เรื่อง ‘เงินทอน’ ของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น

การเมืองเรื่อง “เงินทอน” กำลังเป็นประเด็นร้อน สั่นสะเทือนแวดวงการเมืองของญี่ปุ่นขณะนี้

เงินๆ ทองๆ ไม่เข้าใครออกใคร คนญี่ปุ่นต้องตกใจก็เพราะเหตุเกิดขึ้นในพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือพรรคแอลดีพี (自民党) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลภายใต้การนำของ นายฟุมิโอะ คิชิดะ (岸田文雄) นายกรัฐมนตรี

ภายในพรรคแอลดีพี ประกอบด้วย 6 “มุ้ง” (派閥) ใหญ่ มีชื่อเรียกตามหัวหน้า เรียงตามจำนวนสมาชิก

คือ มุ้งอาเบะ ซึ่งแม้นายอาเบะเสียชีวิตแล้ว ก็ยังไม่มีใครรับตำแหน่งหัวหน้ามุ้งหรือเปลี่ยนชื่อมุ้ง ถัดมาคือ มุ้งอาโสะ รองหัวหน้าพรรค (อดีตนายกรัฐมนตรี) มุ้งโมเตงิ เลขาธิการพรรค มุ้งคิชิดะ หัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี มุ้งนิไค อดีตเลขาธิการพรรค และมุ้งโมริยามะ นอกจากนี้ ยังมีผู้ไม่สังกัดมุ้งอีกมาก หนึ่งในนั้นคือ นายโยชิฮิเดะ สุงะ อดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า

แต่ละมุ้ง มี “ชมรม” ที่สืบทอดมารุ่นสู่รุ่นอย่างยาวนาน จัดกิจกรรม “งานปาร์ตี้ระดมทุนเพื่อกิจกรรมการเมือง” (政治資金パーティー) มีการขายบัตรใบละ 2 หมื่นเยน (ราว 5 พันบาท) ส.ส.แต่ละคนได้รับโควต้าให้ไปขายบัตรให้แก่ผู้สนับสนุน กลุ่มทุนธุรกิจ และบรรดาแฟนๆ

ซึ่งโควต้านี้แปรผันไปตามความอาวุโส ตำแหน่งหน้าที่ภายในพรรค หรือตามจำนวนสมัยที่ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือความเด่นดังของผู้นั้น

ตามกฎหมายระเบียบเงินทุนเพื่อกิจกรรมการเมือง (政治資金規正法) ของญี่ปุ่นกำหนดให้ต้องเปิดเผยชื่อจริงของผู้สนับสนุนเงินเกิน 2 แสนเยน (ราว 5 หมื่นบาท) ในทางปฏิบัติมีทางเลี่ยงด้วยการซื้อบัตรครั้งละต่ำกว่า 2 แสนเยน

แต่หลายครั้ง บางกรณีกลุ่มทุนหนึ่งอาจมี ส.ส.ของหลายมุ้งมาขายบัตรให้ไปร่วมงาน และเป็นธรรมดาที่ผู้สนับสนุนไม่อยากเปิดเผยชื่อจริง

 

จากการตรวจสอบจนเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นมา ในมุ้งอาเบะ พบเอกสารระบุโควต้าการขายบัตรของ ส.ส.แต่ละคน จำนวนเงินรวมรายรับทั้งสิ้น และจำนวน “เงินทอน” (キックバック) ที่แต่ละคนได้รับ ถ้าสามารถขายบัตรได้เกินโควต้า ก็จะได้รับ “เงินทอน”

ที่เป็นประเด็นน่าตกใจคือ มีบัญชีธนาคารที่รับโอนเงินค่าขายบัตรโดยเฉพาะ ไม่มีการลงบัญชีเป็นรายได้ จึงไม่ตรงกับจำนวนในบัญชีรายงานรายรับรายจ่ายที่ต้องเปิดเผย และไม่มีการลงบัญชีเป็นรายจ่ายให้แก่ ส.ส.ผู้รับเงินทอนด้วย

ย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2018-2022 ตรวจพบจำนวน “เงินทอน” รวม 500 ล้านเยน (ราว 125 ล้านบาท) ส.ส.ในมุ้งอาเบะหลายคนได้รับ “เงินทอน” เกิน 10 ล้านเยน (2.5 ล้านบาท) ตลอดช่วงเวลานี้ และไม่ได้ลงบัญชีรายได้จาก “เงินทอน” ในบัญชีสำนักงานของตนเอง

“เงินทอน” นี้ ว่ากันว่านำไปใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าจ้างทีมงานของ ส.ส.แต่ละคน มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป บางคนต้องจ้างทีมงานเองเพิ่มขึ้นจากที่ “มุ้ง” ให้งบประมาณ เงินทั้งหมดเป็นสิทธิ์ขาดของ ส.ส. จะนำไปใช้ในงานการเมืองหรือใช้จ่ายส่วนตัวก็ไม่มีการตรวจสอบ

ต้นเดือนธันวาคม 2023 มีข่าวรั่วไหลออกมาว่า นายมัตสึโน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเป็นแกนนำสำคัญในมุ้งอาเบะ ได้รับ “เงินทอน” มากกว่า 10 ล้านเยน (ราว 2.5 ล้านบาท) ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2018-2022 เขาเลี่ยงที่จะให้ความชัดเจน พร้อมย้ำว่าใช้เงินทางการเมืองอย่างเหมาะสม

แต่จากหลักฐานที่พบ ในที่สุด วันที่ 14 มกราคม เขาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อมยอมรับว่าได้มีคำสั่งต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเงินเพื่อกิจกรรมทางการเมือง และส่งผลสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการเมืองของประเทศขณะนี้

 

แต่น่าตกใจยิ่งไปกว่านี้ คือ ยังมี ส.ส.และแกนนำในมุ้งอาเบะอีกกว่า 10 คนที่รับ “เงินทอน” ในช่วงเวลาเดียวกัน รวมกว่า 10 ล้านเยน (ราว 2.5 ล้านบาท) โดยไม่ได้ลงบัญชีอย่างโปร่งใส ในจำนวนนี้มีถึง 6 คนที่เป็นแกนนำสำคัญในมุ้ง อาทิ นายชิโอทานิ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์ ผู้รักษาการหัวหน้ามุ้งอาเบะ (แทนนายอาเบะผู้เสียชีวิตไปแล้ว) นายฮางิอุดะ ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์พรรค นายนิชิมูระ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป็นต้น มีรายงานว่า จำนวน “เงินทอน” จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งสำคัญของสมาชิกผู้นั้นด้วย

มุ้งอื่นก็ไม่น้อยหน้า คือมุ้งนิไค (二階派) ต่างกันเพียงแต่มีการลงบัญชีรายจ่าย “เงินทอน” ให้แก่ ส.ส. และตัว ส.ส.ก็ลงบัญชีเป็นรายรับของสำนักงานตนเอง

มุ้งที่ถูกเปิดโปงถัดมา คือ มุ้งคิชิดะ ของนายกรัฐมนตรี ก็มีการลงบัญชีรายรับจากการขายบัตรงานปาร์ตี้ของมุ้งต่ำกว่าที่เป็นจริง เพียงแต่จำนวนที่ต่างกันนั้น ต่ำกว่าจำนวนของมุ้งอาเบะ และมุ้งนิไค ส่วน “เงินทอน” นั้นลงบัญชีเป็นรายจ่ายให้ ส.ส.ตามจริง

คณะกรรมการตรวจสอบ พบเอกสาร เส้นทางการเงิน ผู้อยู่เบื้องหลัง และการนำ “เงินทอน” ไปใช้จ่าย เบื้องต้นพบว่าเกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก รวมทั้งผู้ทำบัญชีประจำสำนักงานของ ส.ส.ด้วย และยังมีเงินทอนจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าบัญชี ส.ส.ของมุ้ง แต่จ่ายคืนให้บุคคล หรือกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุน มุ้งอาเบะพบจำนวน 500 ล้านเยน (ราว 125 ล้านบาท) มุ้งนิไค จำนวน 100 ล้านเยน (ราว 25 ล้านบาท)

บทลงโทษ เฉพาะมุ้งอาเบะ รวม 7 คน คือผู้จัดการฝ่ายบัญชี วุฒิสมาชิก 1 คน และเลขานุการถูกสั่งฟ้อง ส.ส. 2 คนถูกจับกุม ส.ส.อีก 1 คนและเลขานุการ ถูกสั่งปรับ มุ้งนิไค ผู้จัดการฝ่ายบัญชี ถูกสั่งฟ้อง เลขานุการ ถูกสั่งปรับ ส่วนมุ้งคิชิดะ ผู้จัดการฝ่ายบัญชี ถูกสั่งปรับ

 

จากเรื่องอื้อฉาวนี้ทำให้นายคิชิดะ จำเป็นต้องเรียกความเชื่อมั่นของพรรคกลับคืนมาโดยเร็ว ด้วยปรับคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 14 ธันวาคม หลังจากเพิ่งปรับครั้งที่ 2 เมื่อ 13 กันยายน 2023

มิหนำซ้ำยังเป็นการปรับตำแหน่งใหญ่ที่เป็นคนในมุ้งอาเบะ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทอน ประกอบด้วย 4 รัฐมนตรี 5 รัฐมนตรีช่วย และ 1 เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง

ส่วนอีก 3 แกนนำมุ้งที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการบริหารพรรคด้วย ได้ยื่นใบลาออกเอง รัฐมนตรีประจำกระทรวงชุดปัจจุบันจึงไม่เหลือสมาชิกในมุ้งอาเบะเลย และมีคนที่เคยถูกปรับออกในการปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายนแต่ถูกเรียกกลับมา 3 คน การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อีกนัยหนึ่งก็คือ การปะทะกับมุ้งอาเบะนั่นเอง

อีกหนึ่งวิธีเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นคือ การแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง” (????????) ของพรรค รวม 38 คน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ร้ายแรงครั้งนี้

ล่าสุดได้มีมติเกี่ยวกับเงินทุนเพื่อกิจกรรมการเมืองต้องชัดเจนและโปร่งใส การแก้ไขกฎหมายระเบียบเงินทุนเพื่อกิจกรรมการเมือง การปรับลดจำนวนเงินรวมของผู้ซื้อบัตรงานปาร์ตี้ที่ต้องเปิดเผยชื่อจริง

และการเพิ่มโทษปรับกรณีลงบัญชีเท็จ

 

ที่กล่าวมาเป็นวิธีการพึงกระทำเฉพาะหน้าเท่านั้น มีเสียงเรียกร้องจากผู้ไม่สังกัดมุ้ง ให้สลายทุกมุ้งในพรรคแอลดีพี รวมทั้งนายสุงะ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ไม่มีมุ้งด้วย การดำรงอยู่ของมุ้งต่างๆ ในพรรคจึงมาถึงจุดวิกฤตแล้ว

นายคิชิดะ อ้ำอึ้งใช้เวลาคิดอยู่ไม่นาน ในที่สุด ก็ประกาศยุบ “มุ้งคิชิดะ” อย่างเป็นทางการเป็นมุ้งแรก ตามด้วยมุ้งอันดับ 5 มุ้งนิไค มุ้งอันดับหนึ่ง มุ้งอาเบะ และมุ้งโมริยามะ แต่หัวหน้ามุ้งอันดับ 2 และอันดับ 3 นายอาโสะ และนายโมเตงิ แสดงความไม่พอใจและไม่เห็นด้วย คนในมุ้งบอกว่ามุ้งที่ปฏิบัติถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องยุบตัวเอง

นายคิชิดะ ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากพรรคฝ่ายค้านที่วิจารณ์ว่ารัฐบาลนายคิชิดะขาดความชอบธรรมแล้วจึงสมควรยุติการบริหารงาน เรียกร้องให้ ส.ส.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ลาออก รวมทั้งนายคิชิดะด้วย ได้เตรียมซักฟอกรัฐบาลในเรื่องอื้อฉาวนี้เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ วันที่ 26 มกราคม

นายคิชิดะ จะฝ่าด่านหินต่างๆ อยู่จนถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในเดือนกันยายนนี้ได้หรือไม่? ต้องติดตาม…