อีกด้านของมรดกโลก (1) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2566 UNESCO ได้ประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Cultural World Heritage) ซึ่งถือเป็นแหล่งที่ 4 ของประเทศไทย โดย 3 แหล่งก่อนหน้านี้คือ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย (พ.ศ.2534) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร จ.พระนครศรีอยุธยา (พ.ศ.2534) และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี (พ.ศ.2535)

ด้วยเวลายาวนานกว่า 30 ปีที่ไม่เคยมีการประกาศมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทยเลย ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวเป็นจำนวนมาก ทั้งการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง มีการจัดทัวร์ท่องเที่ยวศรีเทพกันอย่างคึกคัก มีงานเสวนาวิชาการเกิดขึ้นมากมาย ไปจนถึงการผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ที่ใช้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะในเมืองศรีเทพ ทั้งหมดทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญตลอดปลายปีที่ผ่านมา

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า นอกจากมรดกโลกทางวัฒนธรรม UNESCO ยังมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในอีกรูปแบบ คือ มรดกโลกทางธรรมชาติ (Natural World Heritage) ซึ่งประเทศไทยมีอยู่ 3 แห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (พ.ศ.2534) กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (พ.ศ.2548) และกลุ่มป่าแก่งกระจาน (พ.ศ.2564)

นอกจากนี้ UNESCO ยังมีทะเบียนมรดกในอีก 2 รูปแบบที่แยกออกมาจากมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ คือ มรดกความทรงจำโลก (Memory of the World) และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage of Humanity)

ในส่วนมรดกความทรงจำโลก ประเทศไทยมีอยู่ 5 อย่าง คือ ศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง (พ.ศ.2546) เอกสารของรัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสยาม (พ.ศ.2552) จารึกวัดโพธิ์ (พ.ศ.2554) บันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมฯ (พ.ศ.2556) และ ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ (พ.ศ.2559) ส่วนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มี 4 อย่าง คือ โขน (พ.ศ.2561) นวดแผนไทย (พ.ศ.2562) โนรา (พ.ศ.2564) และสงกรานต์ (พ.ศ.2566)

งานฉลองมรดกโลกเมืองศรีเทพเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2566
ที่มาภาพ : มติชนออนไลน์

การมีมรดกโลกเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ส่งผลดีอย่างไม่ต้องสงสัย มีงานศึกษามากมายเขียนถึงอย่างครอบคลุมจนไม่จำเป็นต้องอธิบายซ้ำในที่นี้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และคนในชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศจึงอยากผลักดันแหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณสถาน ประเพณี เอกสารโบราณ ตลอดจนย่านเมืองเก่าของตนเองขึ้นเป็นมรดกโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ดูจะได้รับความสนใจมากที่สุดและมีการผลักดันอย่างกว้างขวาง เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี, พระธาตุพนม จ.นครพนม, เมืองเก่าเชียงใหม่, วัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช, และปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

อย่างไรก็ตาม มรดกโลกก็เป็นเหมือนทุกสิ่งอย่างในโลกนี้นะครับ คือ ไม่ได้มีแต่ผลกระทบด้านบวกเพียงอย่างเดียว ในหลายกรณี มรดกโลกได้กลายมาเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ไม่น้อย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงการเมืองระหว่างประเทศ

 

ภายใต้กระแสตื่นตัวเรื่องมรดกโลกของสังคมไทย ผมเลยอยากใช้โอกาสนี้เล่าถึงผลกระทบเชิงลบอันเป็นข้อเท็จจริงอีกด้านซึ่งเกิดขึ้นกับมรดกโลกในหลายกรณี เพื่อเป็นข้อสังเกตเล็กๆ สำหรับคนที่สนใจหรือเกี่ยวข้องในเรื่องนี้จะได้นำไปจัดวางท่าที ตลอดจนวิธีคิด หานโยบายที่เหมาะสมและมีความสมดุลในการบริหารจัดการประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต

ประเด็นแรกที่อยากพูดถึง คือ การขาดความเข้าใจ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ต่อเป้าหมายหลักของมรดกโลกที่ต้องการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติให้ดำรงอยู่และส่งทอดต่อคนรุ่นต่อไป

ในหลายสังคม (สังคมไทยคือหนึ่งในนั้น) มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นนำทางสังคม กลับมีท่าทีต่อ “มรดกโลก” ในความหมายของ “มรดกชาติ” เพื่อสร้างความรักและภาคภูมิใจให้แก่คนในชาติตนเองว่ามีความเจริญทางวัฒนธรรมไม่แพ้ชนชาติใดในโลก

ความรักและภาคภูมิใจไม่ใช่สิ่งผิดนะครับ แต่หลายสังคมมรดกโลกกลายเป็นตัวขับเคลื่อน “ความคลั่งชาติ” มากกว่า “ความรักชาติ”

พูดให้ชัดก็คือ ในหลายกรณี “มรดกโลก” ถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิด “ชาตินิยม” ซึ่งส่งผลทำให้มรดกโลกกลายเป็นสนามของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศไปด้วยไม่ตั้งใจ

และบางกรณีส่งผลกระทบรุนแรงที่ก่อให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อโดยไม่จำเป็น

 

ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างญี่ปุ่นและจีน ภายหลังจากเทศบาลเมือง Minamikyushu ของญี่ปุ่น พยายามที่จะขอขึ้นทะเบียน จดหมาย 333 ฉบับของนักบินกามิกาเซ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขียนถึงครอบครัวในวาระสุดท้ายก่อนไปขึ้นบินโจมตี ใส่ในบัญชีมรดกความทรงจำโลก เมื่อราวปี พ.ศ.2557 คือตัวอย่างที่น่าสนใจของกรณีนี้

จดหมายทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ Chiran Peace Museum for Kamikaze Pilots บนเกาะคิวชู โดยนายกเทศมนตรีเมืองให้เหตุผลในการเสนอว่า ไม่ได้ต้องการที่จะเชิดชูหรือหาเหตุผลเข้าข้างการกระทำของญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น แต่เป้าหมายหลักคือการรักษาบันทึกของโศกนาฏกรรมแห่งสงครามนี้เอาไว้ให้คนรุ่นต่อไปเพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ซ้ำอีก

แต่ไม่นานหลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ทางการจีนได้ออกมาคัดค้านอย่างรุนแรง โดย Hua Chunying โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมากล่าวว่า สิ่งนี้เป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์การรุกรานของลัทธิทหารญี่ปุ่นให้กลายเป็นสิ่งสวยงาม

และการยื่นคำร้องของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ขัดต่อภารกิจของ UNESCO ในการรักษาสันติภาพโลกโดยสิ้นเชิง

กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ สิ่งนี้คือความพยายามฟอกขาวประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นและอุดมการณ์เชื้อชาตินิยมสุดโต่งของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกผ่านเวทีมรดกโลก

ขณะเดียวกัน จีนก็ตอบโต้ด้วยการขอให้มีการขึ้นทะเบียนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ที่หนานจิงในปี พ.ศ.2480 โดยฝีมือกองกำลังทหารญี่ปุ่น (ซึ่งมีรายงานว่าได้คร่าชีวิตชาวจีนไปมากกว่า 300,000 คน) ในฐานะมรดกความทรงจำโลก

แม้สุดท้ายจดหมายทั้ง 333 ฉบับของนักบินกามิกาเซ่จะถูก UNESCO ตีตกไป แต่ตัวอย่างนี้ก็แสดงให้เราเห็นว่า มรดกโลกมิได้เป็นพื้นที่ตามอุดมคติที่เราคิดว่ามันควรจะเป็นเสมอไป

 

อีกตัวอย่างที่ร้ายแรงยิ่งกว่าคือ ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ.2551-2554

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ.2551 เมื่อปราสาทพระวิหารได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากการดำเนินเรื่องขอขึ้นทะเบียนโดยรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งในเวลาต่อมาได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มชาตินิยมที่มีความคิดว่าปราสาทพระวิหารควรเป็นของประเทศไทย

ความตึงเครียดขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลทั้งสองประเทศนำเรื่องเข้าสู่องค์กรระหว่างประเทศ มีการปิดพรมแดน มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนที่มีแนวคิดชาตินิยมในทั้งสองประเทศเพื่อสนับสนุนการกระทำของรัฐบาลตน

สุดท้ายนำไปสู่การปะทะกันทางทหารหลายครั้ง ซึ่งทำให้ทหารและพลเรือนของทั้งสองประเทศเสียชีวิตมากกว่า 40 คน บาดเจ็บมากกว่า 200 คน และมีชาวบ้านต้องอพยพออกนอกพื้นที่มากถึง 85,000 คน (อ้างอิงข้อมูลจาก “สาระ+ภาพ : ยอดผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากกรณีความขัดแย้งเขาพระวิหาร” เว็บไซต์ ประชาไท https://prachatai.com/journal/2013/01/44601)

กรณีขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารได้กลายเป็นสนามต่อสู้ของชาตินิยมไทยและชาตินิยมกัมพูชาอย่างน่าเสียดาย กลุ่มชนชั้นนำทั้งสองประเทศต่างฉวยใช้มรดกโลกมาปลุกระดมความคิดชาตินิยมเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของกลุ่มตน กล่าวเฉพาะในส่วนของไทย กรณีดังกล่าวได้กลายมาเป็นชนวนเหตุที่สำคัญประการหนึ่งในการชุมนุมทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาล ณ ขณะนั้น

แม้กรณีนี้จะจบลงไปนานพอสมควรแล้ว แต่เชื้อมูลความคิดชาตินิยมสุดโต่งของทั้งสองประเทศก็ยังดำรงอยู่ และพร้อมที่จะระเบิดขึ้นทุกครั้งที่มีการพูดถึงประเด็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คาบเกี่ยวซ้อนทับกันอยู่ระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามรดกวัฒนธรรมที่ซ่อนทับกันอยู่เหล่านั้นกำลังจะถูกประเทศใดประเทศหนึ่งเสนอชื่อเข้าไปบรรจุอยู่ในทะเบียนมรดกโลก ความคิดชาตินิยมของทั้งสองประเทศก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ดังนั้น มรดกโลกในด้านหนึ่งจึงมีสถานะไม่ต่างจากน้ำมันที่พร้อมจะปลุกกองไฟแห่งอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งให้ลุกโชนขึ้นใหม่อยู่เสมอ หากสังคมไม่มีสติและปัญญาที่มากพอในการทำความเข้าใจว่ามรดกโลกที่แท้จริงนั้นมีเป้าหมายว่าอย่างไร