็ใช่ที่”

 

นอกจากนี้ ยังมีสำนวน ‘ควันไฟ’ ซึ่งมีความหมายครือๆ กันกับ ‘ควันความ’ ในวรรณคดีเรื่องเดียวกันนี้ ตอนที่พี่เลี้ยงทั้งสี่ของนางจินตะหราปรับทุกข์กันเรื่องอิเหนาได้นางจินตะหราว่าขืนปิดบังไว้ต่อไป พระบิดาพระมารดาของนางรู้เมื่อใด พวกตนก็มีโทษเมื่อนั้น ดังที่กวีบรรยายว่า

“บัดนั้น พี่เลี้ยงนางกำนัลพร้อมหน้า

นั่งปรับทุกข์กันจำนรรจา ร้อนตัวกลัวอาญาเป็นสุดคิด

จะนิ่งเสียฉะนี้ก็มิได้ สองกษัตริย์ทราบไปจะได้ผิด

ควันไฟใครห่อนจะปิดมิด ครั้นคิดกันแล้วก็ขึ้นมา

จึงนบนิ้วประนมบังคมทูล นเรนทร์สูรสองกษัตริย์นาถา

บัดนี้องค์อิเหนานัดดา เสด็จมาปราสาทพระบุตรี”

ข้อความว่า ‘ควันไฟใครห่อนจะปิดมิด’ สอดคล้องกับคำอธิบายด้วยกาพย์ยานี 11 ใน “ไวพจน์ประพันธ์” ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่ว่า

“ควันไฟปิดไม่มิด ไม่ควรคิดจะกั้นกาง

เปรียบชายรักกับนาง ถึงจะปิดไม่มิดควัน”

ความลับไม่มีในโลก ยิ่งปิดๆ บังๆ คนยิ่งอยากรู้ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร