ห้างเซ็นทรัลในเยอรมนี

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
ALSTERHAUS Hamberg, Germany./ ภาพประกอบ : centralgroup

กลุ่มเซ็นทรัล กับเครือข่ายห้างในยุโรป อยู่ในช่วงเวลาซับซ้อนและตื่นเต้นยิ่งขึ้น

อย่างที่เคยเสนอ (“เครือข่ายห้างเซ็นทรัลในยุโรป” 19 มกราคม 2567) กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญเครือข่ายห้างในยุโรปมากเป็นพิเศษ ยก “ห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ในยุโรป” ขึ้นแถวแรกในการนำเสนอข้อมูล “ภาพรวมธุรกิจ”

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน การทบทวนภาพกว้างๆ เกี่ยวกับ “กลุ่มเซ็นทรัล” อีกสักครั้ง เชื่อว่าเป็นเรื่องจำเป็น ทำให้มองเห็นความเชื่อมโยง “กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกและบริการทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ดำเนินธุรกิจหลากหลายแขนง อาทิ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า, ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น, ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตท, ธุรกิจร้านอาหาร รวมไปถึงธุรกิจดิจิทัลไลฟ์สไตล์” คำบรรยายของกลุ่มเซ็นทรัลเองว่าไว้ (https://www.centralgroup.com/)

ว่าด้วยภาพรวมธุรกิจที่เป็นไฮไลต์ นอกจาก “ห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ในยุโรป” ขึ้นเป็นอันดับแรก ได้ตามมาด้วยชื่อบริษัทสำคัญอีก 3 แห่ง ล้วนจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN และ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL

 

กลุ่มเซ็นทรัล ก่อตั้งขึ้นในสังคมไทยมากว่า 7O ปี มีรากเหง้าในฐานะธุรกิจครอบครัว-ตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้ผ่านมาอยู่ในการบริการโดยคนรุ่นที่ 3 แล้ว เมื่อพิจารณาโปรไฟล์คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นผู้ชายนามสกุลจิราธิวัฒน์ และเกือบทั้งหมดอยู่ในรุ่นที่ 3 นำโดย ทศ จิราธิวัฒน์ (บุตรของผู้นำรุ่นที่ 2 – สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์) ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร

กลุ่มเซ็นทรัล กับเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในยุโรป สะท้อนบุคลิกใหม่ที่ตื่นเต้น ตามยุทธศาสตร์ธุรกิจอย่างจริงจัง ความสำเร็จในช่วงทศวรรษมานี้ เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิของธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ 3 ด้วยก็คงได้

มีชิ้นส่วนหนึ่งสะท้อนเช่นนั้น ผ่าน Central Group Calendar 2024 (สามารถ download ได้ใน https://www.centralgroup.com/en/updates/corporate-ebook) หน้าปกเป็นภาพ Selfridges London, United Kingdom ในหน้า 2 มีคำบรรยายที่น่าสนใจ ได้ยกมาบางส่วน

“…เปิดมุมมองอันตื่นตาตื่นใจให้คุณ ในช่วงเวลาเริ่มต้นปีใหม่ นำพากลุ่มเซ็นทรัลก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ด้านค้าปลีกและบริการ ด้วยเครือข่ายห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก…”

ทั้งนี้ ภาพประกอบปฎิทินทั้ง 12 เดือน ปรากฏห้างสรรพสินค้าในยุโรปถึง 11 ภาพใน 11 เดือน ไล่เรียงจากเมืองใหญ่สำคัญๆ

มีเพียงภาพสุดท้ายเท่านั้น เป็น Central Embassy ในกรุงเทพฯ

 

ว่าด้วยโมเดลธุรกิจแผนการขยายเครือข่ายห้างในยุโรป ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุน โดยมีจุดเริ่มต้นอย่างสำคัญราวๆ ทศวรรษ ด้วยการปรากฏพันธมิตรธุรกิจสำคัญ – Signa Holding Group (ปี 2558)

“กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมมือกับซิกน่า ต่อยอดความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้าในยุโรป ด้วยการเข้าซื้อกิจการ กลุ่มคาเดเว ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า คาเดเว (KaDeWe), โอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) และ อัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) ในประเทศเยอรมนี” ข้อมูลปัจจุบันของกลุ่มเซ็นทรัล ว่าไว้

เกี่ยวกับห้างสรรพสินค้าในเครือ KaDeWe group เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวที่น่ายินดี “ห้างกลุ่มคาเดเว ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คว้ารางวัลเกียรติยศสูงสุดในวงการค้าปลีก…” (ข่าวกลุ่มเซ็นทรัล เมื่อ18 ตุลาคม 2566)

โดยขยายความเพิ่มเติมไว้

“…บันทึกไว้เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่ห้างหรูยอดนิยมของกลุ่มคาเดเว ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าระดับลักชัวรี่ ที่มีความโดดเด่นทั้งด้านสถาปัตยกรรม เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ากว่า 100 ปี และมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเยอรมนี 3 แห่ง” ทั้งนี้ ตั้งใจเน้นข้อความสำคัญไว้อีกครั้ง “…ภายใต้การบริหารของกลุ่มเซ็นทรัล บริษัทของคนไทย คว้า 2 รางวัลทรงเกียรติจาก Intercontinental Group of Department Stores (IGDS) สมาคมห้างสรรพสินค้าที่มีบทบาทสำคัญสูงสุดในธุรกิจห้างสรรพสินค้าทั่วโลก”

แต่จากนั้นไม่นาน กลุ่มเซ็นทรัลได้เผชิญแรงกระเพื่อมทางธุรกิจ เกี่ยวกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในยุโรป เริ่มจากกรณี Selfridges ในสหราชอาณาจักร (โปรดอ่านรายละเอียดอีกครั้ง “เครือข่ายห้างเซ็นทรัลในยุโรป” มติชนสุดสัปดาห์ 19 มกราคม 2567) ทั้งนี้ ได้สรุปประเด็นไว้

“ทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุปัจจัยแปรผัน มาจากพันธมิตรทางธุรกิจสำคัญ – Signa Holding Group”

 

Signa Holding Group ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ private company รายใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรีย ประสบปัญหาทางธุรกิจ มีหนี้สินจำนวนมาก จนเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา (2566) ได้ยื่นต่อศาลแห่งกรุงเวียนนา (Commercial court Vienna) เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย (insolvency proceedings) เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการ

ในตอนนั้นได้กล่าวไว้ ด้วยอ้างอิงกระแสข่าวจากโลกตะวันตก กลุ่มเซ็นทรัลกับเครือข่ายห้างในยุโรปจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงเป็นระลอกตามมาอีก

เมื่อไม่กี่วันมานี้ (30 มกราคม 2567) กลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ KaDeWe Group ผู้ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้า 3 แห่งในเยอรมนี ได้ออกเอกสารชี้แจง (ปรากฏในสื่อหลักๆ ของไทย) ในกรณี KaDeWe Group เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

“เนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอย่างก้าวกระโดดจากสงครามในยูเครน ทำให้ค่าเช่าปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงเฉลี่ย 37% เมื่อเทียบกับปี 2562 จนอยู่ในระดับเกินกว่ามาตรฐานทั่วไปในตลาดมากในทั้งสามสาขา ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถทำกำไรได้ และมีผลประกอบการขาดทุน” ผู้บริหารเครือข่ายห้างในยุโรปกลุ่มเซ็นทรัล อ้างสาเหตุสำคัญไว้

ทั้งนี้ โดยไม่กล่าวถึง Signa Holding Group แต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม สื่อใหญ่เยอรมนี (DW) เน้นคำว่า “KaDeWe Group หนึ่งในเครือข่าย Signa อาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหา (KaDeWe Group, part of the troubled Signa real estate empire,)” ได้ให้ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ระหว่างกลุ่มกลุ่มเซ็นทรัลกับ Signa ไว้ด้วยว่า มีสัดส่วน 50.1/49.9 ทั้งนี้ ได้รายงานต่อไปว่า เมื่อ 29 มกราคมที่ผ่านมา KaDeWe Group ได้ยื่นล้มละลาย (files for bankruptcy) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างกิจการ

สอดคล้องกับถ้อยแถลงของกลุ่มเซ็นทรัลเอง “ฝ่ายบริหารของกลุ่มคาเดเว มีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลแขวงชาร์ล็อตเต็นบูร์ก กรุงเบอร์ลิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู โดยขอสิทธิในการบริหารแผนฟื้นฟูด้วยตนเอง (insolvency proceedings under self-administration) ซึ่งคำร้องดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้ว”

ถ้อยแถลงข้างต้นได้เน้นว่า “กลุ่มเซ็นทรัลพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุน ให้วงเงินช่วยเหลือแก่บริษัทต่อไป”

แต่ในนั้นมีเงื่อนต่อท้ายไว้ด้วย “หากบริษัทสามารถบรรลุข้อตกลงกับผู้ให้เช่าในการปรับโครงสร้างค่าเช่าให้ลดลงมาสอดคล้องกับราคาตลาด ซึ่งจะสามารถคลี่คลายปัญหา เพื่อให้กลุ่มคาเดเวได้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างยั่งยืน”

สะท้อนโครงสร้างธุรกิจระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลกับ Signa ดูซับซ้อนขึ้น ว่าไปแล้วเป็นความสัมพันธ์ตามโมเดล CRC กับ CPN ในประเทศไทย

ทั้งนี้ Financial Times สื่ออังกฤษ (มี Nikkei สื่อญี่ปุ่น เป็นเจ้าของ) เคยรายงานไว้ว่า กลุ่มเซ็นทรัลกับ Signa ร่วมทุนกันดำเนินการห้างในเครือ KaDeWe Group โดยมีสัญญาเช่าอาคารสถานที่ (properties) ซึ่งเป็นของ Signa อีกทอดหนึ่ง

ในเดิมพันนี้ เชื่อว่ากลุ่มเซ็นทรัลเดินหน้าอย่างมุ่งมั่น •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com