ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน
Instagram : @sueching
Facebook.com/JitsupaChin
AI เพื่อนคู่ใจคนใหม่ในชีวิต
ย้อนกลับไปแค่สักประมาณไม่เกิน 5 ปี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เคยเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้สึกไกลตัวและยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจ ทั้งที่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีนี้ได้ถูกควบรวมเอาไว้กับอุปกรณ์ต่างๆ รอบๆ ตัวเราที่อำนวยความสะดวกให้เราในทุกวันโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่านี่ก็นับเป็น AI ด้วยเหมือนกัน
จนกระทั่งการมาถึงของ Gen AI อย่าง ChatGPT หรือ Google Bard ที่เราสามารถสื่อสารและสั่งให้ AI สร้างสิ่งที่เราต้องการให้ได้ด้วยการใช้คำสั่งที่เป็นธรรมชาติ
จากที่เคยไกลตัว ตอนนี้ AI ก็อยู่ใกล้เราแบบที่ไม่ต้องเอื้อมก็สัมผัสได้แล้ว และมันก็ใช้งานแสนง่ายดาย จนมีคำกล่าวว่าถ้าคุณใช้ Google เป็น คุณก็ต้องใช้ AI เป็น
นอกจากจะใช้ง่ายแล้ว AI ประเภทนี้ก็ยังใช้ฟรีด้วย ChatGPT มีเวอร์ชั่นฟรีให้เราใช้งานได้เพียงแค่สร้างบัญชีการใช้งานขึ้นมา เช่นเดียวกับ Google Bard หรือ Microsoft Copilot หรือถ้าอยากใช้ ChatGPT เวอร์ชั่นอัพเกรดให้เก่งขึ้นมาหน่อยก็สามารถจ่ายค่าใช้งานรายเดือนได้
คนที่ยังไม่เคยลองใช้งานหรือเคยลองมาบ้างก็อาจจะยังมีคำถามว่าในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปทั้งเรื่องส่วนตัวและการทำงาน AI ช่วยอะไรเราได้บ้าง
ว่ากันว่า อะไรก็ได้ที่เรานึกออก AI ช่วยทำได้ทั้งหมด
เริ่มจากการทำงาน งานไหนที่เกี่ยวข้องกับการต้องอ่านข้อมูลที่เยอะเป็นภูเขาเลากา และยังต้องหาอีกว่าข้อมูลทั้งหมดมีความเชื่อมโยงเป็นรูปแบบอย่างไรบ้าง เราสามารถป้อนคำสั่งให้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทั้งชุดและจับใจความสำคัญมาให้เราได้
บางทีเราอาจจะได้เรียนรู้ข้อสรุปที่สำคัญบางอย่างที่เราจะไม่ได้รู้เลยหากเราอ่านข้อมูลนั้นเอง
งานของใครอาศัยการเขียน เช่น เขียนอธิบายผลิตภัณฑ์ เขียนโพสต์โซเชียลมีเดีย หรือเขียนสรุปอะไรสั้นๆ งานเขียนเหล่านี้มีแพตเทิร์นที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งหมด แทนที่จะเริ่มเขียนเองตั้งแต่ศูนย์ เราสามารถใส่ข้อมูลผลิตภัณฑ์เข้าไปเพื่อให้ AI เรียงร้อยถ้อยคำสวยๆ ออกมาให้เราไปปรับให้ตรงตามความต้องการได้
งานใครอาศัยการใช้ไอเดีย แต่ไอเดียตัน คิดอะไรไม่ออก เพียงใส่คีย์เวิร์ดเข้าไป มันก็จะพรั่งพรูไอเดียออกมาให้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ไอเดียที่สดใหม่ไม่มีใครซ้ำ แต่ก็อาจจะเพียงพอให้เราเอาไปคิดต่อได้
นอกจากเรื่องงานแล้ว เรื่องส่วนตัว AI ก็ยังช่วยจัดการให้มันง่ายขึ้น เป็นระเบียบได้มากขึ้น อย่างการช่วยจัดตารางกิจวัตรประจำวัน ไปจนถึงช่วยเพิ่มโอกาสในการหาคู่เดตออนไลน์ให้เราได้
การเขียนโปรไฟล์ของตัวเองให้สะท้อนความเป็นตัวเรามากที่สุดในขณะเดียวกันก็ดึงดูดให้คนอื่นๆ อ่านแล้วสนใจด้วยก็ไม่ใช่สิ่งที่เขียนได้ง่ายๆ จะเขียนอย่างไรให้ไม่ดูโอ้อวดมากเกินไป หรือดูไม่มีความมั่นใจเพียงพอ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่เราสามารถโยนให้ AI ได้
ลองพิมพ์บอก AI ไปประมาณว่า “อยากสร้างโปรไฟล์หาคู่เดตออนไลน์ ช่วยลิสต์มาให้หน่อยว่ามีรายละเอียดอะไรที่จะต้องใส่ลงไปบ้าง” แล้วก็เขียนตามโครงสร้างที่ AI ให้มา โปรไฟล์ของเราก็จะออกมาสวยกำลังดี ชวนให้คนอยากมาจับคู่ด้วย
อีกหนึ่งแง่มุมที่ฉันก็เพิ่งค้นพบว่า AI สามารถช่วยให้ไอเดียได้ ก็คือการแต่งบ้านนี่แหละค่ะ
ปกติแล้วเรามักจะหาไอเดียแต่งบ้านโดยการเข้าไปดูบนแพลตฟอร์มอย่าง Pinterest ที่รวบรวมภาพจำนวนมากเอาไว้ในรูปแบบของกระดานขนาดใหญ่ให้เราเลือกปักหมุดภาพที่ชอบได้ หรือบางคนก็อาจจะนึกถึงสไตล์ที่ตัวเองชอบ ใส่คำค้นลงไปใน Google แล้วก็นั่งเสิร์ชหาไปเรื่อยๆ
ฉันเข้าไปแฝงตัวอยู่ในกลุ่มคนชอบแต่งบ้านบน Facebook และได้เห็นว่าทุกวันจะมีคนถ่ายภาพมุมบางมุมในบ้านของตัวเองที่ต้องการการตกแต่งใหม่มาเขียนโพสต์เพื่อขอให้สมาชิกคนอื่นในกลุ่มช่วยกันระดมไอเดียว่าควรต้องตกแต่งแบบไหน แต่ละคนก็จะใช้ประสบการณ์หรือความชอบของตัวเองมาช่วยตอบกันอย่างกระตือรือร้น
สิ่งเดียวกันนี้ AI ก็สามารถทำได้เหมือนกัน ฉันลองอัพโหลดภาพห้องครัวที่ยังไม่ตกแต่ง มีพื้นไม้ ผนังอิฐ และเคาน์เตอร์ครัวโล่งๆ แล้วขอให้ Bard ช่วยให้ไอเดียตกแต่งห้องนี้ให้หน่อย โดยไม่จำเป็นต้องบอกมันด้วยซ้ำว่านี่คือห้องอะไร
สิ่งที่ Bard ตอบกลับมาก็คือ “ดูจากภาพที่คุณส่งมาแล้ว ต่อไปนี้คือไอเดียตกแต่งห้องครัวที่มีผนังเป็นอิฐ และพื้นไม้…” พร้อมกับสาธยายออกมาเป็นข้อๆ เช่น โทนสีห้องครัวห้องนี้เป็นโทนสีอบอุ่น ดังนั้น ต้องเลือกท็อปและตู้ที่ให้เฉดสีแบบเย็นเพื่อให้เกิดความสมดุล อาจจะลองเลือกสีขาว สีเทา หรือสีฟ้าและเขียวอ่อนๆ
ถ้าอยากได้ลุคแบบโมเดิร์นให้เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าสเตนเลสสตีล เพิ่มโคมไฟที่ห้อยลงมาจากเพดานไว้เหนือไอส์แลนด์ครัว เฟอร์นิเจอร์ขอแบบขาโลหะ และอย่าลืมเติมของตกแต่งอย่างพรม ต้นไม้ หรือภาพเขียน เข้าไปด้วย ฯลฯ
ได้เห็นแบบนี้แล้วก็ทำให้ฉันนึกสงสัยว่าตัวฉันเองใช้เวลาปีที่แล้วทั้งปีไปกับการหาเรฟเฟอเรนซ์แต่งบ้านจนตาแทบแตกทำไม ถ้าฉันได้ลองใช้ AI ช่วยระดมไอเดียตั้งแต่แรก ก็น่าจะประหยัดเวลาและแต่งออกมาได้ลงตัวมากกว่านี้
ปี 2024 เริ่มต้นมาด้วยการที่แบรนด์เทคโนโลยีอย่าง Samsung เปิดตัวซีรีส์สมาร์ตโฟน Galaxy S24 ที่มีจุดขายที่โดดเด่นคือการควบรวม AI เข้ามาอยู่ในเครื่อง มีฟีเจอร์ล้ำๆ อย่างการวงกลมสิ่งที่อยู่ในภาพที่ต้องการค้นหา การแปลภาษาแบบสดๆ ในระหว่างคุยโทรศัพท์หรือในระหว่างแชท สรุปเรื่องยาวๆ ที่เราไม่อยากอ่านให้เหลือแต่สาระสำคัญสั้นๆ หรือการปรับแต่งภาพที่ทำได้แม้กระทั่งการเติมภาพที่ขาดหายไปหรือตัดบางอย่างออกจากภาพได้อย่างแนบเนียน
ทั้งหมดนี้เป็นความสามารถที่ควบรวมเข้าไปกับฟังก์ชันของโทรศัพท์เลยแบบที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพ์อะไรมาเพิ่ม นับเป็นการเซ็ตโทนเลยว่านี่จะเป็นปีของโทรศัพท์ที่ฝัง AI มาด้วย ปีนี้ทั้งปีค่ายโทรศัพท์ก็น่าจะเบาแก๊สลงเรื่องการแข่งขันสเป๊กของกล้องและหน้าจอแล้วหันมาฟาดฟันกันที่ความสามารถของ AI แทน
ดังนั้น ปีนี้จึงจะเป็นปีที่สนุกและน่าตั้งตาคอยมากทีเดียว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022