ยึดสนามบิน อย่าได้เอาเป็นตัวอย่าง ยึดสนามบิน 5 แห่ง เพื่อเปลี่ยนรัฐบาล

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

มีคนเข้าใจว่ามีการยึดสนามบินเพียง 2 แห่ง ในปี 2551แต่ข้อเท็จจริงถูกยึดถึง 5 แห่ง คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ หาดใหญ่ กระบี่ และภูเก็ต

29 สิงหาคม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยึดสนามบินหาดใหญ่ ภูเก็ต และกระบี่

24 พฤศจิกายน 17.45 น. กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินดอนเมือง

15.00-24.00 น. กลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนเข้าไปยึดสนามบินสุวรรณภูมิ

27 พฤศจิกายน มีกระแสข่าวปลด อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก

และกระแสข่าวการรัฐประหาร แต่โฆษกกองทัพบก แถลงยืนยันว่าไม่มีการเคลื่อนกำลังเพื่อรัฐประหาร

2 ธันวาคม ไม่มีรัฐประหาร กลายเป็นตุลาการภิวัฒน์ มีการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี

3 ธันวาคม 10.00 น. กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุม

จากนั้นเปลี่ยนรัฐบาลเป็นประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ผลกระทบโดยรวม นักวิชาการทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน และการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ว่ากระทบด้านส่งออก 10,000-24,000 ล้านบาท ด้านท่องเที่ยว 42,000-75,000 ล้านบาท และกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ 73,000-130,000 ล้านบาท

 

การดำเนินคดีอาญายืดเยื้อ 10 กว่าปี
คิดว่าโทษหนักมาก
สุดท้ายปรับคนละ 20,000 ไม่มีใครติดคุก

คดียึดสนามบินเป็นไปอย่างล่าช้ามาก พนักงานอัยการใช้เวลาทำคดี 4 ปี 5 เดือน เลื่อนฟ้องถึง 18 ครั้ง และส่งฟ้องในที่สุดในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2556

แต่คดีแพ่งจบก่อนกันยายน พ.ศ.2560 ส่งผลให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชดใช้ค่าเสียหาย 522,160,947.31 บาท

17 มกราคม 2567 ศาลอาญาพิพากษาคดีที่อัยการฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพวกรวม 32 คน ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นกบฏ-ก่อการร้าย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2551

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดคือความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พิพากษาให้ลงโทษปรับคนละ 20,000 บาท

ส่วนข้อหาอื่น พยานและหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่เหลือศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด

 

เห็นบทลงโทษแบบนี้
ไม่ควรนำไปเป็นตัวอย่าง

การยึดสนามบินไม่ว่า ณ ที่ใดๆ ในโลกนี้ส่วนใหญ่จะมีจุดมุ่งหมายทางการทหาร ไม่ว่าความขัดแย้งภายในหรือระหว่างประเทศก็มีกฎเกณฑ์ในการโต้ตอบและโจมตีกัน บริการสาธารณะ จึงเป็นข้อห้ามเบื้องต้น ที่ผู้นำทุกฝ่ายจะต้องตระหนัก เช่น รถขนส่งมวลชน โรงพยาบาล ระบบน้ำประปา ระบบไฟฟ้า สนามบิน

การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมหรือยึดทำเนียบรัฐบาลก็มีในหลายประเทศเป็นเรื่องปกติ แต่เราจะไม่เคยพบว่าผู้ชุมนุมประท้วงไปยึดสนามบินซึ่งทั้งคนในประเทศนั้นและคนต่างประเทศทั่วโลกที่เดินทางไม่ได้รู้เรื่องราวอะไรและต้องเดือดร้อน

การกระทำแบบนี้ได้สะท้อนถึงจิตสำนึกและการพัฒนาความรู้ทางการเมืองและวัฒนธรรมของกลุ่มผู้นำในประเทศนั้นๆ

กฎเกณฑ์และบทลงโทษที่ออกมาในการควบคุมสนามบินมีจุดประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อป้องกันการก่อการร้าย เพราะในทางสงครามใช้กฎหมายป้องกันไม่ได้อยู่แล้ว

ดังนั้น ถ้าผู้ยึดสนามบินไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับสงครามและการก่อการร้ายจึงไม่ควรกำหนดแผนนี้ไว้ในแผนทางการเมือง คนรุ่นหลังที่มีความขัดแย้งกันขอให้มีสำนึกในเรื่องนี้บทลงโทษไม่ว่าจะเบาหรือแรงก็ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะมันจะสะท้อนถึงความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

 

ความยุติธรรมแปรเปลี่ยนไป
ตามอำนาจทางการเมืองและสถานการณ์

กระบวนการยุติธรรมในไทยขึ้นอยู่กับหลายองค์กร มิใช่เพียงตำรวจ อัยการ ศาล แต่ยังมีองค์กรอิสระ รัฐบาล สภา สื่อมวลชน และอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ

แสงแห่งความยุติธรรมจะส่องผ่านองค์กรเหล่านี้ได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับบุคลากรในองค์กรจะฟังใคร ดูบทเรียนจากตัวอย่าง

คดีนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวอย่าง โดนเข้าไปไม่รู้กี่คดี ถ้าไม่ลี้ภัยไปต่างประเทศก็ต้องติดคุก แถมยังถูกยึดเงินไปอีก 40,000 กว่าล้าน วันนั้นคนที่สนับสนุนนายกฯ ทักษิณบอกว่าไม่ควรติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่วันนี้เมื่อทักษิณกลับมา บางกลุ่มที่เคยสนับสนุนก็บอกว่ายังไงก็ต้องติดคุกตามคำพิพากษา

คดีของนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งเพราะทำกับข้าวออกทีวี

คดีของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกถอดจากตำแหน่งเพราะไปย้ายเลขาฯ สมช.

คดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เพราะถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นสื่อและการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกกล่าวหาว่าการให้กู้เงิน 200 ล้านแก่พรรคเหมือนกับการบริจาคที่มากเกินกฎหมายกำหนด

ที่ต้องตามดูกันก็คือการตัดสินคดีที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขมาตรา 112 ว่าจะมีความผิดข้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่?

ปี 2553 การชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงถูกปราบจนมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยและบาดเจ็บเป็นพัน แต่การชุมนุมของ กปปส.ในปี 2557 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้คุ้มครองการชุมนุม 9 ข้อ เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถสลายการชุมนุมและควบคุมอะไรได้ การชุมนุมมีต่อไปจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 จึงได้สลายตัว พอถึงปี 2558 จึงมีกฎหมายการชุมนุมเกิดขึ้น

ดังนั้น ถ้ามีการชุมนุมและคิดจะไปปิดสนามบินบ้าง ต้องบอกว่า…ไม่ใช่แฟน เลียนแบบไม่ได้ เพราะอาจถูกล้อมปราบ หรือโดนกฎหมายเล่นงานอย่างหนัก เพราะกฎหมายปี 2558 เขียนว่า…

ผู้ใดฝ่าฝืนคําสั่งห้ามชุมนุมหรือจัดการชุมนุมระหว่างมีคําสั่งห้ามชุมนุม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ถ้าทําให้ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบการสื่อสารหรือโทรคมนาคม ระบบผลิตหรือส่งกระแสไฟฟ้าหรือประปา หรือระบบสาธารณูปโภคอื่นใดใช้การไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราว หรือถาวร ผู้จัดการชุมนุมต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ผู้ปกครองต้องให้คำแนะนำเยาวชนว่าสิ่งที่เห็นและปรากฏขึ้นจริง แม้ไม่ใช่การแสดง แต่จะยึดถือเป็นมาตรฐานไม่ได้ ที่นี่ไม่มีนิติรัฐ