หาก ‘เวียงอาลัมพางค์’ มิใช่บริเวณ ‘พระธาตุลำปางหลวง’ แล้วไซร้? (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ดิฉันยังไม่ได้นำเสนออีก 2 เหตุผลหลักที่ทำให้ อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย ปักใจเชื่อว่า “เวียงอาลัมพางค์” ที่แท้จริง ตั้งอยู่แถวทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ “เวียงเขลางค์” นั่นคือ

เหตุผลข้อแรก เวียงอาลัมพางค์ ควรตั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางของสองพระเจดีย์องค์สำคัญจะเหมาะกว่าไหม กล่าวคือ เวียงอาลัมพางค์ไม่ควรตั้งอยู่ในบริเวณพระธาตุองค์ใดองค์หนึ่ง

เหตุผลข้อที่สอง ตำนานพื้นถิ่นของทางลำปางและเมืองลองระบุว่า พระพุทธปฏิมากรองค์สำคัญที่เจ้าอนันตยศได้รับมอบจากพระนางจามเทวีผู้เป็นพระราชมารดา ได้แก่ พระสิขีปฏิมาศิลาดำนั้น เจ้าอนันตยศได้นำไปประดิษฐานไว้ที่ “เสตกุฎาคาร/เศวตกุฎาราม” แห่งเวียงอาลัมพางค์

ซึ่งบริเวณดังกล่าวก็คือ จุดที่ปัจจุบันเป็น “กู่ขาว” ใกล้เวียงเขลางค์นั่นเอง หาใช่บริเวณพระธาตุลำปางหลวงไม่ เรามาดูรายละเอียดกันทีละประเด็น

ช่องประตูที่ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่มาก กับกองหินโบราณหลายแท่งวางระเกะระกะ ณ วัดพระเจ้าทันใจ จุดที่อาจารย์ศักดิ์เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของเวียงอาลัมพางค์

วัดพระเจ้าทันใจมีแท่นบูชาพระธาตุ 2 แท่น

ไหว้พระธาตุเสด็จ และพระธาตุลำปางหลวง

อาจารย์มงคล ถูกนึก กล่าวไว้ในเวทีเสวนา “เชิดชูปูชนียาจารย์ อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย” ที่ห้องประชุมลำปางมิวเซียม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ว่า

ณ ลานประทักษิณล้อมพระเจดีย์ที่วัดพระเจ้าทันใจ (จุดที่อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย เชื่อว่าเป็นเวียงอาลัมพางค์) นั้น ท่านเจ้าอาวาสและคนในชุมชนเล่าให้อาจารย์มงคลฟังว่า

“แท่นบูชา 2 แท่นที่ทำด้วยศิลาแลงนี้ เป็นของเก่าแก่อยู่คู่มากับวัด มีมาก่อนที่จะบูรณะตัวพระเจดีย์ แท่นหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลานประทักษิณ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา คนที่นี่จะใช้วางสรวยดอก (กรวยดอกไม้) เพื่อบูชาพระธาตุเสด็จ ส่วนอีกแท่นหนึ่งนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแท่นสำหรับวางสรวยดอกเพื่อบูชาองค์พระธาตุลำปางหลวง โดยมีคำกล่าวบูชาพระธาตุทั้งสององค์ ปักติดไว้ที่แท่นทั้งสองด้วย”

ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า พระธาตุเสด็จกับพระธาตุลำปางหลวง ถือเป็นพระธาตุแฝด หรือพระธาตุพี่น้องกัน มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อดีตบูรพกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครทุกพระองค์ ต้องกราบพระธาตุสององค์นี้คู่กันเสมอ

ดังเช่น กรณีของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีก็ดี พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางจากสยามเมื่อมาตรวจราชการมณฑลพายัพก็ดี เมื่อไหว้พระธาตุองค์หนึ่งเสร็จ ก็ต้องไปไหว้พระธาตุอีกองค์หนึ่งด้วยทุกครั้ง

ฉะนี้แล้ว ที่ตั้งของ “เวียงอาลัมพางค์” (ตรงจุดที่มีแท่นดอกไม้สองทิศ ในวัดพระเจ้าทันใจ) ควรอยู่กึ่งกลางระหว่างพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองทั้งสององค์ เหมาะสมหรือไม่

หากใครเชื่อว่า เวียงอาลัมพางค์คือบริเวณพระธาตุลำปางหลวง ก็เท่ากับว่าเวียงอาลัมพางค์กับพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองสร้างทับที่กัน และควรตั้งคำถามว่าไยเวียงอาลัมพางค์หาได้อยู่กึ่งกลางระหว่างสองพระธาตุองค์สำคัญเหนือ-ใต้ ไม่?

เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องฝากไว้ให้ขบคิด

แท่นหินสำหรับวางสรวยดอกเพื่อบูชาพระธาตุเสด็จ ณ ลานประทักษิณวัดพระเจ้าทันใจ ตั้งหันไปทางทิศเหนือ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุเสด็จ

พระสิกขีปฏิมาศิลาดำควรประดิษฐานที่ไหน

ดิฉันเคยเขียนถึงเรื่องความสับสนของ พระสิขีปฏิมาศิลาดำ ยาวถึง 7-8 ตอนเมื่อหลายปีก่อน ในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งคำถามว่า พุทธลักษณะของพระสิขีปฏิมาศิลาดำ ควรมีหน้าตาประมาณไหน ควรเป็นศิลปะแบบใด ปาละ ทวารวดี หรือพุกาม?

คำว่า “สิขี” หรือ “สิกขี” ที่สามารถแปลว่าเทริดขนนก สามารถแผลงเป็นความหมายอื่นได้อีกบ้างไหม หากพระพุทธรูปสวมเทริด (อ่าน เซิด ไม่ใช่ เท-ริด) พระวรกายต้องทรงเครื่องด้วยหรือไม่ อีกทั้งขนาด สัดส่วน ฐานกว้าง ความสูง จะมากจะน้อยเพียงไร

เหตุที่มีข้อสงสัย เนื่องจากพระพุทธรูปองค์สำคัญนี้ สูญหายไปแล้วตามบันทึกหลักฐานที่กล่าวว่า พระรามาธิบดีที่ 2 กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมาตีเขลางค์แล้วนำพระสิขีปฏิมาศิลาดำลงไป ทว่า ระหว่างนั่งเรือนั้นได้พลัดตกน้ำ บ้างว่าถูกปล้นกลางแรมไพร ทำให้เราไม่อาจทราบรูปร่างหน้าตาของพระสิขีปฏิมาได้เลย ทราบเพียงแค่ว่าใช้วัสดุ “หินดำ”

ซากดินกี่วัดร้างกู่ขาว อยู่ใกล้กับวัดพระเจ้าทันใจด้านทิศตะวันออก โบราณสถานแห่งนี้ถูกขุดคุ้ยกระจุยกระจาย เหลือแต่กองอิฐกระจายเป็นหย่อมๆ และครั้งหนึ่งเคยถูกเอกชนยึดครองเอาเอกสารสิทธิ์ไปใช้ประกอบธุรกรรมพาณิชย์

แม้ดิฉันจะเขียนเรื่องพระสิขีปฏิมาศิลาดำหลายชิ้น แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่ง ที่ดิฉันยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด นั่นคือประเด็นเรื่อง “ที่ตั้งของพระสิกขี” ว่าควรประดิษฐานอยู่ ณ แห่งหนใด

ครั้งหนึ่งราวสองทศวรรษก่อน เคยมีผู้เข้าใจผิด (แบบกระแสหลัก) ว่าองค์พระพุทธรูปศิลานาคปรกในวิหารด้านทิศตะวันตกของวัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น คือพระสิขีปฏิมาศิลาดำ ด้วยเหตุที่เห็นว่าทำด้วยหิน ครั้นนักวิชาการพิเคราะห์พุทธลักษณะของพระนาคปรกอย่างละเอียดลออแล้ว กลับกำหนดอายุได้ว่าเก่าไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากสมัยพระนางจามเทวี-เจ้าอนันตยศ มากถึง 5 ศตวรรษ

เมื่อประเด็นที่ว่า พระหินนาคปรกที่วัดพระธาตุลำปางหลวงตกไป นักวิชาการก็เริ่มหันมาตั้งคำถามกันมากขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว พระสิขีปฏิมาศิลาดำองค์จริงควรตั้งอยู่ที่ไหนล่ะหรือ?

อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย ฟันธงเปรี้ยงนานหลายทศวรรษแล้วว่า บริเวณวัดร้างกู่ขาวนี่เอง เมื่อแปลเป็นภาษาบาลีจะตรงกับคำว่า เสตกุฎาคาร น่าจะเคยเป็นที่ประทับของพระสิขีปฏิมาศิลาดำมาก่อน

อย่างไรก็ดี ดิฉันเคยถามอาจารย์ศักดิ์ว่า อ้าว! ทำไมจึงเอา พระหินดำ ไปไว้ใน “กู่ขาว” ทำไมกู่ที่มีชื่อว่า เสตกุฎาคาร แห่งนี้ จึงไม่รองรับพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) เสียเลยเล่า ในเมื่อชื่อของมันเกี่ยวข้องกับ พระพุทธรูปสีขาวมากกว่า

ฤๅคำว่า เสตกุฎาคาร นี้ที่แท้แล้วไม่ได้ระบุเจาะจงว่าต้องประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สีอะไร แต่ว่าตัวมณฑปหรือโขงพระเจ้านั้นต่างหากเล่าที่ทาสีขาว?

นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ดิฉันมีข้อสงสัยส่วนตัว ว่าทำไมจึงเอา เสตกุฎาคาร ไปรองรับพระสิขีปฏิมาศิลาดำ เป็นไปได้ไหมว่า การสร้างเสตกุฎาคารนี้ ก็เพื่อให้เป็นมณฑปโขงพระเจ้าคู่กันระหว่าง พระแก้วขาวเสตังคมณี ที่พระนางจามเทวีมอบให้โอรสแฝดพี่ เจ้ามหันตยศ (คือบริเวณที่เป็นหอกังดาลหลวงในวัดพระธาตุหริภุญชัย ในปัจจุบัน) กับอีกองค์คือพระสิขีปฏิมาศิลาดำ ที่มอบให้โอรสแฝดน้อง เจ้าอนันตยศ

ป้ายคำบรรยายเป็นแผ่นคอนกรีตปักอยู่ทางเข้าไปยังซากโบราณสถานวัดร้างกู่ขาว กล่าวถึงว่าบริเวณนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของพระสิขีปฏิมาศิลาดำ

เวียงอาลัมพางค์ vs ลัมภกัปปนคร

ไฉนจึงตั้งชื่อให้คล้ายกัน

มาถึงประเด็นสุดท้ายที่ดิฉันทิ้งคำถามค้างไว้ตั้งแต่ตอนแรก ว่าหากบริเวณพระธาตุลำปางหลวง มิใช่เวียงอาลัมพางค์แล้วไซร้ ไฉนจึงมีชื่อว่า “ลำปาง” หรือ “ลัมพางค์/ลำพาง” ดุจเดียวกัน?

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับตำนานพระธาตุลำปางหลวงกันสักนิด ตำนานเรื่องนี้กล่าวว่า บริเวณที่ตั้งพระธาตุลำปางหลวงนั้น พระโสณะกับพระอุตตระ สมณทูตสองรูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียส่งมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ย้อนกลับไปในอดีตว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมา ณ ดินแดนที่ชื่อว่าหมู่บ้าน “ลัมภกัปปนคร” แห่งนี้

“ลัมภกัปปนคร” อ่านว่า ลำ-พะ-กับ-ปะ-นคร ชื่อนี้ไม่ได้มีเฉพาะในตำนานพระธาตุลำปางหลวงเท่านั้น หากยังคงใช้เรียกขานกันเรื่อยมา อย่างน้อยสมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อ พ.ศ.2339 ยังคงเรียกเมืองนี้ว่า “ลัมพะกะบุรี” กันอยู่ ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 78 (เลขทะเบียนยุคหลังใช้รหัสว่า ลป.5) ติดตั้งอยู่บนวิหารพระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุลำปางหลวง

ชื่อ ลัมภกัปปะ แปลว่าอะไร ยังไม่มีนักวิชาการท่านใดอธิบายความหมายไว้แน่ชัดนัก

มาตรแม้นว่าตำนานเกี่ยวกับพระธาตุองค์สำคัญซึ่งตั้งอยู่ในเมืองที่ชื่อว่า “ลัมภกัปปนคร” มีนัยยะที่เป็นเรื่องจริงอยู่บ้าง (กล่าวคือ ค่อนข้างเก่า มีมาก่อนการเสด็จมาของพระนางจามเทวี) ก็ย่อมแสดงว่า ชื่อ “ลัมภกัปปะ” นี้ ควรมีมาก่อนชื่อ “อาลัมพางค์” แล้ว

เหตุที่สองแม่ลูก พระนางจามเทวี-เจ้าอนันตยศ ได้เดินทางมานมัสการพระธาตุที่เมืองลัมภกัปปะ ในช่วงที่กำลังก่อสร้างนครเขลางค์ การเดินทางมานมัสการพระธาตุ (ลำปางหลวง) นี้ ย่อมเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ช่วยตอกย้ำว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่เวียงอาลัมพางค์จะไปสร้างทับที่เวียงศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุโบราณ

ส่วนการที่ชื่อ “อาลัมพางค์” กับ “ลัมภกัปปะ” คล้ายคลึงกันนั้น อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย เคยนำเสนอในที่ประชุมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน เมื่อปี 2548 ว่า

“เป็นไปได้ว่า หลังจากที่สองแม่ลูกมานมัสการพระธาตุลัมภกัปปะแล้ว น่าจะบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้น้อมนำชื่อขององค์พระธาตุนี้ไปตั้งชื่อเมืองที่เจ้าอนันตยศเตรียมจะสร้างขึ้นใหม่ถวายแด่เสด็จแม่ ทำให้เมืองของพระนางจามเทวีที่ชื่อ ‘อาลัมพางค์’ จึงไปพ้องกับ ‘ลัมภกัปปะ’ อย่างไรก็ดี ผมยังคงยืนยันว่า ที่ตั้งอาลัมพางค์ต้องไม่ทับที่เวียงพระธาตุโบราณที่มีมาก่อนแล้ว อาลัมพางค์ต้องอยู่อีกที่หนึ่ง นั่นก็คือทางทิศตะวันตกของเขลางค์ ออกไปทางช่องประตูตาล ด้วยเหตุและผลทั้งหมดทั้งมวลที่ผมเคยเสนอมาตั้งแต่ปี 2512 แล้ว”

ทฤษฎีเรื่อง “เวียงอาลัมพางค์” ไม่ได้อยู่ที่บริเวณพระธาตุลำปางหลวง ของอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย จะผิดหรือถูกนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญไปกว่าการที่ หลังจากอาจารย์ศักดิ์ได้เสนอทฤษฎีนี้แล้ว ทำให้เกิดการตื่นตัวในด้านการอนุรักษ์ซากโบราณสถานร้างกู่ขาวอย่างเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งครั้งหนึ่งเกือบจะกลายเป็นโฉนดของเอกชนไปเสียแล้วด้วยถูกบุกรุกทำลายและยึดครองมาช้านาน •

แท่งหินก้อนมหึมา ปลายตัดเป็นรูปลิ่มคล้ายใบสีมา หรือแท่งศิลาจารึก ประเมินแล้วว่าเก่าถึงยุคหริภุญไชยไม่ใช่ยุคล้านนา ตั้งอยู่ในกลุ่มซากอิฐ-หิน แถวประตูทางเข้าวัดพระเจ้าทันใจ

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ