ตรุษจีนและการแก้ชง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เมื่อเข้าใกล้เทศกาลตรุษจีน ประเด็นเรื่องแก้ชงก็จะร้อนแรงขึ้นมาทีเดียว ทั้งจากฟากฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมทั้งบรรดาอาซินแสต่างๆ ที่จะต้องออกมาจัดกิจกรรมหรือผลิตข้อมูลให้บรรดาสายมูทั้งหลายได้ติดตาม

ถกเถียงกันมานักต่อนักแล้วในเรื่องนี้ ผมผู้ไม่มีความรู้ลึกซึ้งอะไรเพราะเพิ่งเป็นเจ๊กหัดไหว้เจ้าจึงขอดูอยู่ห่างๆ และก็คงเพียงนำเสนออะไรที่ได้ยินได้ฟังมาจากท่านผู้รู้อีกที

ซึ่งแน่นอนว่าความผิดพลาดทั้งหลาย ย่อมเกิดจากความทรงจำอันพร่าเลือนของผมเอง

 

อันที่จริงอาจารย์ถาวร สิกขโกศล เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับปีชงเอาไว้ชื่อ “ความรู้เรื่องชงและเรื่องน่ารู้จีน-ไทย” น่าหามาอ่านอย่างยิ่งครับ ท่านก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจ ใครใคร่มูก็จะได้มูอย่างมีคุณภาพ

อาจารย์ท่านบอกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจว่า หากซินแสหรืออาจารย์คนใดพูดเรื่องปีชง โดยไม่มีความเข้าใจเรื่องระบบเวลาแบบจีนคือระบบ “ต้นฟ้า-กิ่งดิน” (บ้างก็เรียกกิ่งดินก้านฟ้าหรือก้านฟ้ากิ่งดิน) ก็ให้หนีให้ไกล แสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องชงจริงๆ เพราะระบบต้นฟ้า-กิ่งดินนี้ ถือเป็นรากฐานความเข้าใจระบบเวลาในทางโหราศาสตร์จีนซึ่งเป็นฐานคิดของเรื่องชงเลยทีเดียว

จะอธิบายในที่นี้ก็จะยืดยาวและผมก็มิใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่เอาเป็นว่าการแบ่งปี เดือน วัน และยามของจีนต่างอยู่ในระบบนี้คือต้องนำต้นฟ้าและกิ่งดินมาใช้ร่วมกัน

ทีนี้แต่ละอันต่างก็มีสภาวะหยินหยางหรือสภาวะคู่ตรงข้ามและมีธาตุทั้งห้า (ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม้ ทองหรือโลหะ) ครองอยู่

นี่แหละคือเบื้องหลังความคิดเรื่องชง เพราะธาตุทั้งหลายต่างก็มีทั้งสร้างหรือหนุนเสริมและทำลายล้างหรือข่มกัน เช่น ไม้หนุนเสริมไฟ (ไฟไหม้ไม้) ไฟหนุนเสริมดิน (เผาไหม้จนเกิดเถ้า) ส่วนน้ำข่มไฟ (ดับไฟ) ไฟข่มโลหะ (ทำให้โลหะหลอมละลาย) เป็นต้น

มนุษย์และสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนก่อกำเนิดจากธาตุทั้งห้าทั้งสิ้น เมื่อธาตุต่างๆ มีความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมส่งผลกระทบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ดังนั้น การที่แต่ละปีแต่ละเดือนต่างก็มีธาตุเข้าครองเช่นนี้ การชง (ภาษาฮกเกี้ยนออกเสียงว่า ช้อง) จึงเกิดจากการที่ธาตุที่อยู่อยู่เบื้องหลังระบบปีเหล่านี้เข้าข่มหรือขัดแย้งกับธาตุในพื้นดวงชะตาของมนุษย์นั่นเอง

 

แต่นอกจากความคิดทางปรัชญาในเรื่องธาตุ ยังมีระบบความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือเรื่องเทพ “ไท่โส่ย” ซึ่งเทียบได้กับ “พระเคราะห์จร”

ไท่โส่ยเป็นเทพทางโหราศาสตร์ เป็นการนำเอาวีรชนหรือเทพเจ้าท้องถิ่นต่างๆ เข้ามาเป็นตัวแทนระบบต้นฟ้า-กิ่งดิน ในแต่ละปีจนครบราศีจักร คือธาตุห้าเวียนไปจนหกสิบปี ไท่โส่ยจึงมีหกสิบองค์ แต่บางศาลเจ้าอาจทำไว้สักการะรวมในองค์เดียว ถือว่าเทพพระเคราะห์จรเหล่านี้จะมาเข้าครองแต่ละปีและจรไปเรื่อยๆ คล้ายกับระบบโหราศาสตร์ไทย เมื่อเทพพระเคราะห์จรเข้ามา บางคนที่มีพื้นดวงขัดแย้งหรือไปต้องพระเคราะห์จรเข้าก็จะได้รับโทษภัยต่างๆ

เขาถึงมิใคร่ได้กราบไหว้รูปเคารพไท่โส่ยกันในบ้านเรือน หรือทำเครื่องรางมาติดตัวเพราะท่านเป็นพระเคราะห์ที่จรไปในแต่ละปี คือมาแล้วก็จาก ไม่ได้อยู่ถาวร และชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “พระเคราะห์” ซึ่งโดยมากก็ไหว้เพื่อให้ผ่อนโทษภัยมากกว่าไหว้เพื่อขอโชคขอลาภอย่างเทพอื่นๆ และเดี๋ยวปีหน้าองค์ใหม่ก็มาแล้ว

จะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องไท่โส่ยนี้ เข้าใจได้ง่ายกว่าคำอธิบายทางปรัชญาและนำไปสู่พิธีกรรมต่างๆ ได้ จึงเป็นที่นิยมมาก สมัยผมสนใจเรื่องโหราศาสตร์แรกๆ อาจารย์ท่านหนึ่งเคยพูดว่าโหราศาสตร์มันมีหลายภาค ภาคแรกคือภาคคำนวณคือการคำนวณการโคจรของดวงดาวและการคำนวณวันเวลาต่างๆ ซึ่งคนมักมิใคร่สนใจเรียนทั้งๆ ที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด ภาคที่สองคือภาคพยากรณ์ และภาคที่สามคือภาคพิธีกรรม

ท่านว่าภาคพิธีกรรมนี่แหละที่เสริมเติมเข้ามาทีหลัง โหราจารย์บางท่านถึงกับไม่สนใจภาคนี้เอาเลยทีเดียว เพราะเห็นว่ามันถูกเอามาใช้เพื่อหากินซะมากกว่าและไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพยากรณ์ศาสตร์ แต่อันที่จริงรายได้มหาศาลของโหรหลายๆ คนก็มาจากภาคนี้แหละ

พิธีแก้ชงจึงกลายเป็นกิจกรรมสำคัญในช่วงตรุษจีนเพราะเหตุนี้ อะไรจะน่ากลัวไปกว่าดวงซวยเป็นไม่มี เพราะอย่างอื่นเสียหายเรายังพอหาวิธีจัดการได้ แต่ถ้าดวงเสียตนเองก็ไม่รู้จะไปแก้ไขอย่างไร เราจึงต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมให้สบายใจไว้ก่อน

 

ทีนี้บางคนสงสัยว่า ทำไมจึงนิยมไปแก้ชงที่วัดจีนนิกาย ผมคิดว่านอกจากจะเป็นเรื่องกิจกรรมหารายได้เข้าวัดแล้ว อันที่จริงพุทธศาสนาในจีนนั้นปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นมาก พอชาวบ้านกลัวเรื่องชง พระท่านก็ปรับเอาเรื่องนี้มาเป็นพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำพิธีสวดสะเดาะเคราะห์หรือฝากดวงชะตาไว้โดยอ้างพุทธานุภาพให้ปกปักคุ้มครอง กิจกรรมแก้ชงหรือเกี่ยวกับดวงชะตาทั้งหลาย เช่น สวดสะเดาะพระเคราะห์ ฝากรายชื่อทำบุญ ถวายประทีป ไปจนถึงการปัดชงยอดฮิตจึงมักเกิดขึ้นในวัด

นอกจากนี้ ความเชื่อเรื่องชงของคนจีนโดยเฉพาะในชาวบ้านมีความละเอียดซับซ้อน ยังมีเรื่องวัน ยาม ทิศทาง เรื่อยไปถึงเรื่องงานศพ เรื่องสี กิจกรรมอะไรต่ออะไรจิปาถะมากมายก่ายกอง การชงในคติจีนจึงมิได้มีแค่เรื่องปีนักษัตรหรือปีเกิดอย่างเดียว

พี่ชายคนโตของอาก๊องหรือคุณปู่ของผมชื่อกิมคุ่น ท่านเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ว่ากันว่าท่าน “ช้อง” หรือชงอย่างร้ายแรงจึงตาย แต่น้องสาวคนเล็กคืออาโป๋กิมหลี (ปัจจุบันอายุเข้าเขตร้อยปีแล้ว) เล่าให้ผมฟังว่า ท่านเข้าป่าแล้วเกิดเป็นไข้ป่าขึ้นมา คนเห็นอาการไข้ป่าก็คิดว่าโดนคุณผีกระทำหรือช้อง

เลยไปลือกันว่าท่านช้องตาย

 

อาจารย์เทียนเต็กซือหู (อาจารย์นนท์) บอกว่า แต่ก่อนใครจะไปทำพิธีแก้ชง ผู้รู้ที่ศาลเจ้าท่านต้องตรวจสอบดวงชะตาให้ก่อนว่าพื้นดวงเป็นอย่างไร เหมาะควรแก่การทำพิธีแก้ชงหรือไม่ ไม่ใช่พอเกิดในปีนักษัตรนั้นนี้ปุ๊บจะต้องชงแบบเกิดภยันตรายทันที

ช่วงส่งเจ้าก่อนสิ้นปีนั้น นอกจากเจ้าเตาไฟประจำบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ ยังจะได้ส่งไท่โส่ยองค์เดิมกลับไปด้วย บางศาลเจ้าก็ทำพิธีนี้ แต่ก็มีอยู่ค่อนข้างน้อย

ส่วนวันเวลาในการแก้ชงนั้น ผมเห็นในปีนี้คนพากันไปแก้ตั้งแต่ขึ้นปีใหม่สากล ศาลเจ้าและวัดจีนก็คนแน่นขนัดแล้ว รวมทั้งได้เห็นพิธีประดิษฐ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้คือการไปไหว้ “เสาหลักเมือง” ในวันเสาร์แรกของปี

จะขำแต่ก็แอบขื่น ปัดโธ่ “เสาร์” กับ “เสา” มันพ้องเสียงกันก็จริง แต่ความหมายคนละโยชน์ เราจะเอาแบบนี้กันจริงๆ หรือ เรื่องเล่นคำพ้องเสียงนี้มีมาแต่โบราณก็จริง แต่ก็เป็นเพียง “เคล็ด” ที่อาจไม่ต้องถึงกับเป็นพิธีกรรมหรือไปจริงจังนัก มิฉะนั้น เราคงต้องไปไหว้พระพุทธในวันพุธแรกของปี ไปไหว้เถ้ากระดูกคนตายในวันอังคารแรก ไปไหว้อะไรสุกๆ ในวันศุกร์แรก

อะไรแบบนี้มันมีเยอะแล้ว อย่าให้มันมีเพิ่มอีกเลย

 

คนจีนถือว่าปี “นักษัตร” เปลี่ยนในวันหลิบชุ้น คือวันแรกที่เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ (ชุ้น) ตามปฏิทินสุริยคติกาล ตกราววันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ แต่ตรุษจีนหรือปีใหม่นั้นจะนับวันที่หนึ่งเดือนหนึ่งตามจันทรคติกาล ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับหลิบชุ้นก็ได้เพราะปฏิทินจีนหรือ “ปฏิทินชาวนา” นั้นเป็นการผสมกันทั้งปฏิทินสุริยคติที่มีการแบ่งอุตุปักษ์ย่อยๆ ตามฤดูกาล และปฏิทินจันทรคติเข้าด้วยกัน

หากปีใดตรุษจีนตรงกันหรือหลังหลิบชุ้น ถือว่าเป็นเทศกาลฉลองฤดูใบไม้ผลิแท้ เพราะอันที่จริงตรุษจีนก็คือเทศกาลฉลองการเข้าปีใหม่ซึ่งก็คือการเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลินั่นเอง

ดังนั้น ถ้าจะแก้ชงให้ตรงตามขนบความเชื่อ ท่านว่าให้ถึงหลิบชุ้นเสียก่อนจึงค่อยแก้ชง แต่หากไม่แน่ใจว่าวันไหนเป็นหลิบชุ้น ท่านก็ให้ถือเอาง่ายๆ ว่าเป็นตรุษจีนก่อนก็ได้

เพราะหากไปทำพิธีก่อนหลิบชุ้น คือไปทำตั้งแต่วันปีใหม่สากล ไท่โส่ยก็ยังคงเป็นองค์เดิมครองปีอยู่ ย่อมไม่มีผลอะไร จำต้องรอให้ไท่โส่ยองค์ใหม่ลงมาครองปีเสียก่อนจึงจะสัมฤทธิผล

 

วัยรุ่นสายมูเขามีคำกล่าวว่า “เกิดอะไรไม่ดีให้โทษว่าชงไว้ก่อน” ชงก็เลยกลายเป็นคำยอดฮิตติดปากจนเสียความหมายเดิมไป

เรื่องแก้ชงนี้ ผู้ใหญ่หลายท่านกล่าวตรงกันว่าอย่าไปจริงจังซีเรียสมากนัก เพราะคนจีนแต่เดิมถือว่าโชคชะตาฟ้าดินมีผลเพียงสามส่วน มนุษย์ต้องเพียรเอาเองถึงเจ็ดส่วน ถึงจะชงจริงแต่ก็มีผลแค่สามสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง พึงมีสติให้มาก

จึงขอชวนกันร้องเพลงของคุณเจินเจิน บุญสูงเนิน ซึ่งแปลมาจากเพลงจีนฮกเกี้ยนในคติเดียวกันนี้ ไว้เตือนใจว่า

“สามสิบลิขิตฟ้า เจ็ดสิบต้องฝ่าฟัน

ต้องสู้ ต้องสู้จึงจะชนะ” •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง