บทเรียนชีวิต…เจ็บปวด วีระ (กานต์) มุสิกพงศ์ ‘ไม่คุ้ม เสื้อแดงตาย เจ็บ พิการ ติดคุก…ถ้าไม่สู้ ไทยจะเหมือนพม่า’

หากพูดถึงนักการเมืองคนหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน นามว่า “วีระ มุสิกพงศ์” ปี 2554 เปลี่ยนชื่อเป็น “วีระกานต์” ได้รับฉายา “ไข่มุกดำ” สมัยเข้าสู่สนามการเมืองในการเป็น ส.ส.ใหม่ๆ เมื่อปี 2518 และ 2519 ต่อมา ได้รับเลือกตั้งหลายสมัย ชีวิตรุ่งโรจน์ ได้เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง ผ่านประสบการณ์เป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักพูด นักอภิปราย นักเขียน

อีกฉากหนึ่งของชีวิตก็คือ การเป็นผู้นำคนเสื้อแดง ตำแหน่งประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นหัวขบวนนำมวลชนไปเคลื่อนไหวชุมนุม เดินขบวนเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่ปี 2551-2552-25553 เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เกิดความรุนแรงจากการสกัดกั้นปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เขาและพวกแกนนำถูกจับกุม เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โดนตั้งข้อหาร้ายแรง ติดคุกติดตะราง คนเสื้อแดงบาดเจ็บ ล้มตาย และพิการตลอดชีวิต

ช่วงเช้าของวันหนึ่งกลางเดือนมกราคม เราได้พบกันที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ย่านถนนพัฒนาการ ตามที่นัดหมาย

 

ส.ส.ไม่มีสำนึกประชาธิปไตย
พรรคก้าวไกลเผชิญปัญหา

ประเด็นแรกที่สนทนากัน เป็นคำถามมุมมองต่อภาพรวมของนักการเมืองบนตำแหน่ง ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว กับสำนึกด้านประชาธิปไตยในท่ามกลางสถานการณ์ที่จะมีการออกเสียงประชามติ สอบถามประชาชนเรื่องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“ผมพูดตรงๆ นะ ส.ส.ยุคนี้ไม่มีความสำนึกในทางประชาธิปไตย ไม่มีความรู้ว่า ประชาธิปไตยคืออะไร การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย แทบไม่อยู่ในความคิดของ ส.ส.เลย ความจริงไม่ใช่มีแต่เฉพาะช่วงสภาหรือรัฐบาลชุดนี้ มันเป็นมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ แล้ว สืบเนื่องกันมาก่อนปฏิวัติปี 2557 พวกบ้าเล่นกอล์ฟ อยู่ในสภาก็จะเกาะกลุ่มคุยกันเรื่องกอล์ฟ”

ถามต่อว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้เสียงมากที่สุด การมีพรรคแบบนี้ดีไหม?

“มันก็ควรจะดีนะ เราตั้งใจว่า เขาน่าจะทำได้ดี แต่พอเอาเข้าจริง มันก็ไม่ดีอย่างที่เราคาดหวัง เพราะอะไร พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ตั้งใหม่ ประกอบไปด้วยคนจำนวนมาก ในทางปฏิบัติ ยังตอบไม่ถูกว่าคนในพรรคมีพวกก้าวหน้ากับพวกล้าหลัง พวกไหนมีมากกว่ากัน เพราะฉะนั้น โอกาสที่พรรคจะรุ่งก็มี โอกาสที่จะดับก็มี ด้วยตัวของเขาเอง ผู้บริหารหรือแกนนำก็เป็นคนซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายได้เปรียบในสังคมอยู่ไม่น้อย ยังไม่เห็นว่า จะเป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยก็ได้นะ เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกลจึงเป็นที่พึ่งยังไม่ได้ ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่า เป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริงหรือเปล่า”

กับคำถามที่ถามกันตรงๆ ว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคสมัยใหม่ นโยบายและแนวคิดที่ก้าวหน้ามาก มีประเด็นเรื่องมาตรา 112 การไปแตะกับหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นเขาไม่ยุ่ง เมื่อเป็นดังนี้ พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

“ผมมองว่าไม่ได้ พรรคนี้จะต้องเผชิญปัญหาต่อไป จะเป็นพรรคใหญ่ได้หรือไม่ อาจจะเจ๊งไปก็ได้ หรืออาจจะสำเร็จก็ได้”

เราชวนคุยต่อไปเรื่องเด็กรุ่นใหม่ ที่ใช้สัญลักษณ์ “ชู 3 นิ้ว” ที่เคยชุมนุมเคลื่อนไหวประท้วงรูปแบบต่างๆ เมื่อปี 2563 หลายคนมีคดีความเกี่ยวกับมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

“เด็กรุ่นใหม่ยังไม่มีทางออกที่ว่าจะไปได้ มีอุปสรรคที่ต้องเผชิญหนักหน่วงมาก คงไม่เติบโตไปมากกว่านี้”

นายวีระกานต์ซึ่งผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาทุกรูปแบบยอมรับว่า ความจริงเด็กรุ่นใหม่ก็เก่ง ที่คิดเรื่องจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจระดับบนสูงสุดได้ แต่การใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ในด้านหนึ่งนำความเจริญมาสู่สังคม แต่อีกด้านอาจนำภัยอันตราย ความเลวทรามชั่วร้ายและความพินาศมาสู่ผู้ใช้โดยเฉพาะเด็กๆ

“โทรศัพท์มือถือ ระหว่างประโยชน์กับโทษมันก้ำกึ่งกัน ผมเลยไม่ใช้มัน”

เปลี่ยนเรื่องมาสอบถามแบบกว้างๆ ให้ประเมินการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยในระยะหลังๆ มานี้ดีขึ้นหรือไม่?

นายวีระกานต์ให้มุมมองว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จัดทำในยุค คสช. จะผ่านการลงประชามติ มีการเลือกตั้งถี่ขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นในแง่ของประชาชน ผู้มีอำนาจยึดอำนาจไว้ไม่นาน อยู่นานไม่ได้เพราะคนไม่ยอมรับ กระนั้นจิตใจคนก็ยังห่างไกลประชาธิปไตย

เราตั้งโจทย์ถามอย่างตรงไปตรงมา

“บ้านเมืองมาถึงวันนี้ ได้รัฐบาลผสม พรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ และเป็นแกนนำ แต่ย้อนหลังกลับไปในระยะ 16 ปีตั้งแต่ปี 2551 ที่เกิดแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) แล้วปี 2552 เปลี่ยนเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คนเสื้อแดงเคลื่อนไหวใหญ่ปี 2552-2553 จบลงด้วยการถูกปราบปราม แกนนำและมวลชนโดนจับกุม ติดคุก มีคนตาย บาดเจ็บ พิการจำนวนมาก ถามตรงๆ ว่าคุ้มไหมกับการต่อสู้”

“ถ้าถามว่าคุ้มหรือไม่ ตอบได้ทันทีว่า ไม่คุ้ม” นายวีระกานต์ตอบแบบไม่ลังเล

ก่อนจะเสริมว่า

“มันดีขึ้นหรือไม่ ยอมรับว่า มันก้าวหน้าขึ้น ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเมินผลแล้วก็ยังติดลบอยู่นั่นเอง”

ถ้าไม่สู้…ไทยจะคล้ายพม่า
สงสารประชาชนตาย เจ็บ พิการ

แม้จะย้อนไปเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราก็เอ่ยขึ้นว่า ถ้าคนเสื้อแดงไม่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ไม่ออกมาประท้วงขับไล่เผด็จการทหารที่ยึดอำนาจในรอบ 33 ปีนับแต่เกิดรัฐประหารโดย รสช.เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมา 19 กันยายน 2549 คมช.ก่อรัฐประหาร ครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ก่อรัฐประหาร ซึ่งมีเหตุการณ์นองเลือดหลายครั้ง เช่น พฤษภาทมิฬ 2535 เสื้อแดงโดนปราบที่ราชดำเนินและราชประสงค์ ปี 2552-2553 ยุครัฐบาลประยุทธ์หลังปี 2557 เป็นต้นมา คนรุ่นใหม่ก็โดนปราบ โดนจับไปไม่น้อย

“สมมุติว่ามวลชนเสื้อแดง คนรุ่นใหม่ และประชาชนไม่ประท้วง ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น อยู่เฉยๆ ปล่อยมันไป บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร?” เราเอ่ยถาม

“บ้านเมืองเราจะเป็นคล้ายๆ พม่านะ” นายวีระกานต์ตอบสั้นๆ แต่เสียงเข้ม

ก่อนจะกล่าวต่อ

“ประชาชนจะอยู่กันตามป่าดง เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ถูกผู้ปกครองเผด็จการ มีจิตใจไม่เป็นธรรมกดขี่ ใครโงหัวขึ้นมามันก็จะจับตัวเอาไปขังคุก เอาไปฆ่าง่ายๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดสงครามกลางเมือง แตกเป็นเสี่ยงๆ ซึ่งพม่ากำลังเป็นอยู่ในเวลานี้”

นายวีระกานต์กล่าวว่า “ผมรู้สึกสงสารประชาชนนะ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสื้อแดง และกลุ่มอื่นๆ ที่ออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องต่างๆ ต้องสูญเสียชีวิต พิการ ตาบอด แขนขาขาด น่าอนาถใจ”

“ตอนเราเข้าเรียนธรรมศาสตร์ก็คิดว่า ธรรมศาสตร์เป็นดินแดนแห่งประชาธิปไตย ได้ทำงานเพื่อประชาชนได้ แต่พอลงมาปฏิบัติ ลงมาเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มันคือความเจ็บปวดของคนไทย เรารู้สึกว่า ไม่คุ้ม เพราะเหตุที่มีคนบาดเจ็บ ล้มตาย สูญเสียอิสรภาพ มันไม่คุ้มเลยกับสิ่งที่สูญเสียพวกนี้”

 

เพื่อนร่วบรบ นปช.หายหน้า
ได้แต่ปลง “มันเป็นเช่นนั้นเอง”

ตอนท้ายเราเปลี่ยนมาชวนคุยเรื่องส่วนตัวเปลี่ยนบรรยากาศการสนทนา

“คุณวีระกานต์อายุ 76 ปีแล้ว ถามจริงๆ มีเพื่อนแท้ ไม่ต้องถึงกับเป็นเพื่อนตายกี่คน?”

เขาตอบทันทีว่า “เพื่อนแท้นั้นมี แต่มีไม่กี่คนหรอก”

“เพื่อนหายไปไหนหมด?”

“เพื่อนก็ฝังตัวอยู่ในสังคมรอบๆ เรานี่แหละ แต่ว่าเขาจะเข้าใจในสิ่งที่เราทำหรือเปล่าก็ไม่รู้ได้ การต่อสู้แต่ละครั้งมีมวลชนเข้ามาสนับสนุน แต่คนที่มีความรู้ใกล้เคียงกับเราเข้ามาน้อยมาก เราคิดว่า คนที่เคยเป็นเพื่อนเรา ต่างคนต่างมีภารกิจ เช่น ทนายความ พวกสร้างความร่ำรวยหรือพวกที่ใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น ผู้พิพากษาก็ใช้กฎหมายเป็นประโยชน์กับตัวเอง สร้างความร่ำรวย ฐานะสูง ผู้พิพากษาที่เป็นมวลชนแท้จริงที่มองเห็นแนวทางของเรามันมีน้อย รวมทั้งอัยการ เคยเป็นเพื่อน เคยรู้ใจกัน ไม่รู้ไปไหนหมด เป็นตำรวจก็หายไป ไม่เหมือนตอนเรามีตำแหน่งเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี เพื่อนเหล่านี้เข้ามาหากันหลายคน”

แล้วเพื่อนพ้องน้องแกน นปช.ที่เคยร่วมเป็นร่วมตายกันมาล่ะ ยังติดต่อกันไหม?

“ก็มีการติดต่อกันอยู่บ้าง แต่ว่าคนเหล่านี้ก็เหลือน้อยเต็มที ต่างคนต่างก็เอาภาระของตัวเองเป็นใหญ่ ตอนนี้ผมเหลือคดีที่รอศาลฎีกาพิพากษาตัดสินอีก 1 คดี ผมก็รอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่สภาเขาพูดกันอยู่” เขาหมายถึงคดีก่อการร้ายเมื่อปี 2553 ที่เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ซึ่งศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษายกฟ้องเมื่อเดือนมกราคม 2566

คำถามช่วงท้ายๆ

“ถามตรงๆ มีบ้างไหมที่เคยแอบร้องไห้คนเดียวด้วยความสะท้อนใจ?”

“ไม่…แต่ไม่ใช่ว่าเข้มแข็งนะ เป็นเพราะว่าเราเข้าใจสถานการณ์มากกว่า รู้ว่าเราอยู่ยังไง” เขาตอบ

“มีบ้างไหมที่จิตใจตัวเองก็หวั่นไหว คนเราเปลี่ยนแปลงไปได้ต้องปลง” ถามต่อ

“คิดเหมือนกัน แต่ก็ตั้งสติได้เมื่อยึดหลักธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า ‘มันเป็นเช่นนั้นเอง’ ตถตา จิตของมนุษย์เรามักจะคิดไปสู่อารมณ์ฝ่ายต่ำเสมอ เปรียบเหมือนน้ำมักไหลลงสู่ที่ต่ำ จิตใจต้องพยายามดึงไว้ ไม่ให้เป็นที่ตั้งของความโลภ โกรธ หลง อย่าไปหวังอะไรจากเขามากกว่าชีวิตเราที่เป็นอยู่”

เป็นคำตอบสุดท้ายของการสนทนาที่วกเข้าหาหลักธรรมอันเป็นอนุสติเตือนใจตนเองในยามที่ยังมีลมหายใจอยู่