‘รู้, เห็น และความเข้าใจ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ผมมีโอกาสได้ใช้เวลาหลายปีกับการติดตามเสือ ช่วงเวลาของการเป็นผู้ช่วยของผู้ช่วยนักวิจัย นั้นคือช่วงเวลาอันดีที่สุดอย่างหนึ่งของการทำงานในป่า

ว่าตามจริง สำหรับผม หลายปีกับโอกาสนี้ ผมไม่ได้รู้จักเสือมากนักหรอก

แต่มันเป็นเช่นเดียวกับช่วงเวลาอื่นๆ ในป่า เพราะสิ่งที่ตามนั่นจะสอนให้ผมรู้สิ่งที่อยู่ใกล้ๆ มากยิ่งขึ้น

อย่างที่ผมบอกเสมอว่า สิ่งที่รู้มากขึ้นนั้น คือตัวผมเอง

 

แม้ว่านักวิจัยจะมีเทคโนโลยี่ที่ดี และนำมาใช้กับการศึกษาสัตว์ป่าอย่างได้ผล

อย่างเครื่องส่งสัญญาณวิทยุซึ่งใช้ระบบดาวเทียม เครื่องส่งอยู่กับปลอกคอที่ติดอยู่กับเสือ ข้อมูลจากดาวเทียมแจ้งพิกัดที่เสืออยู่ตลอด

แต่งานของผู้ช่วยนักวิจัยที่จะต้องติดตามทางภาคพื้นดิน ก็ยังคงสำคัญ เพราะหลายครั้งที่สัญญาณขาดหาย ตำแหน่งของเสือไม่ปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ เป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นได้

กรณีนี้ นักวิจัยจะแจ้งไปที่บริษัท เพื่อให้ส่งสัญญาณกระตุ้น

ในระหว่างรอ การติดตามทางภาคพื้นดินจึงจำเป็น

 

บ่ายวันนั้น ผมอยู่บนสันเขาที่มีความสูง 350 เมตรจากระดับน้ำทะเล ไม่สูงหรอก แต่การเดินขึ้นไม่ง่ายนัก เพราะเชิงเขาล้อมรอบด้วยป่าไผ่ ที่ใบร่วงหล่นในช่วงฤดูแล้ง ใบไผ่ทับถมบนพื้น ด่านค่อนข้างลื่น

จากดงไผ่ สภาพรอบๆ เป็นอาณาเขตของป่าเต็งรัง

บนสันนี้ เราต้องเดินขึ้นทุกวันเพื่อตรวจสอบสัญญาณเสือโคร่งตัวเมีย อายุราว 8 ปีตัวหนึ่ง

มันเป็นเสือซึ่งนักวิจัยคุ้นเคยดี เพราะพวกเขาจับมันเพื่อสวมปลอกคอมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากหนึ่งปี แบตเตอรี่หมด ปลอกคอถูกปลด

มันเป็นอิสระจากการติดตามอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่จากการสำรวจโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพ นักวิจัยพบว่า เธอยังเข้มแข็งครอบครองอาณาเขตเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

นักวิจัยใช้เวลากว่าสามเดือน จึงจับเธอได้อีกครั้ง

การพยายามจับเสือ ซึ่งเคยพลาดมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่ใช่งานง่าย

ความผิดปกติเพียงแค่เล็กน้อย เธอสังเกตเห็น

อีกนั่นแหละ วันหนึ่ง เธอก็พลาดอีก นักวิจัยสวมปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณได้อีกครั้ง

 

ผมติดตามผู้ช่วยนักวิจัย ปีนขึ้นสันเขา

ทุกวัน นี่เป็นงานของเรา โดยเฉพาะเมื่อตำแหน่งเสืออยู่ที่เดิมหลายวัน ต้องเข้าไปตรวจสอบ

เพราะส่วนใหญ่นั่นเพราะว่าเสือล่าเหยื่อได้

ตรวจสอบเหยื่อที่เสือฆ่า ชั่งน้ำหนักเหยื่อ ดูว่าเสือกินไปวันละกี่กิโลกรัม

รวมทั้งการวางกล้องดักถ่าย

เสือโคร่ง – ความยากลำบากของเสือ คือการต้องแสวงหาอาณาเขตของตัวเองให้ได้ อีกทั้งขณะครอบครองอยู่ การต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกเบียดออกไปโดยเสือที่เข้มแข็งกว่า ก็ไม่ใช่งานง่ายนัก

ตามเสือทางภาคพื้นดิน จำเป็นต้องขึ้นไปอยู่ที่สูง ในบริเวณซึ่งเป็นพื้นที่ของเสือตัวนั้น จากบนสันเขา ที่ราบเบื้องล่างกว้างไกล มีทิวเขาโอบล้อม

สันเขาไม่สูง แต่ชันและลื่น อีกทั้งอุณหภูมิช่วงฤดูแล้งที่พุ่งขึ้นไปถึง 42 องศาเซลเซียส แม้ว่าจะไต่ขึ้นสันเขาเตี้ยๆ แต่ก็ไม่รื่นรมย์นัก

หลังจากหลายวัน เรารับสัญญาณไม่ได้ เราต้องไปลองตรวจสอบยังสันเขาใหม่อีกสันที่มีความสูงกว่า ไต่ขึ้น-ลงสันเขา ที่ด่านชันและลื่น ทุกวัน

เพื่อพบกับเพียงสายลมเย็นๆ

 

ไต่ขึ้นทางชัน บนด่านซึ่งปกคลุมด้วยใบไม้แห้งๆ สีน้ำตาล จนกระทั่งมองไม่เห็นพื้นอันเป็นพื้นหินเป็นก้อนๆ นั้น ความยากอยู่ที่ตอนลง

นอกจากจะต้องเกร็งเท้า ระวังลื่นแล้ว มือยังต้องคอยเหนี่ยวคว้าตลอดเวลา

ลื่นล้ม ได้แผล เคล็ดยอก คือเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่มากับงาน

ขณะเดินขึ้น ผมมีความหวังว่า ข้างบนนั่นจะจับสัญญาณจากเสือได้ จะรู้ว่าเสืออยู่ที่ไหน

ส่วนตอนเดินลง การระวังไม่ให้ลื่นไถล ก็ยากพอแล้ว

 

ทุกวัน ผมเดินขึ้นภูเขา

ไม่ขึ้นสู่ยอดเขา ก็ไม่เห็นมุมมองที่กว้างไกล รวมทั้งขาลงเขา จะยากลำบากกว่าขาขึ้น

ดูเหมือนเหล่านี้เป็นประโยคบอกเล่าธรรมดาๆ ที่ทุกคนเคยได้ยิน

แต่หากไม่เคยลองเดินขึ้นภูเขา บางทีก็ดูคล้ายกับว่า ถ้อยคำนั้น จะเป็นสิ่งที่รู้

“รู้, เห็น แต่ไม่เข้าใจ”

 

อีกสิ่งหนึ่งที่จะพบ ขณะอยู่บนสันเขาคือ ดูเหมือนเส้นทางเดินจะสุดสิ้นแล้ว ไปต่อไม่ได้ แต่จะมองเห็นสันเขาอีกแห่งที่สูงกว่า ไกลลิบๆ

สิ่งซึ่งต้องทำคือ ถอยหันหลังกลับ บนทางเส้นเดิมที่ยากกว่าขาขึ้น

และมุ่งไปยังด่านซึ่งจะพาไต่ขึ้นสันเขาที่เห็นอยู่ลิบๆ

ที่จริงแล้ว ความยากลำบากอาจไม่ได้อยู่ที่การไต่ขึ้นหรือลง

แต่อยู่ที่เราต้องมั่นใจว่า บนสันเขาไกลลิบ ที่จะไต่ขึ้นครั้งใหม่นี้

เราจะพบกับสิ่งที่ตามหา •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ