ลายอย่าง – ลายนอกอย่าง (2)

ญาดา อารัมภีร
ลับแลลายรดน้ำและลายกำมะลอเรื่องอิเหนา ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 จัดแสดงในห้องจัดแสดงศิลปะธนบุรี-รัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

หนังสือ “สมบัติกวี ชุดอิเหนา” เล่าถึง ‘ลายนอกอย่าง’ หรือ ‘ผ้านอกอย่าง’ ไว้ว่า

“ผ้าชนิดนี้บางทีผู้ทำทำไม่ได้เหมือนตามตัวอย่างแต่ก็ยังส่งเข้ามาขายอยู่ดีนั่นเอง เพราะทำขึ้นแล้วไม่รู้จะไปทิ้งที่ไหน อย่างนี้ราคาต่ำลงมา เรียกว่า ‘ผ้านอกอย่าง’

ซึ่งสอดคล้องกับพระดำรัสของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “บันทึกความรู้เรื่องต่างๆ” เล่ม 1 ดังนี้

“ผ้าลายนอกอย่าง หมายความว่า เปนลายที่แขกคิดทำตามชอบใจ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ท้าวสามลมีบัญชาเรื่องการเลือกคู่ของนางรจนา พระธิดาองค์สุดท้องว่า

“เร่งร้องป่าวชาวเมืองทั้งปวงนั้น จนชั้นทรพลคนเข็ญใจ

ให้มันแต่งตัวตามทำนอง มาประชุมหน้าท้องพระโรงใหญ่

จะให้ลูกรักร่วมฤทัย เลือกคู่ดูใหม่ในพรุ่งนี้”

ทั้งขุนนางและชาวบ้านชาวเมืองล้วนเตรียมพร้อมก่อนเวลากันทั่วหน้า

“ครั้นไก่ขันแซ่เสียงเที่ยงคืน ต่างคนต่างตื่นขึ้นแต่ดึก

ตกแต่งกายาโอฬารึก อื้ออึงอึกทึกไปทุกคน

บ้างทาแป้งแต่งตัวฉุยฉาย นุ่งลายนอกอย่างหางปัดส้น

บ้างนุ่งห่มสมตัวตามจน สับสนอลหม่านไม่หลับนอน”

จะเห็นได้ว่า สามัญชนใช้ผ้านุ่งลายนอกอย่างไปร่วมงาน ทั้งนี้เพราะต้องการให้โดดเด่นเข้าตาพระธิดาท้าวสามล ต่างคนต่างสรรหาผ้าชั้นดี ‘ลายนอกอย่าง’ ในที่นี้ถือเป็นผ้ามีระดับพอตัวสำหรับคนทั่วไป แม้มีราคาอยู่บ้างแต่ไม่แพงเท่าผ้าลายอย่าง ราคายังไกลกันมาก

 

น่าสังเกตว่า บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ต่อให้ตัวละครเป็นชนชั้นสูงเหมือนกัน ถ้าระดับความสำคัญต่างกันตามชาติกำเนิด เช่น ระเด่นมนตรี หรืออิเหนา เป็นโอรสท้าวกุเรปัน หนึ่งในกษัตริย์วงศ์เทวัญอสัญแดหวา ศักดิ์ศรีย่อมเหนือชั้นกว่าระเด่นกุสุมา ธิดาของระตูล่าสำ (ระตู = เจ้าเมืองน้อย) ระดับของผ้าที่ใช้ก็ต่างกันไปด้วย อิเหนาใช้ผ้าลายอย่างตอนจะไปง้อนางจินตะหรา

“พระบรรจงทรงหวีพระเกศา ผัดพักตราพอควรนวลระหง

เลือกลายอย่างภูษาเอามาทรง รัดพระองค์ลงยาราชาวดี”

ส่วนนางกุสุมาก่อนลากลับเมืองพร้อมสังคามาระตาพระสวามีได้ไปทูลลาประไหมสุหรีบุษบา และได้รับของประทานจากนาง หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นผ้าลายนอกอย่าง ฯลฯ

“ครั้นโศกสร่างนางสั่งพนักงาน ให้ไปจัดเครื่องอานพานพระศรี

เครื่องในใส่ถมยาราชาวดี ต่วนบางอย่างดีสักสี่พับ

ทั้งผ้าลายนอกอย่างต่างพื้น เอามาสักสิบผืนสีสลับ”

 

“พจนานุกรมผ้าและเครื่องถักทอ” ของศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ให้ความกระจ่างเรื่อง ‘ลายนอกอย่าง’ ไว้โดยละเอียด

“ผ้าที่ช่างชาวอินเดียเขียนลายเองเรียกว่า ‘ผ้าลายนอกอย่าง’ หมายถึงผ้าพิมพ์ที่ทำเลียนแบบผ้าลายอย่าง บางทีเรียก ‘ผ้าเลียนอย่าง’ ผ้าชนิดนี้มีคุณภาพด้อยกว่าผ้าลายอย่าง ลวดลายแข็งกระด้าง ส่งเข้ามาขายเป็นผ้านุ่งสำหรับสามัญชนแทนผ้าดำย้อมมะเกลือที่นุ่งกันอยู่ก่อน

ผ้าลายนอกอย่างมีหลายสีและหลายลาย ลวดลายที่นำไปใช้กับผ้าลายนอกอย่างมักเป็นลายเลียนแบบลายไทย เช่น เลียนแบบลายก้านแย่ง ลายประจำยาม ลายกรวยเชิงช่อดอกไม้ แต่ลักษณะลายไม่อ่อนช้อยเหมือนลายไทย ยังเป็นลายอินเดียมากกว่าลายไทย ทำให้ผ้าลายนอกอย่างเป็นผ้าที่มีคุณภาพรองจากผ้าลายอย่าง จึงไม่นิยมใช้ในราชสำนัก และตกไปสู่สามัญชน”

วรรณคดีมีเรื่องผ้าสารพัดแบบ

วันหลังค่อยคุยต่อ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร