เมืองสุโขทัย ยุคพ่อขุนรามคำแหง ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ จริงหรือ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

อ้างกันว่า เมืองสุโขทัยในยุคของผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยอย่าง “พ่อขุนรามคำแหง” นั้น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

แถมนี่ก็ไม่ใช่เรื่องเล่าโคมลอย ไม่มีที่มา และรวมถึงที่ไป เพราะข้อความที่เราได้ยินจนคุ้นหูกันดีประโยคนี้ ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 ดังความที่ว่า “เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” โดยข้อความตอนอื่นในจารึกหลักนี้ก็บอกอยู่ด้วยว่า “เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี” พ่อขุนรามคำแหงจึงทรง “หาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้ จึงมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้”

สรุปง่ายๆ ว่า พ่อขุนรามคำแหงไม่เพียงแค่มีราชโองการให้สร้างจารึกหลักนี้ แต่ยังทรงประดิษฐ์ “ลายสือ” คือตัว “อักษร” ไทย อีกด้วย

แต่นักประวัติศาสตร์หลายท่านไม่เห็นเป็นอย่างนั้น ท่านว่าศิลาจารึกหลักนี้ ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้มีราชโองการให้สร้างขึ้น ดังนั้น พระองค์ยิ่งไม่ควรเป็นผู้ทรงประประดิษฐ์อักษรไทย

(อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนชิ้นนี้ต้องการกล่าวถึงเฉพาะเพียงข้อความในจารึกหลักนี้ แค่เพียงบางประโยค ซึ่งก็คือข้อความท่อนที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เท่านั้น จึงขออนุญาตไม่กล่าวถึงประเด็นที่เรื่องพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรไทยจริงหรือไม่? และจารึกหลักนี้ถูกสร้างขึ้นโดยโองการของพ่อขุนรามคำแหงจริงหรือเปล่า?)

และถ้าอย่างนั้นแล้วในสมัยพ่อขุนรามคำแหง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จริงหรือครับ?

 

ศ.พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักนี้คนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สำนวน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ไม่เคยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักอื่นๆ ในวัฒนธรรมสุโขทัย (ซึ่งไม่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นจารึกทำขึ้นในยุคหลังสุโขทัย เหมือนอย่างที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง) เลยแม้แต่หลักเดียว จึงน่าสงสัยใจเป็นอย่างยิ่งว่า เป็นสำนวนยุคสุโขทัยจริงหรือ?

โดย อ.พิริยะได้เสนอต่อไปอีกด้วยว่า สำนวนดังกล่าวคงจะดัดแปลงมาจากสำนวนว่า “คุณในปลา ยาในข้าว” ที่มีอยู่ในจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ มากกว่า

สำนวน “คุณในปลา ยาในข้าว” นั้น ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของวัฒนธรรมสุโขทัยอย่างน้อย 2 หลัก ได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 5 วัดป่ามะม่วง จ.สุโขทัย และศิลาจารึกหลักที่ 64 วัดช้างค้ำ จ.น่าน

ในจารึกวัดป่ามะม่วง ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า พระยาลิไท (พ.ศ.1890-1919) โปรดให้สร้างขึ้นนั้น มีข้อความปรากฏว่า “ได้ฝูงใส่ …(ข้อความขาดหาย) นในปลา ยาในข้าวให้กิน แล้วจักให้เถิงที่ล้มที่ตายดังอั้น”

แปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันง่ายๆ ว่า “ใส่คุณในปลา และยาในข้าวให้กิน เพื่อจะให้ถึงที่ล้มตายดังนั้น”

ที่ความในจารึกกล่าวอย่างนี้ก็เพราะข้อความก่อนหน้านั้นกล่าวถึง การเอาเชลยศึกมาชุบเลี้ยง แล้วไม่จงรักภักดี จึงต้อง “เอาคุณในยา เอายาในข้าว” เพื่อจะให้ถึงที่ล้มตาย โดยคำว่า “คุณ” ในที่นี้ ก็คือ “คุณไสย” นั่นเอง

ส่วนจารึกจากวัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน ที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จารึกคำปู่สบถ” เพราะเป็นคำที่ปู่พระยาเป็นเจ้าได้ “สบถ” คือเปล่งถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ หรือสาปแช่งเอาไว้ มีข้อความกล่าวว่า “(คุ)ณในปลายาในข้าว และอุบายกระทำสรรพ(โทษ)”

ข้อความตอนนี้ อ.ฉ่ำ ทองคำวรรณ (ล่วงลับ) นักอ่านจารึกระดับเซียนเหยียบเมฆของสยามประเทศ ได้อธิบายความหมายในจารึกไว้ว่า

“คำว่า ‘คุณในปลา’ หมายเอาการเสกปลาให้เป็นสื่อใช้ในการทำให้คนรัก เจริญ หรือฉิบหาย ตามลักษณะของมนต์นั้นๆ”

อ.ฉ่ำท่านอธิบายความไว้เท่านี้ แต่ข้อความต่อท้ายที่ว่า “และอุบายกระทำสรรพโทษ” นั้นย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า “คุณในปลายาในข้าว” ในจารึกหลักนี้น่าจะมุ่งหมายให้ “ฉิบหาย” มากกว่าที่จะให้มีใครมารัก?

 

ก็อย่างที่บอกไว้นะครับว่า อ.พิริยะ ท่านว่าจารึกหลักอื่นของสุโขทัย ไม่มีสำนวน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งนับจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีพบสำนวนดังกล่าวในจารึกหลักไหนเลยจริงๆ

อย่างไรก็ตาม การที่ไม่พบสำนวนที่ว่าในจารึกหลักอื่นก็ไม่ได้จำเป็นต้องหมายความว่า ไม่มีสำนวนนี้ในสมัยสุโขทัยหรือเปล่า? และในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในน้ำไม่มีปลา ในนาไม่มีข้าวจริงหรือ?

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ สุโขทัยนั้น เป็นเมืองที่แล้งน้ำ

เพราะเมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่สูงเชิงเขา ห่างจากลำน้ำสายใหญ่คือ แม่น้ำยมถึง 12 กิโลเมตร ผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองสุโขทัยเมื่อครั้งกระโน้นจึงอาศัยน้ำจากลำน้ำยมเป็นหลักไม่ได้

ฤดูฝนก็มีน้ำป่าไหลหลากมาจากเทือกเขามากเกินต้องการ และรุนแรงเสียจนมักจะทำลายเหย้าเรือนหรือเรือกสวนไร่นา

ฤดูร้อนก็ร้อนจนระงม แถมยังแล้งน้ำ

ซ้ำร้ายยังไม่มีแหล่งน้ำซึมน้ำซับ เพราะเมื่อคราวกรมศิลปากรเริ่มปรับปรุงพื้นที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ได้มีการนำวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยา มาขุดเจาะหาน้ำบาดาล ผลปรากฏว่า แหล่งน้ำใต้ดินอยู่ลึกเกินกว่าจะสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้

ยิ่งในสมัยสุโขทัยยิ่งนำมาใช้ไม่ได้ยิ่งกว่าในยุคปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีไม่ถึง ในสมัยนั้นจึงต้องมีการขุดสระน้ำ ที่เรียกว่า “ตระพัง” (มาจากภาษาเขมรว่า ตระเปรียง) เพื่อกว้านเอาน้ำจากฟ้าคือ “น้ำฝน” มากักเก็บไว้ใช้ และมีการพูนคันดินขึ้นมาเป็นแนวเพื่อไว้ใช้ชักน้ำระบายเก็บไว้ในตระพังนั่นเอง

พูนคันดินที่เกิดจากการขุดขึ้นมาก็ทำให้เกิดร่องของดินที่ขุด กลายเป็นคูน้ำ ขนานกันไป แต่แรกเริ่มก็ขุดรอบสถานที่สำคัญ เช่น วัด พอเมืองใหญ่โตซับซ้อนขึ้นก็ขุดรอบเมือง เฉพาะที่เมืองสุโขทัยมีคันดิน และคูน้ำรอบเมืองสามชั้น ที่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “ตรีบูร” ซึ่งสะท้อนถึงเทคโนโลยี ความก้าวหน้าในการจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี

(ผลการขุดค้น และขุดแต่งทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า คูน้ำ คันดิน รอบเมืองสุโขทัยทั้ง 3 ชั้นนั้น สร้างคนละคราวกัน ดังนั้น การที่จารึกพ่อขุนรามคำแหง เรียกคูน้ำคันดินรวมกันทั้ง 3 ชั้นว่า ตรีบูรนั้น จึงออกจะเป็นเรื่องชวนพิศวง)

 

เมื่อจัดการน้ำได้ มีน้ำกินน้ำใช้ คนสุโขทัยก็จึงทำไร่ทำนาได้นะครับ ข้อมูลจากความก้าวหน้าทางโบราณคดีก็ทำให้เรารู้ว่า สุโขทัยมีที่นาอยู่ตรงบริเวณไหนบ้างด้วยเหมือนกัน

ที่นาสำคัญในของสุโขทัย อยู่ทางตะวันออกนอกคูน้ำคันดินเมืองสุโขทัย บริเวณวัดพระพายหลวง เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันดินล้อมรอบขนาด 1,200 x 800 เมตร ติดกับลำน้ำแม่ลำพันที่ไหลเลียบผ่านลงทิศใต้ แล้วมีร่องน้ำลำเหมืองสำหรับชักน้ำและระบายน้ำผ่านบริเวณนี้

พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีคันดินล้อมรอบนี้คือ “นาหลวง” หมายถึงที่นาของหลวง ของเจ้าเมือง หรือกษัตริย์ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและอยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐ เพื่อสะสมเสบียงไว้กินในยามแล้ง หรือยามศึกสงคราม ส่วนในยามปกติก็ใช้เป็นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดีสำหรับหลวงเป็นการเฉพาะ

ดังนั้น จึงเป็นบริเวณที่ต้องกำหนดไว้เป็นพิเศษ มีผู้ดูแลระบบทดน้ำ ระบายน้ำ เพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพาะปลูกในพื้นที่นาหลวงมีผลผลิตดีเลิศนั่นเอง

รอบพื้นที่นาหลวง นอกคูน้ำคันดินเมืองสุโขทัยแต่ยุคแรกเริ่ม กระจายไปทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำธรรมชาติคือลำน้ำแม่ลำพันเป็นสายหลัก และมีลำน้ำสายเล็กไหลจากที่สูงลงมาหล่อเลี้ยง

ผลจากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจภาคสนามของนักโบราณคดี ยังพบร่องรอยของการทำฝาย และขุดลำเหมืองเพื่อระบายน้ำ หมายความว่าพื้นที่บริเวณนี้ควรเป็นพื้นที่เพาะปลูกทำไร่นานั่นแหละ

แต่สุโขทัยในยุคนู้นจะอุดมสมบูรณ์เสียจน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จริงอย่างสำนวนในจารึกพ่อขุนรามคำแหงหรือเปล่า ผมเองก็ไม่รู้หรอกนะครับ รู้ก็แต่ว่า ที่เมืองสุโขทัยมีน้ำกินน้ำใช้ สามารถนำน้ำมาทำเรือกสวนไร่นาได้ ก็เพราะผู้คนในสมัยในนั้นทำความเข้าใจกับธรรมชาติรอบตัวเอง จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี และจัดการกับน้ำได้ต่างหาก •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ