ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (กษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ดุลยภาพ)

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (27)

ย้อนอ่าน  ตอน26   ตอน25

ความคิดของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปีกอนุรักษนิยมตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ของอังกฤษที่มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างกษัตริย์ รัฐบาล สภาขุนนาง และสภาสามัญ

โดยสถาบันการเมืองเหล่านี้ต่างก็มีอำนาจในแดนของตน และตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

พวกเขาอ้าง Montesquieu เพื่อยืนยันว่า การแบ่งแยกอำนาจให้ได้อย่างดุลยภาพนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งใช้อำนาจโดยมิชอบ

พวกอนุรักษนิยมมักนำประสบการณ์ในอดีตและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากล่าวอ้าง และให้ความสำคัญแก่เรื่องเหล่านี้มากกว่าหลักการที่ถูกต้อง

พวกเขาไม่เชื่อว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสจะกลายเป็นประชาชนแบบใหม่ได้ สุดท้ายประชาชนก็ยังคงถูกครอบงำอยู่ดี

ดังนั้น การยอมให้ประชาชนหรือสภาอันเป็นตัวแทนของประชาชนมีอำนาจอย่างเต็มที่ อาจทำให้เกิดอันตรายตามมาได้

ในขณะที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปีกก้าวหน้า ได้แก่ Salle, Pe’tion, Gre’goire, Rabaut Saint-Etienne, Sieye’s กลับเห็นไปในทางตรงกันข้าม

Salle เห็นว่า ชาวฝรั่งเศสไม่ได้เป็นทาสที่ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนอีกต่อไปแล้ว พวกเขาเป็นประชาชนใหม่ที่การปฏิวัติได้สร้างขึ้น กฎหมายที่ดีย่อมช่วยให้ไพร่กลายเป็นพลเมือง

หากการตรากฎหมายของสภาแห่งชาติแต่ละครั้งต้องขอความยินยอมจากกษัตริย์ทุกครั้งไป เช่นนี้แล้ว ชาวฝรั่งเศสก็ยังคงมีสถานะเป็นไพร่อยู่ต่อไป ไม่มีวันที่จะยกระดับขึ้นเป็นพลเมืองได้ เพราะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

ฝ่ายก้าวหน้ายืนยันด้วยว่า กษัตริย์เป็นเพียงองค์กรที่รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญ (pouvoir constitu?) ไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หลังการปฏิวัติ กษัตริย์เกิดขึ้นมาใหม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นมา ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นผลงานของสภาแห่งชาติ

ดังนั้น สภาแห่งชาติต่างหากที่เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant)

การอภิปรายในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาแห่งชาติตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุลาคม 1789 มีประเด็นสำคัญอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ อำนาจของกษัตริย์ในการลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อำนาจของกษัตริย์ในการประกาศใช้กฎหมายที่สภาแห่งชาติตราขึ้น และวุฒิสภา ซึ่งทั้งสามประเด็นนี้ถือเป็น “หัวใจ” ของปัญหาระบบการเมืองของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติในช่วงปีแรกๆ นั่นคือ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบบใหม่

ในประเด็นแรก อำนาจของกษัตริย์ในการลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เกี่ยวพันไปถึงปัญหารากฐานของการเมืองสมัยใหม่ที่ว่าสุดท้ายแล้วใครเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

เราอาจสรุปความคิดที่ไหลเวียนอยู่ในช่วงเวลานั้นได้ 3 แนวคิด ได้แก่

หนึ่ง กษัตริย์มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ และกษัตริย์เป็นองค์กรร่วมในการสถาปนารัฐธรรมนูญ

สอง กษัตริย์มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ และกษัตริย์เป็นองค์กรดูแลให้รัฐธรรมนูญสอดคล้องกับเจตจำนงของชาติ

และสาม รัฐธรรมนูญก่อตั้งกษัตริย์ และชาติเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

แนวคิดแรก กษัตริย์มีมาก่อนรัฐธรรมนูญ และกษัตริย์เป็นองค์กรร่วมในการสถาปนารัฐธรรมนูญ (co-constituant)

แนวคิดนี้สัมพันธ์กับความคิดทางคริสต์ศาสนา โดยอธิบายผ่านทฤษฎีเทวสิทธิ์ (Divine Right) อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ความคิดแบบศาสนาเป็นใหญ่เริ่มเสื่อมถอยลงไป ทำให้ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ต้องปรุงแต่งให้เข้ากับสถานการณ์เสียใหม่

แนวคิดนี้นำโดยบาทหลวง Maury เขาเริ่มต้นจากการอธิบายว่าประเทศฝรั่งเศสมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่มาอย่างช้านานแล้ว และในยุคสมัยนั้นก็มี “รัฐธรรมนูญ” ที่กำหนดรูปแบบการปกครองไว้ให้เป็นระบบกษัตริย์

การปกครองในระบบกษัตริย์ ไม่ได้หมายความว่า มีบุคคลมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ได้ตามแต่ใจ แต่ความเป็นกษัตริย์ได้ถ่ายทอดลงไปในตัวบุคคลที่มาดำรงตำแหน่ง

หลุยส์ที่ 16 ใช้อำนาจของตนที่มีตามรัฐธรรมนูญของระบบกษัตริย์เรียกประชุมสภาฐานันดร ไม่ใช่เพื่อให้สภาฐานันดรมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ให้สภาฐานันดรมาปรับปรุงรัฐธรรมนูญของระบบกษัตริย์ที่มีอยู่แล้ว โดยต้องไม่กระทบกระเทือนกับหลักการพื้นฐานของระบบกษัตริย์นั้น

ในนัยนี้ องค์กรผู้จัดทำรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่สภาแห่งชาติที่ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ เพราะสภาในลักษณะนี้ คือการรวมตัวกันในนามชาติเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หากสภามีอำนาจเช่นนี้ ย่อมหมายความว่า ชาติได้ลุกขึ้นต่อต้านกษัตริย์ของตน

Maury ยืนยันว่า เราไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่า สภาที่กำลังประชุมกันอยู่เกิดจากการริเริ่มของกษัตริย์ หากหลุยส์ที่ 16 ไม่ตัดสินใจเรียกประชุมสภา ก็ไม่มีทางที่สภาจะประชุมกันได้

ดังนั้น สภาฐานันดรจึงเป็นองค์กรที่รับมอบอำนาจมาจากกษัตริย์ หากยอมให้สภาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยที่กษัตริย์ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ก็จะเกิดผลประหลาด

เขาอธิบายต่อไปว่า สภาที่รับมอบอำนาจจากกษัตริย์ไปปฏิรูปรัฐธรรมนูญนี้ มีอำนาจจำกัด สภาไม่อาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจนกระทบกับพระราชอำนาจของกษัตริย์ได้ หากจะมีการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ให้ปลาสนาการไปจากประเทศฝรั่งเศส ก็ต้องให้ประชาชนลุกขึ้นสู้เท่านั้น

แนวคิดเช่นนี้ นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสหลังปฏิวัติ 1789 เป็นผลพวงมาจากสัญญาที่ตกลงกันระหว่างกษัตริย์และสภา

ทั้งกษัตริย์และสภาต่างก็เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญร่วมกัน

กล่าวคือ กษัตริย์เรียกประชุมสภา จากนั้นสภาก็ไปจัดทำรัฐธรรมนูญ (ภายใต้ข้อจำกัด ห้ามกระทบกับหลักการพื้นฐานของระบบกษัตริย์) เมื่อสภาจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ กษัตริย์ก็เป็นผู้ลงนามประกาศใช้ โดยกษัตริย์อาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ได้

ในนัยนี้ ย่อมหมายความว่า กษัตริย์มีอำนาจในการยับยั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้โดยเด็ดขาด

ฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดเช่นนี้จึงไม่มีวันยอมรับวิธีการที่ให้กษัตริย์ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญเสมอ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการ “เขี่ย” ให้กษัตริย์หลุดพ้นไปจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ และพระปรมาภิไธยของกษัตริย์มิได้เกิดจากการตัดสินใจโดยแท้ของตนเอง แต่เกิดจากการถูกบังคับให้ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ

พวกเขาเห็นว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่ต่างอะไรกับการไม่มีกษัตริย์ การมีหรือไม่มีพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่สาระสำคัญ เมื่อกษัตริย์ต้องถูกบังคับให้ต้องลงนาม โดยไม่อาจตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้ แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนให้กษัตริย์ลงนามก็ได้

และเมื่อไม่ต้องมีพระปรมาภิไธยของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ แล้วจะมีกษัตริย์ไว้ทำไม