ส.ว.โชว์อิทธิฤทธิ์ เปิดศึกซักฟอกรัฐบาล ก่อนหมดวาระ นักวิชาการ ตั้งคำถาม เร็วไปไหม?

เปิดศักราชใหม่มา สถานการณ์ทางการเมืองของไทยก็ดูจะมีประเด็นร้อนสะเทือนรัฐบาลอยู่เป็นระยะ

เริ่มตั้งแต่การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่พรรคฝ่ายค้านจัดหนักจัดเต็มประเด็นการใช้งบฯ ของรัฐบาล ตั้งแต่วันแรกจนวันที่สามของการอภิปราย

ซึ่งภายหลังการอภิปรายงบฯ จบลง ทางฟากฝั่ง ส.ว.ที่กำลังจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 ก็เริ่มขยับเขยื้อนต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ด้วยการจะขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ซักฟอกการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” ทั้งที่เพิ่งจะบริหารประเทศได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น

ส.ว.ที่คุ้นหน้ากันดีอย่าง “นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” กล่าวถึงการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ว่า จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ก็น่าจะมีข้อยุติ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าเรื่องระยะเวลาในการทำงานไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่กี่วัน หากทำไม่ดีก็มีค่าเท่ากัน ดังนั้น จะมาบริหาร 3-4 เดือน หรือ 3-4 ปี ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาลว่าบริหารประเทศชาติได้ดีหรือไม่ หากทำไม่ดีเพียง 1 วันก็แพงเกิน

นายกิตติศักดิ์ยังได้กล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับเพื่อน ส.ว. ก็เห็นว่าพฤติกรรมของรัฐบาลในขณะนี้มีเสียงสะท้อนเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องของ “นายทักษิณ ชินวัตร” และเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังไม่มีใครตอบคำถามพี่น้องประชาชนที่สงสัยได้ ดังนั้น สิ่งที่ยังปกปิดอยู่จะต้องมีความชัดเจนต่อประชาชนให้ได้

เมื่อถูกถามว่าไม่เกรงว่าจะเกิดข้อครหาหรือไม่ เพราะ ส.ว.ไม่อภิปรายรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แต่กลับอภิปรายรัฐบาลชุดนี้ที่บริหารประเทศมาเพียง 4 เดือน นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ก็เทียบกันได้ แต่เราคิดว่าถ้าด้วยความเป็นธรรม ตอนนี้ผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 8-9 ปีที่ผ่านมาได้เกิดมรรคผลอะไรบ้าง

ในขณะที่รัฐบาลของนายเศรษฐา 3-4 เดือนที่ผ่านมาทำอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์จับต้องได้บ้าง

 

“ส.ว.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม” สนับสนุนอีกเสียงว่า การอภิปรายทั่วไประบุไว้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เฉพาะเรื่อง ถือเป็นสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อรัฐบาลได้รับความไว้วางใจจากทั้ง ส.ส. ส.ว. เข้ามาบริหารประเทศ ดำเนินการนโยบายต่างๆ ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะให้ความสนใจ สอบถามความชัดเจนตามรัฐธรรมนูญที่ระบุ เพื่อให้รัฐบาลมาชี้แจงเรื่องต่างๆ ที่ทำไป รวมถึง ส.ว.สามารถเสนอแนะความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลเอง เพราะหลายๆ เรื่องที่ประชาชนคลางแคลงสงสัย นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถใช้สภาอธิบายผ่านผู้แทนฯ ได้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าจะได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย

แม้รัฐบาลเพิ่งจะเข้ามาทำงาน 4 เดือน บางนโยบายยังไม่ได้มีการดำเนินการ โดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่ง ส.ว.ดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า นี่คือประเด็นปัญหา ทั้งเรื่องที่ขยับแล้วหรือยังไม่ขยับก็เป็นประเด็น

ถ้าเรามองภาพกว้างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อยากให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ มีการทำประชามติ ก็มีปัญหาหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วิธีการ ความจำเป็น ขอบเขตที่จะแก้ไข รวมถึงที่มาของ ส.ส.ร. ที่จะให้ ส.ส.มายกร่าง

หรือแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่โปร่งใส ไม่รวดเร็ว ยังไม่ได้อธิบายต่อประชาชนให้เข้าใจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นความคาดหวังของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติอีกด้วย

“เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศในเรื่องที่สำคัญ การขับเคลื่อนผ่านรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ยังไม่สำเร็จ อยากรู้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับทิศทาง และวิธีการเหล่านี้อย่างไร ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน หลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมา เวลามีกระทู้ถามด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ รวมถึงหารือความเดือดร้อนของประชาชนไปยังฝ่ายบริหาร บางครั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็ไม่มาตอบ ตรงนี้เป็นผลเสียของรัฐบาลเอง ดังนั้น การมีรัฐธรรมนูญมาตรา 153 จึงเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”

พร้อมยกตัวอย่างกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่โปร่งใสขึ้นมาประกอบ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม ทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ที่ยังมีคดีต่างๆ ค้างอยู่ เช่น กระบวนการบริหารโทษในกรมราชทัณฑ์ว่า ทำไมถึงมีบางคนถูกเลือกปฏิบัติต่างจากประชาชนทั่วไป ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อยู่ชั้น 14 กรณีเดียว แต่เราพูดถึงภาพกว้างด้วย

เมื่อถามว่าหวังให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ ส.ว.ดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า ข้อดีของมาตรานี้ คือกำหนดให้รัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน จากที่พูดคุยกับ ส.ว.นอกรอบ พบว่าคนที่เห็นด้วยกับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ มีมากกว่าจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าชื่อแน่นอน

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส.ว.ดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า หลายคนมองถึงความจำเป็น เป็นวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผิดกฎหมายฉบับไหน ดำเนินการได้หรือไม่ มีหลายแง่มุมที่ยังมีข้อถกเถียง ดังนั้น ทำไมเราไม่ให้ผู้รับผิดชอบมาชี้แจง เพื่อไม่ให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ตรงนี้ไม่อยากให้มองตัวบุคคล แต่อยากให้มองถึงรัฐบาล ว่าสถานการณ์เวลานี้มีประเด็นที่มากพอ มีประโยชน์หรือไม่ในการอภิปราย

 

ขณะที่มี ส.ว.อย่าง “พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช” ออกมาให้ความเห็นว่าการที่ ส.ว.จะซักฟอกรัฐบาล ตาม ม.153 นั้น เร็วเกินไป ส่วนตัวมองว่าขอผ่านสิ้นปีงบประมาณก่อนจะเหมาะกว่า มี ส.ว.บางคนติดใจทำไมไม่อภิปรายรัฐบาลที่แล้ว ที่ทำงานมา 4 ปี แต่กลับจะอภิปรายรัฐบาลชุดนี้ที่ทำงานมา 3 เดือน ตอนนี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างและยังไม่เห็นรายละเอียดว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ติดใจเรื่องอะไร จึงต้องขอความชัดเจนก่อน เพราะต้องใช้รายชื่อ ส.ว. 84 คน ลงนามเพื่อขอเปิดอภิปราย ซึ่งถือว่าไม่ใช่จำนวนที่น้อย

“ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับเพื่อน ส.ว.บางคนบอกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วทำงานมา 4 ปีทำไม ส.ว.ไม่เปิดอภิปรายเลย รัฐบาลชุดนี้ทำงานมา 3 เดือนกว่า กลับจะเปิดอภิปรายแล้ว ดังนั้น ก็ต้องดูประเด็นว่าจะใช้มาตรานี้หรือไม่ ขอให้สิ้นปีงบประมาณนี้ไปก่อน แต่พวกตนก็คงไปก่อนเหมือนกัน” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

และเมื่อถามย้ำว่า การเปิดอภิปรายครั้งนี้ถือเป็นการทิ้งทวนของ ส.ว. หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวติดตลกสั้นๆ เพียงว่า

“ผมไม่มีทวนที่จะทิ้ง”

 

“รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ ม.หอการค้าไทย ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง มติชนทีวี ถึงประเด็นนี้ โดยกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ ส.ว.เตรียมขอซักฟอกรัฐบาล เพราะรัฐบาลพึ่งจะทำงานได้ไม่กี่เดือน จะมาซักฟอกอะไรกัน คิดว่าควรจะดำเนินการทางการเมืองแบบพรรคก้าวไกล ที่เป็นการดำเนินการที่มีคุณภาพ การอภิปรายเรื่องงบประมาณก็เอาเรื่องเนื้อหานำ การตรวจสอบ การนำเสนอความเห็น ดูภาพรวมแล้วค่อนข้างสร้างสรรค์ ถามว่าเมื่อเป็น ส.ว. ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าทุกคนจะมีคุณภาพแบบเดียวกัน

“บางคนก็ค่อนข้างมีจุดยืนที่อาจจะไม่ได้เป็นมิตรนักกับพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ดูจากตอนเลือกนายกรัฐมนตรีก็เห็นอยู่ แต่พอดีมันมีดีลหรือข้อตกลงในโค้งสุดท้ายใช่ไหมครับ ถึงกลับลำมาเลือก เดิมๆ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ตอนนี้อาจจะมีสัญญาณใหม่ก็ได้ ถูกไหมครับ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ไม่อยากไปวิเคราะห์ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ต้องปล่อยให้รัฐบาลทำงานไประยะหนึ่งก่อนครับ แล้ว ส.ว.เองก็ไม่ได้เป็นผู้แทนประชาชนด้วยนะ แต่งตั้งโดย คสช. จะเอาสิทธิ์อันชอบธรรมอะไรมาตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครับ” ดร.อนุสรณ์กล่าว

ดร.อนุสรณ์ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ส.ว.มีอำนาจมากเกินไปภายใต้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 ส.ว.จะมีอำนาจมากก็ต่อเมื่อคุณต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่คือระบอบของประชาธิปไตย

“เราต้องเอาเสียงของประชาชนเป็นใหญ่”