นางแบกเธอแบกอะไร | คำ ผกา

คำ ผกา

ในประเทศที่ประชาธิปไตยลงหลักปักฐาน สิ่งที่เป็น norm หรือต้องเป็นบรรทัดฐานหลักคือการ “วิจารณ์รัฐบาล” ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์จากสื่อหรือจากประชาชน

เพราะหน้าที่ของสื่อคือการเป็น “หมาฝ้าบ้าน” เป็น watch dog ต้องคอยสอดส่อง ตรวจสอบ ด่าทอ จิกกัด เหน็บแนมรัฐบาล เพื่อสร้างดุลแห่งอำนาจ

อย่างที่เรารู้กันว่า อำนาจรัฐเมื่อตกอยู่ในมือของใครสักคน เราต้องคอยกระตุก คอยแกว่ง คอยดึง ไม่ให้คนที่อยู่ในอำนาจเหลิงอำนาจ จนนำไปสู่การลุแห่งอำนาจ

ประชาชนก็เช่นกัน เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว เรามีหน้าที่ “เกลียด” รัฐบาล เรามีหน้าที่ระแวง สงสัย ไม่เชื่อ และเรียกร้องจากรัฐบาลเสมอว่า เท่าที่ทำอยู่นี้มันไม่พอ ต่อให้รัฐบาลนี้มาจากพรรคการเมืองที่เราเลือกที่เราชอบก็ตาม

และมักมีคำพูดที่ว่า โดยปกติแล้ว ประชาชนไม่มีวันชอบนักการเมืองคนไหนหรอก และเวลาที่เราไปเลือกตั้ง เราแค่ไปเลือกคนที่เราเกลียดน้อยที่สุด

 

แต่ในประเทศไทย ณ ขณะนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น และฉันเห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าพูดถึงและทำความเข้าใจ

เช่น ตัวของฉันเอง ที่โดยอาชีพเป็นคอลัมนิสต์ เป็นนักวิจารณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับข่าวสารบ้านเมือง

สิ่งที่ฉันควรจะทำคือวิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักหน่วงเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามวิชาชีพ

และเพราะเหตุใดฉันจึงปวารณาตัวเองเป็น “นางแบก” และประกาศจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนรัฐบาล และอาจมีคนให้คำตอบว่า “ก็ทำงานที่ voice tv” ที่ดูยังไงก็เป็นสื่อที่แยกไม่ออกจากพรรคเพื่อไทย

ฉันจะยังไม่ถกเถียงอะไรในเรื่องนั้น

แต่อยากพาย้อนกลับไปว่ามันมีจุดเปลี่ยนอะไรในสังคมไทยที่ทำให้การเมืองไทยตอนนี้เกิดมีวัฒนธรรม “แฟนด้อม” ขึ้นในแบบที่มันไม่เกิดในประเทศอื่น

 

ย้อนกลับไปก่อนการรัฐประหารปี 2549 ฉันคิดว่าประเทศไทยอยู่ในลักษณะที่ค่อนข้าง “ปกติ” คือ ใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องโดนด่า หรือถูกเกลียด

และใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็มักทำใจไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าทั้ง “สื่อ” และ “ประชาชน” ยังไงก็ต้องด่ารัฐบาลเป็น norm อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น เครื่องมือที่รัฐบาลใช้คือ ใช้สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ที่รัฐบาลคุมได้

เพราะฉะนั้น แลนด์สเคปของสื่อคือ สื่อหนังสือพิมพ์ และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จะมีอิสระในการ “ด่า” รัฐบาลมากกว่าวิทยุและโทรทัศน์ที่ถูกคุมโดยรัฐบาลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ยังจำได้ว่าแม้แต่ในยุคของเปรม ติณสูลานนท์ ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนที่ไม่ด่าเปรม ไม่ด่ารัฐบาล ไม่ใช่ด่าเฉยๆ แต่ด่า 24 ชั่วโมง ด่าทุกวัน เวลาเปรมลงพื้นที่ สื่อหนังสือพิมพ์ก็จะลงรูปประชาชนที่ถูกจัดตั้งมาชูป้ายเชียร์

และป้ายที่คนจำกันได้มากคือ “ฟ้าเป็นของนก นายกฯ เป็นของป๋า”

ความที่ถูกด่าจากสื่อทุกวัน วิธีรับมือกับสื่อของเปรมคือไม่พูด จนได้ฉายาว่าเป็น “เตมีย์ใบ้”

ในยุคหนึ่งหนังสือพิมพ์ถือเป็นเส้นขอบฟ้าสูงสุดของเสรีภาพสื่อ ขณะเดียวกันก็บริหารอิทธิพลนี้กับ “นักการเมือง” และ “ผู้อยู่ในการเมือง” แบบมาเฟียด้วยในอีกขา

เราจึงได้ยินกันอยู่เสมอๆ เรื่องนักการเมือง “เลี้ยงดูปูเสื่อ” หรือ “จ่ายเงิน” ให้สื่อ “ยักษ์” ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

หรือจะสัมพันธ์กันในลักษณะของ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” และว่ากันว่า สถานะของ บก. หรือเจ้าของ “สื่อใหญ่” นั้นทรงอิทธิพลไม่แพ้นักการเมืองนั่นแหละ

ส่วนสื่อวิทยุ โทรทัศน์จะมีภาพว่า “ล้าหลัง” หรือเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล ยิ่งกรมประชาสัมพันธ์มีชื่อเล่นว่า “กรมกร๊วก” ด้วยซ้ำ

 

วงการโทรทัศน์มาถูกเขย่าโดย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ถ้าใครเกิดทันจะตื่นเต้นมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่รายการโทรทัศน์ในสังกัดช่อง 11 ที่ได้ชื่อว่าเป็น “กรมกร๊วก” ทำรายการคุยการเมืองซีเรียสได้น่าติดตามจนเป็นปรากฏการณ์ เรตติ้งสูง นั่นคือรายการ “ขอคิดด้วยคน” และ “มองต่างมุม”

และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่รายการโทรทัศน์ไทยมีพื้นที่ให้นักวิชาการ และ ngos มี “แสง” อย่างมีนัยสำคัญ

บรรดานักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ทางการเมือง ซ้ายเก่า เอ็นจีโอ ถูกสร้างสถานะให้เป็น “ปัญญาชนสาธารณะ”

และแน่นอน บทบาทของพวกเขาคือ “ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น”

อีกแรงกระเพื่อมหนึ่งคือการเกิดขึ้นของไอทีวี ทีวีเสรี ที่สร้างปรากฏการณ์การทำข่าว สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบข้าราชการ นักการเมือง อย่างที่สื่อโทรทัศน์แต่เดิมไม่เคยทำมาก่อน

วาระการปฏิรูปสื่อในยุคนั้นคือ ทำอย่างไรจะมีสื่อที่ไม่ได้เป็นของรัฐบาล ไม่ได้เป็นของ “ทหาร” แล้วนำเสนอข่าวอย่างเป็นอิสระ

นับได้ว่าเป็นยุคทองของคนทำสื่อ พร้อมๆ ไปกับการที่สถานะของ “สื่อมวลชน” ถูกยกระดับขึ้นมาเทียบเท่ากับปัญญาชน

เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับนับถือ มีหน้ามีตา แบบ intellectual ไม่ใช่แบบสื่อใหญ่มาเฟีย หรือสื่อเพื่อชีวิตแบบในยุคก่อนหน้านี้

จนมาถึงยุคของไทยพีบีเอส สื่อสาธารณะ มาถึงการเปิดให้มีวิทยุชุมชน มาถึงยุคที่พูดกันเรื่องสื่อพลเมือง สื่อที่เน้นเล่าเรื่องจากมุมของท้องถิ่น ข่าวที่ไม่ถูกผูกขาดไว้จากสายตาส่วนกลางคือกรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่เป็นยุคทองของนักวิชาการ ปัญญาชน สื่อยังเป็นยุคทองของเอ็นจีโออีกด้วย

และในยุคที่เสรีภาพสื่อเบ่งบานอย่างที่สุดนี้ ทั้งสื่อและประชาชนก็เอนจอยการ “ด่า” รัฐบาล ตรวจสอบรัฐบาลอย่างชนิดที่หนักมือมาก

พร้อมๆ กับที่เรามีรัฐบาลซึ่งมีคะแนนิยมสูงมากๆ เช่นกัน นั่นคือรัฐบาลทักษิณ

 

จุดที่ฉันคิดว่าเรามองข้ามกันไปเสมอนั่นคือ ในขณะที่โหวตเตอร์ของพรรคไทยรักไทย มีความนิยมต่อพรรคและตัวคุณทักษิณ ชินวัตร เพราะได้รับประโยชน์เชิงนโยบายที่จับต้องได้ ทั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน โอท็อป สามสิบบาทรักษาทุกโรค วิสาหกิจชุมชน สุราเสรี ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านชาวนากลายเป็นนักธุรกิจรายย่อยกันเยอะ เปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรยากจนมาเป็นเจ้าสัวน้อยๆ ในชนบทเยอะอย่างมีนัยสำคัญ

สื่อและชนชั้นกลางในเมืองก็ยังทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น รักษาความ skeptical ไว้ได้อย่างคงเส้นคงวา

นั่นคือต้อง “ด่า” ทุกเรื่อง ด่าทุกอย่าง

แต่สองโลกนี้ไม่ได้มาบรรจบกัน นั่นคือ คนที่ชอบพรรคไทยรักไทยและโหวตให้พรรคไทยรักไทยมองว่า การด่ารัฐบาลของสื่อเป็นเรื่องปกติ อยากด่าก็ด่าไป มันเป็น norm ถึงเวลาไปโหวต คนที่โหวตให้ไทยรักไทยก็แค่ไปโหวตให้ไทยรักไทย

สิ่งนี้ฉันเขียนจากประสบการณ์ของตัวเองในฐานะที่เป็นคอลัมนิสต์ ฉันเขียนด่ารัฐบาลไทยรักไทยทุกวันจนเอามารวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ “ยุให้รำตำให้รั่ว” ในห้วงที่รัฐบาลทักษิณชนะการเลือกตั้งถล่มทลายได้ 377 ที่นั่ง ไม่มีใครมานั่งด่าคนที่ด่ารัฐบาล เหมือนเรารู้ว่า ต่างคนต่างมีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำ

สื่อมีหน้าที่ด่า โหวตเตอร์ดูนโยบาย ดูผลงานแล้วก็เลือกพรรคไทยรักไทยอยู่ดี จน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ต้องเขียนหนังสือชื่อ “สองนคราประชาธิปไตย” คือ สื่อ นักวิชาการ เอ็นจีโอ คนชั้นกลางก็ด่ารัฐบาลไป คนที่เขาเลือก ยังไงเขาก็เลือกอยู่ดี

 

จุดเปลี่ยนมันเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 ซึ่งฉันของสรุปสั้นๆ ว่า มันเป็นเรื่องที่สื่อและปัญญาชนไปล้ำเส้น “ประชาชน” นั่นคือ เมื่อเห็นว่า “ด่า” เท่าไหร่ก็ไม่ชนะเลยหันไปสนับสนุนการรัฐประหาร ปล้นอำนาจประชาชน

คนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นสื่อน้ำดี ยุคนั้นมีเครดิตในหมู่นักวิชาการสูงยิ่ง

คือเป็นสื่อ intellectual มาก แต่ท้ายที่สุด สื่อเหล่านี้กลับไปถือหางการรัฐประหาร ล้มล้างระบอบทักษิณ (และหากยังจำได้ สมัยนั้น วันชัย สอนสิริ ก็จัดรายการกับ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง) ส่วนฉันก็นั่งมองว่า จากรายการ “มองต่างมุม” ที่ก้าวหน้าสุดสุดของยุคสมัย มันกลายเป็น Bulesky ได้ในวันหนึ่ง

การรัฐประหารปี 2549 ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยไม่ต่ำว่าสิบล้านคนเริ่มเห็น “พิษ” ของสื่อ ว่าพวกเขาไม่ได้ทำแค่ตรวสอบ ถ่วงดุล แต่พวกเขาล้ำเส้นมากที่ถือหางการปล้นอำนาจประชาชน

สำหรับฉัน สิ่งนี้เป็น Trauma หรือเป็น “บาดแผล” ฝังลึกในใจของโหวตเตอร์พรรคการเมืองโดยเฉพาะโหวตเตอร์ของพรรคไทยรักไทย ประจวบเหมาะกับการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เว็บบอร์ดการเมือง จนเดินทางสู่โซเชียลมีเดียในปัจจุบัน พร้อมไปกับประเทศไทยที่ตกอยู่หล่มของการปกครองของรัฐบาลเผด็จการสองห้วงคือห้วงของ คมช. และ คสช. ที่มีการปิดปากประชาชนและสื่อ ผ่านหลายเครื่องมือทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการที่ประชาชนออกมาปกป้องพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ตนเองเลือก และขอบฟ้าของสื่อใหม่มันหมายถึงการมี “สื่อ” ที่ส่งเสียงต่อสู้เพื่อพรรคการเมืองที่ถูกกระทำ

และตัวฉันเองนี่แหละที่ประกาศว่า “สื่อ/คนไม่เลือกข้างคือคนเห็นแก่ตัว”

 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะดุลแห่งอำนาจระหว่าง ประชาชน สื่อ นักการเมือง และผู้มีอำนาจถูกเขย่า

มาจากการที่คนที่ถือครองอำนาจรัฐไม่ได้มาจากประชาชนอีกต่อไป และ “สื่อหัวก้าวหน้า” กับกลายเป็นสื่อที่ถือหางทรราช

โหวตเตอร์ของพรรคการเมืองที่ปกติถืออุเบกขาต่อการ “ด่า” รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงวางอุเบกขาแล้วกระโดดมาเป็น “สื่อ” ของพรรคโดยออร์แกนิกส์ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นมารองรับปรากฏการณ์นี้อย่างพอดิบพอดี

ร่องรอยของการที่ประชาชนออกมาปกป้องรัฐบาลแทนที่จะ “ด่า” หรือ “ตรวจสอบ” ตาม norm ที่ควรจะเป็นคือ เมื่อพรรคที่ถูกปล้นอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่าได้กลับมาเป็นรัฐบาล

นั่นคือ ในสมัยของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราเห็นสงคราม “วาทกรรม” อีกครั้ง นั่นคือ สื่อ ปัญญาชน นักวิชาการ ผนึกกำลังกันกับกลุ่มอนุรักษนิยม “ถล่ม” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยต้องสู้กลับ

ไม่ได้เพราะเขาเห็นดีเห็นงามกับทุกนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

แต่เพราะเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกรัฐประหารไปอีกครั้ง

แต่ในที่สุด สื่อ ปัญญาชน คนชั้นกลาง ก็ลากทหารออกมายึดอำนาจจนสำเร็จ

บาดแผลนี้มันจึงลึกลงไปอีกสำหรับผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย

นั่นคือ แทนที่จะมองสื่อเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” สื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของการบ่อนทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ยิ่งสื่อที่เคยสนับสนุนรัฐประหารในปี 2549 ปี 2557 ออกมาด่ารัฐบาลในวันนี้คนที่เป็นโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยก็จะมองคนเหล่านี้แบบ “กูไม่เชื่อน้ำหน้ามึง”

 

ในวันนี้ที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะข้ามขั้วหรือไม่ข้าม จะตระบัดสัตย์หรือไม่ตระบัดสัตย์ ฉันจะไม่ฉายหนังซ้ำ

แต่จะย้ำว่าต่อให้ไม่มี ส.ว. พรรคก้าวไกลก็มีเสียงไม่พอที่จะตั้งรัฐบาล และหากไม่มี ส.ว. พรรคเพื่อไทยก็ไม่จับมือกับพรรคก้าวไกลตั้งแต่แรก

ในวันนี้ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล มันเหมือนฉายหนังซ้ำ จะมองว่าเป็น norm ก็ได้ ที่สื่อทุกสื่อต้อง “เกลียด” รัฐบาล

สื่อทุกสื่อต้อง “เห่า” รัฐบาลเพราะทำหน้าที่หมาเฝ้าบ้านของประชาชน

และยิ่งฝ่ายค้านเป็นพรรคก้าวไกลที่พูด “ภาษาเดียว” กันกับปัญญาชน สื่อและชนชั้นกลางคือภาษาของฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้า พูดกี่คำก็ดูดีมีความรู้ (ยอมรับว่าพูดเก่งจริงๆ และพรรคเพื่อไทยเทียบไม่ติด)

มันจึงชอบธรรม และดูศิวิไลซ์มากที่สื่อจะไม่สยบยอมต่อผู้ถือครองอำนาจรัฐ ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น

 

แต่โหวตเตอร์ของพรรค รวมทั้งตัวฉันมีสองสถานะคือ คนวิจารณ์การเมืองเป็นอาชีพ และโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทย สละตำแหน่ง “ด่า” รัฐบาล แต่หันมาทำหน้าที่ปกป้องรัฐบาล

เพราะสิ่งที่เรากลัว ไม่ใช่กลัวพรรคเพื่อไทยไม่มีอำนาจ

แต่ไม่อยากให้รัฐบาลที่มาจากการพรรคการเมืองเป็นพลเรือนมาจากการเลือกตั้งต้อง “แท้ง” ไปอีกรอบ

เพราะไม่เช่นนั้นจะเท่ากับว่า ใน 30 ปี เราจะไม่มีรัฐบาลพลเรือนที่อายุยาวนานเกินสองปีครึ่งเลย

เท่ากับว่าในสามสิบปีเราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่หกปี อีก 14 ปี คืออยู่กับรัฐบาลเผด็จการ

และฉันอยากจะบอกโหวตเตอร์และผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลว่า ขอให้เชื่อใจเชื่อมือพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่นับวันจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ผลีผลามทำลายตัวเองด้วยกลวิธีที่เป็น negative campaign เพื่อหวังชัยชนะในระยะสั้น

ให้เวลากับการเมืองในระบอบเลือกตั้ง ชัยชนะของพรรคก้าวไกลอาจจะมาช้าหน่อย แต่จะยั่งยืนแน่นอน เพราะทุกวันนี้อยู่ในตำแหน่งที่เป็น rising star และในพรรคก็มีแต่คนเก่งๆ ยังหนุ่มสาว และยังจะเก่งต่อไปได้อีกเยอะมาก

ตัวฉันเองก็อยากกลับไป