พญารากดำ (2) สมุนไพรในกลุ่มวงศ์มะเกลือ

ทวนความตอนที่แล้ว กล่าวถึงสมุนไพรในเมืองไทยของเราที่มีชื่อเรียก “พญารากดำ” นั้นมีอยู่ด้วยกันไม่น้อยกว่า 4 ชนิด

เช่น พญารากดำหรือหญ้ารักนา (Ludwigia octovalvis (Jacq.) P.H.Raven) ซึ่งได้นำเสนอไปแล้ว

แต่ยังมีต้นพญารากดำที่อยู่งในวงศ์มะเกลืออีก 2 ชนิด คือ พญารากดำ ชนิด Diospyros variegata Kurz และพญารากดำหรือมะเกลือกา ชนิด Diospyros defectrix H.R.Fletcher) และพญารากดำหรือกระเจียน ชนิด Huberantha cerasoides (Roxb. ซึ่งอยู่ในวงศ์กระดังงา

ในครั้งนี้จึงชวนรู้จัก พญารากดำ ที่อยู่ในวงศ์มะเกลือทั้ง 2 ชนิด

 

พญารากดำ ชนิด Diospyros variegata Kurz มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น พญารากดำ (สุโขทัย) ดำดง ดงดำ น้ำจ้อย (ปราจีนบุรี) พลับดำ (กาญจนบุรี) มะเขือเถื่อน อีดำ (กำแพงเชร) ฝีหมอบ เป็นต้น

พญารากดำชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 14-25 เมตร พบตามป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางฝั่งตะวันตก ที่ระดับความสูง 100-600 เมตร บริเวณชายป่าดงดิบและใกล้ลำห้วยในป่าเบญจพรรณชื้นและโล่งแจ้ง ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,200 ม. พบตามป่าดิบ

เปลือกแตกเป็นแผ่นสะเก็ด สีดำ

ใบเดี่ยว เกลี้ยงหนารูปขอบขนาน เรียงสลับ ดอกแยกเพศอยู่ต่างดอกสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 4(5) กลีบ กลีบดอกรูปโถทรงสูง ปลายแยกเป็นแฉก ดอกเพศเมียขนาดใหญ่กว่า ออกเดี่ยวๆ

ผลกลมมีขนาด 3 เซนติเมตร แข็งปลายมีติ่งแหลม ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง แก่เกือบเกลี้ยง สุกสีแดง ขั้วผลมีแฉกกลีบเลี้ยงติดอยู่ ปลายพับกลับ

สรรพคุณทางสมุนไพร เช่น ใช้รากต้มดื่มแก้เหน็บชา รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ปวดเมื่อย แก้อ่อนเพลีย แก้ร้อนใน และช่วยเจริญอาหาร มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดที่ได้จากส่วนของลำต้นมีคุณสมบัติในการระงับอาการปวด ลดไข้และต้านอักเสบ

ในปี พ.ศ.2530 มีรายงานการวิจัยพบว่าตำรับยาที่ประกอบไปด้วย พญารากดำ (Diospyros variegata Kurz) ร่วมกับ หัวข้าวเย็นเหนือ (Smilax corbularia Kunth) หัวข้าวเย็นใต้ (Smilax china L.) เชือกเขาหนัง (Deguelia scandens Aubl.) ทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz) สัก (Tectona grandis L.f.) หัวร้อยรู (Hydnophytum formicarum Jack) และหญ้าเกล็ดปลา (Phyla nodiflora (L.) Greene)

สารสกัดจากยาตำรับนี้สามารถทำให้หนูที่เป็นเบาหวานมีน้ำตาลในเลือดลดลง มากกว่าร้อยละ 30 ภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากได้รับสารสกัดนี้

พญารากดำ อีกชนิดหนึ่งคือ Diospyros defectrix H.R.Fletcher พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่มีชื่อท้องถิ่นต่างกันไป เช่น ฮังฮ้อน (ภาคอีสาน) ขลาย (นครสวรรค์) ดำดง (ภาคตะวันตก) ไฟ มักเกือกา สล่างตัวผู้ (ภาคตะวันออก)และพบในประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ของจีน กัมพูชา และเวียดนาม

พญารากดำชนิดนี้เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 10 เมตร เปลือกสีดำ แตกเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงสลับ

ผลทรงรีถึงเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ผิวที่ผล เกือบเกลี้ยง ผลสุกสีเหลืองแกมส้มหรือแดง ก้านผลสั้นมาก

พบในป่าดิบแล้งและป่าละเมาะเขาหินปูน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 10-500 เมตร

ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลในเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน

ข้อมูลการใช้เป็นยาสมุนไพรของ พญารากดำ ชนิด Diospyros defectrix H.R.Fletcher นั้นพบว่าในประเทศไทยมีการนำมาใช้ไม่มาก ยกเว้นภาคอีสานพบว่ามีหมอยาพื้นบ้านจำนวนมากนำเอาพญารากดำชนิดนี้มาใช้ค่อนข้างมาก และเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ฮังฮ้อน” ถ้าเรียกเป็นสำเนียงแบบไทยๆ ก็คือ “รังร้อน” นั่นเอง แต่ก็พบว่าหมอยาพื้นบ้านในบางพื้นที่จะเรียกว่า “พญาไฟ”

ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานพบว่า หมอพื้นบ้านอีสานใช้เป็นยา 3 ราก ได้แก่ พญารากเดียว หรือปลาไหลเผือก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eurycoma longifolia Jack โลดทะนงแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib และ พญาไฟ หรือ พญารากดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros defectrix H.R.Fletcher ให้นำรากสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มาฝนน้ำสะอาดดื่ม ช่วยรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดได้

นอกจากนี้ ยังใช้แก้อาการเบื่อเมา และถอนพิษต่างๆ เช่น แก้ยาพิษ แก้เมาเบื่อเห็ด เบื่อหอย (คำว่าเบื่อในภาษาอีสานหมายถึงได้รับพิษจากการกิน) แก้พิษจากสารเคมีหรือยาฆ่าแมลง

 

หากจำแนกสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิด ตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านได้ระบุไว้ว่า พญารากดำ (พญาไฟ ฮังฮ้อน ฮางฮ้อน) เป็นยามีฤทธิ์ร้อน ทำให้อาเจียน ขับผายลม และระบายอุจจาระเป็นยาถ่าย

โลดทะนงแดง เป็นยาร้อน ใช้แก้พิษ เช่น พิษงู แก้สิวฝ้า ใช้ฝนกับน้ำซาวข้าว ทาภายนอก ถ้ากินมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน

ส่วน ปลาไหลเผือก (พญารากเดียว) เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ขมจัด มีสรรพคุณใช้ตัดไข้ทุกชนิด หมอยาพื้นบ้านใช้แก้ไข้มาลาเรีย แก้ลม แก้วัณโรค แก้เสมหะ แก้ฝีในท้อง

นอกจากนี้ พญารากดำหรือฮังฮ้อน เมื่อนำมาดองเหล้าร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ปิดปิวแดง (เจตมูลเพลิงแดง Plumbago indica L.) แก่นช้างน้าว (Ochna integerrima (Lour.) Merr.) คัดเค้า (Oxyceros horridus Lour.) ชายเด่น (กระเจียนหรือพญารากดำอีกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Huberantha cerasoides (Roxb.) Chaowasku) ประดง 32 (Phanera sirindhorniae (K.Larsen & S.S.Larsen) Mackinder & R.Clark) ฯลฯ เป็นสูตรยาพื้นบ้านใช้บำรุงกำลัง

พญารากดำทั้ง 2 ชนิดที่อยู่ในวงศ์มะเกลือนี้ มีศักยภาพตอบโจทย์สุขภาพได้มาก แต่จัดเป็นไม้หายาก หรือประชากรสมุนไพรนี้เหลือน้อย เราต้องเร่งช่วยกันอนุรักษ์และปลูกเพิ่มให้มากขึ้น •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org