วิธี ‘ออสซี่’ แก้โลกร้อน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เป็นอันว่า ปี 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นเป็นปีที่มีสภาพอากาศร้อนอย่างสุดสุด ทำสถิติใหม่เอี่ยมอ่องและมีหลักฐานพิสูจน์อย่างชัดเจน ยืนยันได้จากหน่วยงานภูมิอากาศแห่งสหภาพยุโรป ด้วยค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกในปีที่แล้วอยู่ที่ 1.48 องศาเซลเซียส

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา การวัดอุณหภูมิบนผิวโลกเห็นค่าความร้อนเพิ่มสูงเกือบทุกวัน เป็นค่าความร้อนใหม่ ส่วนอุณหภูมิผิวน้ำทะเล ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิดังกล่าวนั้นถือว่าสูงที่สุด หรือพูดง่ายๆ ว่า ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มนุษย์เราเริ่มต้นเอาเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ หรือถ่านหินมาเผาให้เกิดพลังงานความร้อนและพลังงานอื่นๆ

เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผ่านการเผาไหม้จะเกิดควันเขม่าและก๊าซเรือนกระจกลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ กลายเป็นตัวดักจับกักเก็บความร้อนเอาไว้ ยิ่งมนุษย์เผาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเท่าไหร่ ความเข้มข้นของก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศโลกก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เราสามารถวัดปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ ในชั้นบรรยากาศโลกได้แม่นยำ

 

ในขณะนี้เราสามารถนำไปเปรียบเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อราวๆ 150 ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้น เช่น ก๊าซมีเทนมีปริมาณเพิ่มมากกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ คาร์บอนไดออกไซด์ ราว 50%

ผลที่ตามมาก็คือสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงแปรปรวน เกิดภาวะโลกร้อน จากที่เคยร้อนก็เป็นร้อนมาก ร้อนสุดสุด เย็นก็เย็นจัด หนาวสุดๆสุด แล้งก็เป็นแล้งหนัก ฝนที่เคยตกตามฤดูกาลเป็นตกหนัก มีลมกระโชกแรง เป็นพายุร้าย เกรี้ยวกราดดุดัน

ไฟป่าโหมเผาป่า บ้านเรือนผู้คนในแคนาดามีผลมาจากอุณหภูมิร้อนสุดสุด จนเกิดคลื่นความร้อนแผ่ซ่านเมื่อปีที่แล้ว สภาพความแห้งแล้งสุดสุดในซีกตะวันตกของสหรัฐ และพายุฝนที่หอบเอาน้ำปริมาณมหาศาลเทใส่พื้นที่แอฟริกาตะวันออกล้วนเป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี

มาปีนี้ เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ถึงเดือน แต่เกิดปรากฏการณ์ซ้ำซากอีกในประเทศออสเตรเลีย ทั้งไฟป่าและน้ำท่วม สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน

เมื่อปีที่แล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน และพายุไซโคลน มีฝนตกหนักมาก ขณะที่ไฟป่าเผาทำลายพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเสียหายหนักหน่วง รัฐบาลออสเตรเลียต้องขยับตัวเพิ่มระดับความสำคัญกับภาวะโลกร้อน

ปรากฏการณ์เอลนีโญ มีส่วนสำคัญทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยกระดับความรุนแรง

 

อูเว่ โฮจ์-กูลด์เบิร์ก (Ove Hoegh-Guldberg) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เขียนบทความลงในวารสารวิทยาศาสตร์ ทำนายว่า ปรากฏการณ์เอล นีโญ ในปีที่ 2 คือปีนี้จะสร้างความรุนแรงให้กับระบบนิเวศน์ของโลกอย่างมาก

คำทำนายของ “โฮจ์-กูลด์เบิร์ก” มาจากการพลิกดูข้อมูลสถิติอุณหภูมิบนผิวน้ำทะเลและคลื่นความร้อน จึงคาดการณ์ว่า อีก 18-24 เดือนข้างหน้า ชาวโลกจะเห็นปะการังในท้องทะเลเกิดการฟอกขาว ในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

ปลามือแดง (red handfish) ปลาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นตรงมีมือเล็กๆ สีแดง และลำตัวมีจุดแดงๆ ครีบแดง ใช้มือคลานใต้ท้องทะเลซึ่งพบมากในรัฐแทสมาเนีย ปัจจุบันปลาชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์ และที่ยังมีอยู่ราว 1 ใน 4 ได้เผ่นหนีไปน่านน้ำอื่นเนื่องจากอุณหภูมิในท้องทะเลเพิ่มสูงขึ้น และปะการังในแถบนั้น ซึ่งเป็นแหล่งอาหารพักอาศัยของปลามือแดงมีอาการฟอกขาว

รัฐบาลท้องถิ่น “แทสมาเนีย” ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทางทะเลเพื่อคุ้มครองปกป้องปลามือแดง

“โฮจ์-กูลด์เบิร์ก” ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ปลามือแดง พร้อมกับบอกสื่อ “เอบีซี” ของออสเตรเลียว่า ทางแก้ปัญหาไม่ให้อุณหภูมิน้ำทะเลหรือคลื่นความร้อนเพิ่มสูงขึ้นนั้น ก็คือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษและหันมาใช้พลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ให้มากกว่าเก่า

“เราจะรอให้เวลาผ่านพ้นไปโดยไม่ได้แก้ไขไม่ได้แล้ว มีทางแก้ปัญหามากมายที่เราหยิบฉวยมาใช้ได้เลยในตอนนี้”

ปลามือแดง (red handfish) ปลาที่มีเอกลักษณ์พบมากในแคว้นแทสมาเนีย ปัจจุบันใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากอุณหภูมิในท้องทะเลเพิ่มสูงขึ้น (ที่มาภาพ : ABC)

รัฐบาลออสเตรเลียพยายามปรับทิศทางในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการหันมาย้อนมองดูตัวเอง มีหลายโครงการหยิบยกภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ เช่น โครงการการอนุรักษ์ผืนน้ำของชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เป็นประเพณีที่สืบทอดมาเป็นพันปีและรัฐบาลได้นำไปประยุกต์ใช้ในกฎหมายว่าด้วยน้ำในพื้นที่ที่ลุ่มเมอร์เรย์-ดาร์ลิ่ง

กฎหมายฉบับดังกล่าว รัฐบาลออสเตรเลียจะจัดสรรเงินงบประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 2,400 ล้านบาท) เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ

ชาวเผ่าพื้นเมือง “อะบอริจิ้น” นับถือแม่น้ำ ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตของบรรพบุรุษมีความผูกพันและมีภาระพึ่งพาร่วมกัน การทำกิจกรรมใดๆ กับแม่น้ำต้องคำนึงว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เช่น การตกปลา การล่าสัตว์ การเก็บพืชสมุนไพร

ชาวเผ่าพื้นเมืองให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ดูละเอียดกระทั่งรอยแผลเป็นของต้นไม้ หรือการฝังศพและการตั้งค่ายพักที่ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แม่น้ำเน่าเสีย ปลาก็ไม่มีให้จับ สัตว์ก็สูญพันธุ์ ชาวเผ่าพื้นเมืองก็ไม่สามารถอยู่รอดได้อีกต่อไป

แต่ตราบใดยังดูแลรักษาแม่น้ำให้ใสสะอาด ปลาก็มีให้จับ ผู้คนก็มีอาหารการกินสมบูรณ์ ดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต

แม่น้ำยาร์รา หรือ “บิร์รารัง” ในภาษาพื้นเมืองเป็นแม่น้ำในฝั่งตะวันออกตอนกลางของแคว้นวิกตอเรีย ไหลผ่านใจกลางเมืองเมลเบิร์น รัฐบาลท้องถิ่นวิกตอเรียยอมรับว่าแม่น้ำยาร์ราเป็นสิ่งมีชีวิตมานานกว่า 6 ปีแล้ว และเป็นแม่น้ำสายเดียวในออสเตรเลียที่ทางการยอมรับ

ในขณะนี้รัฐบาลวิกตอเรียกำลังนำประเด็น “สิ่งมีชีวิต” มาพิจารณากับแม่น้ำสายอื่นๆ ที่ไหลผ่านรัฐวิกตอเรีย

ชาวอะบอริจิ้น เล่าอดีตเมื่อครั้งชนผิวขาวเข้ามาตั้งรกรากริมฝั่งแม่น้ำยาร์รา สร้างฟาร์มแกะ ฟาร์มวัว เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ สภาพแวดล้อมที่เคยอุดมสมบูรณ์ ปลาไหล โลมาที่เคยมีก็หายไป แม่น้ำเดิมเคยเขียวสดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเปื้อนมลพิษ

อีกนโยบายเพื่อลดปัญหาโลกร้อนของออสเตรเลีย คือการเอาผิดบริษัทในตลาดหุ้นที่ใช้คำว่า “รักโลกรักสิ่งแวดล้อม หรือพัฒนาเพื่อความยั่งยืน” แต่ไม่ได้ทำจริง

หน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น คณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนแห่งออสเตรเลีย Australian Securities and Investments Commission (ASIC) จะตรวจสอบยื่นฟ้องบริษัทเหล่านี้เพราะถือว่าเป็นวิธีการ “ฟอกเขียว” (Green Washing)

 

ปีที่แล้ว ASIC ยื่นฟ้องบริษัทเมอร์เซอร์ ซูเปอแรนนูเอชั่น ซึ่งบริหารสินทรัพย์มูลค่า 65,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไปบอกกับสมาชิกว่าบริษัทให้ความสำคัญการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการพนัน แต่ปรากฏว่า บริษัทนี้เอาเงินไปลงทุน 34 ธุรกิจทั้งในอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ธุรกิจบ่อนการพนัน และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ASIC ขอให้ศาลเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเมอร์เซอร์ฯ 11.3 ล้านดอลลาร์ เพราะถือว่าบริษัทนี้ใช้วิธีฟอกเขียวสร้างความเข้าใจผิดให้กับนักลงทุน

อีกคดีที่อื้อฉาวในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการฟ้องร้องระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นในบริษัทซานโตส ผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ หลังจากผู้บริหารซานโตสประกาศแผนพลังงานสะอาดและการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์เพราะเห็นว่าผู้บริหารซานโตสหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อว่าบริษัทนี้ดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

บริษัทซานโตสมีแผนสร้างท่อส่งก๊าซ “บาโรสซา” มูลค่า 8,500 ล้านดอลลาร์ เชื่อมระหว่างทะเลติมอร์และเมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ปรากฏว่ากลุ่มชนพื้นเมืองยื่นร้องต่อศาลออสเตรเลียให้หยุดก่อสร้างท่อก๊าซเพราะบริษัทซานโตสไม่ได้ประเมินมรดกทางวัฒนธรรมใต้ท้องทะเลในเส้นทางสร้างท่อก๊าซ

ล่าสุด ศาลออสเตรเลียสั่งยกฟ้องคดีบาโรสซาไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็กลายเป็นประเด็นที่ชาวออสเตรเลียต้องนำมาขบคิดกันต่อว่า เมื่อถึงทางเลือกสุดท้ายระหว่างธุรกิจก๊าซกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชาวออสเตรเลียจะเลือกเดินทางไหน? •

 

ใต้ภาพ

ปลามือแดง (red handfish) ปลาที่มีเอกลักษณ์พบมากในแคว้นแทสมาเนีย ปัจจุบันใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากอุณหภูมิในท้องทะเลเพิ่มสูงขึ้น (ที่มาภาพ : ABC)

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]