‘พระเจ้าองค์เดียว VS. เทพเจ้าหลายองค์’ ในหนังสืออพยพ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“the book of Exodus” เป็นชื่อหนังสือเก่าแก่ในศาสนาของพวกยิวฉบับหนึ่ง ที่ถูกรวบรวมเข้าไว้ในพระคัมภีร์ (Bible แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ภาคพันธสัญญาเดิม (Old Testament) ที่ต่อมาได้ถูกนับเนื่องเข้าเป็นภาคต้นของพระคัมภีร์ในคริสต์ศาสนา

คำว่า “Exodus” นี้ มีรากมาจากคำว่า “exodos” ที่แปลว่า “การออกไปข้างนอก” ในภาษากรีกโบราณ จึงไม่แปลกอะไรที่เนื้อหาภายในพระคัมภีร์บทนี้จะพูดถึงการที่ “โมเสส” (Moses) พาชาวฮิบรู (ก็ชาวยิวนั่นแหละ) “อพยพ” ออกจากอียิปต์

หลังจากที่ตกเป็นทาสของชาวอียิปต์อยู่หลายร้อยปี และก็ไม่แปลกอะไรอีกเหมือนกันที่ the book of Exodus นี้จะมีชื่อเป็นภาษาไทยทางการว่า “หนังสืออพยพ”

แต่ผู้แต่งหนังสืออพยพ ซึ่งถ้าจะว่ากันตามความเชื่อในศาสนาก็คือตัวของโมเสสเอง ก็ไม่ได้บันทึกเรื่องราวน่าเบื่อให้เห็นแต่ฝุ่นและทราย ในมหาทะเลทรายใหญ่ยักษ์อย่าง “ซาฮารา” เท่านั้นนะครับ

เพราะระหว่างที่เล่าถึงการที่พวกยิวทำการอพยพกันนั้น โมเสสท่านก็คุยฟุ้งให้ฟังกันด้วยว่า ช่วงชีวิต 40 ปีแรกของท่านดำรงชีวิตอยู่อียิปต์ แถมยังอยู่ในฐานะแบบอีลิต (elite) เป็นผู้รากมากดี เพราะได้รับความช่วยเหลือจากพระธิดาองค์หนึ่งของฟาโรห์ จากการสั่งประหารบุตรหัวปีชาวฮิบรูทั่วราชอาณาจักรอียิปต์ แถมพระธิดายังรับโมเสสเป็นบุตรบุญธรรมเสียด้วย

และถ้าความสุขสบายของโมเสสจะเป็นนิจนิรันดร์ ก็คงจะไม่เป็นดราม่าให้ใครเขาเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์กันอยู่เนืองๆ ดังนั้น ช่วงชีวิตหลังอายุครบ 40 ปีบริบูรณ์ของโมเสส ท่านจึงต้องทั้งหลบหนีอาญาจากผืนแผ่นดินอียิปต์ ทั้งไปแต่งงานมีครอบครัวเป็นคนเลี้ยงปศุสัตว์แถบภูเขาไซนายอยู่หลายปี ทั้งกลับมาเป็นผู้นำชาวยิวอพยพจากการปกครองอันโหดเหี้ยมของฟาโรห์อียิปต์ จนกระทั้งสิ้นสุดสิ้นชีวิตลงที่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดน ระหว่างทางกลับสู่บ้านเกิดของชาวฮิบรูอย่างดินแดนแห่งพันธสัญญาที่ชื่อ “คานาอัน” (Canaan) คือ “ปาเลสไตน์” ในปัจจุบันนั่นเอง

และถึงแม้ว่าสารพัดเรื่องราวที่รวบรวมไว้ในคัมภีร์ไบเบิลนั้น จะเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเจ้า แต่ในฐานะหนึ่งพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ฉบับนี้ก็ถูกใช้ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของชาวฮิบรู

แน่นอนว่าเรื่องของโมเสส และหนังสืออพยพก็ด้วย (ถึงแม้ว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอื่นๆ จะไม่สอดคล้องกับข้อมูลในพระคัมภีร์เสียทีเดียวก็เถอะ)

โดยนัยยะหนึ่ง เรื่องของหนังสืออพยพจึงแสดงให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างความเชื่อ หรือพระศาสนา แต่ไม่ใช่แค่การปะทะระหว่างศาสนาของชาวอียิปต์โบราณ และศาสนายูดายของพวกฮิบรูเท่านั้น แต่ยังเป็นการปะทะกันระหว่างศาสนาแบบพหุเทวนิยม (polytheism) คือศาสนาที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ของชาวอียิปต์ กับศาสนาแบบเอกเทวนิยม (monotheism) คือศาสนาแบบที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวอย่างพวกฮิบรูด้วย

 

ในภาษาอังกฤษ คำว่า “God” จะเขียนด้วย “G” ตัวใหญ่เสมอ หากใช้ “g” จะถือว่าเป็นเรื่องเทพเจ้าของพวกมิจฉาทิฐิ คืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่พระเป็นเจ้าของชาวคริสต์ และศาสนาที่ถือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกันเป็นใหญ่ อย่างยูดาย และอิสลาม

ดังนั้น หากจะเขียนถึงเทพเจ้ากรีกโรมัน อียิปต์ หรือเทพเจ้าอื่นๆ จากลัทธิความเชื่อก็ตามแต่ด้วย “g” ก็ไม่มีปัญหาอะไร และจะเติม “s” ไว้ข้างท้าย “god” เหล่านี้ไว้ก็ได้ เพราะชาวคริสต์ถือว่าเทพเจ้าของผู้คนเหล่านั้นมีมากมาย แต่จะไม่ถูกคริสต์ศาสนานับว่าเป็นสัมมาทิฐิ

ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุดของศาสนาแบบพหุเทวนิยม กับศาสนาแบบเอกเทวนิยมก็คือ ศาสนาแบบแรกเปิดพื้นที่ให้ใครที่มีบุญญาธิการเพียงพอขึ้นมาเป็นเทพเจ้าก็ได้ ในขณะที่ศาสนาแบบเอกเทวนิยม ใครอื่นนอกเหนือจากพระเป็นเจ้าล้วนแต่เป็นคนเท่ากันหมด เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียว

ดังนั้น ต่อให้โมเสสจะแหวกทะเลแดงสักอีกกี่พันครั้ง นั่นก็ไม่ได้เกิดจากบุญบารมีของโมเสสหรอกนะครับ แต่เป็นด้วยมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าต่างหาก

วิหารอาบู ซิมเบล (Abu Simble Temple)

ฟาโรห์คู่ปรับของโมเสสในพระธรรมอพยพจะเป็นใครไม่มีใครทราบแน่ แต่ส่วนมากมักมอบตำแหน่งอันทรงเกียรติที่คงจะไม่มีฟาโรห์พระองค์ไหนอยากรับไว้ให้กับ รามเสสที่ 2 (Ramses II) ที่ครองราชย์อยู่ในช่วง 1279-1213 ปีก่อนคริสตกาล

(หมายความว่า ในหนังสืออพยพไม่ได้ระบุไว้ว่า โมเสสต่อสู้กับฟาโรห์องค์ไหน ส่วนที่เชื่อกันว่าเป็นรามเสสที่ 2 เป็นเพียงการเทียบเคียงจากช่วงระยะเวลาที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์เท่านั้น และก็เป็นเพราะเรื่องราวในหนังสืออพยพอีกเช่นกัน ที่สร้างภาพสังคมทาสอันโหดร้ายในโลกอียิปต์โบราณมาอย่างยาวนาน ทั้งๆ ที่หลักฐานทางโบราณคดีไม่ได้บ่งชี้ไปในทิศทางที่โหดร้ายเช่นนั้นเลย)

แต่ก็เป็นฟาโรห์รามเสสที่ 2 นี่เอง ที่สร้างวิหารอาบู ซิมเบล (Abu Simble Temple) ขึ้นระหว่างช่วง 1244-1224 ปีก่อนคริสตกาล

ณ วิหารแห่งนี้ พระเจ้ารามเสสที่ 2 หาญกล้าพอที่จะนำรูปสลักของพระองค์ และชายาสุดที่รักไปประทับนั่งรวมอยู่กับเหล่าทวยเทพทั้งหลาย

ดังนั้น ตัววิหารอาบู ซิมเบลจึงแบ่งเป็นส่วนวิหารใหญ่ และวิหารน้อย

ตัววิหารใหญ่มีรูปสลักขนาดยักษ์ของเทพรา (Ra, ในฐานะที่ผนวกกับเทพโฮรัส [Horus]), ปทาห์ (Ptah) และอามุน (Amun) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาต่างๆ ในแต่ละวัน แน่นอนว่าพระเจ้ารามเสสที่ 2 ท่านประทับนั่งอยู่ร่วมกับเทพทั้งสามองค์เฝ้ายามอยู่หน้าวิหารใหญ่นี้นั่นแหละ

ส่วนวิหารน้อยสร้างอุทิศให้แก่ฮาทอร์ (Hathor) เทพีแห่งความรัก ความเป็นแม่ และความสนุกสนาน ตามความเชื่อของอียิปต์โบราณ และพระนางเนเฟอร์ทารี (Nefertari) ชายาแห่งพระเจ้ารามเสสที่ 2 ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะถือเป็นบุคลาธิษฐาน หรือพระภาคหนึ่งของเทพีองค์นี้เอง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วิหารอาบูซิมเบลแห่งนี้ เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ได้ยกฐานะของตนเองเข้าไปเทียบเคียงกับพระเจ้า

และก็ย่อมต้องแน่นอนด้วยว่า ฟาโรห์รามเสสที่ 2 นั้น นับถือศาสนาแบบพหุเทวนิยม ที่เปิดพื้นที่ให้คนที่มีบุญญาธิการคือ “กษัตริย์” มีฐานะเทียบเคียงกันกับ “เทพเจ้า” ได้

 

ถ้าเรื่องของโมเสสตรงกับรัชสมัยของรามเสสที่ 2 อย่างที่ใครต่อใครเขาว่ากันจริงๆ พอจะนึกออกนะครับว่า ผลจากการเทียบตัวเสมอพระเจ้า (ถึงจะเป็นพระเจ้าที่ตนเองนับถือก็ตาม) แถมยังกร่างไปเป็นศัตรูกับพระเจ้าของอีกฝ่ายคือ พระเจ้าของชาวฮิบรู ท้ายที่สุดชะตากรรมของรามเสสที่ 2 จะเป็นเช่นไร?

จะว่าไปแล้ว อันที่จริงพระเจ้าของพวกฮิบรูก็มีชื่ออย่างที่เรารู้จักกันว่า พระยะโฮวาห์ หรือยาห์เวห์ (องค์เดียวกับพระอัลเลาะห์ของศาสนาอิสลาม) เพียงแต่ในบัญญัติสิบประการที่โมเสสไปขน (หรือเขียน) มาจากภูเขาไซนาย มีข้อบัญญัติไม่ให้เอ่ยพระนามของพระเป็นเจ้า (อย่างไม่สมควร) จึงมีการพยายามใช้คำที่หมายถึงพระเจ้าอยู่หลายคำ God ก็เป็นคำหนึ่งที่ถูกใช้อยู่บ่อยๆ

ถึงแม้จะมีนักภาษาศาสตร์เสนอรากศัพท์ของคำว่า “God” ไปในหลายทิศทาง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเชื่อว่าสัมพันธ์อยู่กับคำว่า “good” ที่แปลว่า “ความดี” ดังมีหลักฐานในวรรณกรรมของกวีเอกในโลกตะวันตกอย่าง วิลเลียม เช็กสเปียร์ มีการใช้สำนวนว่า “God be wy wou” และ “God buy’ye” ซึ่งตรงกับคำว่า “good bye” ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่มีหลักฐานว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวอังกฤษใช้คำว่า “god day” และ “god night” เมื่อจะกล่าว “good day” และ “good night”

และถ้าจะว่ากันตามนี้แล้ว “พระเจ้า” ในฐานะที่เป็นบุคลาธิษฐานของ “ความดี” (ส่วนจะดีในนิยามแบบไหนนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง) จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนทุกคนเท่าเทียมกัน ในขณะที่การอ้างว่าตนมีอำนาจบาตรใหญ่เสมอกับเทพเจ้านั้น นอกจากจะกดคนอื่นให้ต่ำกว่าตนเองแล้ว ยังไม่น่าจะใช่สิ่งที่เรียกว่าความดีด้วย •

 

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ