ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
หมายเหตุ “รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงทัศนะผ่านรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ซึ่งเผยแพร่ทางช่องยูทูบมติชนทีวีเมื่อวันที่ 28 มกราคม ถึงกรณีอนาคตทางการเมืองของพรรคก้าวไกล
: จากแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มกราคม เราพอคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 มกราคมได้หรือไม่? (บทสัมภาษณ์เผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 28 มกราคม)
กรณีการตัดสินเมื่อวันที่ 24 ที่ผ่านมา กรณีถือหุ้นสื่อ เท่าที่ผมติดตาม ผมพบว่าคนจำนวนมากไม่ได้คาดเดาการตัดสินเรื่องนี้ รวมถึงในวันที่ 31 ด้วย บนเงื่อนไขของข้อกฎหมาย
คือหมายความว่า เขามองเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขทางการเมืองมากกว่า ว่ามันจะนำไปสู่ผลอย่างไร ผมคิดว่ามีน้อยมากที่พยายามจะให้คำอธิบายทางกฎหมาย
เพราะดูเหมือนว่าทุกคนจะปักใจเชื่อไปแล้วว่า เวลาที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ซึ่งจริงไม่จริง อันนี้ผมก็ไม่รู้ แต่คนจำนวนมากจะมองว่า มันมีแรงผลักดันทางการเมืองอย่างไร ที่จะนำไปสู่คำตัดสินในบั้นปลาย
: แต่ในฐานะที่อาจารย์สอนกฎหมาย ถ้าเราว่ากันตามตัวบทกฎหมาย อาจารย์คิดว่า 31 มกราคม มันจะออกอย่างไร?
ในทางกฎหมาย ถ้าถามผม ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่อะไร? โดยหลักการพื้นฐาน กฎหมายรัฐธรรมนูญ 101 ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่เสนอกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการแก้ไขกฎหมายด้วย แล้วสิ่งที่พรรคก้าวไกลทำคืออะไร? เสนอนโยบายแก้กฎหมาย มาตรา 112 ที่เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ
เสนอแก้มาตราเดียว ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ชัดเจน ว่าจะเสนอแก้ไปในรูปแบบ รูปร่าง หน้าตาขนาดไหน ผมคิดว่า มันคงมหัศจรรย์มาก ถ้ามีพรรคการเมืองเสนอนโยบายว่าจะแก้ไขมาตราหนึ่งของกฎหมายฉบับหนึ่ง แล้วผลปรากฏว่า เป็นการกระทำที่เป็นความผิดหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ถ้าเป็นแบบนี้ คือ ตกลงฝ่ายนิติบัญญัติทำอันนี้ไม่ได้สิ มีเพดานว่าในเรื่องนี้ทำไม่ได้ หรือว่าทุกๆ เรื่อง ถ้ามาตราหนึ่ง อันนี้แก้ไม่ได้ ถ้าเกิดจะไปแก้เรื่องอื่นๆ ล่ะครับ สมมุติมีกฎหมายเรื่องอื่นๆ ที่อยากเสนอแก้ คำถามสำคัญคือ แล้วจะรู้ได้อย่างไร? ว่าอันไหนขอเสนอแก้ได้ ขอเสนอแก้ไขไม่ได้
สมมุติเรายึดหลักแบบดั้งเดิม ตามการปกครองในระบบรัฐสภา ถ้าเกิดคนที่เรียนเรื่องระบบรัฐสภา ก็จะบอกเราเอามาจากประเทศอังกฤษ ระบบรัฐสภา คือ รัฐสภามีอำนาจที่จะแก้กฎหมายทุกประเภท รัฐสภามีอำนาจสูงสุดตามหลักการเรื่องความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา
ถ้าเมืองไทยเราบอกกฎหมายมาตราเดียว (รัฐสภา) แก้ไม่ได้ ผมคิดว่านี่จะเป็นเรื่องใหญ่ว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะอธิบายในเรื่องนี้อย่างไร โอเค คนที่เห็นค้าน เขาก็จะบอกว่า เนื่องจากการแก้ไขมาตรานี้ มันไปกระทบต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้
ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมคิด (ตั้งคำถาม) ว่ามีความหมายกว้างขวางขนาดไหน? แล้วบทบัญญัติเรื่อง 112 ถ้าแก้ไขเปลี่ยนแปลง แล้วมันไปกระทบต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนนี้อย่างไร? อันนี้คือส่วนที่คงต้องอภิปรายต่อ
มันพูดไม่ได้ง่ายๆ ว่าแก้ไข 112 ปุ๊บ จะส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้น ถามผม ผมคิดว่าในทางหลักการทางกฎหมาย มันเป็นไปได้ยากมาก มันน่าจะเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะมาวินิจฉัยว่าการเสนอมาตราหนึ่งของประมวลกฎหมายฉบับหนึ่ง มันจะทำให้มีความผิดถึงขั้นต้องไปยุบพรรค
แต่ (เรื่อง) เป็นไปไม่ได้หรือมหัศจรรย์ มันเคยเกิดขึ้นแล้ว คือ ก่อนหน้านี้ เคยมีคนถามผม อย่างเช่นกรณีที่มีกลุ่มเยาวชนไปเรียกร้องเรื่องการปฏิรูป แล้วก็มีคนไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ข้อหาว่าเป็นการล้มล้าง (การปกครอง)
เช่นเดียวกัน ตอนนั้น ผมก็มีความเห็นว่า ถ้าออกมาเป็นแบบนั้น จะชวนให้อัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง แต่สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยว่า การปฏิรูปเท่ากับการล้มล้าง
เพราะฉะนั้น ในความเห็นของผม ที่บอกว่ามันเป็นไปได้ยากหรือมหัศจรรย์อะไรก็ตาม มันสามารถเกิดขึ้นได้ ภายใต้ระบบรัฐสภาของเราที่ยังมีองค์กรที่มีอำนาจเหนือเข้ามากำกับ
: แล้วถ้านำบริบททางการเมืองมาเข้าคู่กับหลักกฎหมาย อาจารย์ประเมินทิศทางว่าอย่างไร?
อันนี้ผมเดานะ คือผมก็ไม่ได้มีความรอบรู้ทางการเมืองมากเท่าไหร่ ผมก็ติดตามข้อมูลข่าวสารเหมือนกับหลายๆ คน คือถ้าถามผม อันนี้ไม่ใช่การคาดเดานะ เป็นความคาดหวัง
ผมคิดว่า ถ้าสมมุติเราอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากขึ้นและรอบด้านมากขึ้น ควรมีคำวินิจฉัยว่าให้ (ก้าวไกล) ยุติการกระทำที่เกิดขึ้น เนื่องจากการกระทำที่เกิดขึ้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องให้คนอื่นไปร้องต่อ มีนักร้องไปยื่นยุบ (พรรค)
ไม่รู้ซาดิสต์หรือเปล่า? ผมอยากเห็นพรรคก้าวไกลถูกยุบ คือแบบนี้ เราเคยมีพรรคอนาคตใหม่ แล้วพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบมาแล้วครั้งหนึ่ง ผมคิดว่าการยุบพรรคการเมืองโดยอาศัยองค์กรที่มีอำนาจเหนือมายุบ ในแง่หนึ่ง อาจจะทำให้ชนชั้นนำไทยที่กำกับการเมืองอยู่ รู้สึกว่าถ้าพรรคไหนขึ้นมาขวางหูขวางตา ก็ยุบมันเสีย เคยยุบพรรคอนาคตใหม่แล้ว ก้าวไกลก็มา
ผมอยากจะท้าให้ยุบครับ เพราะมันจะเป็นการพิสูจน์ว่า เอาเข้าจริง พรรคก้าวไกลมี ส.ส.อยู่แค่ประมาณ 150 คนหรือเปล่า? อย่าไปตัดสิทธิเฉพาะกรรมการบริหารพรรค มันไม่ถึงสิบคน พรรคนี้เสนอนโยบายผิด ยุบทั้งพรรคไปเลย
จะได้เห็นว่า ตกลงไอ้กระแสข้อเรียกร้องที่อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงนู่นนี่นั่นโน่น เอาเข้าจริง มันอยู่แค่ที่ประมาณ 150 คนนี้แหละ (จริงหรือไม่?)
ยุบเลย แล้วมันจะทำให้พวกเราเห็นกันชัดมากขึ้นว่า มันเป็นเรื่องของ 150 คนจริงหรือเปล่า? หรือว่าไม่ใช่หรอก มันมีคนอีกเป็นจำนวนมาก ที่พร้อมจะเข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมกับเรื่องพวกนี้
อันนี้น่าจะทำให้เราเห็นว่ากระแสที่มองๆ กันอยู่ ตกลงมันเป็น “ความจริง” หรือ “ภาพลวงตา” มันจะทำให้เราเห็นข้อเรียกร้องหรือความต้องการของผู้คนชัดขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022