ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (กษัตริย์มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ)

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (28)

ย้อนอ่านตอนที่ (27) 

ในตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงการถกเถียงในสภาแห่งชาติในประเด็นเรื่อง อำนาจของกษัตริย์ในการลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยอธิบายแนวคิดแรกที่เห็นว่า กษัตริย์มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ และกษัตริย์เป็นองค์กรร่วมในการสถาปนารัฐธรรมนูญ

ในตอนนี้ จะกล่าวถึงแนวคิดที่สองที่เห็นเช่นเดียวกันว่ากษัตริย์มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ แต่กษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ

แนวคิดนี้พยายามประสานสองความคิดที่ขัดแย้งกันให้เข้ากัน ด้านหนึ่ง สภาแห่งชาติเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ตามหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของชาติ

อีกด้านหนึ่ง คือ ระบบกษัตริย์ที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานและตั้งอยู่บนความชอบธรรมทางจารีตประเพณี

แนวคิดนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่สรุปว่า รัฐธรรมนูญเกิดจากการตัดสินใจฝ่ายเดียวขององค์กรผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เพราะหากสรุปเช่นนั้น ก็ต้องยืนยันว่า ถ้าไม่ใช่ชาติก็ต้องเป็นกษัตริย์ที่เป็นผู้ตัดสินใจสถาปนารัฐธรรมนูญ แต่หันไปเลือกใช้ความคิดเรื่อง รัฐธรรมนูญ คือ สัญญาหรือข้อตกลงแทน

Joseph Mounier สมาชิกสภาแห่งชาติและประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดแรก เป็นแกนนำสำคัญของแนวคิดดังกล่าว เขาเขียนงานเรื่อง Consid?ration sur les gouvernements et principalement sur celui qui convient ? la France (ข้อพิจารณาว่าด้วยระบบการปกครองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าด้วยระบบการปกครองที่ควรนำมาใช้ในฝรั่งเศส) ในปี 1789 เพื่อเสนอต่อสภาแห่งชาติ

ในงานชิ้นนี้ Mounier เสนอว่า ถ้าหากเป็นความจริงว่าจนทุกวันนี้ ประชาชนชาวฝรั่งเศสยังไม่เคยมีรัฐธรรมนูญ แต่นั่นก็ไม่อาจทำให้เราสรุปได้ทันทีว่าประเทศฝรั่งเศสไม่มีเคยมีรัฐบาลหรือระบบการปกครองมาก่อนเลย

ก่อนที่ฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญ ฝรั่งเศสก็มีกษัตริย์และมีระบบการปกครองแบบกษัตริย์ การอธิบายว่าเมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญมาก่อน ก็เลยไม่มีรัฐบาล ไม่มีกษัตริย์ เป็นเรื่องเหลวไหล

ถ้าอธิบายเช่นนี้ ก็หมายความว่า ก่อน 1789 ประเทศฝรั่งเศสไม่เคยเป็นรัฐ ไม่มีผู้ปกครอง ไม่มีการจัดโครงสร้างการปกครอง ไม่มีกฎหมาย กลายเป็นว่าฝรั่งเศสไม่มีประวัติศาสตร์

เขายังชี้ชวนให้สภาแห่งชาติยอมรับความเป็นจริงว่า การเกิดขึ้นของสภาแห่งชาติและการที่สมาชิกสภาแห่งชาติได้มาประชุมกันอยู่นี้ เกิดจากการเรียกประชุมของหลุยส์ที่ 16 แน่นอน มีแรงกดดันบีบบังคับให้หลุยส์ที่ 16 ต้องเรียกประชุมสภา แต่ถ้าหากหลุยส์ที่ 16 ไม่ตกลงด้วย ก็ไม่มีทางที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาและเปิดประชุมสภาได้

เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ถึงการดำรงอยู่ของกษัตริย์ และพระราชอำนาจของกษัตริย์

เช่นเดียวกันกับ Clermont-Tonnerre เขาเสนอว่า สภาแห่งชาติที่เกิดขึ้นจากอำนาจของกษัตริย์นี้ไม่อาจทำลายรูปแบบของรัฐแบบกษัตริย์ได้ ทำได้แต่เพียงจำกัดอำนาจกษัตริย์เท่านั้น

นอกจากนี้ Lally-Tollendal ได้อ้างเอกสารรวบรวมคำร้องทุกข์ของฐานันดรที่สาม (Les cahiers de dol?ances) เพื่อยืนยันถึงความต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้

ดังนั้น สภาย่อมไม่อาจมีมติหรือตัดสินใจในเรื่องใดที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่ปรากฏอยู่ในคำร้องทุกข์ได้

อย่างไรก็ตาม แม้สมาชิกสภาฝ่ายนี้ยืนยันถึงการดำรงอยู่ของกษัตริย์ที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ แต่อีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็อธิบายว่า การใช้อำนาจของกษัตริย์เพื่อเรียกประชุมสภานี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายหรือลิดรอนเสรีภาพของประชาชน

ดังนั้น เมื่อสภาแห่งชาติจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพ กษัตริย์จึงไม่อาจขัดขวางได้ กษัตริย์ทำได้แต่เพียงเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ในนัยนี้เอง สมาชิกสภาฝ่ายนี้จึงสรุปว่า ด้วยอำนาจของกษัตริย์ที่มีมาแต่ดั้งเดิมก่อนมีรัฐธรรมนูญ กษัตริย์จึงมีส่วนร่วมในการทำรัฐธรรมนูญด้วย แต่การมีส่วนร่วมดังกล่าวเป็นไปในลักษณะควบคุมดูแลการทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่ทำลายรัฐธรรมนูญหรือขัดขวางการทำรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น กษัตริย์จึงต้องลงนามในรัฐธรรมนูญและให้สัตยาบันยินยอมในรัฐธรรมนูญ

ความแตกต่างระหว่างแนวคิดแรกกับแนวคิดที่สอง คือ แนวคิดแรก ยืนยันว่ากษัตริย์เป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้ายอย่างเด็ดขาดว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ในขณะที่แนวคิดที่สอง เห็นว่ากษัตริย์ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญเสมอ เว้นเสียแต่ว่ารัฐธรรมนูญที่สภาแห่งชาติจัดทำขึ้นมานั้นไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของชาติ ความแตกต่างสำคัญจึงอยู่ที่คำว่า “การยอมรับรัฐธรรมนูญ” (l”acceptation de la Constitution)

ในความเห็นของสมาชิกสภาฝ่ายนี้ กษัตริย์ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ หมายถึง กษัตริย์ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแบบเด็ดขาด หรือ Absolute Veto กษัตริย์ไม่มีอำนาจในการทำให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การลงนามของกษัตริย์เป็นแต่เพียงการยอมรับในรัฐธรรมนูญ (acceptation) ไม่ใช่การประกาศใช้ให้รัฐธรรมนูญมีผล (sanction)

อย่างไรก็ตาม กษัตริย์มีหน้าที่ในการเป็นผู้พิทักษ์รักษาเจตจำนงของชาติ

ดังนั้น เพื่อมิให้สภาแห่งชาติฉวยเอาอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญที่ตนได้มาจากชาติไปทำลายเจตจำนงของชาติเสียเอง กษัตริย์จึงต้องเป็นผู้รับประกันเจตจำนงของชาตินี้ไว้ โดยกษัตริย์มีอำนาจพิจารณาว่าองค์กรผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำรัฐธรรมนูญโดยละเมิดเจตจำนงของชาติหรือไม่ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนั้นมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของชาติ กษัตริย์ย่อมมีอำนาจในการไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ

ด้วยการให้เหตุผลเช่นนี้เอง ทำให้สมาชิกสภาฝ่ายสนับสนุนกษัตริย์นำมาใช้อธิบายว่าในเมื่อเจตจำนงของชาติต้องการรักษากษัตริย์และพระราชอำนาจของกษัตริย์ไว้ หากสภาแห่งชาติยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหากระทบต่อพระราชอำนาจกษัตริย์ กษัตริย์สามารถไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญนั้นได้

Malouet สมาชิกสภาแห่งชาติได้นำคำว่า “ยอมรับ” หรือ “accepter” มาใช้ในการอภิปรายเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1789 เพื่อยืนยันอำนาจของกษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญว่า ในกรณีที่กษัตริย์ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญที่องค์กรผู้มีอำนาจทำรัฐธรรมนูญได้จัดทำมานั้นสอดคล้องกับความปรารถนาของชาติ กษัตริย์ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ ลงนาม และปฏิญาณตนว่าจะเคารพและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

การยอมรับรัฐธรรมนูญโดยกษัตริย์ไม่ได้เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการชี้ชะตาว่ารัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือชาติ โดยแสดงออกผ่านทางสภาแห่งชาติ เมื่อสภาแห่งชาติจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญก็มีผล กษัตริย์จะยอมรับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ

ในนัยนี้ กษัตริย์จึงไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญร่วม เพราะกษัตริย์ไม่มีอำนาจตัดสินใจว่ารัฐธรรมนูญจะอยู่หรือไป แต่กษัตริย์เป็นเพียงองค์กรที่เข้ามาร่วมในงานที่เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อความเห็นของสมาชิกสภาฝ่ายนี้ยืนยันว่าในฐานะกษัตริย์เป็นองค์กรพิทักษ์รักษาเจตจำนงของชาติ หากรัฐธรรมนูญที่สภาแห่งชาติจัดทำขึ้นมานั้นไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของชาติ กษัตริย์อาจปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญก็ได้ เช่นนี้แล้ว ผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร?

แน่นอน รัฐธรรมนูญคงไม่ตกไป เพราะหากให้เป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่ากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ชี้เป็นชี้ตายรัฐธรรมนูญได้

แต่ถ้ารัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับต่อไปได้ โดยปราศจากการยอมรับของกษัตริย์ แล้วการที่กษัตริย์ปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญจะทำไปเพื่ออะไร และนำมาซึ่งอะไร?