คณะทหารหนุ่ม (จบ)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

คณะทหารหนุ่ม (จบ)

 

บทสรุป : อุดมการณ์ ความฝัน ความจริง

“อุดมการณ์”

ก่อน 14 ตุลาคม 2516 เครือข่ายอำนาจในกองทัพบกมีลักษณะจับตัวแน่นหนาคล้ายจอกแหนที่ทอตัวกระหวัดเหนียวแน่นเหนือผิวน้ำจนเป็นเหตุแห่งความเน่าเสียของน้ำเบื้องล่าง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเสมือนหินก้อนโตที่ถูกทุ่มลงกลางสระจนจอกแหนแตกกระจาย

ช่วงเวลานี้เองที่คณะทหารหนุ่มถือกำเนิดขึ้นด้วย “อุดมการณ์” แห่งทหารอาชีพและความตั้งใจแน่วแน่ที่จะขจัดจอกแหนต้นเหตุของน้ำเน่าเสียให้หมดไป

สุญญากาศแห่งอำนาจบังคับบัญชาที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จนเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการผนึกกำลังเพื่อนร่วมรุ่นร่วมอุดมการณ์ทำให้คณะทหารหนุ่มเริ่มตระหนักในศักยภาพของหน่วยกำลังที่ตนควบคุมว่า แม้จะเป็นเพียงหน่วยระดับกองพัน แต่ก็นำไปสู่ความสำเร็จของคณะปฏิรูปการปกครองซึ่งไม่มีกองกำลังเป็นของตัวเอง

และยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเป็นกำลังสำคัญในการปราบ “กบฏ เสธ.ฉลาด” เมื่อมีนาคม พ.ศ.2520

ติดตามด้วยความพยายามยึดอำนาจเพื่อโค่นล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2520 ถัดมา แต่ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.เสริม ณ นคร เปลี่ยนใจก่อน แต่คณะทหารหนุ่มยังคงดำรงความมุ่งหมายจนสามารถโค่นล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้สำเร็จเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520

ความสำเร็จครั้งหลังนี้ยิ่งทำให้คณะทหารหนุ่มเชื่อมั่นในตัวเองอย่างถึงที่สุดเมื่อสามารถยื่น “ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้” ต่อคณะปฏิรูปการปกครองที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า ให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

“ความฝัน”

เมื่อ “อุดมการณ์” แปรเปลี่ยนเป็น “พลัง” ก็นำไปสู่ “ความฝัน” คำขวัญ “เราจะเสี่ยงเพื่อชาติและราชบัลลังก์ โดยไม่หวังลาภสักการะใดๆ” จึงบังเกิด

ขณะที่คณะทหารหนุ่มกำลังเติบโตเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ สวนทางกับศูนย์อำนาจในกองทัพบกที่ยังไม่ฟื้นตัว กระทั่ง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ถึงแก่อสัญกรรม พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ และ พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้รับหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบกต่อก็ยังไม่สามารถสถาปนาอำนาจการบังคับบัญชาของกองทัพบกให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งไม่มีฐานกำลังที่คณะทหารหนุ่มเลือกสนับสนุนให้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่สามารถสถาปนาอำนาจนำกองทัพได้ คณะทหารหนุ่มจึงกลายเป็น “อำนาจนำ” ที่แท้จริงของกองทัพบก

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายทหารผู้เงียบขรึมที่แทบไม่มีใครรู้จัก ที่ขึ้นสู่อำนาจต่อจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เริ่มแรกก็ไม่มีฐานกำลัง ไม่มีทั้งฐานอำนาจทางการเมือง และไม่เคยมีทั้งประสบการณ์ในศูนย์กลางแห่งอำนาจ การขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ.2521 ก็ด้วยการสนับสนุนของคณะทหารหนุ่ม

แต่การเข้ามาสู่ศูนย์อำนาจกองทัพบกในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ของ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2522 ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เริ่มมีฐานอำนาจของตน

พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นนายทหารประเภท “กล้าได้-กล้าเสีย” ที่มีบุคลิก “พร้อมชน” ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถลดทอนอำนาจแฝงของคณะทหารหนุ่มลงได้โดยมีกฎเหล็กแห่ง “สายการบังคับบัญชา” เป็นอาวุธในมือแล้ว ยังนำไปสู่การฟื้นฟูศูนย์อำนาจการบังคับบัญชาของกองทัพบกที่อ่อนแอลงให้ฟื้นคืนกลับด้วยความพยายามจับ “ทหารนอกแถว” ให้ “เข้าแถว”

ช่วงเวลาที่ “พระเจ้าหลับใหล” อย่างยาวนานนับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันนับเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการก่อเกิดและพัฒนาเติบใหญ่ของคณะทหารหนุ่มแห่ง จปร.7 กำลังจะสิ้นสุดลง

อำนาจการบังคับบัญชาของกองทัพบกเริ่มฟื้นตัวขึ้นทีละน้อยๆ พร้อมกับความเชื่อถือศรัทธาในตัวผู้นำกองทัพคนใหม่ที่ถึงพร้อมด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดี อำนาจที่เริ่มฟื้นตัวนี้ยังกลายเป็นพลังดึงดูดนายทหารอื่นๆ ให้เข้าสวามิภักดิ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก คำว่า “ลูกป๋า” จึงมิได้ผูกขาดอยู่เฉพาะคณะทหารหนุ่มอีกต่อไป

บัดนี้ พระเจ้าตื่นจากหลับใหลแล้ว

คณะทหารหนุ่มพยายามคัดค้านการต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อกลางปี พ.ศ.2523 แต่ไม่สำเร็จ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงทรงอำนาจอย่างสมบูรณ์ อันเป็นประสบการณ์ที่คณะทหารหนุ่มไม่คุ้นเคยหลังจากสามารถ “ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้” มาช้านาน

พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา จึงนับเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เพราะไม่มีฐานอำนาจของตนเอง ไม่ต่างจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่แตกต่างจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

 

“ความจริง”

“ความจริง” แห่งเส้นทางนักปฏิวัติเกิดขึ้นเมื่อค่ำ 31 มีนาคม ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ คณะทหารหนุ่มคำนวณว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่กำลังถูกกดดันอย่างหนักจากปัญหาทางการเมืองและไม่มีฐานอำนาจใดให้พึ่งพาจะต้องยอมรับเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเพื่อความมั่นคงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเคลื่อนกำลังจากที่ตั้งเข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญไว้ก่อน สอดคล้องกับข้อความใน “ปฏิญญา 27 มิถุนา” ที่ว่า “เมื่อเราเข็น (ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อปัญหา) ไม่ขึ้นจริงๆ เราต้องถึงกับลงทุนกระทำแบบรับผิดชอบตนเองไปก่อน แล้วจึงเชิญผู้ใหญ่มาเป็นประธานงานที่เราทำเสร็จไปแล้ว” แต่เมื่อคำตอบกลับเป็นตรงข้าม คณะทหารหนุ่มจึงอยู่บนสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ

ย้อนไปเมื่อเช้า 3 มิถุนายน พ.ศ.2520 ครั้งที่ พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก รับปากเป็นหัวหน้าปฏิวัติล้มรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร แล้วเปลี่ยนใจโดยที่กำลังคณะทหารหนุ่มเคลื่อนย้ายกำลังจากที่ตั้งแล้วนั้น คณะทหารหนุ่มเลือกใช้วิธีให้ทุกหน่วยกลับที่ตั้งปกติ เหตุการณ์จึงคลี่คลาย

ค่ำ 31 มีนาคม พ.ศ.2524 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ปฏิเสธไม่ยอมเป็นหัวหน้าปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี พ.อ.มนูญ รูปขจร ออกจากบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ภาระทั้งหมดในนามคณะทหารหนุ่มหนักอึ้งอยู่บนบ่า

ในห้วงเวลาของความเป็นความตายที่มีจำกัด ในที่สุด พ.อ.มนูญ รูปขจร ตัดสินใจตามลำพัง-เลือกเดินหน้าต่อ

พ.อ.มนูญ รูปขจร เดินทางไปยังกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ขอให้ พ.ท.สุรพล ชินะจิตร นำกำลังไปยึดหอประชุมกองทัพบกเพื่อจัดตั้งเป็นกองบัญชาการคณะปฏิวัติ แล้วเดินทางต่อไปพบ พล.ท.วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ศูนย์บัญชาการหน่วยกำลังหลักในการปฏิวัติ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา ถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ จากนั้นเครื่องจักรปฏิวัติก็เริ่มขยับขับเคลื่อน…

ทั้งหมดนี้จึงเริ่มจากฟันเฟืองตัวแรกคือ พ.อ.มนูญ รูปขจร นับแต่ก้าวพ้นบ้านพักสี่เสาเทเวศร์แล้วตัดสินใจเดินหน้า ขณะที่กลไกทุกชิ้นส่วนแห่งเครื่องจักรปฏิวัติ ตั้งแต่ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา จนถึงผู้บังคับกองพันในนามคณะปฏิวัติล้วนเชื่อว่า “ป๋าสั่ง”

นอกเหนือจาก พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ที่ไม่ได้ออกมาจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ ฟันเฟืองตัวแรกที่ขยับและเป็นฟันเฟืองที่รู้ว่าป๋าไม่ได้สั่งคือ พ.อ.มนูญ รูปขจร

กว่าผู้ก่อการส่วนใหญ่จะทราบแน่ชัดว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธการเป็นหัวหน้าปฏิวัติก็ตกสายของวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 เมื่อ “ความจริง” ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานจากพระราชวังจิตรลดา ไปประทับ ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 นครราชสีมา โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยเสด็จ

เครื่องจักรปฏิวัติจึงหยุดขับเคลื่อน ปืนทุกกระบอกจึงวางลงโดยดุษฎี…

 

จากนั้นจนบัดนี้ คณะทหารหนุ่ม รวมทั้ง พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา ไม่เคยมีผู้ใดออกมากล่าวถึงปริศนาลึกลับแห่งกระบวนการตัดสินใจอันเดิมพันด้วยชีวิตเมื่อค่ำ 31 มีนาคม โดยเฉพาะการขยับของฟันเฟืองตัวแรก ทุกอย่างจึงคงเป็นปริศนาดำมืด แต่อีก 4 ปีต่อมา เหตุการณ์ “กบฏ 9 กันยา” จะเป็นคำตอบที่ไม่ยากต่อการตีความ

การก่อการเมื่อ 9 กันยายน ไม่มีคำชักชวน “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” จาก พ.อ.มนูญ รูปขจร ต่ออดีต “เพื่อนร่วมตาย สหายร่วมรบ” เพราะคงไม่เหนือความคาดหมายว่าจะได้รับคำตอบเช่นใด และถึงที่สุดก็ไม่มีทหารหนุ่มคนใดเข้าร่วมกับ พ.อ.มนูญ รูปขจร เลย ไม่มีแม้แต่คนเดียว พ.อ.มนูญ รูปขจร ต้องพึ่งพากำลังเพียงหยิบมือของน้องชาย น.ท.มนัส รูปขจร และ “อาชญากรทางเศรษฐกิจ” ผู้หลบหนีคดีแชร์ลูกโซ่อย่าง “เอกยุทธ อัญชัญบุตร”

และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีวาทะอันองอาจงดงามอย่าง “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” เช่นที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยประกาศไว้เป็นแบบอย่าง มีก็แต่เพียงบันทึกหลังเหตุการณ์ว่า “ถูกหลอก”

 

พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ บันทึกประโยคปิดท้ายใน “พ.อ.มนูญ รูปขจร บนเส้นทางปฏิวัติ” ว่า

“ผมขอค้างชีวิตผมกับ พ.อ.มนูญ รูปขจร บนเส้นทางนักปฏิวัติไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เพราะมันยังไม่จบ และก็ยังจบไม่ได้ด้วย ตราบเท่าที่ พ.อ.มนูญ รูปขจร ยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ผมทำหน้าที่ของน้อง, หน้าที่ของลูกผู้ชายไทย ที่เรียกว่า ‘ชายชาตรี’ กันบ้างเถิดครับ หนี้บุญคุณ ความแค้น ผลประโยชน์ ความอยู่รอดของชาติบ้านเมือง ชายชาตรีมีสิทธิจะเลือกได้ ใช่ไหมครับ?”

พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ คือหนึ่งในคณะทหารหนุ่มที่เป็นเสมือน “มือขวา” พ.อ.มนูญ รูปขจร เป็นอีกฟันเฟืองเครื่องจักรปฏิวัติที่ “เอาคอพาดเขียง” ในเหตุการณ์ 1-3 เมษายน และไม่ได้เข้าร่วมกับ พ.อ.มนูญ รูปขจร ในความพยายามก่อรัฐประหาร 9 กันยา