เกษียร เตชะพีระ : “ปรัชญาการเมืองตายแล้ว ?” (2)

เกษียร เตชะพีระ

ย้อนอ่าน “ปรัชญาการเมืองตายแล้ว ?” (1)

ความจริงเมื่อแรกทีมบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openworlds ติดต่อทาบทามผมให้แปลหนังสือเรื่อง Political Philosophy : A Very Short Introduction ของ David Miller (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.2003) นั้น ผมออกจะลังเลพอควร

แน่นอนว่าหนังสือแนะนำความรู้เบื้องต้นสาขาวิชาแขนงและหัวข้อต่างๆ ของทางสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ชุด A Very Short Introduction นี้แพร่หลายเป็นที่รู้จักและใช้กันกว้างขวางในเมืองนอกและเมืองไทย (ภายใต้ชื่อฉบับแปลชุด “ความรู้ฉบับพกพา”) อีกทั้งมาตรฐานคุณภาพทางวิชาการก็เป็นที่วางใจได้

ทว่าอาจารย์ผู้เขียนคนนี้ ผมไม่รู้จักคุ้นเคยงานของเขามาก่อน ไม่จัดอยู่ในบรรดานักปรัชญา/นักทฤษฎีที่ผมนิยมชมชอบ และพอลองเปิดอ่านต้นฉบับบทแรกๆ ดู ก็เจอการยกตัวอย่างอุปมานิทัศน์ (allegory) จากภาพจิตรกรรมฝาผนังของศิลปินนาม Ambrogio Lorenzetti เมื่อเกือบ 700 ปีก่อนที่ติดตั้งอยู่ ณ Sala Dei Nove ใน Palazzo Pubblico เมือง Siena ในบรรดานครรัฐอิตาลีเข้าให้…ทำเอาผมไปต่อไม่เป็นเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หลังจากลองใช้เวลาว่างดื้อเพียรอ่านแปลหนังสือเล่มนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีกระยะหนึ่ง ผมก็ค่อยๆ เปลี่ยนใจ หันมาเห็นลักษณะดีจุดเด่นของเนื้อหาและวิธีการนำเสนอของมันมากขึ้น กล่าวคือ

มันเป็นงานที่ผู้เขียนค่อยๆ คิดเรียบเรียงไปตามลำดับเหตุผลข้อถกเถียงอย่างละเมียดกระจ่าง บรรจงให้ “แผนที่” และ “เข็มทิศ” การคิดประเด็นปัญหาทางการเมืองแก่ผู้อ่านที่แรกเรียนปรัชญาการเมืองอย่างละเอียดพิสดาร โดยผสานข้อถกเถียงเชิงปรัชญา/ทฤษฎีการเมือง เข้ากับหลักฐานข้อมูลและความรู้แขนงอื่นๆ ในทางสังคมศาสตร์อย่างสอดรับกลมกลืน

อีกทั้งมีกลวิธีนำเสนอที่ชวนสนใจ แนบอิงอยู่กับตัวอย่างกรณีรูปธรรมในสังคมและสถานการณ์ร่วมสมัย

เดวิด มิลเลอร์ ผู้เขียน

ผมใคร่เสริมว่าสำหรับนักเรียนใหม่ผู้เริ่มค้นหาความรู้ในสาขาแขนงวิชาที่ตัวไม่รับรู้คุ้นเคยมาก่อนด้วยตัวเอง “แผนที่” และ “เข็มทิศ” ในความรู้สาขาแขนงนั้นๆ เป็นอุปกรณ์การเดินทางที่สำคัญ กล่าวคือ

แผนที่ความรู้ ช่วยให้เห็นภูมิทัศน์ภาพรวมขององค์ความรู้ในสาขาวิชานั้นๆ ว่าประกอบไปด้วยเรื่องหลักๆ อะไรบ้าง จะเริ่มหาความรู้จากจุดไหน แล้วค้นต่อไปที่จุดไหนตามลำดับดี และแต่ละจุดที่ไปถึง ได้เดินทางมาไกลเท่าไหร่แล้ว ยังเหลือทางข้างหน้าอีกมากน้อยเพียงใด ควรใช้เวลาสำรวจเจาะลึกในแต่ละจุดนานแค่ไหนจึงจะพอเหมาะพอควรก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป

ส่วน เข็มทิศความรู้ คืออุปกรณ์ประกอบว่าเมื่อเดินทางถึงจุดที่ตั้ง/ประเด็นต่างๆ ขององค์ความรู้ในสาขาวิชานั้นๆ แล้วเผชิญกับข้อถกเถียง/ทางเลือกที่ยังเป็นปัญหาโต้แย้งกันอยู่หนึ่งสองสามสี่ทาง ทางไหนที่เป็นทางตีบตัน มีคนเดินไปแล้วเหลวเปล่า

ทางไหนยังสำรวจไม่แล้วเสร็จครึ่งๆ กลางๆ ยังต้องค้นคว้าคิดต่อ และลู่ทางไหนมีโอกาสพาไปบรรลุจุดหมายได้มากกว่าทางอื่น เป็นการเก็บรับสืบต่อประสบการณ์ของมัคคุเทศก์ที่เคยกรุยทางเดินผ่านถนนสายนี้มาก่อน ไม่ต้องลองผิดลองถูกสะเปะสะปะจนหลงทางตั้งต้นใหม่ทุกรอบทุกคราว

หนังสือแนะนำความรู้ใหม่ๆ ที่ดีพึงสนองทั้งแผนที่และเข็มทิศความรู้ดังกล่าวนี้แก่ผู้อ่าน และในแง่นี้ งานของ เดวิด มิลเลอร์ เล่มนี้จัดว่าตรงสเป๊กและทำได้ครบครัน

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะภูมิหลังความถนัดจัดเจนของเขาเองที่เป็นศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีการเมืองแห่งวิทยาลัยนัฟฟีลด์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด จึงสามารถผสานองค์ความรู้ด้านทฤษฎีรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์เข้ากับข้อถกเถียงเชิงปรัชญาได้คล่อง ขอบข่ายความสนใจทางวิชาการของเขาก็กว้างและหลากหลาย ครอบคลุมประเด็นปัญหาทางปรัชญาและการเมืองร่วมสมัย ดังจะเห็นได้จากรายชื่องานเขียนเด่นๆ เล่มอื่นของเขา เช่น

On Nationality (ค.ศ.1995), Principles of Social Justice (ค.ศ.1999), Citizenship and National Identity (ค.ศ.2000), National Responsibility and Global Justice (ค.ศ.2007), Justice for Earthlings: Essays in Political Philosophy (ค.ศ.2013) และล่าสุด Strangers in Our Midst : The Political Philosophy of Immigration (ค.ศ.2016)

มาถึงตรงนี้แล้วก็คงต้องอธิบายต่อว่าในความเข้าใจของผม ปรัชญาการเมืองคืออะไร? ทำไมมันจึงน่าจะเป็นเครื่องมือการคิดที่ช่วยทำความเข้าใจและจัดการอาการหงอยทางอุดมการณ์ (ideological desolation) ที่กำลังแผ่กว้างทั่วโลกได้?

ผมใคร่เริ่มถกประเด็นนี้โดยชี้ว่าในสังคมการเมืองทุกสังคม มี โครงสร้างโอกาสความเป็นไปได้ทางการคิด/วัฒนธรรม (ideational/cultural opportunity structure) คอยครอบงำจำกัดกำกับความเป็นไปได้และทางเลือกทางการคิด/วัฒนธรรมที่ไม่พึงประสงค์อยู่

ในทำนองว่าเรื่องนี้ประเด็นนี้อย่ามัวไปคิดไปทำเลย เสียเวลาเปล่า หรือกระทั่งมันผิด มันอันตราย มันขัดฝืนแยกแย้งกับสิ่งดีงามในสังคม ถ้าขืนไปคิดไปทำเข้าก็จะกลายเป็นแกะดำนอกคอก ไม่ดี ไม่พุทธ ไม่ไทย ไม่รักชาติ หากยังดื้อรั้นคิดหรือทำเช่นนั้นอยู่ ก็ควรออกไปจากที่นี่ซะ! (ตัวอย่างรูปธรรมในบ้านเรามีเยอะแยะมากมายในระยะหลังนี้ จนมิพักต้องยกมะพร้าวห้าวมาขายสวน)

ก็แล โครงสร้างโอกาสความเป็นไปได้ทางการคิด/วัฒนธรรม ที่ว่านี้รองรับด้วยชุดสมมุติฐานหรือฐานคติที่จะมากจะน้อยมีลักษณะเหมือนปุ่มกลางหลังที่ถูกปลูกฝังต่อเนื่องยาวนานเป็นช่วงชั้นทับซ้อนกันมาแต่อ้อนแต่ออกจนกระทั่งมันสิงสถิตอยู่ในใจเราแบบไร้สำนึกหรือใต้จิตสำนึกโดยเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ (the cultural unconscious/ subconscious)

กล่าวคือ พอถูกแตะปุ่มเข้า (คนไทย) เราก็จะ react ตอบโต้ออกมาราวอัตโนมัติโดยไม่ทันคิดด้วยซ้ำไป

ในความหมายนี้ ปรัชญาการเมืองก็คือสมรรถนะที่จะตั้งคำถามลงไปที่ฐานรากหรือฐานคติของสังคม นั่นเอง ดังคำขวัญของ อิมมานูเอล คานต์ นักปรัชญายุครู้แจ้ง (The Enlightenment) ของยุโรปสมัยใหม่ที่ว่า :

“Dare to know the basis of things.” หรือ “จงกล้าหยั่งรู้ฐานรากของสิ่งต่างๆ” (ในทางการเมือง)

ซึ่งก็หมายถึงบรรดาสมมุติฐานที่รองรับระเบียบอำนาจและแบบแผนการประพฤติปฏิบัติทางการเมืองของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยที่ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ตระหนักสำนึกตัวรู้เท่าทัน

และที่สำคัญในประดานี้ก็คือวัฒนธรรมการเมืองและสถาบันทางการเมือง

จนอาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาการเมืองคือสิ่งตรงข้ามด้านกลับของวัฒนธรรมและสถาบันการเมืองทั่วไปในสังคม

และพอเราซักถามเสวนาจนได้ความตระหนักสำนึกรู้ตัวรู้เท่าทันหรือเข้าใจ (ยังไม่ใช่ตัดสิน) ว่าสมมุติฐานดังกล่าวคืออะไรแล้ว มันก็เปิดช่องทางความเป็นไปได้อื่นๆ และทางเลือกอันหลากหลายในแง่ฐานคิด ระเบียบและการปฏิบัติทางการเมืองขึ้นมา ผ่านการคิดเองเป็นและเลิกเชื่อเป็น

ยกตัวอย่างเช่น

เวลาเราตื่นเช้า เดินทางออกไปทำงานหรือเรียนหนังสือ พอเจอเพื่อนหรือคนรู้จักเข้า เราจะทักทายเขา/เธอว่าอย่างไรบ้าง?…

ก็คงมีคำทักทายที่ถามได้หลายอย่างนะครับ เช่น “สวัสดีจ้า กินข้าวเช้าหรือยัง?”, “เป็นไง วันนี้รถติดไหม?” หรือ “ท่าทางเพลียเชียว เมื่อคืนเชียร์บอลนอนดึกมาหรือเปล่า?” ฯลฯลฯลฯ

แต่เราคงไม่ทักถามเขา/เธอว่า : “สวัสดี เช้านี้ใช้มือหรือตีนเดินมาล่ะ?” ?!?!?!?!?

เราไม่เคยและไม่คิดจะทักถามใครแบบนั้น เพราะเรามีสมมุติฐานไร้สำนึกอยู่ในใจแต่ต้นว่าคนเราปกติเดินด้วยตีนกันทั้งนั้น ไม่มีมนุษย์ปุถุชนที่ไหนในโลกหรอกที่ใช้มือเดินต่างตีน คำถามหลุดโลกผิดวิสัยทำนองนี้ไม่มีใครเขาถามกัน มันจึงถูกปัดทิ้งไปจากหัวของเราตั้งแต่แรก

สมมุติฐานแบบนั้นนั่นแหละครับคือตัวอย่างของโครงสร้างโอกาสความเป็นไปได้ทางการคิด/วัฒนธรรม ที่คอยครอบงำจำกัดกำกับการคิดและการกระทำของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยไร้สำนึก

ส่วนปรัชญาที่ว่าเป็นสิ่งตรงข้ามด้านกลับของวัฒนธรรมและสถาบันสังคมนั้นเล่า หมายความว่าไง? ผมคิดว่าเราจะพอเห็นนัยเรื่องนี้ได้หากคิดถึงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหรือ ร.ด. (รักษาดินแดน)

ตอนผมไปฝึก ร.ด. ภาคสนามที่ค่ายฝึกเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี สมัยเรียนธรรมศาสตร์ปีหนึ่งเมื่อ 41 ปีก่อน พอตื่นเช้า นายสิบครูฝึกก็จะเป่านกหวีดเรียกพล พากองร้อยเราเข้าแถววิ่งออกกำลังพลางเปล่งคำขวัญเป็นจังหวะไปจนถึงสนามกว้างเรียบโล่งเพื่อออกกายบริหารรวมหมู่

ในบรรดาท่ากายบริหารทั้งหลายนั้น มีท่าหนึ่งแปลกพิสดารมาก โดยครูฝึกให้เราทุกคนยืนตรง แล้วยกขาซ้ายขึ้นมา เอามือขวาจับข้อเท้าซ้ายไขว้ไว้ข้างหน้า และยืนด้วยขาขวาข้างเดียว (แค่นี้ก็เริ่มซวนเซยืนไม่ค่อยอยู่กันแล้ว)

จากนั้นก็สั่งให้เราพยายามกระโดดด้วยขาขวาข้างเดียวที่เหลือติดพื้นอยู่ เพื่อลอยตัวยกขาขวาลอดผ่านช่องขาซ้ายด้านหน้านั้น แล้วมายืนอยู่ด้วยขาขวาข้างเดียวข้างหน้า โดยขาซ้ายและมือขวาที่จับข้อเท้าซ้ายกลับไปอยู่ด้านหลัง

(จินตนาการเอานะครับ ผมจนด้วยเกล้าที่จะบรรยายท่าพิสดารดังกล่าวให้ชัดเจนไปกว่านี้)

เกิดอะไรขึ้นหรือครับเมื่อต้องทำกายบริหารท่ายากท่านี้? แหะๆ ก็ล้มกลิ้งโค่โร่ลงไปกองกับพื้นทั้งกองร้อยนั่นแหละ

แล้วมันเกี่ยวกับปรัชญาตรงไหนหรือ?

ตรงนี้ครับ ปรัชญาก็คือการออกกายบริหารท่ายากในทางความคิด – คิดในท่าที่ผิดปกติ, ซึ่งปกติเราจะไม่คิด, เพราะมันอยู่นอกกรอบการคิด นอกกรอบวัฒนธรรมออกไปนั่นเอง

ปรัชญาจึงเป็นสิ่งตรงข้ามด้านกลับของวัฒนธรรมและสถาบันทางสังคมในความหมายนี้

(ต่อสัปดาห์หน้า)