33 ปี ชีวิตสีกากี (56) | สามพรานลุกเป็นไฟ

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ในช่วงเวลาที่เป็นวันขึ้นปีใหม่ 2524 นรต.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ซึ่งเป็นประธานรุ่น นรต.36 ได้เป็นตัวแทนรุ่น นำการ์ดอวยพรวันปีใหม่ มามอบให้กับนักเรียนปกครองทุกคน

ผมสังเกตเห็นว่าวินัยของกองร้อยที่ 2 ไม่ได้ดีขึ้นนัก ดังนั้น การทำโทษ จึงเป็นปกติธรรมดา

ผมทราบว่า หลายคนในกองร้อยที่ 2 มีบุพาการีเป็นผู้มีตำแหน่งสำคัญในกรมตำรวจ และบางคนมีครอบครัวที่มีฐานะและมีชื่อเสียงในสังคม ความอดทนที่จะต้องมาลำบากอีกรอบ อาจจะคิดว่า มันมากเกินไป และอยู่ถึงชั้นปีที่ 2 ปลายปีแล้ว กำลังจะขึ้นไปชั้นปีที่ 3 จะมามากมายอะไรกันนักหนากับระเบียบวินัยแค่นี้ ควรจะผ่อนผันกันบ้าง

ในทางกลับกัน การปกครองนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 พวกนักเรียนปกครองคำนึงถึงมาตรฐานที่เหมาะสมกับความเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ทั้งระเบียบวินัยส่วนรวม การเดินแถวต้องเรียบร้อย พร้อมเพรียงกัน ไม่ใช่ตามสบายใครอยากจะทำอะไรก็เป็นสิทธิ ซึ่งทำเช่นนั้นไม่ได้

รวมทั้งระเบียบวินัยในการรักษาความสะอาดก็ค่อนข้างมีปัญหามาก จนเป็นงานหนักและเป็นภาระของผมอย่างยิ่งในการจัดยาม เวรเตรียมการขณะอยู่โรงเรียน ตัวอย่างเช่น

ละทิ้งหน้าที่เวรยาม, กลับกองร้อยไม่มาพร้อมแถว, สวมรองเท้าที่บันได, ออกจากแถวโดยไม่ได้รับอนุญาต, หลับในตอนเรียน จนอาจารย์ที่มาสอนสั่งกักบริเวณ, ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับ นรต.รุ่นพี่, เดินลัดสนาม, กลับเข้าโรงเรียนไม่ทัน, คะนองกายวาจา, แขวนเสื้อผิดที่, ไม่ตัดผม, จัดระเบียบเตียงนอนไม่เรียบร้อย, ไม่มาตรวจนับจำนวน, ตรวจเครื่องแต่งกายไม่ผ่าน เพราะไม่มีความเรียบร้อย, ฝากคนครัวซื้ออาหารมากินบนกองร้อย, ขาดตรวจจำนวน, เปลี่ยนยามโดยไม่ได้รับอนุญาต, ปืนเป็นสนิม

และยังมีอีกตั้งมากมาย นี่เป็นแค่ตัวอย่าง

 

ผมได้รับคำสั่งให้ทำโทษทั้งจากผู้บังคับกอง ผู้บงคับหมวด ทำการแทนแต่ละหมวด ผู้ช่วยนายร้อยตำรวจเวรรักษาการณ์ และนักเรียนชั้นสูง ส่งมาให้ จนสมุดจดแทบจะเต็มทุกหน้ากระดาษ เมื่อนำมาสรุป บางคนโดนโทษมาก บ่อยซ้ำๆ บางครั้งเรียนจบก็ใช้หนี้โทษได้ไม่ครบ

สมุดบันทึกเหล่านี้เมื่อไปค้นในกองหนังสือเก่าๆ จึงพบ มันเป็นสมุดบันทึกที่บันทึกไว้ช่วงปลายปี พ.ศ.2523 ถึงต้นปี พ.ศ.2524 เมื่อ 40 กว่าปีผ่านมาแล้ว เพื่อยืนยันว่า การทำโทษนั้น เหมาะกับเหตุการณ์ในเวลานั้น เพราะการที่บุคคลจำนวนมากถึง 300 คนมาอยู่ร่วมกัน จึงต้องมีกฎระเบียบให้ยึดถือปฏิบัติ

และการเป็นสถาบันที่มีการฝึกระเบียบวินัยอันดับต้นๆ ของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยในการเข้มงวด

ผมยืนยันได้เลยว่าการทำโทษไม่ได้หนักหนาสาหัสสากรรจ์แบบนักเรียนใหม่ ซึ่งน้อยมากอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

 

แต่พวกที่รักสบายและมีความอดทนไม่มากพอ จึงเป็นหัวโจกนำนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 นรต.รุ่น 36 หนีออกจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจทั้งรุ่น เมื่อค่ำของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2524 เวลาประมาณ 19.00 น. ในขณะที่มี พล.ต.ต.สุจินต์ อุทัยวัฒน์ เป็นผู้บังคับการ พ.ต.อ.ประเสริฐ เกษรมาลา และ พ.ต.อ.ชอบ ภัตติชาติ เป็นรองผู้บังคับการ พ.ต.อ.โกศล รัตนาวดี เป็นผู้กำกับการ 1 ร.ต.อ.ไพศาล เหล็กพูล เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2

ผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น ได้สั่งการให้นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ ออกไปตามนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 นรต.รุ่น 36 ให้กลับเข้าโรงเรียน ก่อนที่จะเกิดความเสียหายที่จะตามมามากมาย

แต่ผลไม่เป็นไปตามที่ผู้บังคับบัญชาต้องการ เพราะไม่มีนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 ที่หนีออกไปกลับเข้ามาเลย และหลายคนได้เดินทางกลับภูมิลำเนาของตนตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ จนกระทั่งเป็นข่าวโด่งดังตามหน้าหนังสือพิมพ์

ในที่สุด พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้ประกาศมาตรการขั้นเด็ดขาด ว่าการกระทำของนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่กรมตำรวจ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นการกระทำความผิดขั้นร้ายแรง ไม่สามารถที่จะให้อภัยได้ และมีโทษสถานเดียว คือ การไล่ออกจากการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ใครกลับเข้ามาทีหลังจะโดนลงโทษหนัก

บรรดาหัวโจกของรุ่น และมีบุพาการีเป็นคนสำคัญและมีอำนาจอยู่ในกรมตำรวจ กับพวกมีหน้าตาในสังคม ต่างทราบมาตรการที่เด็ดขาดของอธิบดีกรมตำรวจ ที่จะไม่โอนอ่อนผ่อนตาม จึงรีบนำนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของพวกตน กลับเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นพวกแรกๆ

ส่วนพวกที่ตามมาทีหลังสุด คือ พวกที่อยู่ตามต่างจังหวัดและไม่ค่อยได้รับข่าวสารอะไร และเป็นประเภทเฮไหนเฮนั่น ถือเป็นพวกที่เข้ามาท้ายๆ สุด

เป็นช่วงเวลาที่แผ่นดินในสามพรานลุกเป็นไฟอย่างแท้จริง ร้อนระอุเป็นไฟอย่างไฟประลัยกัลป์ และจะลามลุกท่วมไปยังผู้ที่ก่อการในครั้งนี้ ทั้งนี้ ก็เป็นผลของการกระทำของชั้นปีที่ 2 เอง

 

ในเวลาต่อมามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทำการสอบสวนถึงที่ไปที่มาจนกระทั่งถึงกับต้องหนีออกจากโรงเรียน ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

นักเรียนปกครอง กองร้อยที่ 2 ทุกคนถูกคณะกรรมการเรียกไปสอบสวนถึงสาเหตุ แต่ตามหลักการปกครองแล้ว นักเรียนปกครองไม่ได้กระทำผิดอะไรทั้งสิ้น และแนวโน้มการทำโทษ คือ บรรดาหัวโจกที่ยุยงปลุกปั่นจะต้องถูกไล่ออกสถานเดียว

ความร้อนลุ่มดังไฟของบรรดาบุพการีที่มีอำนาจในกรมตำรวจ ย่อมจะนิ่งเฉยไม่ได้ การที่ผู้สืบสันดานของตนจะต้องพ้นจากการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ จะเป็นไปไม่ได้ จึงต้องหาวิถีทางบรรเทาโทษ

ผมทราบมาว่า มีการวางแผนที่จะขอพระราชทานอภัยโทษจากพระราชาธิบดีแห่งประเทศมาเลเซีย เพื่อขอให้ทางกรมตำรวจลดหย่อนผ่อนโทษให้ แต่ในที่สุด เส้นทางนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

ความสำเร็จเกิดขึ้น เมื่อสมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาแสดงพระธรรมเทศนา ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยมี นายประเทือง กีรติบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาร่วมรับเสด็จที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 นรต.รุ่น 36 สามารถกลับมาเรียนได้ตามปกติ และมีการปรับปรุงนักเรียนปกครอง และระเบียบการลงโทษใหม่หมด การทำโทษจะไม่สามารถทำแบบเดิมได้ จะต้องเป็นไปแบบละมุนละม่อม ทำแต่เพียงพองาม ให้รู้ว่ามีระเบียบนี้อยู่

 

ในความคิดของผมนั้น ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของบรรดาหัวโจกในกุศโลบายที่แยบยลและทำลายธรรมเนียมประเพณีที่นักเรียนนายร้อยตำรวจในอดีตปฏิบัติกันมา แต่นั่นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ในเวลานั้นพิจารณา

ผมไม่ได้รู้สึกเกลียดชังหรือไม่พอใจหรือมีอคติใดๆ กับรุ่นน้อง นรต.36 บางคนผมก็ยอมรับในความรู้ความสามารถความเป็นสุภาพบุรุษที่ได้เคี่ยวกรำกันมา และปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของมันที่จะเดินไป

แต่มันเป็นแผลที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว เป็นแผลเป็นที่ใครจะไปลบออกไม่ได้ ในอนาคตจะมีใครพูดถึงในแง่มุมไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมได้ปล่อยปัญหาเหล่านี้ทิ้งไป และได้เลื่อนขึ้นไปเรียนในชั้นปีที่ 4 แล้ว ไม่อยากจะพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนี้อีกเลย

 

พ.ต.อ.เสถียร ชินพงศ์, พ.ต.อ.สุทิน เอมะพัฒน์, พ.ต.ท.ดร.ชิดชัย วรรณสถิต และ พ.ต.ต.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นทีมอาจารย์ที่มาสอนในวิชาการวิเคราะห์การบริหาร เริ่มจาก พ.ต.อ.เสถียร ชินพงศ์ สอนแนวความคิดและคำนิยามทางการบริหาร คือ ตามปกติมี 4 ประการ หรือ 4M

1. Men คน

2. Money เงิน

3. Material วัสดุอุปกรณ์

4. Management การจัดการ

ในทางธุรกิจ เพิ่มอีก 2M คือ

1. Market การตลาด

2. Machine เครื่องจักร

ต่อมาอาจารย์ก็สอนแนวความคิดของนักปราชญ์โบราณ เพลโต, โสเครติส, อริสโตเติล จนมาถึง Edmund Burke ที่กล่าวไว้ว่า “A state without the means of some change is without the means of its own conservation” ประเทศหรือรัฐซึ่งปราศจากเสียซึ่งการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็เท่ากับว่า เป็นประเทศที่ไม่สามารถรักษาประเทศของตนเองได้ (อธิปไตย)

และพูดถึงนักคิดอย่าง Hobb, Lock, Adam Smith, รุสโซ, เลียวนาร์ด ดีไวต์, แฟรงก์ กูดนาว, Max Weber, Frederic W. Taylor, Fayol มากมายจนจำไม่ไหว

พ.ต.ท.ดร.ชิดชัย วรรณสถิตย์ มาสอนว่า นักบริหารมี 3 ระดับ คือ สูง กลาง ต่ำ

นักบริหาร คือ บุคคลที่ประกอบด้วยหลัก 10 ประการ

1. ทำให้วัตถุประสงค์ขององค์การสำเร็จลุล่วง

2. เป็นผู้มีหน้าที่ในการวางแผน กำหนดนโยบาย และวัตถุประสงค์

3. เป็นผู้วิเคราะห์และตัดสินใจปัญหาสำคัญๆ

4. เป็นผู้ประสานงาน ประสานคน

5. เป็นผู้พัฒนาคนในองค์การ และให้คำแนะนำ

6. ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา

7. พัฒนาตนเอง พัฒนาความเป็นผู้นำ

8. มีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ในระดับรองลงไป คุมเฉพาะที่สำคัญ

9. เป็นนักคิด ไตร่ตรอง และทำงานเฉพาะงานพิเศษ

10. นักบริหารต้องติดต่อประชาชนและบุคคลทั่วไป

และสอนวิธีการบริหารทั่วๆ ไป โดยผู้บริหารจะต้องทำงานด้วยความรับผิดชอบ ไม่ปัดความผิด ความรับผิดชอบของตนให้แก่คนอื่น

พ.ต.ต.ดร.ทักษิณ ชินวัตร สอนหลักวิเคราะห์ในการเลือกรูปแบบขององค์การ โดยจะทำการศึกษาวิเคราะห์ในรูปแบบแนวดิ่ง Vertical แนวนอน Horizontal

การตัดสินใจและการตกลงใจเลือกรูปแบบ Decision Making

การวิเคราะห์เป็นการเปรียบเทียบ เมื่อจัดองค์การขึ้นมาใหม่ ถ้าดีมีประสิทธิภาพก็ดำเนินการต่อไปได้เลย

การจัดองค์การเพื่อ

– activities วัตถุประสงค์ขององค์การ

– personnels การวางตัวบุคคล

– physical factors ปัจจัยทางกายภาพ

ต่อมาก็กล่าวถึงรูปแบบขององค์การ 7 อย่าง ตั้งแต่ Hierachy, Divitionalization, Line Staff Auxilliary, Unity of Command, Span of Control และ Communication System พร้อมแจงรายละเอียด

วิชาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คณะอาจารย์ประกอบด้วย ศาสตราจารย์สัญชัย สัจจวานิช, พ.ต.ต.ดรุณ โสตถิพันธุ์, อาจารย์สุวิทย์ นิ่มน้อย, อาจารย์ปัญญา รอดถนอม, อาจารย์สนัด หมายสวัสดิ์ และอาจารย์ประสพสุข บุญเดช