‘แดนสาป’ : ‘หนังผี-สยองขวัญมุสลิม’ เรื่องแรกๆ ของไทยกับปัญหาชายแดนใต้

คนมองหนัง

“แดนสาป” (The Cursed Land) เป็นผลงานภาพยนตร์ของ “ภาณุ อารี” และ “ก้อง ฤทธิ์ดี” ที่กำลังจะเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลก ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์นี้ ในสาย “ฮาร์เบอร์” ซึ่งจัดฉาย “หนังร่วมสมัย” น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก

นี่คือหนังเล่าเรื่องขนาดยาวชิ้นแรกของผู้กำกับฯ คู่นี้ หลังจากพวกเขาเคยร่วมกันผลิตภาพยนตร์สารคดีที่มุ่งสำรวจชีวิตของคนมุสลิมในสังคมไทยมาแล้วสี่เรื่อง

ขณะเดียวกัน ทั้งภาณุและก้องก็ถือเป็นบุคลากรสำคัญในสายงานอื่นๆ ของวงการภาพยนตร์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

โดยภาณุมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในงานด้านการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ทั้งการซื้อหนังต่างประเทศเข้ามาฉายในเมืองไทย และการขายหนังไทยออกสู่ตลาดนานาชาติ

ส่วนก้องเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่สร้างชื่อจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เขามีผลงานตีพิมพ์ในสื่อต่างชาติหลายสำนัก และปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น รอง ผอ.หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

มองเผินๆ “แดนสาป” อาจเป็นแค่ “หนังผี-สยองขวัญ” อีกเรื่องจากไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกผลิตออกสู่สายตาชาวโลก โดยวางฐานอยู่บนเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูตผีวิญญาณ, นิทานปรัมปรา และตำนานพื้นบ้าน อันดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งในวัฒนธรรมท้องถิ่นของทุกประเทศ

แต่ในเชิงรายละเอียด “แดนสาป” จะเป็นผลงานที่ท้าทายคนดูชาวไทย ผ่านการเป็น “หนังไทย-มลายู” ซึ่งไม่ได้เล่าเรื่องผี-วิญญาณ-อำนาจเหนือธรรมชาติ ด้วยกรอบของจักรวาลวิทยาแบบพุทธที่หลายคนคุ้นชิน หากแต่อ้างอิงตนเองอยู่กับอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมในสังคมไทย

ผลงานของภาณุและก้อง นับเป็น “หนังผี-สยองขวัญไทย” เรื่องที่สอง ที่พยายามผูกโยงเรื่องราวเข้ากับวัฒนธรรมมุสลิม ถัดจาก “ของแขก” โดย “เกรียงไกร มณวิจิตร” ที่ออกฉายเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน

ทั้งนี้ “แดนสาป” และ “ของแขก” ยังเป็นหนังไทยจำนวนน้อยมากๆ ซึ่งยกทีมงานไปถ่ายทำกันที่จังหวัดนราธิวาส หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมและใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร

นี่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนมายาวนาน ก่อนที่เหตุการณ์ความไม่สงบจะถูกยกระดับให้รุนแรงขึ้นเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว

มุมหนึ่ง นราธิวาสเป็นดินแดนที่ไม่ค่อยมีที่ทางในโลกภาพยนตร์ไทย อีกมุมหนึ่ง จังหวัดแห่งนี้ก็มี “พรมแดน” ติดต่อกับรัฐกลันตัน ซึ่งเป็นรัฐที่มีความเป็นอนุรักษนิยมแบบอิสลามสูงที่สุดในประเทศมาเลเซีย

สองผู้กำกับฯ ของ “แดนสาป” ตัดสินใจเลือกใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ เพราะต้องการแสดงให้เห็นถึง “ความเป็นพรมแดน” ทั้งในแง่ “ภูมิประเทศ” และ “จิตวิญญาณ”

ยิ่งเมื่อนราธิวาสยังเป็นเมืองชายแดนที่ไม่ได้มีความทันสมัยมากมายนัก และถูกโอบล้อมไว้ด้วยผืนป่า ความพร่าเลือนระหว่างแนวคิดเรื่อง “พรมแดนสองแบบ” ก็ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้น

ภาณุกับก้องเป็นคนไทยมุสลิมที่เติบโตอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความรู้สึกว่าพวกตน “แตกต่างจากชาวมุสลิมในส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย”

ดังที่ภาณุบอกกับ “มาร์โก เฟร์ราเรเซ” แห่ง “เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” ว่าเขาและก้องอยากใช้หนังของตนเองเป็นเครื่องมือในการสำรวจตรวจสอบอัตลักษณ์เฉพาะของคนมุสลิมในไทย และพยายามท้าทายภาพลักษณ์ในวงกว้างที่ถูกสร้างขึ้นโดยสื่อนอกสังคมมุสลิม ที่มักตีตราเหมารวมความหลากหลายของคนไทยมุสลิมว่ามีลักษณะเหมือนๆ กันไปหมด

พวกเขาเลือกเล่าเรื่องราวของคนมุสลิมในไทยผ่านหนังตระกูลสยองขวัญ ด้วยสองเหตุผลหลัก

ข้อแรก คือ ทั้งคู่อยากทำหนัง “สยองขวัญอิสลาม” เป็นเรื่องแรกๆ ของไทย (ขณะที่หนังตระกูลนี้จากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง)

อีกทั้งภาณุเองก็เป็นแฟนของหนังแนวนี้ โดยเฉพาะหนังประเภท “บ้านผีสิง” อย่าง “The Conjuring” และ “The Omen”

“แดนสาป” บอกเล่าเรื่องราวที่ย้อนไปในทศวรรษ 2540 ของ “มิตร” (รับบทโดย “อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม”) ชายวัยกลางคนผู้มีปัญหาทางสภาวะจิตใจ หลังต้องสูญเสียภรรยา

ต่อมา มิตรพร้อมด้วยลูกสาววัยรุ่นชื่อ “เมย์” (รับบทโดย “เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ” แห่ง BNK48) และสุนัขอีกตัว ต้องย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านเช่าเก่าหลังหนึ่งย่านหนองจอก ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมชานเมืองกรุงเทพฯ

โดยหารู้ไม่ว่าบ้านหลังดังกล่าว มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์บาดแผลยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเชลยศึกจากปาตานีถูกกวาดต้อนเข้ามาใช้แรงงานในบางกอก

“นี่คือประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งที่ทั้งความผสมกลมกลืนและการต่อสู้ขัดขืน” ภาณุระบุ

ขณะเดียวกัน เมื่อเข้าไปอาศัยในบ้าน มิตรก็ดึงเอาผ้ายันต์ที่ติดอยู่แต่เดิมออก โดยไม่ฟังคำเตือนของเพื่อนบ้าน จนนำไปสู่การปลดปล่อยวิญญาณของ “ญิน” (“ปีศาจ” ตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม) ที่ดุร้ายและคำสาปแช่งที่มีอายุสองศตวรรษ

ครอบครัวของมิตรยังรู้สึกหวาดระแวงว่าพวกตนถูกติดตาม-เฝ้ามองโดย “ฮีม” (รับบทโดย “บรอนต์ พาลาแร” นักแสดงชาวชาวมาเลเซีย ผู้สร้างชื่อเสียงจากการร่วมแสดงภาพยนตร์สยองขวัญอินโดนีเซีย ผลงานการกำกับฯ ของ “โจโก อันวาร์”) ซึ่งชาวบ้านละแวกนั้น เล่าลือว่าเขาเคยอาศัยอยู่ทางชายแดนใต้ และเป็นพวกเล่นคุณไสยมนต์ดำแบบอิสลาม

(บรอนต์เป็นคนเชื้อสายปากีสถาน-มาเลย์-ไทย ซึ่งในวัยเด็กเคยใช้ภาษาไทยสื่อสารกับครอบครัวที่มาเลเซีย ก่อนจะได้รื้อฟื้นทักษณะนี้อีกครั้งระหว่างปี 1996-1999 ที่เขาเดินทางมาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี “แดนสาป” ถือเป็นผลงานหนังไทยและการแสดงที่ต้องใช้ภาษาไทยเรื่องแรกของเขา)

มิตรมีอาการป่วยไข้ทางจิตใจและทำร้ายตัวเองหนักขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งลูกสาวอย่างเมย์ตัดสินใจเดินทางไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหาทางช่วยเหลือพ่อของเธอ

ภาณุและก้องตั้งใจจะใช้ “บ้านผีสิง” ในหนัง เป็นอุปลักษณ์-ภาพแทนของประเทศที่เต็มไปด้วยภาวะตึงเครียดทางสังคมและการเมือง

“ที่เมืองไทย จะมีเรื่องเล่าคลาสสิคกลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับสังคมแถบชานเมืองหลวง เริ่มต้นด้วยการที่มีครอบครัวที่ไม่ใช่คนมุสลิม ย้ายมาอยู่อาศัยในบ้านหลังใหม่ ที่ก่อสร้างบนที่ดิน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ฝังศพของชาวมุสลิม

“แล้วพวกเขาก็จะประสบกับเหตุการณ์แปลกประหลาดเหนือธรรมชาติต่างๆ ในบ้านหลังนั้น ที่น่าสนใจที่สุด คือ คนกลุ่มแรกที่พวกเขาตามมาช่วยเหลือ มักเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ซึ่งก็จะแก้ไขสถานการณ์ไม่สำเร็จ ในที่สุด คนในบ้านต้องไปขอความช่วยเหลือจากอิหม่ามหรือผู้รู้ศาสนาอิสลาม ให้มาช่วยปราบวิญญาณที่ยังวนเวียนอยู่ในที่พัก

“เรื่องเล่าประเภทนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีทางที่คนไทย ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน” ภาณุเล่าให้เฟร์ราเรเซฟัง

นอกจากนั้น การที่ตัวละครเช่นมิตร ค่อยๆ ย้อนกลับไปเผชิญหน้าอดีตบาดแผลของตนเอง เพื่อสะสางปมปัญหาในจิตใจ ยังดำเนินเคียงคู่ไปกับปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรมลายู ที่รัฐไทยยังหาหนทางแก้ไขไม่ได้ ซึ่งปะทุขึ้น ณ ห้วงเวลาเดียวกัน

ภายหลังเปิดตัวที่ร็อตเตอร์ดัม “แดนสาป” มีแผนจะเดินทางไปฉายในอีกหลายเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ และวางโปรแกรมออกฉายที่เมืองไทยราวเดือนพฤษภาคมนี้ •

ข้อมูลจาก

https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3248603/how-cursed-land-new-horror-film-thai-muslim-culture-challenges-typical-media-portrayals-and-lays

https://iffr.com/en/iffr/2024/films/the-cursed-land

 

| คนมองหนัง