ฤๅโบราณสถานหมายเลข 13 คือวัดป่าแดงเชียงแสน? ส่วนวัดป่าแดง แท้คือวัดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ดิฉันได้มีโอกาสไปสืบเสาะซอกแซกโบราณสถานร้างที่เมืองเชียงแสนอีกครั้งระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “ความลับเมืองเชียงแสน : กรณีหน้ากาลและพระลีลาวัดป่าสัก” ส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัย Thailand Biennale ซึ่งจัดขึ้นที่เชียงราย

คณะเราได้ลงสำรวจพื้นที่มากกว่า 10 แห่ง แต่ละแห่งล้วนน่าสนใจและเต็มไปด้วยปริศนา ทว่า มีอยู่ 2 แห่งที่ควรตั้งข้อสังเกตชนิดให้ขีดเส้นใต้สีแดงไว้ 8 เส้น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “นิกายป่าแดงในเชียงแสน” แห่งแรกคือ โบราณสถานหมายเลข 13 และอีกแห่งคือ จุดที่กรมศิลปากรปักป้ายเรียกว่าวัดป่าแดง

เกรงว่า โบราณสถานหมายเลข 13 นั้นจะคือวัดป่าแดงตัวจริงเสียงจริงล่ะมากกว่า ส่วนวัดป่าแดงตามที่เคยเข้าใจกันแต่เดิมนั้น น่าจะเป็นวัดพระจ้าหลวงดอยเรือนอกเสียแล้วกระมัง

ใช่หรือมิใช่ ลองมาพินิจพิเคราะห์ แล้วหาเหตุผลหักล้างร่วมกันต่อไปค่ะ

พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่กรมศิลปากรปักป้ายว่าเป็นวัดป่าแดง ควรเป็นวัดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก หรือไม่?
ซากโบราณสถานหมายเลข 13 ด้านทิศตะวันตกเฉียงหนือนอกเวียงเชียงแสน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างวัดพระธาตุจอมกิตติ กับวัดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก ควรเป็นวัดป่าแดง? เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก คุณอภิชิต ศิริชัย

โบราณสถานหมายเลข 13

ใหญ่โตมโหฬารแต่กลับไม่มีชื่อเรียก

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้มอบหมายคณะทำงานหรือทีมสตาฟฟ์ Chiangrai Biennale คนสำคัญคือ “พี่นาย” (คุณทิพวรรณ โตแตง สุภาพสตรีจิตอาสา เกษียณอายุราชการมาแล้ว) กับ “น้องนุ” (กฤตดนัย สมบัติใหม่ สล่าตัดตุงแปงโคม ปราชญ์ท้องถิ่นรุ่นใหม่) มาเป็นผู้ต้อนรับบรรยายนำชมให้กับคณะวิทยากร

นอกจากดิฉันแล้วยังมี อ.ภูเดช แสนสา กับศิลปิน จิตติ เกษมกิจวัฒนา และผู้ติดตามของแต่ละคนอีกจำนวนหนึ่ง โดยเทศบาลตำบลเวียง ที่ดูแลเขตพื้นที่เก่าเมืองเชียงแสน อนุเคราะห์รถรางไว้คอยบริการพวกเราระหว่างวันที่ 3-4 มกราคม 2567

สถานที่ที่พี่นาย-น้องนุ ยินดีนำเสนอให้คณะของเราเยี่ยมชมขนิดที่ว่าห้ามกะพริบตาคือ จุดที่กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งแล้ว แต่ยังไม่ทราบชื่อดั้งเดิม จึงปักป้ายว่า “โบราณสถานหมายเลข 13”

เมื่อขึ้นไปชมบนเนินขนาดย่อมๆ แห่งนี้แล้ว ต้องถึงกับตะลึงงันในเขตวัดอันกว้างใหญ่ไพศาล ร่องรอยกองอิฐ หิน ปูนปั้นลายกระหนก กลีบบัว กระจายกลาดเกลื่อน ไม่ว่าชิ้นส่วนของปล้องไฉน เสาหาน ปลียอด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตระหง่านงามสง่าอยู่บนยอดมหาสถูป หรือแม้แต่ตัวซากวิหารเองก็มีขนาดอ่าโอ่โอฬาริก

น้องนุ กฤตดนัย ได้ตั้งคำถามแก่คณะเราว่า “เป็นไปได้หรือไม่ว่า โบราณสถานหมายเลข 13 นี้ ควรจะเป็น ‘วัดป่าแดง’ ตัวจริงของเมืองเชียงแสน เพราะนิกายป่าแดงนิยมสร้างมหาสถูปขนาดใหญ่มาก ดังเช่น วัดป่าแดงเชียงใหม่แถวหลัง มช.?”

เป็นประเด็นใหม่ที่ท้าทายความคิด ไม่ควรมองข้าม แต่ อ้าว! หากโบราณสถานหมายเลข 13 ไปแย่งซีนของวัดป่าแดงที่อยู่บนม่อนลึกอีกลูกทิศตะวันตกเฉียงเหนือไม่ไกลกันนัก (แต่การเดินทางทุลักทุเลพอสมควร) แล้วโบราณสถานที่ถูกเรียกกันว่าวัดป่าแดงมานานกว่า 40 ปี โดยกรมศิลปากรนั้น ควรเป็นวัดอะไรอีกล่ะหรือ?

เฉพาะชิ้นส่วนปล้องไฉนของมหาสถูป ที่วางกองกับพื้น มิอาจจินตนาการได้ว่าหากประดับบนยอดสถูปเต็มองค์ จะมีขนาดโอฬาริกเพียงใด สมควรเป็นวัดที่ชื่อป่าแดงไหม แต่ปัจจุบันขึ้นป้ายว่า โบาณสถานหมายเลข 13 เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก คุณอภิชิต ศิริชัย
ร่องน้ำยาวรายรอบวัดที่กรมศิลปากรปักป้ายว่าวัดป่าแดงเชียงแสน อ.ภูเดช แสนสา ตั้งข้อสังเกตว่าคล้ายคูน้ำรอบเวียงสวนดอกเชียงใหม่

พระประธานองค์ใหญ่ในมณฑป

คล้ายพระอัจนะวัดศรีชุม

ช่วงเช้าวันสุดท้าย (5 มกราคม 2567) คณะของเรากลุ่มเล็กๆ แค่ดิฉันกับ อ.ภูเดช และผู้ติดตามอีก 2 คน ก่อนเดินทางกลับเชียงใหม่ เราไปสำรวจวัดป่าแดงกันต่อด้วยรถตู้ สารภาพว่าทางขึ้นสู่ตัวโบราณสถานค่อนข้างขลุกขลัก หาทางเข้าวัดยากพอสมควร

เมื่อมาถึงจุดที่กรมศิลปากรปักป้ายว่าเป็น “วัดป่าแดง” แล้ว คณะเราได้เดินสำรวจรอบๆ วัดแห่งนี้อยู่นานร่วมชั่วโมง พบข้อสังเกต 4-5 ข้อ พอจะสรุปให้ฟังเบื้องต้นดังนี้คือ

ข้อแรก มีร่องน้ำเก่าด้านหน้าวัด ทำด้วยฝีมือมนุษย์ ขุดเป็นแนวตวัดหักโค้งยาวโอบล้อมวัดทั้งสี่ด้าน ลักษณะเช่นนี้ อ.ภูเดช มองว่าละม้ายกับที่ “เวียงพระธาตุสวนดอก” ในเชียงใหม่ มีการขุดร่องน้ำรายรอบเวียงเพื่อกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของนิกายสวนดอกซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพระญากือนา น่าแปลก ที่ไม่เคยพบลักษณะเช่นนี้ในเขตวัดของนิกายป่าแดง

ข้อสอง เมื่อเดินขึ้นสู่เนินฐานศาสนสถานขนาดใหญ่ พบเสาอิฐเรียงราย บ้างได้รับการซ่อมแซมให้หยัดตรง บ้างล้มระเนนระนาด แน่นอนว่าครั้งหนึ่งเสาเหล่านี้เคยรองรับหลังคาวิหารที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออก

สิ่งที่สะดุดตามากเป็นพิเศษคือ กรรมวิธีการเรียงอิฐหน้าวัวในลักษณะที่แปลก มีการแทรกสันอิฐเป็นแท่งยาวแหลมตามขวางโผล่ยื่นออกมาดูโดดเด่น ไม่ทราบว่าเราเคยพบเทคนิคเช่นนี้ในที่อื่นใดอีกหรือไม่ อาทิ ในเขตวัฒนธรรมสุโขทัย หากเราสามารถค้นหาต้นรากของกรรมวิธีก่ออิฐแบบนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์

ข้อสาม ด้านทิศใต้ของตัวศาสนสถานหลัก เป็นเขตวิหารน้อย และอุโบสถ ขนาดย่อมๆ วางต่อเนื่องกัน ละม้ายกับการจัดวางผังอาคารของวัดศรีชุม สุโขทัย ซึ่งวัดศรีชุมก็ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเหมือนกันด้วย

เสาก่ออิฐแบบเอาสันอิฐขวางคั่นระหว่างอิฐหน้าวัว ควรศึกษาว่ากรรมวิธีก่ออิฐเช่นนี้ เกี่ยวข้องกับทางสุโขทัยหรือไม่
มณฑปขนาดใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยมีหลังคาคลุม เบื้องหลังช่องประตูสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก สาธุชนจะได้เห็นพระเจ้าตนหลวงขนาดใหญ่ เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันกับพระอัจนะวัดศรีชุม สุโขทัย

ข้อสุดท้าย เรื่องนี้เป็นประเด็นไฮไลต์ เป็นหัวใจของการนำเสนอข้อมูลใหม่ นั่นคือเบื้องหลังแนวเสา เราจะปะทะกับแผงกั้นห้องมณฑปขนาดมหึมา ที่จงใจเจาะช่องประตูทางเข้าแคบๆ ให้แลเห็นแค่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์ใหญ่มากเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้สาธุชนเดินพ้นผนังมณฑปนี้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปในระยะประชิด

เห็นแวบแรกปั๊บ พวกเราทุกคนมองหน้ากัน ต่างอุทานออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่มันโมเดลของพระอัจนะวัดศรีชุมที่สุโขทัยชัดๆ

ซ้ำเมื่อหันไปมองรายรอบวัด ก็ไม่พบซากพระธาตุเจดีย์แต่อย่างใดเลย แสดงว่าวัดแห่งนี้กำหนดให้พระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นประธานของวัดอย่างไม่ต้องกังขา

ฉะนี้แล้ว จะให้เรียกว่า “วัดป่าแดง” ต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อโมเดลวัดป่าแดงที่เราเห็นจำนวนมาก เน้นมหาสถูปขนาดใหญ่ นอกหนือจากป่าแดงที่เชียงใหม่แล้ว วัดผาแดงหลวงที่แจ้ห่มก็ดี วัดพระเกิดที่วังเหนือก็ดี ทั้งสองแห่งเป็นศูนย์กลางศาสนจักรนิกายป่าแดงที่ลำปาง หรือวัดป่าแดงที่เชียงตุงก็ดี ล้วนแล้วแต่เน้นการสร้างพระเจดีย์เป็นประธานขนาดฐาน 100 คนโอบทั้งสิ้น

อ.ภูเดช แสนสา ยืนเทียบสัดส่วนกับพระกรของพระเจ้าตนหลวง ณ วัดที่พวกเราสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก มากกว่าจะเป็นวัดป่าแดง
ลวดลายปูนปั้นกลีบบัวคว่ำ มีเกสรบัวประดับ ที่ฐานพระเจ้าตนหลวงในมณฑปดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก ควรเปรียบเทียบลวดลายกับที่ฐานพระอัจนะ มณฑปวัดศรีชุม

เมื่อเราลองนึกว่า มีวัดไหนอีกบ้างหนอ ที่นอกเหนือไปจากพระอัจนะวัดศรีชุมแล้ว (กล่าวคือ เป็นวัดที่ให้ความสำคัญต่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ โดยที่วัดนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องสร้างพระธาตุเจดีย์อีกแล้ว) วัดที่ลอยเข้ามาในหัวแบบรวดเร็วที่สุดก็หนีไม่พ้น วัดพระเจ้าตนหลวง หรือวัดศรีโคมคำ ริมกว๊านพะเยา

และทันทีที่เราสะดุดกับคำว่า “พระเจ้าตนหลวง” อ.ภูเดช ก็นำเสนอต่อว่า “เป็นไปได้หรือไม่ที่วัดแห่งนี้ไม่ใช่วัดป่าแดงจริง แต่ควรเป็น ‘วัดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก’ ซึ่งตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่า วัดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับวัดป่าอีกหลายแห่งในเส้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นับแต่วัดพระธาตุจอมกิตติขึ้นไปแล้วค่อยๆ ไต่เนินเขาขนาดย่อมๆ เรื่อยมา ซึ่งผมเคยตามหาวัดพระเจ้าหลวงหรือพระเจ้าตนหลวงของเมืองเชียงแสนแห่งนี้มานานแล้ว กลับไม่เคยพบ เนื่องจากกรมศิลปากรปักป้ายวัดแห่งนี้ไว้ว่าป่าแดง ทำให้มองข้ามไป”

นายนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มช. ได้ช่วยสืบค้นเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชื่อของ “วัดป่าแดง” กับ “วัดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก” ที่พบในตำนานพื้นเมืองเชียงแสน ว่าวัดทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ทิศไหนกันบ้าง

ขอเริ่มจากวัดป่าแดงก่อน

 

“…ที่นี้ จักกล่าวยังวัดทังหลาย อันมีในเวียงแลนอกเวียงแห่งไชยบุรีเชียงแสนก่อนเเล…วัดอันมีนอกปราการนั้น…

วัดประสงค์ท่าม่าน 1 วัดหย้ารัด 1 วัดเวฬุวัน 1 วัดสังฆโลก 1 วัดป่าบง 1 วัดสมรา 1 วัดป่าแดงหลวงริมแจ่งเวียง 1 วัดข่วงซาย 1 วัดป่าอานม 1 วัดโกสนนอก 1 มารอดนี้มี 20 หลัง หนใต้แล…”

ข้อความนี้ระบุว่า วัดป่าแดงหลวงตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเวียงเชียงแสน ท่ามกลางวัดอีก 20 แห่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่ตั้งจริงของวัดชื่อ “ป่าแดง” ที่กรมศิลปากรปักป้าย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

พื้นเมืองเชียงแสนกล่าวต่อไปอีก ถึงกลุ่มวัดที่มีจำนวนมากถึง 50 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จุดที่ดิฉันกับ อ.ภูเดช กำลังสงสัย มีรายชื่อวัดดังนี้

“…วัดสวนสนุก 1 วัดตีนดอยที่หัวนาค 1 วัดจอมแจ้งที่หางนาค 1 วัดจอมกิตติธาตุเจ้า 1 วัดดอยวงกตนอก 1 วัดอ้อมแกงนอก 1 วัดไชยปราการ 1 วัดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก 1 วัดป่าทิพ 1 วัดบ้านยอง 1 วัดจอมสรี 1 มารอดนี้มี 50 หลังด้านวันตกเเจ่งเหนือ…”

ณ จุดนี้ ทำให้ดิฉันค่อนข้างมั่นใจว่า บริเวณวัดที่กรมศิลปากรเรียกว่าป่าแดงนั้น ควรเป็น “วัดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก” อย่างไม่มีข้อกังขา (หมายเหตุ ยังมีชื่อคล้ายคลึงกันนี้ แต่อยู่ในตัวเวียงเชียงแสนชื่อ พระเจ้าหลวงดอยเรือใน อีกแห่งหนึ่งด้วย ซึ่งก็ยังไม่ได้สืบค้นว่าอยู่ที่ไหน)

อ้าว! หากที่ตั้งวัดป่าแดงหลวงตามพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าอยู่ทิศใต้เสียแล้ว จะมิขัดแย้งกับซากโบราณสถานหมายเลข 13 ที่เรากำลังสันนิษฐานว่าควรเป็นวัดป่าแดงที่แท้จริงด้วยล่ะรึ เหตุที่วัดนี้ก็อยู่เส้นทางเดียวกันระหว่างวัดพระธาตุจอมกิตติกับวัดพระเจ้าหลวงดอยเรือนอก (ป่าแดงเดิม) ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

มณฑปพระอัจนะ วัดศรีชุม สุโขทัย (ภาพจากวิกิพีเดีย) อาจจะมีการส่งอิทธิพลแนวคิดขึ้นมายังเชียงแสนสมัยพระญากือนาหรือไม่

ปรากฏว่ายังมีเอกสารอีกชิ้นหนึ่ง ที่ให้ข้อมูลเรื่องที่ตั้งวัดป่าแดงหลวงขัดแย้งกับพื้นเมืองเชียงแสน นั่นคือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” ฉบับแปลโดย ศ.แสง มนวิทูร ระบุว่าวัดป่าแดงอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

“…เมื่อพระศาสดาปรินิพพานได้ 1977 ปีปลายปีฉลู จุลศักราช 705 พระเถระเหล่านั้นไปเมืองเชียงแสน แคว้นโยน ได้อุปสมบทกุลบุตรเป็นอันมากที่เกาะดอนแท่น ขอให้ทราบว่าพระมหาเถระอุปสมบทในคราวนั้น มีพระธรรมเสนาปติกุลวงศ์เป็นต้น ในปีจุลศักราชนั้นเอง พระมหาเถระทั้งหลาย ท่านได้สร้างมหาวิหารป่าแดง ในวันเพ็ญเดือน 3 ที่ยอดดอยจอมกิตติ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนครเชียงแสน…”

หากยึดตามชินกาลมาลีปกรณ์ (ซึ่งแต่งขึ้นรับใช้นิกายป่าแดง จึงน่าจะมีความแม่นยำในการชี้จุดวัดของนิกายป่าแดง) วัดป่าแดงก็ควรจะตั้งอยู่ในโซนป่าเขาสำเนาไพรด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงแสน ในเทือกม่อนดอยที่เรียกโดยรวมว่าดอยกิตติ

ดังนั้น การที่น้องนุ กฤตดนัย สมบัติใหม่ ชวนตั้งคำถามนำเสนอว่า โบราณสถานร้างหมายเลข 13 ควรเป็นวัดป่าแดง ที่แท้จริงใช่หรือไม่ ก็มีความเป็นไปได้เข้าเค้าอยู่

ดิฉันเห็นว่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ดำเนินการขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานทั้งในและนอกเขตกำแพงเมืองเชียงแสนเป็นจำนวนมาก เราได้พบข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น น่าจะได้มีเวทีทบทวน ถกเถียง สังคายนาข้อมูลเดิมๆ ที่บางแห่งไม่มีชื่อ บางแห่งอาจสันนิษฐานผิด ว่าวัดไหนเป็นวัดไหนกันแน่ อีกสักครั้งนะคะ •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ