อีกด้านของมรดกโลก (2) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลกจากการที่เมืองนั้นๆ มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คือ ผลกระทบด้านลบจากการทะลักล้นของนักท่องเที่ยวจนส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยที่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอย่างก้าวกระโดดที่หลายกรณีได้ย้อนกลับมาทำลายคุณค่าที่แท้จริงของมรดกโลกในที่สุด

ปัญหานี้ภาครัฐและผู้มีอำนาจมักไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก เพราะการเติบโตของตัวเลข GDP ที่มาจากการท่องเที่ยวของแทบทุกเมืองภายหลังการได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมักพุ่งทะยานขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หลายเมืองรายได้จากการท่องเที่ยว (ที่เกี่ยวโยงกับการเป็นมรดโลก) คือรายได้หลักของเมืองในปัจจุบัน

ดังนั้น หากมองเฉพาะเปลือกผิวภายนอก มรดกโลกนอกจากจะทำให้เกิดการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สังคมตระหนักถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของมรดกทางวัฒนธรรมที่ตนเองมีมากขึ้น ยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ทุกอย่างดูสวยงามและเป็นประโยชน์อย่างหาที่สุดมิได้

นักท่องเที่ยวที่ล้นเกินในเมืองฮอยอัน
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ VINLOVE

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ภายใต้งานศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมากจากหลายแหล่งมรดกโลก กลับพบว่ามรดกโลกได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของผู้คนและชุมชนอย่างมหาศาลที่เป็นไปในเชิงลบ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ไหลไปกองรวมอยู่ในกระเป๋าของนายทุนทั้งรายใหญ่หลายย่อย (ส่วนใหญ่เป็นคนภายนอกพื้นที่อีกด้วย) มีเพียงเศษเงินเล็กน้อยเท่านั้นที่กระเด็นเข้าสู่มือคนในท้องถิ่นที่แท้จริง

กรณีที่สุดโต่งยิ่งไปกว่านั้น มรดกโลกได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Tourism Gentrification ซึ่งทำให้ผู้คนและชุมชนที่เคยอยู่อาศัยเดิม (ที่หลายกรณีเป็นส่วนสำคัญแท้จริงของการได้มาซึ่งมรดกโลก) ต้องถูกบังคับย้ายออกจากพื้นที่

และในไม่ช้าพื้นที่ก็เริ่มสูญเสียคุณค่าแท้จริงทางวัฒนธรรมที่เกิดจากผู้คน (ที่ไม่ใช่เพียงคุณค่าทางกายภาพของสิ่งปลูกสร้างอันเก่าแก่สวยงาม) เมืองค่อยๆ ถูกแช่แข็งพร้อมๆ กับการสร้างองค์ประกอบเมืองบางอย่างขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นภาพมรดกทางวัฒนธรรมในอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง

ภาพเขียน “Little Children on a Bicycle” ภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งบนผนังตึกในเมืองจอร์จทาวน์
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ wtjournal

ฮอยอัน (Hội An) เมืองขนาดเล็กริมฝั่งทะเลจีนใต้ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม คือ กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนของเมืองที่ได้รับผลกระทบด้านลบภายหลังจากการเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ.2542

ฮอยอันก็เหมือนกับเมืองทุกเมืองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนะครับที่จะถูกแบ่งพื้นที่หลักๆ ออกเป็น 2 ส่วนคือพื้นที่ core zone ที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นพื้นที่คุณค่าหลักที่ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียน และพื้นที่ buffer zone ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่กันชนสำหรับปกป้องไม่ให้เกิดการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าทั้งหลายที่อยู่ในพื้นที่ core zone

จากงานศึกษาของ Thomas E. Jones, Huong T. Bui และ Katsuhiro Ando เรื่อง “Zoning for world heritage sites: dual dilemmas in development and demographics” ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2563 พบว่าปริมาณนักท่องเที่ยวในฮอยอันพุ่งทะยานสูงขึ้นถึง 16 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเป็นมรดกโลก

ตัวเลขรายได้ทางเศรษฐกิจของฮอยอันในปี พ.ศ.2551 มากถึง 65% มาจากการท่องเที่ยว

แต่ที่น่าตกใจที่สุดคือ จากสถิติในปี พ.ศ.2553 พบว่าผู้คนดั้งเดิมที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ core zone ลดลงไปมากกว่า 20%

โดยพื้นที่พักอาศัยที่หายไปเหล่านี้ถูกนำไปขายหรือปล่อยเช่าให้นักลงทุนเข้ามาเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็น คาเฟ่ ร้านอาหาร บาร์ โรงแรม และอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยว

โดยหลายพื้นที่คืออาคารเก่าแก่ที่มีคุณค่า สะท้อนการอยู่อาศัยของคนดั้งเดิม แต่ภายหลังการเปลี่ยนเจ้าของใหม่ อาคารก็ถูกปรับการใช้งานภายในจนหมดสิ้นไม่เหลือสภาพพื้นที่พักอาศัย

สิ่งที่คงเหลือไว้ก็เป็นเพียงเปลือกนอกของอาคารแบบโบราณที่ถูกเงื่อนไขของการอนุรักษ์ที่เคร่งครัดที่ทำให้จำเป็นต้องรักษาเปลือกนอกดั้งเดิมเอาไว้

มาตรการที่เคร่งครัดของการบูรณะปรับปรุงสภาพเปลือกนอกอาคารเพื่อเป้าหมายในการอนุรักษ์ แต่เนื้อแท้ภายในกลับเปลี่ยนแปลงฉับพลันไปสู่ คาเฟ่ บาร์ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ทำให้ core zone ของเมืองฮอยอันมีลักษณะที่นักวิชาการเรียกว่า “Disneyfication” (การเปลี่ยนให้เป็นดีสนีย์แลนด์) มากกว่าเมืองทางวัฒนธรรมที่แท้จริง

ฮอยอันกำลังจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบดิสนีย์แลนด์ มากกว่าเมืองสำหรับการอยู่อาศัย

 

จอร์จทาวน์ (George Town) เมืองประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศิลปะ และสถาปัตยกรรม ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย เป็นอีกเมืองที่ได้รับผลกระทบจาก Tourism Gentrification ไม่น้อยนับตั้งแต่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2551

กระแสการท่องเที่ยวที่ไหล่บ่าเข้ามาทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 10 เท่าในช่วงเพียงไม่ถึง 10 ปีหลังการเป็นมรดกโลก โดยมีนักลงทุนต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน สิงคโปร์ และชาติตะวันตก เป็นกลุ่มหลักที่มาลงทุน ตึกแถวในพื้นที่มรดกโลก (สถิติในปี พ.ศ.2560) ขายกันในราคาระหว่าง 20-40 ล้านบาท และค่าเช่ารายเดือนอยู่ระหว่าง 3-6 หมื่นบาท (อ้างถึงใน “George Town marks UNESCO anniversary amid debate” ในเว็บไซต์ Nikkei Asia, 24 มิถุนายน พ.ศ.2561)

ด้วยลักษณะดังกล่าว แน่นอนย่อมตามมาด้วยการย้ายออกของคนท้องถิ่นดั้งเดิม (displacement) ตลอดจนกิจการการค้าแบบดั้งเดิมเป็นจำนวนมาก และส่งผลโดยตรงต่ออัตลักษณ์ของเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ core zone จำนวนผู้อยู่อาศัยลดลงเหลือน้อยกว่า 10,000 คน กิจกรรมทางเศรษฐกิจและงานฝีมือช่างแบบดั้งเดิมสูญหาย ปรากฏการณ์นี้เป็นไปในรูปแบบที่ไม่ต่างจากฮอยอัน

แม้ปัจจุบันมีความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนในการดึงคนกลับ (ที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว) เข้ามาในพื้นที่ ผ่านแนวคิดเมืองสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งในด้านหนึ่งก็เห็นผลกระทบในเชิงบวกที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางดังกล่าวให้ความสำคัญไปที่การดึงกลุ่มคน “ชนชั้นสร้างสรรค์” (Creative Class) เป็นด้านหลัก

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาแบบนี้หากไม่สร้างสมดุลที่ดีมากพอก็จะนำไปสู่ปัญหา Gentrification ในอีกรูปแบบที่โน้มเอียงจะสร้างเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะชนชั้นสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว

 

ในงานศึกษาของ Ying Qi Wu และ Yue Cao เรื่อง Wall Art in George Town : The Effects of Aesthetic Gentrification in a Cultural Heritage Site ในปี พ.ศ.2564 พบว่างานศิลปะบนท้องถนนโดยเฉพาะงานศิลปะบนผนังอาคาร (Wall Art) ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของจอร์จทาวน์และกลายมาเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของเมืองในฐานะเมืองสร้างสรรค์และเมืองแห่งศิลปะที่ดึงดูดศิลปินให้เข้าไปทำงานและพักอาศัยในจอร์จทาวน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีมานี้

ในอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นตัวการทำให้เกิดการ displacement คนที่อยู่อาศัยเดิมที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำออกจากพื้นที่และถูกแทนที่ด้วยคนชั้นกลางอย่างมีนัยยะสำคัญ

เพราะภาพศิลปะบนผนังกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้อสังหาริมทรัพย์ในบริเวณที่มีงานเหล่านี้ติดตั้งแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้คนและกิจกรรมดั้งเดิมถูกผลักออกนอกพื้นที่เร็วขึ้น

ตลกร้ายที่สุดคือ ภาพที่ถูกเขียนขึ้นเกือบทั้งหมดคือภาพที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิม ฯลฯ ที่แลดูเสมือนเป็นการแสดงความเคารพหวงแหนวัฒนธรรมดั้งเดิมและต้องการให้ดำรงอยู่ตลอดไป

แต่ในความเป็นจริง ภาพเหล่านี้กลับทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมสูญหายไปเร็วขึ้นต่างหาก

ภาพศิลปะบนผนังตึกเหล่านี้ ในอีกแง่ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) จึงมีลักษณะไม่ต่างจากการเสแสร้งแกล้งรักวัฒนธรรมที่ตัวเองเขียน ทั้งๆ ที่การเกิดขึ้นของภาพเหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมลงกับมือของตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้น งานศิลปะบนท้องถนน (ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองไปเรียบร้อยแล้ว) กลับมีเป็นจำนวนมากถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินต่างประเทศ ทำให้เกิดการประท้วงจากศิลปินท้องถิ่นและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่

ปัญหาขยายความซับซ้อนจนกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคมและความขัดแย้งเชิงพื้นที่ ซึ่งกำลังค่อยๆ รุนแรงขึ้นในจอร์จทาวน์

 

ไม่ใช่แค่ 2 เมืองมรดกโลกนี้เท่านั้นนะครับที่มีปัญหาจาก Tourism Gentrification ในหลากหลายมิติ เมืองในยุโรปซึ่งมีมรดกโลกทางวัฒนธรรมอยู่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ ต่างก็ประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน

แม้ประเด็นนี้จะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางไม่น้อยในบริบทโลก

แต่สังคมไทย Tourism Gentrification ในพื้นที่มรดกโลก (และพื้นที่เมืองเก่าที่มีมรดกทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก แม้จะยังไม่เป็นมรดกโลกก็ตาม) กลับดูไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร