จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (4) ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ)

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (4)

ต้นราชวงศ์หยวน (ต่อ)

 

แต่กระนั้น ก็มีที่ปรึกษาที่สมาทานลัทธิขงจื่ออยู่ไม่น้อยที่ถวายงานให้ด้วยความอึดอัดใจ

เช่น ครั้งหนึ่งกุบไลข่านทรงถามที่ปรึกษาที่ชื่อ เจ้าฟู่ ว่า ทำเช่นไรจึงจะโค่นล้มซ่งให้สำเร็จ เจ้าฟู่ตอบว่า “ซ่งคือแผ่นดินบิดามารดรของข้าพระองค์ จึงไม่มีทางที่ข้าพระองค์จักชี้นำให้ผู้ใดมาทำลายบิดามารดรของข้าพระองค์ได้”

อย่างไรก็ตาม กุบไลข่านก็ทรงมี “ที่ปรึกษาวงใน” (kitchen cabinet) อยู่กลุ่มหนึ่งที่คอยตอบข้อสงสัยหรือสนทนาเกี่ยวกับหลักคุณธรรมของลัทธิขงจื่อแก่พระองค์ แต่ทำให้พระองค์ทรงรู้ดีถึงขอบเขตความสัมพันธ์ในฐานะที่พระองค์เป็นชาวมองโกล ซ้ำยังเป็นชาวมองโกลที่อาศัยอยู่ในจีนอีกด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ก็มิได้จำกัดที่ปรึกษาไว้เฉพาะบัณฑิตลัทธิขงจื่อชาวจีน ด้วยที่ปรึกษาชาวจีนมิได้น่าไว้วางใจหรือมีความสามารถไปหมดทุกคน ยิ่งกิจการทหารด้วยแล้วทรงไว้ใจเฉพาะขุนศึกชาวมองโกลเท่านั้น

ในขณะที่ล่าม ผู้ปกครองท้องถิ่น ราชเลขาธิการมักจะเป็นชาวอุยกูร์หรือเติร์ก

แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลอย่างมากกลับเป็นมเหสีที่มีพระนามว่า ชาบี

 

มเหสีชาบี (Chabi, ค.ศ.1225-1281) ทรงแนะนำให้กุบไลข่านขัดขวางชาวมองโกลมิให้เปลี่ยนทุ่งนาไร่เป็นทุ่งปศุสัตว์ โดยให้เหตุผลว่า หากทรงเปลี่ยนแล้วจะไม่เพียงทำให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังจะสร้างความหมางใจให้แก่ชาวจีนใต้ปกครองอีกด้วย

พ้นไปจากนี้แล้วชาบียังทรงเป็นพุทธศาสนิกชนนิกายทิเบตที่มีความกระตือรือร้น แม้แต่พระนามของโอรสองค์แรกยังทรงตั้งจากนามทิเบต พระองค์โปรดสนทนาธรรมกับภิกษุด้วยประเด็นที่ลึกซึ้งและซับซ้อน

และแน่นอนว่า กุบไลข่านจักทรงรับฟังทัศนะทางพุทธศาสนาของพระนางอย่างใส่ใจและจริงจัง

แต่ก็ดังได้กล่าวไปแล้วว่า กุบไลข่านทรงสนใจลัทธิขงจื่อ พระองค์จึงใกล้ชิดกับลัทธินี้มากกว่าหลักคำสอนในศาสนาพุทธ อย่างน้อยก็เพื่อนำมาใช้ในการปกครอง

การที่กุบไลข่านนำลัทธิขงจื่อมาเป็นหลักคิดในทางการเมืองนั้น ได้ทำให้การปกครองจีนของพระองค์เดินไปสู่ความเป็นจีนมากขึ้น

จนกล่าวกันว่า พระองค์แสดงความเป็นจีนยิ่งกว่าที่ชาวจีนเป็น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นจีนมากกว่าราชวงศ์ซ่ง

เริ่มจาก ค.ศ.1260 ที่พระองค์ได้แย่งชิงอำนาจสูงสุดจนตั้งตนเป็นข่านสำเร็จนั้น พระองค์ทรงใช้ชื่อตำแหน่งเป็นภาษาจีนที่แปลมาจากภาษามองโกล

และพอถึง ค.ศ.1264 ก็เปลี่ยนนามรัชกาลเป็นจื้อหยวนที่หมายถึง เริ่มต้นอย่างสมบูรณ์

 

หยวน มาจากคำกวีใน อนิจปกรณ์ (อี้จิง) ที่ว่า “ต้าไจเฉียนหยวน” หมายถึง รากฐานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งกุบไลข่านทรงได้รับคำแนะนำจากหลิวปิ่งจง ที่ปรึกษาผู้มีบทบาทในการสนับสนุนให้กุบไลตั้งตนเป็นจักรพรรดิ

โดยต่อมาใน ค.ศ.1271 พระองค์ทรงนำคำว่า หยวน ดังกล่าวมาใช้เป็นชื่อราชวงศ์ว่า ต้าหยวน (มหาราชวงศ์หยวน) จากนั้นก็ให้ตั้งราชสำนักขึ้นในเมือง มิใช่กระโจมชั่วคราวหรือสิ่งปลูกสร้างเฉพาะกิจอีกต่อไป

พระองค์ทรงใช้ราชสำนักในซั่งตูเป็นตำหนักฤดูร้อนและล่าสัตว์

แล้วทรงให้สร้างอีกแห่งหนึ่งถัดลงมาทางใต้คือเมืองจงตู สร้างเสร็จแล้วก็ให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ต้าตู ที่ปัจจุบันก็คือ กรุงเป่ยจิงหรือปักกิ่ง

อนึ่ง ในการล่าสัตว์นั้น กุบไลข่านมิได้ทรงม้าในการล่า หากทรงกูบหรูหราบนหลังช้างที่ได้มาสี่เชือกจากการตีพม่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระองค์ทรงมีน้ำหนักตัวมาก และยังปวดข้ออันเนื่องมาจากโรคเกาต์ (gout) อีกด้วย

 

ควรกล่าวด้วยว่า เมืองซั่งตูมักจะเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งว่า ซานาดู หรือ ซานาตู (Xanadu) และเนื่องจากเป็นตำหนักฤดูร้อนที่กุบไลข่านทรงใช้เพื่อการพักผ่อน การบรรยายภาพเมืองแห่งนี้จึงออกมาในลักษณ์ที่ต่างไปจากเมืองอื่น

หนึ่งในผู้บอกเล่าภาพของเมืองนี้คือ มาร์โค โปโล (Marco Polo, ค.ศ.1254-1324) นักเดินทางชาวอิตาลี ที่ได้เดินทางไปเยือนจีนใน ค.ศ.1275 และอาศัยอยู่ที่จีนนานถึง 17 ปีก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองเวนิสที่เป็นบ้านเกิดใน ค.ศ.1295

ในปีถัดมา มาร์โค โปโล ถูกจับเป็นเชลยจากการศึกระหว่างเวนิสกับเจนัว ตอนที่อยู่ในคุกเขาได้บอกเล่าเรื่องราวของเมืองจีนและเมืองอื่นๆ ที่เขาไปเห็นมาให้กับนักประพันธ์คนหนึ่งที่ติดคุกด้วยกัน

จนเป็นที่มาของหนังสือที่มีชื่อว่า Book of the Marvels of the World (บันทึกเรื่องมหัศจรรย์แห่งโลก) หรือที่นิยมเรียกกันต่อมาว่า การเดินทางของมาร์โค โปโล (The Travels of Marco Polo) อันเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงที่ทำให้โลกภายนอกได้รู้จักจีนในเวลาต่อมา

แต่กระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ในแวดวงประวัติศาสตร์ของจีนบางสำนักได้ตั้งข้อสงสัยว่า หากคำบอกเล่าของมาร์โค โปโล เป็นเรื่องจริงแล้ว เหตุใดในบันทึกประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หยวนจึงไม่มีการเอ่ยชื่อของเขาแม้แต่แห่งเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ

เพราะถ้าเขารับใช้ราชสำนักหยวนจริง บทบาทของเขาย่อมต้องถูกบันทึกเอาไว้ด้วย ยิ่งเขาเป็นคนต่างชาติด้วยแล้วถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เรื่องนี้คงถกเถียงกันอีกนานกว่าจะหาข้อสรุปได้

 

ภูมิหลังของกุบไลข่านตั้งแต่เล็กจนโตดังกล่าวทำให้เห็นว่า ในฐานะตัวแทนของชาวมองโกลแล้ว อำนาจของพระองค์ได้มาจากการเข่นฆ่าพี่น้องร่วมสายโลหิต แต่ก็มีพื้นฐานความเข้าใจในวัฒนธรรมมองโกลและจีนคู่กันไป

พื้นฐานนี้ทำให้สามารถรักษาอำนาจได้อย่างมั่นคงเมื่อก้าวขึ้นเป็นข่าน หรือจักรพรรดิอีกองค์หนึ่งในความหมายของจักรวรรดิจีน

แต่ก็ด้วยพื้นฐานที่ว่านี้เช่นกัน ที่ทำให้การปกครองของมองโกลมีความแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้านี้ ถึงแม้จะมีบางยุคก่อนหน้านี้ที่จีนถูกปกครองโดยชนชาติอื่นก็ตาม แต่ก็เป็นการปกครองในเวลาที่ไม่นาน และมิได้ปกครองบนพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาลดังมองโกล

เหตุดังนั้น การปกครองของมองโกลบนพื้นฐานดังกล่าวจึงส่งผลอื่นๆ ตามมา อย่างที่ยุคสมัยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีให้เห็นด้วยเช่นกัน