อีกด้านของมรดกโลก (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

อีกด้านของมรดกโลก (จบ)

 

ในบทความเรื่อง The dark side of cultural heritage protection โดย Frederik Ros?n นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองจนเกิดเป็นสงคราม

บทความกล่าวถึงกรณีศึกษาในหลายพื้นที่ เช่น ซีเรีย และอัฟกานิสถาน ซึ่งเต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งในทางหลักการควรได้รับการอนุรักษ์ดูแลเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะมีความขัดแย้งกันมากแค่ไหนก็ตาม และมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ซึ่งมีสถานะเป็นดั่งหลักฐานทางอารยธรรมของมนุษยชาติทั้งมวล ควรอยู่นอกพื้นที่เป้าหมายของการทำสงคราม

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

หลายกรณี (โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อการร้าย) ยิ่งมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านั้นถูกให้คุณค่ามากเท่าไรในระดับสากล และมีความพยายามที่อยากจะอนุรักษ์ปกป้องมากแค่ไหน กลับยิ่งทำให้มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านั้นตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี ทำลาย หรือปล้นสะดมมากยิ่งขึ้น

ยิ่งได้รับการยกย่องไปจนถึงขึ้นทะเบียนมรดกโลกก็ยิ่งเย้ายวนให้เกิดการปล้นโบราณวัตถุเพื่อนำไปขายในตลาดมืด

หรือในกรณีมุ่งทำลาย (ไม่ปล้นไปขาย) สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการทำลายมรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ สามารถดึงดูดและเรียกร้องความสนใจระดับโลกได้มากขึ้น

แม้กรณีนี้จะเป็นตัวอย่างสุดโต่งที่ไกลห่างจากสังคมไทย แต่ก็เป็นประเด็นที่น่าคิดและชวนให้เรามองเทียบเคียงบางอย่างย้อนกลับมาสู่สังคมไทยได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นว่าด้วยการได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่ได้เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไม่ตั้งใจให้แก่โบราณวัตถุที่สัมพันธ์กับแหล่งมรดกโลกนั้นๆ

จนอาจนำไปสู่ความต้องการที่มากขึ้นในตลาดมืดต่อการลักลอบขุดค้นหรือซื้อขายโบราณวัตถุในแหล่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

นักท่องเที่ยวที่รอชมขบวนแห่เนื่องในวันปีใหม่ ณ เมืองหลวงพระบาง
ที่มาภาพ : https://southeastasiaglobe.com/laos-dam-overtourism/

ผลกระทบด้านลบที่ควรตระหนักถึงอีกประการ ซึ่งทาง UNESCO ก็เริ่มให้ความสนใจต่อประเด็นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มรดกโลก ซึ่งประเทศไทยก็มีกรณีคาบเกี่ยวที่น่ากังวลนี้เกิดขึ้นเช่นกัน นั่นก็คือ กรณีการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี พ.ศ.2564 ท่ามกลางการต่อต้านของนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากปัญหาความขัดแย้งและข้อสงสัยต่ออาชาญกรรมโดยรัฐที่กระทำต่อชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่เกิดขึ้นมายาวนานหลายสิบปี

การได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ก่อให้เกิดความกังวลเพิ่มมากขึ้น (จากปัญหาที่สั่งสมมากมายก่อนหน้านี้อยู่แล้ว) ไม่ว่าจะเป็นข้อกังวลว่าการขึ้นทะเบียนจะยิ่งส่งผลทำให้ภาครัฐปฏิเสธสิทธิของชาวกะเหรี่ยงที่จะอยู่อาศัยในผืนดินดั้งเดิมของพวกเขาตลอดจนการห้ามทำกิจกรรมตามประเพณีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ชุมชนชาวกะเหรี่ยงยังกังวลด้วยว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ในด้านหนึ่งหมายถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนนั้นจะยิ่งกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่เหลือพื้นที่ป่าสำหรับพวกเขาในการอยู่อาศัย และทำให้พวกเขาต้องถูกบังคับย้ายออกในที่สุด

(ดูรายละเอียดในบทความ “แก่งกระจาน : ยูเนสโกมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แม้ฝ่ายสิทธิมนุษยชนยูเอ็นค้าน” ใน BBC News ไทย วันที่ 26 กรกฎาคม 2021)

ภาพการประท้วงของกลุ่มภาคีเซฟบางกลอยหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการชะลอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2564
ที่มาภาพ : ข่าวสดออนไลน์

ผลกระทบสุดท้ายที่อยากพูดถึงก็คือ มรดกโลกอาจกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศ “โหยหาอดีต” ในระดับที่มากเกินพอดีจนส่งผลทำให้เกิดการแช่แข็งทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ต่อต้านความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (ซึ่งเป็นสัจธรรมของโลกที่ต้องเกิดขึ้น) ไม่ให้เกิดขึ้น จนกลายเป็นความผิดปกติทางวัฒนธรรมที่ทำให้เมืองหรือแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมมีสภาพไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ที่ถูกหยุดเวลาเอาไว้ ด้วยข้ออ้างในการรักษาคุณค่าเดิมแท้ของการเป็นมรดกโลก

ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้คือ หลวงพระบาง เมืองซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2538 โดยเหตุผลที่ว่า เป็นเมืองที่สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมและโครงสร้างเมืองในยุคอาณานิคมของยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19-20 สภาพเมืองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งลักษณะทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการหลอมรวมวัฒนธรรมทั้งสองแบบเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

จากคุณค่าดังกล่าว ทำให้การบริหารจัดการในเวลาต่อมามุ่งเน้นที่จะรักษา (แช่แข็ง) คุณค่านี้เอาไว้จนล้นเกิน กลายเป็นการโหยหาอดีตที่เกินพอดีและผิดธรรมชาติ

ยิ่งเมื่อผสานเข้ากับกระแสการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาย ทั้งหมดได้ส่งผลกระทบเชิงลบในหลายด้านต่อเมืองหลวงพระบาง (อ่านเพิ่มประเด็นนี้ในบทความ “Multiple nostalgias : the fabric of heritage in Luanq Prabanq (Lao PDR)” โดย David Berliner)

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญต่อ “คุณค่าทางประวัติศาสตร์” บางอย่าง (คุณค่าที่ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียน) มากจนเกินไป ตลอดจนการระดมงบประมาณจากภาครัฐเพื่อเน้นย้ำคุณค่าดังกล่าวให้ยิ่งเด่นชัดมากขึ้นเพื่อหวังประโยชน์ในเชิงการท่องเที่ยว ยังส่งผลให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ชุดอื่นถูกหลงลืมหรือถูกกดทับจนหายไปจากพื้นที่

เช่นกรณีหลวงพระบาง ด้วยคุณค่าที่ถูกประกาศจาก UNESCO ข้างต้น ทำให้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญชุดอื่น เช่น สงครามเวียดนาม ไม่ถูกอธิบายหรือพูดถึงมากนัก (อ้างถึงในบทความ “มรดกโลก น้ำผึ้งไม่หวานหอม” โดย นิติ ภวัครพันธุ์ ในเวปไซด์ WAY)

ซึ่งการให้ความสำคัญที่มากเกินไปของคุณค่าทางประวัติศาสตร์เชิงเดี่ยวเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ดีนักต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่สลับซับซ้อนของพื้นที่เมือง

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลก ซึ่งผมคิดว่าสังคมไทย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่ดูอยากจะกระตุ้นให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของประเทศไทยอีกหลายแห่งได้รับการขึ้นทะเบียน ควรเริ่มวางแผนรับมืออย่างรอบคอบให้มากขึ้น มากกว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะหน้าอย่างฉาบฉวย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวหรือความรู้สึกภาคภูมิใจแบบชาตินิยมไทย เพียงเท่านั้น

เมืองศรีเทพที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของสังคมไทย จากการติดตามกระแสที่เกิดขึ้น จะพบว่าภายหลังการขึ้นทะเบียน กระแสการท่องเที่ยวได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยปราศจากมาตรการรองรับที่เหมาะสมเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และการวางผังโซนนิ่งในพื้นที่บริเวณโดยรอบแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงมาตรการในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการพื้นที่ในอนาคต

ซึ่งหากผู้เกี่ยวข้องไม่เร่งรีบวางแผนจัดการอย่างจริงจัง เมืองศรีเทพอาจเดินไปสู่ปัญหาในแบบที่เคยเกิดขึ้นกับแหล่งมรดกโลกหลายแห่งก่อนหน้านี้

 

นอกจากเมืองศรีเทพ โดยส่วนตัวคิดว่ายังมีกรณีน่าเป็นห่วงอีกหลายแห่งซึ่งกำลังรอเข้าคิวในการเสนอชื่อเข้าเป็นมรดกโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองเก่าในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหลายกรณีดูจะยังขาดการวางแผนในเชิงการบริหารจัดการที่ดีเพียงพอในการรับมือปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังการขึ้นทะเบียน หลายพื้นที่สนใจแต่การนำเสนอข้อมูลเชิงบวกของการได้เป็นมรดกโลก โดยละเลยผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้น

แม้แต่ในแวดวงวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรงในสังคมไทยก็ดูจะไม่ให้ความใส่ใจมากนักต่องานศึกษาผลกระทบด้านลบของการเป็นมรดกโลก แม้เป็นความจริงที่มีการพูดถึงประเด็นนี้ไม่น้อยในหมู่ผู้เชี่ยวชาญกันเอง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ออกมาในที่สาธารณะเท่าที่ควร หากจะมีอยู่บ้าง (ซึ่งไม่มากนัก) ส่วนใหญ่ก็เป็นนักวิชาการจากวงนอกที่มิได้เป็นคลุกคลีโดยตรงกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจพอสมควร

ดังนั้น ผมจึงอยากขอใช้พื้นที่สุดท้ายนี้ในการเรียกร้องไปยังผู้ที่คลุกคลีกับประเด็นมรดกโลกโดยตรงทั้งหลายนะครับว่า ขอให้ช่วยกันนำความรู้ในด้านที่เป็นผลกระทบเชิงลบของมรดกโลก (ซึ่งแทบทุกคนต่างรู้ดีมากกว่าผมหลายสิบเท่า) ออกมาเผยแพร่ให้มากขึ้น

เพื่อให้สังคมไทยเข้าใจถึงลักษณะ “ดาบสองคม” ของมรดกโลกอย่างถ่องแท้ ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจในการผลักดันมรดกโลกของภาครัฐและภาคประชาชนในอนาคตมีความยั่งยืนและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง