พระผงรูปเหมือนรุ่นลายเซ็น หลวงพ่อโอด วัดจันเสน พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์

“พระครูนิสัยจริยคุณ” หรือ “หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร” อดีตเจ้าคณะอำเภอตาคลีและอดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังนครสวรรค์

วัตถุมงคลในห้วงที่ยังมีชีวิตอยู่ จัดสร้างเป็นจำนวนน้อย แต่ก็เป็นที่ปรารถนาของบรรดาเซียนพระและนักนิยมสะสมพระเครื่อง

ในปี พ.ศ.2532 ก่อนที่จะมรณภาพ จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นพระผงรูปเหมือน รุ่นลายเซ็น นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นสุดท้าย ปลุกเสกเดี่ยวและประกอบพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้ง ก่อนนำออกให้เช่าบูชา

ลักษณะเนื้อเป็นผงว่าน 108 ผสมเกสรดอกไม้ พิมพ์สี่เหลี่ยม

ด้านหน้ามีขอบรอบ ตรงกลางเป็นรูปนูนนั่งสมาธิเต็มองค์ บนโต๊ะขาสิงห์ ล้อมรอบด้วยวงกลมรี หรือวงกลมรูปไข่ มีลายไทยที่มุมทั้งสี่ ใต้เส้นขอบวงกลมรี มีอักขระขอม “นะ ชา ลี ติ, สิ ริ โภ คา นะ มา สะ โย, นะ โม พุท ธา ยะ” และใต้โต๊ะขาสิงห์ มีเส้นนูนเป็นลายเซ็น “พระครูนิสัยจริยคุณ”

ส่วนด้านหลังไม่มีขอบ ที่มุมทั้งสี่เป็นรูปลายไทยเช่นกัน มีวงกลมรี หรือวงกลมรูปไข่ภายในพื้นสี่เหลี่ยม ตรงกลางมีอักขระขอม “นะ ใหญ่ หรือ นะ เศรษฐี” สามตัว ด้านบนมีอักขระขอมกำกับ “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ พะ” ใต้อักขระขอม (นะ เศรษฐี) มีอักษรไทยว่า “หลวงพ่อโอด วัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์”

มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม ค้าขาย โชคลาภ และโภคทรัพย์ เป็นอีกรุ่นที่น่าเก็บสะสมไว้ในครอบครอง

พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อโอด (หน้า)

มีนามเดิมว่า วิสุทธิ์ แป้นโต เกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2460 ที่บ้านเลขที่ 103 หมู่ที่ 7 บ้านหัวเขา ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายชิตและนางต่วน แป้นโต มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน

ในช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวัดหัวเขา ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จากนั้นออกมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2481 ที่อุโบสถวัดหัวเขา อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มีพระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด) วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูนิปุณธรรมธร วัดตาคลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพิพัทธศีลคุณ วัดหัวเขา อ.ตาคลี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมจนได้วิทยฐานะ พ.ศ.2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ

พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อโอด (หลัง)

ลําดับงานปกครอง พ.ศ.2489 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนองสีนวล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

พ.ศ.2493 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดจันเสน

พ.ศ.2493 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลจันเสน

พ.ศ.2496 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2510 เป็นรองเจ้าคณะอำเภอตาคลี

พ.ศ.2516 เป็นเจ้าคณะอำเภอตาคลี

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี

พ.ศ.2510 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท

พ.ศ.2520 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก

พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนาม พระครูนิสัยจริยคุณ

ด้านการศึกษา เป็นครูสอนนักธรรมของวัดดอน เขตยานนาวา กรุงเทพฯ (ในสมัยที่พระอาจารย์กึ๋น เป็นเจ้าอาวาส) เป็นครูสอนนักธรรม วัดหัวเขา และวัดหนองสีนวล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดจันเสน เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง เป็นต้น

หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร

ศึกษาวิชาอาคมจากพระเกจิชื่อดัง คือ หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล อ.ตาคลี, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ อ.ตาคลี, หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค อ.ตาคลี และหลวงพ่อเชน วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล และหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ สองพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของอำเภอตาคลี ในฐานะที่เป็นหลานที่ใกล้ชิด โดยพ่อของหลวงพ่อโอด คือ นายชิต แป้นโต เป็นน้องชายแท้ๆ ของหลวงพ่อรุ่ง และแม่ของนายชิต เป็นพี่สาวแม่ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ดังนั้น หลวงพ่อโอด จึงเรียกหลวงพ่อรุ่ง และหลวงพ่อเดิมว่า หลวงลุง

ด้านการศึกษาด้านอาคม เมื่อกลับจากการเป็นครูสอนนักธรรมที่วัดดอนยานนาวาแล้ว ได้มาอาศัยอยู่กับหลวงพ่อรุ่ง ที่วัดหนองสีนวล ซึ่งในระยะนี้เองได้ศึกษาวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อรุ่งไปด้วย

ส่วนหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เดินมาที่วัดหนองสีนวลอยู่เป็นประจำ ทำให้ได้ศึกษาวิชาต่างๆ จากหลวงพ่อเดิมไปด้วย

ทั้งนี้ จากคำบอกของท่านเองว่ายังมีอาจารย์อยู่อีก 2 รูป คือ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ในช่วงปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา มักไปเยี่ยมหลวงพ่อพรหมเป็นประจำ

พระอาจารย์อีกรูป คือ หลวงพ่อเชน วัดสิงห์ ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยไปอยู่เรียนกับหลวงพ่อเชน ที่วัดสิงห์ เรียนวิชาทำตะกรุด

ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน หลวงพ่อโอด เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านการปฏิบัติมาก ศึกษามาจากหลวงพ่อรุ่ง ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

ระหว่าง พ.ศ.2500 เปิดสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดจันเสน โดยเป็นผู้สอนด้วยตนเอง

เป็นพระที่มีเมตตาสูงยิ่ง วันหนึ่งๆ จะนั่งคอยรับแขกอยู่ทั้งวัน ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนใจไปหาก็จะให้คำแนะนำที่ดีโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะยากดีมีจน

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2532 สิริอายุ 72 ปี พรรษา 50 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]