จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 26 ม.ค.-1 ก.พ. 2567

 

• คลุงถุงดำ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation-CrCF)

พูดคุยกับ นายสมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

เกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการคุลมถุงดำ นายปัญญา หรือ ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิต น.ส.บัวผัน หรือ ‘ป้ากบ’ ตามที่เป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้

ซึ่งนายสมชายชี้ว่า ตำรวจไม่มีอำนาจคลุมถุงดำ ขณะสอบปากคำ ‘ลุงเปี๊ยก’

เพราะผิดกฎหมายทรมาน-อุ้มหาย มาตรา 6

อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำโหดร้ายไร้มนุษยธรรม-ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิด ม.157

เนื่องจากตำรวจไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างการจับกุม ด้วยกล้อง Boday Cam ตามมาตรา 22 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ ‘พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย’

ที่ตำรวจอ้างว่าเป็นการเชิญตัวและผู้ต้องสงสัยยินดีที่จะมอบตัว

รวมถึงมีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นเสียงของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีความคุยกันว่า มีการนำถุงดำคลุมหัว ‘นายเปี๊ยก’ ในห้องสอบปากคำ โดยคุยกันในลักษณะที่ว่าเป็นการทำเล่นๆ

ไม่ได้มัดหรือทำให้หายใจไม่สะดวกนั้น

นายสมชายกล่าวว่า แม้ตำรวจอ้างว่าเชิญตัว แต่ก็ถือว่าเป็นการควบคุมตัวแล้ว

จึงต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลา

และระหว่างการสอบปากคำต้องมีการบันทึกภาพและเสียงด้วยจนสิ้นสุดตามกฎหมาย

ส่วนการคลุมถุงดำ แม้จะอ้างว่ากระทำเล่นๆ

แต่อยากจะถามว่า ‘ลุงเปี๊ยก’ เป็นเพื่อนเล่นของตำรวจหรือไม่

ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

และน่าจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ส่วนกรณีที่มีประเด็นอ้างว่า ตำรวจถอดเสื้อ ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ต้องสงสัยระหว่างอยู่ในห้องสอบปากคำให้อยู่ในที่แอร์เย็นนั้น

ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีเช่นกัน

จึงวอน ผบ.ตร. ลงโทษหนักต่อตำรวจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

การทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ถูกห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บ่อนทำลายขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม

ไม่มีเหตุผลหรือกรณีใดๆ ที่สามารถรับรองความชอบธรรมของการทรมานได้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

ความตายของ “ป้าบัวผัน”

และชะตากรรมของลุงเปี๊ยก

ซึ่งแม้เป็นคนอยู่ในระดับรากหญ้า

แต่โชคดีในความโชคร้าย

ที่เรื่องนี้แตกโพละออกมา

มิฉะนั้น คงมีเรื่อง “ดำมืด” เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

โดยเฉพาะกับคนไร้สิทธิไร้เสียง

ที่เป็นเหยื่อทั้งจากแก๊ง (เยาวชน) อันธพาล

และจากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

• ไทย-สหรัฐ

ในโอกาสครบรอบ 190 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดนิทรรศการ “Weaving Our Stories : สานสัมพันธ์การทูตสหรัฐ-ไทย 190 ปี”

ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของปีแห่งการเฉลิมฉลองสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 โดยมีเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค และภริยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

ตลอดปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยและอนาคตที่สดใสของความสัมพันธ์สหรัฐ-ไทยผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นย้ำสายสัมพันธ์ที่ยืนนานและการเดินทางร่วมกัน

หัวใจสำคัญของการเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นตลอดทั้งปีคือ ผลงานศิลปะจัดวาง “Time Owes Us Remembrance กาลเวลา•คืนค่า•หวนรำลึก” โดยคุณอแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ ศิลปินชาวไทย-อเมริกัน ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายแขนง

นิทรรศการนี้จัดขึ้นที่หอศิลปกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 25 มิถุนายน 2567 โดยนำเสนอผลงานของศิลปินซึ่งถักทอผ้าจากวัฒนธรรมอเมริกันและไทยเข้าด้วยกันอย่างวิจิตรตระการตา

ซึ่งสะท้อนอดีตและฉายภาพอนาคตความสัมพันธ์ของสองชาติ

ผลงานดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือและการสนทนากันระหว่างคนทั้งสองชาติ และสะท้อนความสัมพันธ์อันแนบแน่นของชาวไทยและชาวอเมริกัน

ตลอดจนนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชน เครือญาติ ธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลงานของสตรี

นิทรรศการนี้เริ่มต้นด้วยพิธีเปิด ศิลป์เสวนา และเวิร์กช็อปในระหว่าง “สัปดาห์แห่งการถักทอ” ตั้งแต่วันที่ 16-21 มกราคม 2567 หลังจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐจะจัดกิจกรรมเสวนา “ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” เป็นประจำทุกเดือนตลอดช่วงที่จัดนิทรรศการ โดยมีหัวข้อเสวนาเกี่ยวกับศิลปะในฐานะเครื่องมืออันทรงพลังในการพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้า

ขอขอบคุณผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการต่อไปนี้

– เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไทยเบฟเวอเรจ เชฟรอน กูเกิล (ประเทศไทย) อินโดรามา เวนเจอร์ส บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส ดาว (ประเทศไทย) ปูนซิเมนต์ไทย แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) ไฟเซอร์ (ประเทศไทย)

แผนกสื่อมวลชน

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

 

ภูมิรัฐศาสตร์โลก

ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมหาอำนาจโลก

ไม่ว่าสหรัฐ จีน รัสเซีย

ล้วนต้องเอาใจใส่

รวมถึง 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต

ระหว่างสหรัฐกับไทยนี้ด้วย •