กม.สมรสเท่าเทียม สิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ถ้าความจำผมไม่คลาดเคลื่อนนัก ในราวเมื่อสามหรือสี่ปีก่อน มีร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่องคู่ชีวิตที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เสนอ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องตรวจพิจารณาก่อนที่รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

โดยที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่ได้จัดให้ร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใดชุดหนึ่งที่มีอยู่เป็นประจำ

หากแต่ได้จัดตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะ

ผมเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมทำงานในคณะกรรมการกฤษฎีกาพิเศษคราวนั้นด้วย

คู่ขนานกันกับการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิต สังคมไทยก็ได้ยินชื่อของกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเรียกว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยสมรสเท่าเทียม ตีประกบคู่กันมาทีเดียวครับ

 

ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้มีอะไรคล้ายกันอยู่บ้างแต่มีความแตกต่างมากอยู่

ประเด็นที่คล้ายกันคือเป็นการเขียนกฎหมายเพื่อให้รองรับการตั้งครอบครัวใหม่ของผู้ที่มีเพศกำเนิดเพศเดียวกันสองคน ไม่ว่าจะเป็นหญิงกับหญิง หรือชายกับชายก็ตาม

แต่ร่างกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตนั้น ได้สร้างระบบทะเบียนใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งระบบ ไม่ใช่ทะเบียนสมรสที่เรารู้จักกันมาแต่เดิม

แต่เป็นทะเบียนคู่ชีวิต คนสองคนที่มาจดทะเบียนนี้แล้วมีผลทางกฎหมายเป็นคู่ชีวิต ไม่เรียกว่าคู่สมรส

สิทธิหรือการรับรู้รับรองทางกฎหมายหลายอย่างของคู่ชีวิตเหมือนกันกับคู่สมรส แต่มีอีกบางอย่างที่ไม่เหมือนกันและกฎหมายคู่ชีวิตไม่ได้รับรองสิทธิดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น สิทธิในระบบราชการ เป็นต้นว่า การเบิกค่ารักษาพยาบาลของคู่สมรสนั้น ถ้าคุณสามีเป็นข้าราชการ ภริยาซึ่งมิใช่ข้าราชการเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ภริยาก็มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลผ่านคุณสามีได้ด้วย

แต่หากเป็นการจดทะเบียนคู่ชีวิต คู่ชีวิตคนใดคนหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกคนหนึ่งไม่ได้เป็น คู่ชีวิตคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ต้องจ่ายเองครับ

 

ในขณะที่ร่างกฏหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “สมรสเท่าเทียม” ที่มีพรรคการเมืองคือพรรคก้าวไกลนำเสนอในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้จัดให้มีทะเบียนคู่ชีวิตขึ้นต่างหาก หากแต่ใช้วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ผู้ที่มีเพศกำเนิดเพศเดียวกันสองคนสามารถจดทะเบียนสมรสได้เลย

เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว ฐานะของคนสองคนก็ย่อมเป็นคู่สมรส

มีการรับรองสิทธิ มีการรับรู้ในระบบกฎหมายทุกอย่างทุกประการเช่นที่คู่สมรสคู่อื่นจะพึงมี

เห็นไหมครับว่าร่างกฎหมายสองฉบับนี้ ขึ้นต้นเรื่องมาคล้ายกัน ด้วยความมุ่งหมายให้ผู้ที่มีเพศกำเนิดเพศเดียวกันสามารถตั้งครอบครัวใหม่ได้ ด้วยความรับรู้รับรองของระบบกฎหมาย แต่ยังต่างดีกรีกันนะครับ

ว่ากันตามตรงคือ ระบบคู่ชีวิตนั้นยังกั๊กสิทธิเอาไว้บางอย่าง ไม่ไปสุดทางอย่างระบบคู่สมรส

รัฐบาลในยุคสมัยนั้นก็กั๊กครับ คือยอมให้สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฏหมายทั้งสองฉบับเอาไว้พิจารณา โดยตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นหนึ่งคณะแล้วรับร่างกฎหมายสองฉบับ ซึ่งหัวเหมือนกันแต่หางไม่เหมือนกันเอาไว้พิจารณา

แบบนี้ในทางปฏิบัติแล้วเท่ากับเป็นการดึงเวลาเพื่อให้ระฆังช่วย คือสภาครบวาระหรือยุบสภา รอให้ร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งสองฉบับตกไปตามสภาพธรรมชาติ และเรื่องก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เสียด้วย

 

น่าสนใจที่ในสนามเลือกตั้งพุทธศักราช 2566 ที่ผ่านมา พรรคการเมืองหลายพรรคแถลงนโยบายว่าสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยไม่มีใครพูดถึงร่างกฎหมายคู่ชีวิตอีกต่อไป

เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้น มีคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกันนั้นพรรคก้าวไกลก็เสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการสมรสเท่าเทียมแบบเดียวกันเข้าไปตีคู่กันด้วย

สถานะของร่างกฎหมายทุกฉบับที่พูดถึงเรื่องสมรสเท่าเทียมนี้สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการ และจัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณาอยู่ในขณะนี้

ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ ผมพยากรณ์ว่าภายในพุทธศักราช 2567 นี้ กฎหมายเรื่องสมรสเท่าเทียมในบ้านเราน่าจะมีผลใช้บังคับได้แล้ว

เพื่อความครบถ้วนตามสมควรของเรื่อง ผมควรบันทึกไว้ด้วยว่า พรรคประชาชาติ ซึ่งมีสมาชิกและฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิม ได้แสดงท่าทีและลงมติชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม

และเพื่อให้ครบถ้วนยิ่งกว่าครบถ้วน ผมจำเป็นต้องกล่าวเสริมว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับให้มีการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมหรือจดทะเบียนอะไรก็แล้วแต่สำหรับผู้ที่มีเพศกำเนิดเดียวกันที่ประสงค์จะก่อตั้งครอบครัว อิสลามศาสนิกที่มีความเชื่อมั่นคงในศาสนาที่ตนเคารพเลื่อมใสเช่นไร กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ไปจำกัดตัดสิทธิหรือลิดรอนความเชื่อของท่านแต่อย่างใด

แถมอีกประโยคหนึ่งก็ได้ครับ หากร่างกฎหมายที่มีหลักการเรื่องสมรสเท่าเทียมได้ประกาศใช้บังคับแล้ว กฎหมายก็ไม่ได้บังคับให้บุคคลที่มีเพศกำเนิดเดียวกันที่รักใคร่ชอบพอกันสองคนต้องมาจดทะเบียนตามกฎหมายนี้ทุกกรณีไป

ทั้งสองคนยังมีสิทธิเต็มที่ที่จะเลือกว่าจะสร้างครอบครัวด้วยกันโดยไม่ข้องแวะกับการจดทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกันกับชายหญิงจำนวนมากมายมหาศาลทุกวันนี้ ที่ชายหนึ่งคนกับหญิงอีกหนึ่งคนเลือกจะครองชีวิตอยู่ด้วยกัน มีบ้านด้วยกัน มีลูกด้วยกัน โดยไม่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรส ตัวอย่างมีให้เห็นได้ถมถืดไปครับ

เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันว่า หากกฎหมายเรื่องสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับแล้ว ทะเบียนที่กฎหมายรับรองจะมีเพียงทะเบียนเดียวคือทะเบียนสมรส ไม่ว่าคู่สมรสจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ตาม

การใช้ธงสีรุ้งสัญลักษณ์ของ LGBTQ ในม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาลภาพโดยชญานีขุนกัน

เวลานี้ผมยังไม่เห็นรายละเอียดของกฎหมาย ยังต้องรอดูกันต่อไปนะครับ ว่ามีอะไรที่ควรจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปบ้าง

แต่เพียงแค่เรื่องดำเนินมาถึงตรงนี้ก็น่าสนใจมากแล้ว เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยที่เราก้าวเดินมาได้พอสมควรอย่างที่หลายท่านคาดไม่ถึง

ด้วยความที่ผมเป็นคนรู้จักคนมาก พบหน้าใครก็คุยกับเขาไปเรื่อย ผู้ที่ผมคุยด้วยก็มีต่างวัยตั้งแต่อายุมากกว่าผม ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และแน่นอนว่าในคนจำนวนมากนี้ย่อมมีคนจำนวนหนึ่งที่ผมรู้จักคุ้นเคยและได้ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจใช้ชีวิตของเขาในวันข้างหน้า ว่าเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว เขาจะไปจดทะเบียนในระบบสมรสเท่าเทียมที่ว่านี้หรือไม่

บางคู่เฝ้ารอกฎหมายนี้มานานปี และมีความปรารถนาชัดแจ้งที่จะไปจดทะเบียนแน่เพราะถึงแม้เขามีครอบครัวอยู่ด้วยกันมานานนับสิบปีแล้วก็ตาม แต่ด้วยความกังวลในปัญหากฎหมายบางประการที่เขาต้องการความชัดเจนเฉกเช่นเดียวกับคู่สมรส เขาก็รอความเปลี่ยนแปลงสำคัญครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อครับ

ในขณะที่บางคู่ สนใจติดตามข่าวและขอชั่งตวงวัดดูก่อนว่าการจดทะเบียนจะทำให้เกิดอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตคู่ของเขาบ้าง

จดดีหรือไม่จดดี ยังลังเลอยู่ ว่างั้นเถิด

ขณะที่บางคู่ ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรกับการที่ไม่มีทะเบียน (ไม่ว่าจะชื่อทะเบียนอะไรก็ตาม) และเขาก็พยากรณ์ว่าเขาก็จะไม่เดือดร้อนต่อไป

แบบนี้ก็ไม่ต้องเสียค่ารถไปอำเภอหรอกครับ อยู่อย่างเดิมต่อไปดีแล้ว

การใช้ธงสีรุ้งสัญลักษณ์ของ LGBTQ ในม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาลภาพโดยชญานีขุนกัน

โดยรวมแล้วผมจึงเห็นว่า การจดทะเบียนสมรสก็ดี หรือการจดทะเบียนในแนวคิดสมรสเท่าเทียมก็ดี เป็นเรื่องที่คนสองคนต้องตัดสินใจเองว่าประสงค์จะทำอย่างไร ไม่ทำอะไร ตัวแปรหรือเหตุผลที่ชักนำตัดสินใจไปในทางเลือกต่างๆ ไม่มีใครลอกการบ้านใครได้ ต่างคนต้องต่างคิดครับ

เรื่องของคนสองคนที่มีเพศกำเนิดเดียวกันใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว แต่เดิมอาจจะเป็นของที่พบเห็นได้น้อยในสังคมไทย ด้วยบริบทและสิ่งแวดล้อมของสังคมในยุคสมัยนั้น แต่ทุกวันนี้ถ้าเราไม่ปฏิเสธความจริง เราจะเห็นว่าเรื่องเช่นนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน

รวมตลอดไปถึงประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศสภาพ ชื่อเรียกโดยรวมเป็นภาษาฝรั่งแบบย่อว่า LGBTQ ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก lesbian gay bisexual transgender และ queer

ถ้าสงสัยว่าแต่ละคำมีความหมายว่าอะไร ดิกชันนารีพอช่วยได้ครับ

เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นร่วมสมัยและไม่ได้จำกัดพรมแดนอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเสียด้วยซ้ำ แม้ในระดับนานาชาติหรือสหประชาชาติ ก็เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจและถือว่าเป็นแง่มุมหนึ่งของความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนด้วย

ต้องขอโทษนะครับถ้าบทความวันนี้ “ซีเครียด” ไปหน่อย

ถ้าปวดหัวนัก หาซีรีส์วายดูสักเรื่องสองเรื่อง เผื่อจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม

ซอฟต์เพาเวอร์เชียวนะครับ อิอิ