สัม รังสี : บนขื่อมาตุคาม กับความเป็นคนนอก!

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

สัม รังสี

: บนขื่อมาตุคาม

กับความเป็นคนนอก!

 

อาการที่เหมาะต่อวัยนี้ โอแม่เจ้า! สารภาพ ฉันใช้มือทาบอก ไม่นึกคาดหมายว่า การไปเยือนฝรั่งเศสรอบนี้ของนายฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา คือการ “ลงมือ” สังหารฝ่ายตรงข้าม!

เป็นการตายคาบ้านยกรังสำหรับ สัม รังสี และฝ่ายต่อต้านระบอบฮุนเซนอย่างไม่ต้องสงสัย ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่จะเป็นอดีตอย่างถาวรต่อจากนี้ รวมทั้งคณะฝ่ายเสรีนิยมทั้งหมดในต่างแดนและกลุ่มเรียกร้องนำ “ธรรมนูญ” ฉบับประชาธิปไตยตามอนุสัญญาปารีส

สัม รังสี นั้น อาจจะเจ็บกว่าทุกฝ่าย ในฐานะที่เป็นพลเมือง 2 ประเทศทั้งเขมรและฝรั่งเศส ที่แทบจะวางชีวิตของตนและครอบครัวทั้งหมดกับอนุสัญญานี้มาแต่ต้น และนั่นคือสิ่งที่เขมรค่อนประเทศปรารถนา ทว่า มันกลายเป็นอื่นไปแล้ว ทั้งรูปแบบนิติรัฐและอำนาจทางการเมือง

ไม่มีสิ่งใดที่จะเอ่ยอ้างอีกแล้ว สำหรับ “คนนอก” ผู้พ่ายแพ้!

เรื่องที่สัม รังสี ถือสัญชาติฝรั่งเศส ท้ายที่สุดแล้ว ก็เป็นเหมือน “จุดอ่อน” ของตนเช่นกัน

กล่าวคือ การที่เขาถือ 2 สัญชาติ ที่เป็นเสมือนเครื่องปกป้องตนเองยามมีภัยการเมือง ทว่า หลายปีมานี้ การถือสัญชาติที่ 2 กลายเป็นปัญหาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในสมัยฮุน เซน ที่ไม่อนุญาตให้บุคคลถือ 2 สัญชาติสามารถเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือเล่นการเมืองได้อีกต่อไป

สัม รังสี ถูกตัดสิทธิ์นั้น นอกเหนือจากความผิดร้ายแรงต่อบ้านเมืองที่ยังชำระสะสางไม่เสร็จ แต่นั่นไม่เท่ากับความรู้สึกอันเจ็บปวดจากการถูก “สร๊ก 1” (เขมร) ที่ตนถือกำเนิดทำการ “สังหาร” ชีวิตการเมือง และ “สร๊ก 2” (ฝรั่งเศส) ที่ตนอาศัย ทำลายกรอบความเชื่อเรื่องเสรีประชาธิปไตย!

นี่คือ ชีวิตการเมืองของชายคนหนึ่ง ซึ่งหนีมรรคาแห่งการถูกคุมขังจาก “สร๊ก 1” ไปสู่ “สร๊ก 2” ดินแดนที่อวดอ้างความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย

แต่แล้วจุดอ่อนเดียวของความเป็นมนุษย์ที่เขามีอยู่ไม่ว่าจะในฐานะการเมืองหรือปุถุชนธรรมดา กลับถูก “สร๊กทั้งสอง” บ่อนทำลาย!

และนี่คือสิ่งที่น่าเห็นใจนายสัม รังสี!

ไม่ว่าในอดีตจะถูกตราหน้าว่าอ่อนแอ ไม่กล้าหาญเผชิญหน้ากับ “มรรควิธีฮุนเซน” แต่นักการเมืองเชี่ยวกราก สัม รังสี กลับไม่มียุทธศาสตร์ใดๆ นอกจากหนีกลับฝรั่งเศส

ไม่มีใครร้องขอให้สัม รังสี หยุดทำอย่างนั้นที่ไล่เลียงยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ สำหรับยุทธศาสตร์การเมืองกัมพูชาที่ต้องแลกมาด้วยหลักเหลี่ยมอันเท่าทัน ทว่า สัม รังสี ไม่เคยมีความรอบด้าน ขาดวิสัยความกล้าหาญในการรับมือกับฮุน เซน จนไปต่อได้ยาก และง่อยเปลี้ยเสียขา

ไม่ยุติธรรมเลยนะ ที่นายสัมจะถูกบีบคั้นจากความเป็นคน 2 สร๊ก 2 ประเทศที่แตกต่างอย่างสุดลิ่มด้านหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย แต่แล้วคนพ่ายแพ้ สัม รังสี ก็ถูกบีบคั้นทั้งสอง “ปีสร๊ก” คือบีบคั้นมิให้เขาเคลื่อนไหวทางการเมือง เฉพาะตอน ฮุน มาแนต ไปเยือนฝรั่งเศส

และนั่นคือ ทำให้สัม รังสี ช้ำชีวีที่พ่ายแพ้ทั้งพ่อลูก!

มีความจริงข้อหนึ่งคือ ความเป็นตัวพ่อนักการทูตของฮุน เซน คือสิ่งที่ทำให้เขาเหนือเมฆตลอดกาลในห้วงอำนาจการเมืองที่ผ่านมา และทำให้เรานึกถึงฉายา “จิ้งจอกสองหน้า” ที่นักข่าวตะวันตกตั้งให้ช่างสมราคา

ไม่มีใครหรอกที่เต็มไปด้วยพิษสงขั้นเทพขนาดที่ว่า แม้แต่ตอนฮุน มาแนต ไปเยือนปารีสคราวนี้จะเป็นดีลพิเศษที่ผู้นำฝรั่งเศสต้องแลกมา

ฝรั่งเศสจึงเป็นประเทศแรกของยุโรปที่กัมพูชาเปิดซิงเจรจาผลประโยชน์ระหว่างสร๊ก โดยจะเห็นว่า เตรียมพร้อมมาตั้งแต่แต่งตั้งทีมนายกฯ นายสก จินดา รมว.ต่างประเทศ, นายฌ็อง ฟร็องซัวส์ ตัน รมต.ช่วยประจำสำนัก ฯลฯ ที่ต่างถือสัญชาติฝรั่งเศสทั้งสิ้น!

เรียกว่า สมเด็จตั้งมาวางยาสัม รังสี โดยตรง!

ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมพิธีการต้อนรับของคณะรัฐบาลฝรั่งเศสโดยประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง จึงให้ความสำคัญต่อกัมพูชาเป็นพิเศษ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ที่พระมหากษัตริย์เขมรไปเยือนปารีส และครั้งนี้ก็ราบรื่นถึงขนาดที่แทบจะอุ้มหายนายสัม รังสี ออกจากปารีสไปกับคณะประท้วงที่หมายมาดจะต่อต้านฮุน มาแนต

แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีเงาสัม รังสี และคณะที่ปารีส ไม่ว่าจะในฐานะผู้นำฝ่ายค้านหรือพลเมืองฝรั่งเศสผู้มีสิทธิในเสรีภาพอันพึงประสงค์ต่อการแสดงออกตามวิถีประชาธิปไตย

ฝรั่งเศสให้การรับรองต่อฮุน มาแนต เทียบเท่าไม่ต่างจากกษัตริย์กัมพูชา-พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ข้อสังเกตนี้ ทำให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ปีแห่งการตกลงอนุสัญญาเขมร 4 ฝ่ายที่กรุงปารีสรวมเวลา 33 ปี ฮุน เซน ยังคงแข็งแกร่ง แม้แต่ผู้นำปารีเซียงที่เคยด้อยค่าเขามาตลอด ยังต้องยอมสยบในที่สุด!

และเป็นไปได้อย่างไร ที่นักการเมือง/การทูตเขมรวัย 39 ปีผู้ลงนามข้อตกลงอนุสัญญาปารีสในตอนนั้น บัดนี้ บุตรชายตัวแทนของตน ก็ขึ้นมาแก้ไขอดีตแห่งการโดนบูลลี่ได้สำเร็จ! และเอาคืนทุกฝ่ายด้วย!

นัยที เสมือนว่า ฮุน มาแนต ได้รับเกียรติสูงสุดเท่าที่บิดาของตนไม่เคยได้รับจากประเทศนี้ และอดีตที่ไม่น่าจดจำนั้น ลือหึ่งกันว่าเขาถูกต้อนรับอย่างไม่สมศักดิ์ศรีจากเจ้าภาพในความ “คนนอก” ของตนเวลานั้น!

ตอนนี้ฌ็อง อิลิเซ่ จึงกลับมาให้เกียรติอย่างยิ่งใหญ่ ราวกับใคร่แก้ไขในอดีตหรือสยบยอมระบอบสมเด็จ?

แต่อีกด้าน หลังข้อตกลงอนุสัญญาปารีส/1991 ที่ส่งผลชาวเขมรทั้งในและนอกสร๊กขณะนั้น กับความหวังอันยิ่งใหญ่ในการคืนสู่มาตุคามและสร้างประเทศ หนึ่งในจำนวนนี้มี สัม รังสี ด้วยคนหนึ่ง

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง 2 สมัย คือในรัฐบาลปรองดอง (1992-1993) และในรัฐบาลเลือกตั้งสมัยแรก (1993-1994) แต่แล้วก็สุดทางตันเพราะบุรุษผู้แข็งกร้าว สมเด็จฮุน เซน

สัม รังสี เข้าใจดี วันนี้ที่เขาไม่เหลือใครเคียงข้าง อีกสมการ “ธรรมนูญ” จากข้อตกลงปารีสที่ไม่มีอีกต่อไป เมื่อคณะอำนาจปัจจุบัน สมเด็จฮุน เซน ถือสิทธิ์เปลี่ยนแปลงธรรมนูญต้นฉบับจากอนุสัญญาข้อตกลงที่ได้รับการรองรับจากสหประชาติ (UNTAC)

แต่มันจะสลักสำคัญอันใด?

เมื่อทุกวันนี้ โดยความหวังเล็กๆ ที่จะกลับไปหมุนกงล้อเก่าให้กลับไปสู่ “กระดุม” หรือ “หมุด” เดิมให้จงได้ ทำให้ชาว Patis Agreement และเจนรุ่นหลังๆ ที่บ้างต่างอ่อนล้าเต็มสภาพกำลัง กลับต้องพยายามออกมาผลักดันแคมเปญทำกัมพูชาให้กลับไปใช้ธรรมนูญฉบับนี้

แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่กรณีการมาเยือนปารีสของระบอบฮุนเซนโดยฮุน มาแนต พลพรรคฝ่ายต้านที่พยายามหนุนให้มีการใช้ธรรมนูญฉบับเดิม/1993 เพื่อให้รัฐสภากัมพูชากลับมาเป็น “พหุพรรค” ให้กลับมาจงได้ แต่ดูราวกับมีวิบาก เมื่อถูกสมเด็จดักทางไว้ทั้งหมด ไม่ว่ากลุ่มประชาธิปไตยที่เคลื่อนไหวในต่างแดนไม่ว่าประเทศใด

พวกเขาถูกป้ายยาจากกุนซือรัฐบาลนายฮุน เซน ว่าเป็น “กลุ่มหัวรุนแรง” โดยทั้งสิ้น!

นี่เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง ไม่แต่เท่านั้น ยังเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ฮุนเซน ที่มีความต้องการหยุดยั้งฝ่ายเสรีนิยมนำกัมพูชาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันไกลเกินกว่ากัมพูชาในวันนี้…แต่ใครจะรู้? ตัวอย่างในสหภาพเมียนมาหรือแม้แต่ประเทศไทยคือสิ่งที่รัฐบาลเขมร 7 สมัย ไม่ปรารถนาจะเห็นคือการขับเคลื่อนที่มองไม่เห็นในพลวัตแบบเสรีนิยม

และนั่นคือ ทำไมพนมเปญจึงต้อง “สยบ” ไว้ในทุกมิติพื้นที่ที่ฮุน มาแนต ไปเยือน ซึ่งความเชี่ยวชาญด้านควบคุมมวลชนของคณะออร์แกไนเซอร์ทั้งในและนอกประเทศนี้ ถือเป็นดีเอ็นเอที่ถ่ายทอดมาจากสมัยฮุน เซน

แต่ในสมัยฮุน มาแนต กลับมากไปด้วยวิธีการไอโออีกฝ่ายให้ลีบฝ่ออย่างน่าสนใจ

สารภาพ! ฉันไม่เคยนึกว่า ชาวกัมพูชายุค Paris Agreement/1991 จะผ่านเลยชีวิตการเมืองได้ถึงเพียงนี้ และจนบัดนี้ ยังไม่แม้แต่น้อยที่จะเฉียดใกล้ความจริงที่เลยผ่านมา 3 ทศวรรษนั้นอีกได้ โดยเฉพาะบางคนอย่างสัม รังสี ที่ไม่มีแม้แต่มาตุคามอันแท้ทรูสำหรับตนเอง ในสิ่งที่เรียก กระบวนการปกครองแบบพหุพรรค PA/1991

บางที การได้เฉลิมฉลองต่อความหวังอันเปี่ยมล้น ทว่า กลับ “ขันขื่น” เหลือทนในสิ่งอันรอคอยที่ไม่เคยเวียนมาถึง จน 30 ปีเศษที่ผ่านมา

ก่อนจะพบว่า นี่คือความหนักอึ้งเหลือทน! จริงๆ สำหรับใครก็ตามที่ยืนเคียงสัม รังสี!

cr : AFP
cr : AFP