หุ่นยนต์นักรัก

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

หุ่นยนต์นักรัก

 

ปมใหญ่ที่สุดของภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner ไม่เพียงสังเคราะห์ “ความรัก” ให้กับ “มนุษย์เทียม” ทว่า ก้าวไปถึงขั้น “สร้างมดลูก” และสามารถ “ปฏิสนธิ” ได้อีกด้วย

นี่คือการทำนาย “แนวโน้มสำคัญ” ของ Androids ที่สภาวะมิได้หยุดอยู่เพียงแค่การพัฒนา Artificial Intelligence หรือ AI ให้มีเลือดเนื้อเท่านั้น แต่ยังเดินหน้าไปถึงขั้นการถ่ายโยงจิตวิญญาณเลยทีเดียว

หากเราย้อนกลับไปพิจารณาโลกภาพยนตร์แล้ว มีความพยายามพูดถึงประเด็นดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่อง Her เรื่อง Ex Machina เรื่อง Lucy เรื่อง Transcendence หรือเรื่อง Ghost in the Shell

ทว่า สำหรับภาพยนต์เรื่อง Blade Runner แล้ว หนังมีความลุ่มลึกมากกว่านั้น เพราะมันไม่เพียงยืนยันหลักฐาน ว่า “มนุษย์เทียม” สามารถ “ให้กำเนิด” ได้ แต่ยังไปไกลถึงขั้นฟูมฟักอารยธรรมของเผ่าพันธุ์

เพื่อความสมจริง Blade Runner 2049 ได้ขยับเวลาจาก The Terminator หรือ “ฅนเหล็ก 2029” ออกไปอีก 20 ปี ซึ่งนอกจากจะยกระดับ Scenario ใหม่ให้กับ Hollywood แล้ว ยังเสมือนการสถาปนา Blade Runner ให้เป็นราชาของ Cyberpunk ทั้งมวล

ไม่เพียงผู้ชมจะได้สัมผัสถึงความเหนือชั้นของ “มดลูกหุ่นยนต์” คือการให้กำเนิดเลือดเนื้อ และจิตวิญญาณ แต่ไปไกลถึงขั้น “บ่มเพาะอุดมคติ” พิทักษ์การดำรงอยู่ของ “เผ่าพันธุ์หุ่นยนต์”

 

นอกจากหนังเรื่อง Her เรื่อง Ex Machina เรื่อง Lucy เรื่อง Transcendence เรื่อง Ghost in the Shell เรื่อง Blade Runner เรื่อง Blade Runner 2049 เรื่อง The Terminator หรือ “ฅนเหล็ก 2029” แล้ว

ในโลกแห่งความเป็นจริง การถือกำเนิดของคำศัพท์ และหุ่นยนต์ตัวจริงภายใต้รหัส Lovotics หรือ “หุ่นยนต์นักรัก” เป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

Lovotics เกิดจากศัพท์ 2 คำคือ Love + Robotics

Lovotics คิดค้นขึ้นโดย Dr. Hooman Samani ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ AIART (Artificial Intelligence and Robotics Technology Laboratory) และผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติไทเป ประเทศไต้หวัน

ประสบการณ์ด้านหุ่นยนต์ของ Dr. Hooman Samani มีหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิจัยเกี่ยวกับ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI

โดย Dr. Hooman Samani ได้ขยายแนวความคิดเกี่ยวกับ Lovotics ไปในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี อิหร่าน เนเธอร์แลนด์

Dr. Hooman Samani ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจาก Graduate School of Integrative Science and Engineering มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์

สื่อมวลชนต่างประเทศระดับโลกได้เคยสัมภาษณ์ Dr. Hooman Samani เกี่ยวกับ Lovotics มาเป็นจำนวนมาก อาทิ BBC Discovery Channel Reuters CBS

 

หากจะกล่าวถึง “หุ่นยนต์นักรัก” หรือ Lovotics แล้ว Lovotics ถือเป็นผลงานวิจัยในสาขาที่เกิดขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราย้อนกลับไปมองโลกของหุ่นยนต์ในอดีตที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน หากเราพิจารณาจากคำพยากรณ์ของภาพยนตร์ชุด “ฅนเหล็ก 2029” หรือ The Terminator เป็นหลักแล้ว

หากปักธงกันที่ ปี ค.ศ.2029 ในท้องเรื่อง เมื่อมองย้อนกลับมาในปี ค.ศ.ปัจจุบัน ซึ่งก็คือ ปี 2024 ก็เท่ากับว่า เหลือเวลานับถอยหลังอีกเพียง 5 ปีเท่านั้น!

โดยที่ถ้าเป็นไปตามที่หนังเรื่อง The Terminator ได้ทำการคำนวณไว้ เราก็คงจะได้มองเห็นภาพของ “หุ่นยนต์” ที่มีความคิดเป็นของตนเอง สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

และที่สำคัญก็คือมีการวางแผนทำสงครามกับมนุษย์ ชนิดที่เรียกว่า “เอาจริง” หรือ “เล่นจริง-เจ็บจริง” เอาเลยทีเดียวก็ว่าได้

ทว่า เมื่อพูดถึง Lovotics แล้ว “ฅนเหล็ก 2029” หรือ The Terminator นั้นเป็นโลกของหุ่นยนต์ที่ตรงกันข้ามกับ Lovotics อย่างสิ้นเชิง

 

เพราะดังที่กล่าวไป คำว่า “หุ่นยนต์นักรัก” หรือ Lovotics นั้น มาจากศัพท์ 2 คำประกอบด้วย Love + Robotics

ซึ่งชื่อก็บอกยี่ห้ออยู่แล้ว ว่าเป็น “หุ่นยนต์ + ความรัก” ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ Lovotics จะมีแผนการทำลายล้างมนุษยชาติ เหมือนอย่าง The Terminator

Dr. Hooman Samani ในฐานะบิดาของ Lovotics ให้คำจำกัดความ Lovotics ว่าหมายถึง “กระบวนการวิจัย” ที่เกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์” ระหว่าง “มนุษย์” กับ “หุ่นยนต์”

Dr. Hooman Samani กล่าวว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าว คือ “ทฤษฎีใหม่” ในการสำรวจแนวคิด และความเป็นไปได้ของ “ความรักที่หุ่นยนต์มีต่อมนุษย์” หลังจากที่โลกยุคปัจจุบันได้สร้าง “หุ่นยนต์” เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ

Lovotics เป็นสาขาวิชาวิจัยในแนวทางของ “สหวิชาการ” ที่ใช้แนวคิดพื้นฐานจาก “หุ่นยนต์” นำมาผนวกกับ “ปัญญาประดิษฐ์” และดึงเอา “ฐานข้อมูล” เกี่ยวกับสาขาวิชาปรัชญา จิตวิทยา ชีววิทยามานุษยวิทยา ประสาทวิทยา วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สังคม วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

มากำหนดกระบวนทัศน์ และวิธีการนำเสนอ Lovotics อย่างเป็นระบบ โดยเปิดโอกาสให้ “ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์” ที่สนใจ สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยให้การพัฒนา Function การทำงานต่างๆ ของ Lovotics ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสำเร็จขั้นสูงสุดของ Lovotics ขึ้นอยู่กับกระบวนการวิจัยแบบ “สหวิชาการ” หรือการบูรณาการหลากหลายสาขาวิชาชีพดังกล่าว เข้ามาเพื่อ “การระดมสมอง” ในการปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาต้นแบบ Lovotics ซึ่ง Dr. Hooman Samani และทีมงานเรียก Lovotics ว่าเป็น “รูปแบบใหม่ของความรัก”

Lovotics ในความหมายของ Dr. Hooman Samani หมายถึง “หุ่นยนต์รุ่นใหม่” ที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “ความสามารถในการรัก” และแน่นอน เมื่อ “หุ่นยนต์มีความสามารถในการรัก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การรักมนุษย์” ซึ่ง “มนุษย์” นั้น มีพื้นฐาน และแนวโน้มที่จะ “รักหุ่นยนต์” อยู่แล้ว

เมื่อ “หุ่นยนต์” มีความสามารถในการรัก โดยเฉพาะ “การรักมนุษย์” มันก็จะถูก “มนุษย์รักตอบ” และ “หุ่นยนต์ก็จะรักมนุษย์” กลับกันไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

ขั้นตอนแรกใน Lovotics คือการพัฒนาความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับ “สรีรวิทยา” และ “อารมณ์” ของ “มนุษย์” เพื่อสร้าง “แบบจำลอง” เกี่ยวกับ “สรีรวิทยา” และ “อารมณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำลองสภาวะอารมณ์ของ “มนุษย์” ขึ้นใน “หุ่นยนต์”

อย่างไรก็ดี แม้ว่า “สหวิชาการ” สาขาต่างๆ จะพากันนำเสนอความคิดเกี่ยวกับบทบาท และหน้าที่ของ “ความรัก” แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ความรักของหุ่นยนต์” ในปัจจุบันก็ยังมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่ค่อนข้างจำกัด

นอกจากนี้ การพัฒนา “ระบบความรัก” ที่คล้ายคลึงกับ “มนุษย์” ก็มีความท้าทายด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมากเช่นกัน

ดังนั้น “ระบบปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง” ของ Lovotics โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบต่อมประดิษฐ์” จึงเป็นเรื่องยากที่สุด และท้าทายทีมงานของ Dr. Hooman Samani เป็นอย่างมาก

 

ทีมงาน Lovotics ของ Dr. Hooman Samani ได้พยายามทำการคำนวณค่าความน่าจะเป็นของความรักระหว่าง “มนุษย์” กับ “มนุษย์” เพื่อจัดทำแบบจำลอง “ความรัก” ระหว่าง “มนุษย์” กับ “หุ่นยนต์” ออกมาเป็นค่า Parameter ต่างๆ เช่น ความใกล้ชิด ความพึงพอใจ

นอกจากนี้ ทีมงาน Lovotics ของ Dr. Hooman Samani ได้พยายามสร้าง “ระบบต่อมไร้ท่อเทียม” ซึ่งประกอบด้วย “Hormones ทางอารมณ์” แบบ “ชีวภาพเทียม” หรือ “Hormones ประดิษฐ์” ที่เลียนแบบ Hormones ของมนุษย์ที่เป็น Hormones ชีวภาพ

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ “Hormones ประดิษฐ์” ที่สามารถปรับเปลี่ยนค่า Parameter ทางชีวภาพต่างๆ ใน “หุ่นยนต์” อาทิ ระดับน้ำตาลในเลือด อุณหภูมิร่างกาย และความหิว หรือความกระหาย

โดยใช้ “ฐานข้อมูล” เกี่ยวกับ “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ของ “มนุษย์” เป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับการวิจัย ไม่ว่าจะเป็น การแสดงออกทางสีหน้า การแสดงออกทางเสียง การแสดงออกทางกาย หรือพฤติกรรม เป็นต้น

โดยระบบความรู้สึกของ “หุ่นยนต์” จะวิเคราะห์ Input เพื่อสร้างสภาวะ และพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับตัว “หุ่นยนต์” เองในแบบ Real-time และ “ระบบความรู้สึก” จะถูกจำลองให้คล้ายคลึงกับ “มนุษย์” มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในอนาคต Dr. Hooman Samani วางแผนการสำหรับหุ่นยนต์ Lovotics เอาไว้ถึงระดับการเป็น “ผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการสื่อสาร” โดยจินตนาการไปถึงขั้นของปรับ “ระดับHormones” ภายในของ “หุ่นยนต์” ได้ด้วยตัวของมันเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Parameter ที่เกี่ยวข้องกับ “อารมณ์” “ความรัก” และ “ความรู้สึก” ของ “หุ่นยนต์” นั่นเอง