กฎหมายอากาศสะอาด ‘ฉลุย’?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ภาพนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งเซ็นอนุมัติร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของพรรคก้าวไกลบนเก้าอี้หินข้างทาง ระหว่างไปตรวจงานที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 11 มกราคม กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่บรรดาสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่แสดงความเห็นในหลากหลายมิติ

สำหรับผมภาพนี้สะท้อนให้เห็นว่าคุณเศรษฐาเป็นผู้นำที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานและทำงานได้ทุกหนแห่งไม่ว่าจะอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศ ไม่จำเป็นต้องนั่งเซ็นในทำเนียบ

ในประเด็นฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 คุณเศรษฐาแสดงความเห็นมาเป็นระยะๆ และยังโพสต์ในเฟซบุ๊ก “เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin” มีเนื้อความว่า เข้าไปอ่านในเพจ “สู้ดิวะ” ของคุณหมอกฤตไท ธนกฤตสมบัติ ด้วยความรู้สึกหลายอย่าง สะเทือนใจที่คุณหมอต้องเป็นมะเร็งปอด ทั้งๆ ที่ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

“แม้คุณหมอป่วย แต่คุณหมอกลับส่งแรงบันดาลใจและพลังใจให้กับคนที่ติดตามเพจ เตือนให้เราเห็นคุณค่าของทุกนาทีของชีวิตเรา”

นายกฯ เศรษฐาเขียนผ่านโซเซียลอีกว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่าย คนไทยได้รับผลกระทบจากปัญหา PM 2.5 ไม่ใช่แค่มลพิษ แต่คือปัญหาสุขภาพที่พรากชีวิตคนที่เรารักไปก่อนเวลาอันสมควร

“ผมจะสู้ให้เต็มที่ ร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพราะอากาศสะอาดต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน”

มองผ่านมิติทางการเมือง สะท้อนว่าเป็นนายกฯ ที่เปิดใจกว้างรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์และลงมือทำทันที

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายพรรคก้าวไกลโวยกลางสภาผู้แทนฯ ว่ารัฐบาลเล่นเกมยื้อไม่ยอมให้นายกฯ เซ็นร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่เป็นของพรรคฝ่ายค้านเข้าสู่การพิจารณาในสภา

ขณะที่ร่างกฎหมายที่มีเป้าหมายหลักการเหมือนๆ กันคือการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งนายกฯ เศรษฐาเซ็นอนุมัติส่งให้สภาไปแล้ว 4 ฉบับ

วันรุ่งขึ้น นายกฯ ให้เจ้าหน้าที่ส่งร่างกฎหมายอากาศสะอาดของพรรคก้าวไกลขึ้นเครื่องบินตามไปเซ็นแล้วส่งไฟล์กลับไปให้สภาในบ่ายวันเดียวกัน

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อประชาชน” มีทั้งหมด 7 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาในสภา เป็นเรื่องเร่งด่วนเมื่อบ่ายวันที่ 11 มกราคม ขออนุญาตนำมาไล่เรียงบันทึกไว้ตรงนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ…. เป็นร่างของรัฐบาล ที่มอบหมายให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เป็นผู้จัดทำ นำเสนอในนามคณะรัฐมนตรีโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ…. เป็นร่างของพรรคเพื่อไทย นำโดยคุณจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ

3. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ…. ของพรรคภูมิใจไทย นำเสนอโดยคุณอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ

4. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ…. ของพรรคพลังประชารัฐ นำเสนอโดยคุณตรีนุช เทียนทอง กับคณะ

5. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ…. เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอโดยคุณวทันยา บุนนาค กับคณะ

6. ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ…. ของพรรคก้าวไกล คุณภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ และคณะ นำเสนอ

7. ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ…. เป็นร่างของเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย นำเสนอโดยคุณคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม และประชาชผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 22,251 คน

 

พล.ต.อ.พัชรวาท ลุกขึ้นชี้แจงต่อสภาถึงหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับที่เป็นของรัฐบาลว่า ปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี

ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต กระทบต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ ทั้งงบประมาณในการรักษาพยาบาลความเสียหายต่อธุรกิจท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการ

“จึงจำเป็นต้องกำหนดกลไกในการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่และพัฒนา บูรณาการจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน” พล.ต.อ.พัชรวาทชี้แจงในสภา

ร่างกฎหมายอากาศสะอาด ฉบับอื่นๆ นั้น มีการนำเสนอกลไกที่จะมาควบคุมแก้ปัญหาการปล่อยมลพิษในอากาศคล้ายๆ กัน เช่น ให้ตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายอากาศสะอาดมีนายกฯ เป็นประธาน เขียนแผนแม่บทการบริหารจัดการ

ร่างบางฉบับให้อำนาจหน้าที่ไปตรวจสอบแหล่งมลพิษทางอากาศ นำเสนอให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดค่าความเป็นพิษขั้นสูง ขั้นต่ำที่เกิดจากมลพิษ กำหนดเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงหลักเกณฑ์การประเมินต้นทุน ความเสียหาย ผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดจากมลพิษในอากาศ

กำหนดมาตรฐานการปล่อยทิ้งอากาศเสียสู่ชั้นบรรยากาศ รวมไปถึงจัดทำฐานข้อมูลของพื้นที่มลพิษ วางระบบติดตามตรวจสอบมลพิษอย่างต่อเนื่องและแจ้งเตือนประชาชนในเขตพื้นที่ทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

ในบางร่าง เช่น ร่างของพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย นอกจากเน้นพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์ในระบบดิจิทัลแล้ว ยังกำหนดให้มีเจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาด มีอำนาจเรียกข้อมูลจากผู้ก่อมลพิษ

อีกหลายร่างมุ่งเน้นการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์จูงใจลดการมลพิษทางอากาศ และกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองพื้นที่ปล่อยมลพิษในอากาศนอกเขตแดนประเทศไทยต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ร่างของพรรคก้าวไกล เปิดโอกาสให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ช่วยขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ

 

สําหรับบทลงโทษผู้ก่อมลพิษในอากาศ แต่ละร่างมีความแตกต่างกัน เช่น ร่างของเครือข่ายอากาศสะอาดกำหนดโทษปรับและให้นำค่าปรับส่งเข้ากองทุนอากาศสะอาด ไม่ต้องส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน เงินจากกองทุนนำไปใช้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

พรรคเพื่อไทย เสนอบทลงโทษผู้ปล่อยมลพิษ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท และปรับในอัตราก้าวหน้า 200 เปอร์เซ็นต์ กรณีทำผิดซ้ำใน 1 ปี

ในร่างของพรรคภูมิใจไทยกำหนดบทลงโทษผู้ปล่อยมลพิษ มีโทษจำคุก 3-6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างของรัฐบาล กำหนดไว้ในมาตรา 87 ว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษในอากาศนอกราชอาณาจักรไทย ทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของคนไทย ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยหรือปรับสถานเดียวไม่มีจำคุก ไม่มีการกักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท

และชำระค่าปรับเป็นพินัยอีกไม่เกินวันละ 1 ล้านบาท ให้โทษปรับเป็นพินัยอย่างสูงรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

 

จากวันนี้ไป ก็ต้องจับตาดูว่า ส.ส.ผู้ทรงเกียรติจะโหวตผ่านร่างกฎหมายอากาศสะอาด ฉบับใด

เมื่อกฎหมายอากาศสะอาดมีผลบังคับใช้แล้ว อากาศประเทศไทยยังปนเปื้อนพิษติดอันดับโลกอยู่อีก

รัฐบาลคุณเศรษฐาคงต้องแสดงความรับผิดชอบเพราะบริหารจัดการมลพิษในอากาศล้มเหลว •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]