เกษียร เตชะพีระ : ปรัชญาการเมืองตายแล้ว (ม.ล.ปนัดดา กับ การิทัตผจญภัย)

เกษียร เตชะพีระ

“ปรัชญาการเมืองตายแล้ว” (3)

ย้อนอ่าน ตอน  (2)  (1)

ข้อถกเถียงหลักของผมที่ว่าเนื่องจาก “ปรัชญาการเมืองคือสมรรถนะที่จะตั้งคำถามลงไปที่ฐานรากหรือฐานคติของสังคม” ดังนั้น “ปรัชญาจึงเป็นสิ่งตรงข้ามด้านกลับของวัฒนธรรมและสถาบันทางสังคม” นั้น อาจเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้น หากลองพิจารณาตัวอย่างทั้งความจริงและอิงนิยาย ทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ผมแปลและใช้นิยายเรื่อง การิทัตผจญภัย ของ สตีเว่น ลุกส์ ศาสตราจารย์ทางทฤษฎีสังคมและการเมืองชาวอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เป็นตำราสอนวิชาปรัชญาการเมืองเบื้องต้นมาร่วมยี่สิบปี

ฉากตอนหนึ่งของนิยายนี้ผูกเรื่องให้ศาสตราจารย์ นิโคลาส การิทัต ตัวเอกผู้เชี่ยวชาญปรัชญายุครู้แจ้ง (The Enlightenment) เข้าไปผจญภัยทางความคิดในชุมชนนคร (Communitaria) ซึ่งให้ความสำคัญเป็นเอกกับเอกลักษณ์และวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์และศาสนา การิทัตและเพื่อนได้เข้าสอบถามและประคารมกับคณะตัวแทนชาวอุปัทรพ ความตอนหนึ่งว่า :

“ทำไมท่านถึงสนใจปัญหาพวกนี้?” เขา (ตัวแทนชาวอุปัทรพ) ถามเกรี้ยวกราด

“ก็ผมเป็นนักปรัชญานี่ครับ” นิโคลาสตอบ มันเป็นคำตอบที่ไม่ถูกหูเท่าไหร่…

“…การิทัตเพื่อนของผมคนนี้ยังใหม่ต่อธรรมเนียมของเรา และผมประกันได้ว่าเขาอยากจะค้นคว้าเข้าใจมัน จริงๆ ไม่ใช่จะมาตัดสินอะไร ในถิ่นที่อยู่แต่เดิมของเขานั้น ผู้คนค้นคว้าหาความเข้าใจกันโดยตั้งคำถามซึ่งบางครั้งอาจจะชวนให้เข้าใจผิดได้ หากเขาล่วงเกินท่านไปโดยไม่เจตนาในประการใดก็ขอได้โปรดอโหสิแก่เขาด้วยเถิดครับ”

ตาทั้งสิบยังเขม้นมองสิ่งที่ดูจะตกเป็นเป้าของความเกลียดชังซึ่งเพิ่มทวีขึ้นไม่ละวาง…”

(น.165-167)

นักศึกษาผู้อ่านส่วนใหญ่รวมทั้งผมซึ่งเป็นคนแปลเองด้วยเมื่ออ่านแรกๆ ก็รู้สึกว่านี่เป็นบทสนทนาแลกเปลี่ยนธรรมดาเพื่อให้เดินเรื่องต่อไปได้ ไม่เห็นแปลกอะไร

แต่พออ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายๆ รอบเข้าเพื่อเตรียมสอน ผมก็เอะใจในคำตอบที่แปลกพิลึกของ นิโคลาส การิทัต

พูดง่ายๆ คือ เขาถูกชาวอุปัทรพผู้ยึดมั่นถือมั่นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์ของตนตวาดถามเอาอย่างโกรธเกรี้ยวว่า “เอ็งถามคำถามกวนโทโสพรรค์นี้ทำไมวะ จะหาเรื่องหรือ?” และเขาดันเลือกตอบว่า “ก็ผมเป็นนักปรัชญานี่ครับ” แถมผู้เขียนยังหยอดต่อว่า “มันเป็นคำตอบที่ไม่ถูกหูเท่าไหร่”

แวบแรกอ่านดู มันก็เป็นคำตอบที่ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่จริงๆ เหมือนถามว่าไปไหนมาแล้วตอบว่าสามวาสองศอกยังไงยังงั้น คนฟังฟังแล้วก็ยังขัดหูอยู่

แต่มาลองคิดๆ ดู มันเป็นคำตอบที่ตรงเป้าเข้าประเด็นที่สุดทีเดียว

กล่าวคือ

ที่การิทัตต้องถามคำถามกวนโทโสจี้ใจซึ่งคนทั่วไปร่วมวัฒนธรรมเดียวกันเขาไม่ถาม ก็เพราะแกเป็น นักปรัชญา (ที่ “ยังใหม่ต่อธรรมเนียมของเรา”) ผู้มีหน้าที่จี้ถามลงไปตรงฐานรากหรือฐานคติของสังคม และแน่นอนว่านี่เป็นคำตอบที่ขัดหู เพราะ ปรัชญาย่อมขัดฝืนขื่นเคืองกับวัฒนธรรม (อันหมายถึงสิ่งที่คนคิดไปทำไปตามธรรมเนียมเคยชินราวอัตโนมัติโดยไม่ต้องคิด) เป็นธรรมดา

เมื่อเอาไปผูกรวมกับถ้อยคำที่เพื่อนของการิทัตกล่าวอธิบายแก้เกี้ยวให้ถัดมา ก็พอจะสรุปความได้ว่า หน้าที่ของปรัชญาคือการทำความเข้าใจฐานคิดของสังคมด้วยการตั้งคำถาม ไม่ใช่ตัดสิน

ปัญหาคือสังคมนั้นเปิดกว้างพร้อมรับฟังและรับตอบคำถามแหย่แยงจี้ไชวัฒนธรรมของตนหรือไม่เพียงใดเท่านั้นเอง

และเราเพิ่งเห็นตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่สังคมไทยถูกถามในลักษณะดังกล่าว ได้แก่กรณี :

“ปนัดดาจวกสื่อนอกไร้จริยธรรม สัมภาษณ์ ม.ร.ว.นริศรา” (https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_605643)

โดย หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ ได้เขียนสเตตัสไว้ในหน้าเฟซบุ๊กของตนเมื่อปลายเดือนตุลาคมศกนี้ว่า :

“ความควรไม่ควร ว่าด้วย Etiquette

“ดูข่าวของสำนักข่าว “BBC” แสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจอย่างมากเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้นๆ ที่ตนไปทำหน้าที่ การตั้งคำถามกับสุภาพสตรีไทยท่านหนึ่งซึ่งฉลาดตอบ ตามที่เป็นเนื้อหาสาระของข่าว ถือเป็นคำถามที่ขาดพื้นฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และจริยธรรม กล่าวโดยสรุป คือ เขาไม่รู้จักคนไทย และสถาบันสำคัญของชาติไทย โดยไม่ใฝ่เรียนรู้ ผู้สื่อข่าวเช่นนี้ ควรศึกษาเบื้องต้นเพิ่มเติมให้มากเกี่ยวกับ “Etiquette” (มารยาท) ของชาตินั้นๆ ก่อนเดินทางเข้ามาทำข่าว จงได้กลับไปพักผ่อนที่บ้านตนเองก่อนเถิด ศึกษาเรียนรู้แล้วเมื่อใดค่อยว่ากัน”

สรุปก็คือ ม.ล.ปนัดดารู้สึกขัดเคือง (ในทำนองเดียวกับที่ตัวแทนชาวอุปัทรพรู้สึกในนิยายการิทัตผจญภัยข้างต้น) กับคำถามของนักข่าวบีบีซี โจนาธาน เฮด ต่อ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เกี่ยวกับความรู้สึกของชาวไทยต่อพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและต่อสถาบันหลัก เห็นว่านี่เป็นการถามอย่างไม่รู้ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี จริยธรรม คนไทยและสถาบันหลักของชาติไทย เรียกได้ว่าถามในสิ่งที่ไม่ควรถาม

เป็นการถามอย่างไม่มีมารยาท

ในเวลาต่อมา นายโจนาธาน เฮด นักข่าวบีบีซีก็ได้โพสต์สเตตัสในหน้าเฟซบุ๊กของเขา อธิบายเรื่องนี้ว่า :

“ด้วยความเคารพท่านและอีกหลายๆ คนที่เข้าใจคำถามผิด งานของผมในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คือการถามคำถามที่ผู้ชมของผมที่อยู่นอกประเทศไทยน่าจะถาม ถ้าคุณฟังคำถาม ผมพูดว่า “ผู้คนข้างนอกจะต้องอยากถามอยู่แล้วว่าความรักนี้เป็นสิ่งแท้จริงหรือไม่” มันเป็นคำถาม ไม่ใช่การแสดงความเห็น เป็นคำถามที่ผมถูกคนนอกประเทศไทยถามอยู่บ่อยครั้ง และ ม.ร.ว.นริศรา ก็ตอบคำถามได้อย่างดีเยี่ยม ถ้าคุณได้ดูการรายงานของผมจากสนามหลวงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คุณจะได้ยินผมอธิบายหลายครั้งถึงความรักอย่างแท้จริงที่ประชาชนที่นั่นมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 แน่นอนว่าผมรู้ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะผมอยู่ที่นี่มานาน แต่หน้าที่ของผมคือการถามคำถามที่คนอื่นที่ไม่ใช่คนไทยอยากให้ผมถาม ม.ร.ว.นริศราก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะตอบคำถาม เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นจริงๆ ที่ผู้อื่นจะมารู้สึกขุ่นเคืองเกี่ยวกับเรื่องนี้”

ประเด็นน่าสนใจที่สุดในคำอธิบายของ โจนาธาน เฮด ข้างต้นคือ คำถามกวนโทโส ขัดหู ขัดวัฒนธรรมไทย อันไม่บังควรถามแต่เขาดันถาม ม.ร.ว.นริศรานั้น ไม่ใช่คำถามของเขาเอง แต่เป็นการถามแทน “ผู้ชมของผมที่อยู่นอกประเทศไทยน่าจะถาม”, “ผู้คนข้างนอกจะต้องอยากถามอยู่แล้ว”, “คนนอกประเทศไทยถามอยู่บ่อยครั้ง”, “คนอื่นที่ไม่ใช่คนไทยอยากให้ผมถาม” ฯลฯ

สรุปก็คือมันไม่ใช่คำถามของคนไทยที่อยู่ในวัฒนธรรมไทยและอยู่ในกรอบ โครงสร้างโอกาสความเป็นไปได้ทางการคิด/วัฒนธรรม (ideational/cultural opportunity structure) แบบไทย จะถามได้หรือพึงถาม

หากเป็นคำถามที่มีแต่ คนนอก คนอื่น คนไม่ไทย ผู้อยู่นอกกรอบโครงสร้างโอกาสทางการคิด/วัฒนธรรมดังกล่าวเท่านั้นจะพึงถามและถามได้

และมันฟังดูเป็นคำถามจี้ใจชวนให้เคือง ก็เพราะมัน จี้ถามลงไปตรงฐานรากหรือฐานคติของสังคมไทย แบบนักปรัชญา (เหมือนคำถามของการิทัต) นั่นเอง

จึงพอคาดเดาและเข้าใจได้ว่าคนไทยพอฟังคำถามไม่ไทยแบบนั้นเข้า ก็ย่อมฉุนกึกทันทีโดยอัตโนมัติเหมือนถูกกดปุ่มที่มองไม่เห็นกลางหลังเป็นธรรมดา

แต่ถ้าวัฒนธรรมของสังคมใดทนรับฟังรับคิดและรับการตรวจสอบทบทวนจากคำถามเชิงปรัชญาที่ถามโดยนักปรัชญา คนนอก คนอื่น คนเห็นต่าง หรือแม้แต่เด็กและมนุษย์ต่างดาวทำนองนี้ได้ สังคมนั้นก็จะสามารถเหลือบแลเห็นช่องทางความเป็นไปได้อื่นๆ และทางเลือกอันหลากหลายในแง่ฐานคิด ระเบียบและการปฏิบัติ นอกกรอบวัฒนธรรมและสถาบันของตนออกไป

ดังที่ครั้งหนึ่ง เมื่อสิบปีก่อน พี่ยิ้มหรือรองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการเสื้อแดง สหายเดนตายจากการปฏิวัติผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และกลับออกจากป่ามา จนล้มป่วยและเพิ่งล่วงลับไปเมื่อเดือนกันยายนศกนี้ ได้เคยตั้งข้อสังเกต ข้อเสนอและคำถามภายนอกกรอบวัฒนธรรมทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองไทย ต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำลังจัดทำอยู่ โดยพิจารณาทบทวนจากบางมาตราของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ว่า :

คำปรารภ : ควรระบุตามความจริงว่า “ประชาธิปไตยของไทยมาจากการต่อสู้ของประชาชน”

มาตรา 1 : ควรชี้ว่า “ประเทศไทยนั้นเป็นองค์ประกอบของกลุ่มชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนา และมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้รัฐของไทย”

มาตรา 3 : เสนอให้ปรับแก้เป็น “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ”

มาตรา 8 : เสนอให้เพิ่มเติมว่า “ในกรณีที่มีการล่วงละเมิดองค์พระมหากษัตริย์นั้น ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้วินิจฉัยดำเนินการ”

มาตรา 12 : ตั้งคำถามให้พิจารณาทบทวนความจำเป็นของการมีองคมนตรี

มาตรา 22 : เสนอให้เพิ่มเติมว่า “การสืบสันตติวงศ์นั้นให้เป็นไปโดยนัยของกฎมณเฑียรบาลและประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา”

มาตรา 87 : เสนอให้เลิกมาตรา 87 ที่กำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด ฯลฯ

(สรุปและคัดลอกจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ประเด็นหลักของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”, 11 กุมภาพันธ์ 2550)

(https://prachatai.com/journal/2007/02/11565)

(ต่อสัปดาห์หน้า)