หาก ‘เวียงอาลัมพางค์’ มิใช่บริเวณ ‘พระธาตุลำปางหลวง’ แล้วไซร้? (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นความเห็นของ “อาจารย์ศักดิ์ (สักเสริญ) รัตนชัย” ปราชญ์ล้านนาคนสำคัญแห่งเมืองลำปาง ที่ได้เสนอแนวคิดที่ว่า “เวียงอาลัมพางค์ ไม่ได้อยู่แถวพระธาตุลำปางหลวง หากควรอยู่แถวบริเวณกู่ขาว-กู่คำด้านทิศตะวันตกของเวียงเขลางค์มากกว่า”

ประเด็นเรื่อง “เวียงอาลัมพางค์ควรตั้งอยู่ที่ไหน?” ถูกพับเก็บขึ้นหิ้งมานาน ด้วยคนทั่วไปยอมรับทฤษฎีที่ว่า “เวียงอาลัมพางค์ ก็คือบริเวณพระธาตุลำปางหลวง” นั่นเองอย่างกว้างขวางมานานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว รวมทั้งตัวดิฉันเองก็เข้าใจและเชื่อเช่นนั้นมาโดยตลอด

ไม่ทราบว่าปีใดแน่ชัดนัก แต่เท่าที่มีเอกสารบันทึกของอาจารย์ศักดิ์ พบว่าราว พ.ศ.2512 พบว่าอาจารย์ศักดิ์เริ่มเปิดประเด็นแย้งว่าไม่เห็นด้วยต่อทฤษฎีดังกล่าวสู่สาธารณะมาแล้วเป็นอย่างน้อย ทว่า เสียงขานรับว่าอาลัมพางค์ควรอยู่ประชิดกับเวียงเขลางค์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแถววัดพระเจ้าทันใจ กู่ขาว กู่คำ ก็ยังไม่มีกระแสตอบรับอย่างจริงๆ จังๆ แต่ประการใด

จนกระทั่งประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ในเวทีเสวนาทางวิชาการ ณ ห้องประชุมลำปางมิวเซียม

งานนี้จัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ข่วงหลวงเวียงละกอนครั้งที่ 3” นั่นคือเวทีที่เหล่าสานุศิษย์ต้องการเชิดชูคุณูปการของอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย ผู้เป็นปราชญ์เมืองลำปางในด้านต่างๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ด้านผู้สืบสานจารึกอักษรธัมม์ล้านนา ครูผู้สอนตั๋วเมือง นักแต่งเพลง นักประดิษฐ์ท่าฟ้อนรำ นักจัดรายการวิทยุสื่อสารมวลชน นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ

ในที่สุดงานนี้ มีการหยิบยกประเด็นเรื่อง “ตามหาเวียงอาลัมพางค์ ตกลงอยู่ที่ไหนกันแน่?” ขึ้นมาปัดฝุ่นและถกเถียงกันอีกครั้ง นั่นคือประเด็นที่นำเสนอผ่าน “อาจารย์มงคล ถูกนึก” อดีตอาจารย์จากโรงเรียนลำปางกัลยาณี ผู้สนใจชีวิตและผลงานของอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย

ภาพเก่าวัดพระธาตุลำปางหลวง (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) จุดที่นักวิชาการกระแสหลักเชื่อว่าคือเวียงอาลัมพางค์ ที่เจ้าอนันตยศสร้างถวายพระนางจามเทวี

อาลัมพางค์คือเวียงแม่

เขลางค์คือเวียงลูก

ก่อนที่จะมาถกเถียงกันว่า “อาลัมพางค์” นั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ ระหว่างบริเวณที่เป็นวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา (ตามความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่ ศ.แสง มนวิทูร ผู้ปริวรรตชินกาลมาลีปกรณ์ สืบมาจนถึงการตอกย้ำอย่างแน่นหนักของ ศ.สุรพล ดำริห์กุล อดีตอาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มช.) หรือควรอยู่ทางทิศตะวันตกของเวียงเขลางค์ (ตามแนวคิดของ อ.ศักดิ์ รัตนชัย) นั้น

ขอปูพื้นเรื่องเวียงอาลัมพางค์ให้ผู้อ่านที่ไม่ใช่ฮาร์ดคอร์ด้านประวัติศาสตร์ล้านนาให้ทราบกันสักนิด

ราว พ.ศ.1223 ช่วงที่เจ้าอนันตยศ พระราชโอรสแฝดน้องของพระนางจามเทวี สร้างเมืองเขลางค์นครโดยมีฤๅษีสุพรหมเป็นผู้วางรากฐานให้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำวังด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือนั้น

อยู่มาได้สักระยะ เจ้าอนันตยศมีพระราชประสงค์จะสร้างเมืองอีกแห่งถวายแด่พระราชมารดา โดยเมืองแห่งนั้นมีชื่อว่า “อาลัมพางค์” (จามเทวีวงส์ และพงศาวดารโยนก) หรือ “ลำพาง” (ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา)

อย่างไรก็ดี เอกสารตำนานทุกฉบับระบุตรงกันว่า เมืองอาลัมพางค์แห่งนี้ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากนครเขลางค์เกินไปนัก อยู่ใกล้กันจนถึงขนาดที่ว่า เจ้าอนันตยศสามารถเดินทางไปเข้าเฝ้าปรนนิบัติพัดวีพระนางจามเทวีได้แทบทุกวันเช้าเย็น เวียงทั้งสองนี้มีลักษณะประดุจดั่งเวียงเดียวกัน

“พระนครนั้นพระพรหมฤๅษีสร้างแล้วในเนินอันย้อยมาตามแนวเขลางค์นคร คนทั้งหลายจึงได้เรียกพระนครนั้นว่า อาลัมพางค์นคร”

วลีที่ว่า “ในเนินอันย้อยมาตามแนวเขลางค์นคร” ที่ปรากฏในตำนานจามเทวีวงส์ หมายความว่าอย่างไรกันแน่ หากอ่านแล้วตีความตามตัวอักษร คล้ายกับว่าอาลัมพางค์เป็นเมืองที่อยู่ประชิดติดกันกับเขลางค์ตามแนวกำแพงกระนั้น?

เบื้องแรกนี้ขออธิบายให้ผู้อ่านทราบพอสังเขปก่อนว่า เวียงเขลางค์ซึ่งมีศูนย์กลางตั้งอยู่แถววัดพระแก้วดอนเต้านั้น เป็นเวียงของลูกคือเจ้าอนันตยศ ส่วนเวียงอาลัมพางค์นั้น ลูกตั้งใจสร้างถวายแม่ จึงเป็นเวียงของแม่ ถือเป็นเวียงคู่กัน

ผังเมืองลำปางยุคก่อน ที่อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย จัดทำไว้ จุดที่ 1 คือเวียงเขลางค์ของเจ้าอนันตยศ ส่วนโบราณสถานกลุ่มที่ 2 ตั้งอยู่นอกเวียงเขลางค์ทางทิศตะวันตก คือกลุ่มของวัดร้างพันเชิง วัดพระเจ้าทันใจ วัดร้างกู่ขาว วัดกู่คำ ทั้งหมดนี้คือเวียงอาลัมพางค์ ตามความเชื่อของอาจารย์ศักดิ์

อาลัมพางค์ ควรห่างจากเขลางค์แค่ไหน?

มาช่วยกันตีปริศนาทีละประเด็น ปัญหาที่เราต้องช่วยกันขบคิด ไล่เรียงกันไปมีดังนี้

ข้อแรก หากอาลัมพางค์คือบริเวณเกาะคาจริง ซึ่งเราทราบกันดีแล้วว่าพระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่ห่างจากวัดพระแก้วดอนเต้ามากถึง 16-18 กิโลเมตร การเดินทางไปปรนนิบัติพัดวีพระราชมารดาของเจ้าอนันตยศได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ตลอดระยะเวลาที่พระนางจามเทวีทรงประทับอยู่นานกว่า 6 ปีนั้น แต่ละครั้งที่เจ้าอนันตยศเดินทางไปกลับระหว่างสองเวียงต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ สำหรับคนในอดีต?

คำนวณจากการเดินทางโดยรถยนต์ในปัจจุบันใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หากเดินเท้าหรือขี่เกวียนใช้เวลา 4 ชั่วโมง ส่วนการเดินทางโดยเรือล่องไปตามแม่น้ำวัง ขาลงจากอำเภอเมืองไปเกาะคาใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง ขากลับทวนน้ำขึ้นสู่วัดพระแก้วดอนเต้าใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

ในขณะที่บริเวณวัดพระเจ้าทันใจ กู่ขาว กู่คำ อยู่ห่างจากประตูตาล ทางทิศตะวันตกของเวียงเขลางค์ไปเพียง 600 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 6 นาที

นี่เป็นเหตุผลหลัก ที่ทำให้อาจารย์ศักดิ์เชื่อว่า เวียงอาลัมพางค์ไม่ควรตั้งอยู่ที่เกาะคา เพราะไกลเกินไป

แน่นอนว่ามันก็ย้อนแย้งกันอีก หากอาลัมพางค์มิใช่บริเวณพระธาตุลำปางหลวงแล้วไซร้ ไฉนที่นั่นจึงเอาชื่ออาลัมพางค์ไปใช้ด้วยเล่า (ลัมพางค์ กับลำปาง คือคำเดียวกัน เพราะภาษาล้านนาตัว พ อ่านออกเสียงเป็นตัว ป) เกิดอะไรขึ้นหรือ?

ประเด็นนี้ ขอแยกไปวิเคราะห์อย่างละเอียดในสัปดาห์หน้า

ก้อนศิลาแลงเก่าขนาดมหึมาวางพิงกำแพงวัดพระเจ้าทันใจ เขียนป้ายว่า ย้ายมาจากวัดร้างพันเชิง

อาลัมพางค์ เวียงชั่วคราวหรือถาวร?

ควรมีผังเมืองชัดเจนไหม?

ข้อสอง หากอาลัมพางค์เป็นเวียงที่ตั้งอยู่แถววัดพระเจ้าทันใจ กู่คำ กู่ขาว แล้วไซร้ ไฉนบริเวณนี้จึงไร้คันน้ำคูดิน สภาพของผังเวียงดูเปะปะไม่เป็นรูปเป็นร่างเอาเสียเลย

ทำให้คนที่เชื่อมั่นว่าอาลัมพางค์คือบริเวณพระธาตุลำปางหลวง มองว่ากลุ่มวัดเก่านอกกำแพงเวียงทิศตะวันตกของเขลางค์ เป็นเพียงวัดปริมณฑลที่อยู่รอบนอกเวียงเขลางค์เท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นอีกเวียงหนึ่ง

มาดูกลุ่มโบราณสถานที่อาจารย์ศักดิ์ปักใจเชื่อว่าคือเวียงอาลัมพางค์นั้นประกอบด้วยสถานที่ใดกันบ้าง

1.วัดพระเจ้าทันใจ 2.วัดกู่คำ 3.โบราณสถานร้างกู่ขาว กู่แดง วัดร้างพันเชิง (ปันเจิง) หนองฟ้าเลื่อน (หนองฟ้าเลี่ยน) ฯลฯ

กล่าวโดยสรุป มีวัดอยู่สองแห่งเท่านั้นที่ได้รับการฟื้นให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาในปัจจุบัน ได้แก่ วัดพระเจ้าทันใจ และวัดกู่คำ ส่วนโบราณสถานร้างกู่ขาว เหลือแต่สภาพหนองน้ำ กองอิฐกระจัดกระจายอยู่สองฟากถนน ส่วนกู่แดงถูกทำลายจนสูญหาย วัดพันเชิงก็ไม่เหลือร่องรอย หนองฟ้าเลื่อนฤๅจะเหลือสภาพ

ชื่อวัดพระเจ้าทันใจเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ในยุคหลัง อาจารย์ศักดิ์สันนิษฐานว่า บริเวณนี้อาจเป็นที่ประทับของพระนางจามเทวี เมื่อหมดยุคหริภุญไชย จุดนี้เปลี่ยนสภาพให้เป็นวัดในยุคล้านนา (ในอดีตจะชื่อวัดอะไรนั้นมิอาจทราบได้) กระทั่งปัจจุบันมีการสร้างเสนาสนะใหม่จำนวนมากทับที่ของเดิม

อาจารย์มงคล ถูกนึก ผู้เปิดประเด็นเสวนาเรื่องนี้ นำเสนอข้อมูลใหม่ว่า ท่านได้ไปสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าทันใจ ถึงเรื่องสระน้ำภายในวัด ในทำนองว่าทำไมวัดนี้จึงมีสระน้ำรายรอบวัดจำนวนมากเหลือเกิน?

ก้อนอิฐขนาดมหึมา ก่ออยู่ด้านหน้าวัดพระเจ้าทันใจเขียนว่า ได้มาจากวัดร้างพันเชิง อาจารย์มงคล ถูกนึก เมื่อเร็วๆ นี้ได้นำอิฐบางก้อนส่งไปตรวจหาค่าอายุที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กำลังรอคำตอบอยู่

เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าทันใจตอบกลับว่า สิ่งที่คนทั่วไปเห็นว่าเป็นสระน้ำนั้น แท้จริงไม่ใช่เลย ก่อนที่จะบูรณะฟื้นฟูวัดแห่งนี้ “น้ำทั้งหมดที่เห็นอยู่ แท้จริงแล้วคือคูน้ำที่ล้อมรอบวัด” ซึ่งวัดมีพื้นที่มากถึง 9 ไร่ แต่ด้วยความจำเป็นด้านประโยชน์ใช้สอย จึงมีการถมคูน้ำบางด้าน หรือบางช่วงบางตอนไป เหลือคูน้ำเว้าๆ แหว่งๆ เพียงบางส่วน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ทั้งหมดที่เห็นนี้เป็นสระน้ำ ที่ขุดแบบเว้นวรรคเป็นช่วงๆ

อาจารย์มงคลตั้งคำถามต่อผู้เข้าร่วมเสวนาว่า “เป็นไปได้หรือไม่ที่คูน้ำล้อมรอบวัดพระเจ้าทันใจทั้งหมดนี้ ที่แท้เป็นคือเวียง?” (คำว่า “คือ” ภาษาล้านนาแปลว่า “คูน้ำ”) โดยที่เวียงอาลัมพางค์ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ ก่อกำแพงมหึมา ด้วยเหตุที่เป็นเวียงประทับชั่วคราวของพระราชมารดา หลังจากที่พระนางจามเทวีสิ้นพระชนม์ ก็อาจไม่มีใครมาประทับอีก โดยเอกสารต่างๆ เรียกเวียงอาลัมพางค์ว่า “สนาม” บ้างเรียก “พลับพลา” คือน่าจะสร้างขนาดพอประมาณใช้เป็นที่ประทับแบบลำลอง

สอดคล้องกับหลักฐานที่ ผศ.ทิวา ศุภจรรยา ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ทางอากาศ เคยทำภาพถ่ายดาวเทียมไว้ ท่านได้พบคูน้ำคันดินวงหนึ่ง ซึ่งอยู่นอกเวียงขลางค์ด้านทิศตะวันตกว่ามีอยู่จริง แต่ต่อมาถูกไถทำลายไป

ในเมื่อบริเวณกลุ่มโบราณสถานทิศตะวันตกของเขลางค์ พอจะพบซากคูน้ำคันดินบ้างแล้ว ก็มาถึงคำถามที่ว่า แล้วบริเวณพระธาตุลำปางหลวงเล่า มีร่องรอยของคูเมืองบ้างหรือไม่

คำตอบคือ คูน้ำคันดินที่นี่มีแน่นอน ก่อรอบโอบล้อมองค์พระธาตุลำปางหลวง มองจากภาพถ่ายทางอากาศ มีคูเมืองแน่นหนา ทำให้ภายหลังเรียกกันว่า เวียงพระธาตุลำปางหลวง

เรื่องราวของเวียงอาลัมพางค์ตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่ยังไม่จบ มาติดตามต่อในฉบับหน้า •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ