เครือข่ายห้างเซ็นทรัลในยุโรป แผนการใหญ่กว่าทศวรรษ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

แผนการใหญ่กว่าทศวรรษ กลุ่มเซ็นทรัลกับการขยายเครือข่ายทั่วยุโรป ตื่นเต้นกว่าที่คิด

ตั้งแต่ต้นปี (5 มกราคม 2567) กลุ่มเซ็นทรัล มีข่าวใหญ่ได้รับความสนใจพอสมควร เมื่อบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “เกี่ยวกับพันธมิตรทางธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ CRC) ในห้างสรรพสินค้า Selfridges” โดยสาระสำคัญเน้นว่า “บริษัทไม่ได้รับการติดต่อจากกลุ่มเซ็นทรัลและพันธมิตรทางธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลเรื่องการลงทุนใน Selfridges Group แต่อย่างใด”

ทั้งนี้ นำเสนอแนวคิดอย่างระแวดระวังด้วยว่า “…หลักการในการพิจารณาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจบน 3 แกนสำคัญ คือความเหมาะสมทางด้านกลยุทธ์และแผนการดำเนินธุรกิจของริษัท (Strategic Fit) ราคาที่เหมาะสม และจังหวะเวลาที่สมควร…”

อันที่จริงปฏิกิริยา CRC ต่อกรณี Selfridges มีมาแล้วแต่แรก เมื่อครั้งดีลฮือฮา เกิดขึ้น 2 ปีก่อน เมื่อสื่ออังกฤษ (เมื่อ 2 ธันวาคม 2564) รายงานข่าวข้ามฟากฟ้ามาไทยว่า “ตระกูลจิราธิวัฒน์” แห่งกลุ่มเซ็นทรัล เข้าซื้อห้างหรูของอังกฤษ-Selfridges ด้วยราคาสูงถึง 4 พันล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 180,000 ล้านบาท

ในเวลานั้น CRC ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันทีเช่นกัน “ขณะนี้บริษัทไม่มีส่วนในการดำเนินการตามรายละเอียดของข่าวดังกล่าว”

ต่อมากลุ่มเซ็นทรัลได้มีถ้อยแถลงเป็นทางการตามมา (https://www.centralgroup.com/th/ 24 ธันวาคม 25654) ในหัวข้อ “ดีลประวัติศาสตร์ กลุ่มเซ็นทรัล ผนึกซิกน่า เข้าซื้อกิจการกลุ่มห้างสรรพสินค้า เซลฟริดเจส ในยุโรป” โดยระบุว่าดีลซื้อกิจการ Selfridges Group ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้าในประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ รวม 18 แห่ง อสังหาริมทรัพย์ 7 แห่ง และดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหมด ทั้งนี้ ได้พาดพิงถึง CRC ด้วย “CRC มีสิทธิพิจารณาเข้าลงทุน ในส่วนธุรกิจห้างสรรพสินค้า ที่ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคณะผู้บริหารและกรรมการบริษัท CRC จะดำเนินการศึกษา พิจารณาความเหมาะสม และผลตอบแทนการลงทุนอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ อย่างไรก็ดี กลุ่มเซ็นทรัลมีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปในการลงทุนทั้งหมด”

เหตุการณ์ข้างต้น สะท้อนโครงสร้างธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล มีความซับซ้อนพอประมาณ ผู้คนทั่วไปจึงสับสนไปบ้าง

เมื่อพิจารณาโครงสร้างธุรกิจ CRC ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบว่ามีเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในยุโรป มีเฉพาะ “ห้างสรรพสินค้า 9 แห่งใน 8 เมืองของประเทศอิตาลี” ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัล (อ้างอิงข้อมูลทางการ-https://www.centralgroup.com/th) ให้ภาพที่กว้างกว่ามาก ในฐานะบริษัทแม่ มีเครือข่ายบริษัทย่อยๆ ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่อยู่ เฉพาะที่เกี่ยวกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในยุโรปมีมากกว่าที่อยู่ใน CRC

ความจริงแล้ว กลุ่มเซ็นทรัล ได้เปิดเผยข้อมูลพอสมควร (ผ่าน https://www.centralgroup.com อ้างไว้นั้น) เห็นได้ว่ามีแผนการขยายเครือข่ายสรรพสินค้าในยุโรปอย่างแข็งขันอย่างต่อเนื่อง เริ่มแต่ตั้งแต่ปี 2554 อาจเรียกว่าเป็น “ทศวรรษแห่งยุโรป” ของกลุ่มเซ็นทรัลก็คงได้

เรื่องของเรื่อง Selfridges ครั้งล่าสุด มาจากสื่อตะวันตกเช่นกัน รายงานว่า “Selfridges อยู่ระหว่างเจรจาขอการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อหาทางจ่ายหนี้ที่ใกล้ครบกำหนดชำระ” (3 มกราคม 2567) ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปไม่ไกลมีสะท้อนความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง “Selfridges comes under full control of Thailand’s Central Group” (ขออ้างอิงสื่ออังกฤษ – The Guardian, Wed 15 Nov 2023) พอขยายความได้ว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ควบคุมการบริหาร Selfridges อย่างเต็มตัวแล้ว หลังจาก Selfridges เมื่อนำหุ้นของบริษัทมาชำระหนี้เงินที่กู้จากกลุ่มเซ็นทรัล

ทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุปัจจัยแปรผัน มาจากพันธมิตรทางธุรกิจสำคัญ-Signa Holding Group

ย้อนไปพิจารณาถ้อยแถลงของกลุ่มเซ็นทรัล (เมื่อ 2 ปีที่แล้ว) อีกครั้ง ได้ให้ข้อมูลว่า ดีลตั้งต้นการลงทุนใน Selfridges Group นั้น เป็นการร่วมทุน 50/50 ระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลกับ Signa ต่อมาไม่นาน Signa Holding Group กิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็น private company รายใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรีย ประสบปัญหาทางธุรกิจ มีหนี้สินจำนวนมาก จนเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน (2566) ที่ผ่านมา ได้ยื่นต่อศาลแห่งกรุงเวียนนา (Commercial court Vienna) เพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย (insolvency proceedings) เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการ

ในจังหวะนั้น จึงเป็นที่มาที่ว่ากลุ่มเซ็นทรัลได้ขยับขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดใน Selfridges Group จากนี้เซ็นทรัลคงจะมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นในการบริหารกิจการในมิติต่างๆ อย่างที่ควรเป็น

จากข้อมูลที่มีอยู่ กลุ่มเซ็นทรัลกับเครือข่ายห้างในยุโรป เชื่อกันว่าจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่กว่าที่คิด ไม่เพียงกรณี Selfridges Group เท่านั้น หากรวมถึงอีกหลายที่ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่มีพันธมิตรทางธุรกิจรายเดียวกัน คือ Signa Holding Group

ตามไทม์ไลน์ กลุ่มเซ็นทรัลรุกตลาดยุโรปครั้งแรกในปี 2554 ด้วยการเข้าซื้อกิจการ Rinascente ห้างสรรพสินค้าแห่งอิตาลี มีสาขา 9 แห่ง เมื่อ CRC เข้าตลาดหุ้นไทย เครือข่ายห้างในอิตาลีข้างต้น ได้กลายเป็นธุรกิจหนึ่งในนั้น จากนั้นในปี 2556 กลุ่มเซ็นทรัลขยับขยายเข้าสู่สแกนดิเนเวีย ด้วยการซื้อกิจการ Illum ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่สุดในประเทศเดนมาร์ก มีเพียงสาขาเดียว ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง Copenhagen

มีจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2558 การปรากฏพันธมิตรธุรกิจสำคัญ-Signa Holding Group ขึ้นเป็นครั้งแรก “กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมมือกับซิกน่า ต่อยอดความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้าในยุโรป ด้วยการเข้าซื้อกิจการ กลุ่มคาเดเว ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า คาเดเว (KaDeWe), โอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) และอัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) ในประเทศเยอรมนี” (ข้อมูลปัจจุบันของกลุ่มเซ็นทรัล) ทั้งนี้ กลุ่มเซ็นทรัลเองได้เคยแถลงรายละเอียดบางแง่มุมให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น “กลุ่มเซ็นทรัล และซิกน่า ที่เป็นเจ้าของร่วมในกิจการกลุ่มคาเดเว (KaDeWe Group)” สาระส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงเกี่ยวกับดีลใหญ่ในยุโรปอีกครั้งหนึ่ง

“กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับซิกน่า เข้าซื้อกิจการ ‘โกลบัส’ (Globus) เชนห้างสรรพสินค้าสุดหรูในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวนทั้งหมด 8 แห่งที่ตั้งอยู่ในสุดยอดโลเกชั่นตามเมืองต่างๆ จากบริษัท Migros-Genossenschafts-Bund (MGB) โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 50 : 50” (4 กุมภาพันธ์ 2563)

กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญเครือข่ายห้างในยุโรปมากเป็นพิเศษ ยก “ห้างสรรพสินค้าลักชูรี่ในยุโรป” ขึ้นแถวแรกในการนำเสนอข้อมูลว่าด้วย “ภาพรวมธุรกิจ” (อ้างอีกครั้ง- https://www.centralgroup.com/th) ขยายความด้วยว่ามี “42 โลเกชั่น 8 ประเทศ 38 เมือง “(หมายเหตุไว้ด้วยว่า “รวมทั้ง 3 โปรเจ็กต์ใหม่ที่จะเปิดในปี 2568”)

ว่าไปแล้วโมเดลธุรกิจ ตามแผนการขยายเครือข่ายธุรกิจในยุโรป ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนกับ Signa Holding Group โดยตั้งต้นในสัดส่วน 50/50 ยังไม่มีความแน่ชัดว่า ขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือไม่ ภาพใหญ่กว่านั้น กลุ่มเซ็นทรัลกับแผนการโดยรวมในยุโรปจะเป็นไปอย่างไร

เป็นเรื่องหนึ่งในปี 2567 ที่น่าติดตาม •