ปี 2567 : มังกรผงาด หรือ มังกรหงอยเหงา?

ปี 2567 นี้ ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านวางแผนมีบุตรเนื่องจากเป็นปีมะโรง หรือที่คนไทยเชื้อสายจีนนิยมเรียกว่า ปีมังกร เป็นปีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการให้กำเนิดบุตร

ดังนั้น ปีนี้ธุรกิจคลินิกให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตรและโรงพยาบาลทำคลอดมาแรง

ส่วนอีก 4-5 ปี หลังจากนี้ ธุรกิจโรงเรียนจะเป็นธุรกิจที่มาแรงมากๆ ฟันธง!

ในปีกระต่าย 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้ง โดยให้เหตุผล “กลัวเงินเฟ้อ” จนเงินเฟ้อติดลบกลายเป็น “เงินฝืด” ติดต่อกัน 3 เดือน พาให้เศรษฐกิจไทยหั่นประมาณการ GDP ปีกระต่ายน้อย 9 เดือนแรกเติบโตเพียงอัตราร้อยละ 1.9

ร้อนถึงท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน รวมถึงทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งอดีตรัฐมนตรี ที่ปรึกษา และนักเศรษฐศาสตร์ ออกมาเรียกร้อยให้ ธปท.ทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. โดยให้คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ได้ฟังข่าวรัฐบาลปะทะธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ผมรู้สึกสะใจอย่างบอกไม่ถูก

เพราะเรื่องนี้ผมเคยกล่าวถึง ธปท. ในบทความเรื่อง ‘ดอกเบี้ย’ ยาวิเศษของ ธปท. ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2565 แล้วว่า ดอกเบี้ยขจัดเงินเฟ้อแบบต้นทุนดัน (Cost-push inflation) ไม่ได้

แต่ไม่มีใครเชื่อ แถมทุกคนยังออกมาปกป้อง ธปท. เห็นดีเห็นงามกับ ธปท. ว่าต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อขจัดเงินเฟ้อจากราคาน้ำมัน

วันนี้ขอไม่พูดเยอะ เจ็บคอ

GDP แต่ละเปอร์เซ็นต์ที่หายไปจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เท่ากับรายได้ประชาชาติสูญหายไปประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลมาถึงปี 2567 อย่างแน่นอน

แต่ทั้งนี้ หากจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีข้อควรระวังประเด็นหนึ่ง คือ เมื่อลดอัตราดอกเบี้ยแล้วจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศหรือไม่

ควรพิจารณาอย่างรอบด้าน

 

ก่อนจะพยากรณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ผมขอวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศก่อนครับ

ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

1. อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในระดับสูงและยาวนานกว่าที่คาดการณ์

จากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core Consumer Price Index) ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 อยู่ที่ 3.4% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

และยังไม่อยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายไม่เกิน 2% ตามที่ประธานเฟดประกาศไว้

บวกกับปลายปีนี้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐบาลสหรัฐอเมริกามักดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศจีน เพื่อให้ดุลการค้าของสหรัฐเกินดุล

เมื่อการค้าเกินดุลมากก็จะเกิดเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่สามารถปรับลดลงได้

ดังนั้นแล้วประเทศไทยต้องเผชิญอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐในระดับสูงต่อเนื่องและยาวนานแน่นอน

2. เศรษฐกิจของประเทศจีนคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัวอย่างหนัก ทำให้การส่งออกสินค้าจากไทยชะลอตัว การท่องเที่ยวชะลอตัว บวกกับสถานการณ์การกีดกันการค้าเพื่อป้องกันการขาดดุลการค้าจากประเทศคู่ค้า

3. ปริมาณเงินทุนไหลออก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ จึงเกิดปัญหาเงินทุนไหลออก

ดั่งสุภาษิต น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำฉันใด เงินไหลจากที่ผลตอบแทนต่ำสู่ที่ผลตอบแทนสูงฉันนั้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องเฝ้าระวังให้ดี

 

ด้านปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

1. ปัญหาการเมืองภายในประเทศ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลมีเสียงเพียง 141 ที่นั่ง จึงหนีไม่พ้นการถูกต่อรองทางการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาล บวกกับพรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคก้าวไกลมุ่งเน้นการเล่นการเมืองแบบเก่ามากกว่าการร่วมตรวจสอบและร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ

ดังนั้น หากใครคาดหวังว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเหมือนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีต ผมฟันธงได้เลยว่าเป็นไปไม่ได้แน่นอน

สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยนั้น ครองเก้าอี้ในสภาถึง 248 ที่นั่ง บวกกับพรรคประชาธิปัตย์พรรคผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น หมดท่าอ่อนแรงจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศจากรัฐบาลของตนในสมัยก่อนหน้า

ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจไทยในขณะนั้นได้รับประโยชน์จากการลดค่าเงินบาท รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ในปี 2544 ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาลดอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ถึง 11 ครั้ง จากร้อยละ 6.5 ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ตอนสิ้นปี จึงเป็นปัจจัยบวกหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตทั้งสิ้น

ส่วนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หลายปัจจัยล้วนไม่เอื้ออำนวย เป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจ แม้กระทั่งการเมืองภายในพรรคก็มิได้เป็นเนื้อเดียวกันเหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย

2. งบประมาณประเทศ ปี 2567 ยังไม่ผ่านสภา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะผ่านสภาในเดือนพฤษภาคม เท่ากับว่า 5 เดือนแรกของปี เศรษฐกิจหยุดชะงักลง ไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปี

3. การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินความเสี่ยงในการให้สินเชื่อใหม่ มีความเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนหดตัวจากกำลังการผลิตที่ยังเหลือไม่ได้ผลิตเต็มกำลังการผลิต

4. ราคาพลังงานยังคงตัวอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออก

จากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทย ปี 2567 น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คงเป็นคำตอบให้ท่านผู้อ่านทุกท่านแล้วว่า ปี 2567 เป็นปีมังกรผงาด หรือปีมังกรหงอยเหงา

 

ส่วนเรื่องดวงเมือง ปี 2567 นั้น ขอยกเรื่องโหราศาสตร์มาเสริมการพยากรณ์เศรษฐกิจเล็กน้อย ดังนี้

ช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคม ราหูจรทับราหูกำเนิดของดวงเมือง บรรยากาศเศรษฐกิจจึงดูมึนๆ งงๆ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงน่าเป็นห่วง แต่ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่สดใสในปีนี้ ช่วงสงกรานต์ปีนี้เป็นปีที่ร้อนเป็นพิเศษ ร้อนทั้งสภาพอากาศและการเมือง

วันที่ 1 พฤษภาคม ดาวพฤหัสบดีย้ายจากราศีเมษเข้าสู่ราศีพฤษภ (ตามปฏิทินลาหิรี) โหราจารย์หลายท่านพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีเพราะดาวพฤหัสบดีเป็นดาวศุภเคราะห์ เมื่อโคจรเข้าภพการเงินของประเทศ เศรษฐกิจจะดี

แต่ส่วนตัวผมมองว่าดาวพฤหัสบดีโคจรวิปริตเกือบตลอดทั้งปีและมาจากภพวินาศของดวงเมือง เศรษฐกิจจึงไม่น่าจะดีตามที่หลายท่านคาดหวัง ประกอบกับวันที่ 1 มิถุนายน ดาวมฤตยูย้ายจากราศีเมษเข้าสู่ราศีพฤษภ (ตามปฏิทินลาหิรี) ดูรวมๆ แล้วเศรษฐกิจน่าจะยังไม่เติบโตถึง 5% ดังที่ตั้งใจไว้แน่นอน

ด้านการเมือง วันที่ 3 พฤษภาคม ดาวพลูโตเปลี่ยนวิถึการโคจรจากเดินหน้าเป็นพักร์ (ถอยหลัง) ทำมุม 90 องศากับอาทิตย์กำเนิดของดวงเมือง เป็นช่วงเวลาที่ต้องจับตาดูทิศทางการเมืองอย่างไม่กะพริบตาเลยทีเดียว

เมื่อการเมืองไม่นิ่ง เรื่องข่าวลือการปฏิวัติคงลอยตามลมมาเป็นระลอกๆ จากที่ดาวพลูโตทำมุม 150 องศากับมฤตยูกำเนิดของดวงเมือง

ผมได้แต่หวังว่าจะเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น

เรื่องดวงเมือง ปี 2567 หากท่านใดสนใจสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ศาสตร์แห่งโหร 2567 ของสำนักพิมพ์มติชน

สวัสดีปีใหม่ ปีมะโรง ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ