‘ชยพล สท้อนดี’ อดีต ‘เด็กจิตรลดา-เตรียมทหาร’ สู่ดาวสภาผู้ตั้งฉายา ‘สุทิน ดาวน์น้อย’

หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 คนทั่วไปน่าจะไม่รู้จักเด็กหนุ่มรูปร่างเล็กกะทัดรัด-เจาะหูสองข้างชื่อ “ชยพล สท้อนดี”

ส่วนคนที่อ่านข่าวการเมือง ก็อาจพอทราบว่า ชยพล คือ ส.ส.กทม. เขต 8 (จตุจักร-หลักสี่) พรรคก้าวไกล ที่พลิกล็อกโค่น “สุรชาติ เทียนทอง” จากเพื่อไทย

กระนั้นก็ดี หลายคนอาจปรามาสว่าชยพลคงเป็นหนึ่งในนักการเมืองหน้าใหม่ที่เข้าสภามาได้ด้วยกระแสวูบวาบฉาบฉวยของก้าวไกล ทว่า ไม่น่าจะมีคุณสมบัติส่วนบุคคลที่โดดเด่นนัก

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 วาระแรก ชยพลกลายเป็น “ดาวสภารุ่นใหม่” ที่แจ้งเกิดได้งดงาม ผ่านการอภิปรายงบฯ กองทัพ และการตั้งฉายา “สุทิน ดาวน์น้อย” ให้แก่ รมว.กลาโหม อย่างเจ็บแสบและ “ฟังขึ้น”

สังคมจึงเริ่มสนใจว่า “ดาวสภา” รายนี้คือใคร? มาจากไหน?

เดือนเมษายน 2566 ชยพลเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์ FEED ตั้งแต่ยังมีสถานะเป็นผู้สมัคร ส.ส. ถึงภูมิหลังของตนเอง

“(ผม) เกิดในครอบครัวที่เรียกว่ามีฐานะทางสังคมค่อนข้างดี เขาก็เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ตอนที่คลอดออกมาวันแรก ก็คลอดออกมาในฐานะของลูกทูตทหารแล้ว อายุสองสัปดาห์ออกจากตู้อบปุ๊บบินไปอยู่จีนสองปี ตอนนั้นสมัยพ่อเหลือสองปี เสร็จแล้วก็ได้ไปอยู่พม่าต่ออีกสามปี หลังจากนั้น พ่อก็เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ไปเรื่อยๆ

“แล้วเราก็ได้ไปเรียนจิตรลดาต่อ โรงเรียนจิตรลดาอย่างที่ทุกคนอาจจะเคยได้ยินกันมาก่อน ก็เป็นโรงเรียนที่อยู่ในวังสวนจิตรฯ มีตั้งแต่อนุบาลยันมัธยม ผมก็เรียนอยู่ในช่วง ป.5 จนถึง ม.3 เสร็จแล้วก็ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งก็ได้เดินตามรอยของพ่อและปู่และตาและทวดอะไรของตัวเองเต็มไปหมดเลย คือที่บ้านก็รับราชการทหารกันมาตั้งแต่น่าจะสมัยรัชกาลที่ 6”

แม้จะเติบโตมาในครอบครัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แต่ชยพลหรือ “กู๊ดดี้” กลับตั้งคำถามกับแต้มต่อดังกล่าวอยู่ตลอด

“หลายๆ คน ถ้าเกิดอยู่หรือใช้ชีวิตแบบที่ผมเคยใช้มา เขาก็อาจจะตั้งหน้าตั้งตามองตรงไปข้างหน้า ว่าเราสามารถสรรค์สร้างอะไรให้ชีวิตตัวเองได้บ้าง เราสามารถไขว่คว้าอะไรได้บ้าง เราสามารถไปเป็นคนใหญ่คนโตที่ไหนได้บ้าง

“แต่ว่าตลอดเวลาตั้งแต่เด็ก ผมไม่เคยรู้สึกอินกับสิ่งเหล่านั้น ไม่เคยรู้สึกทัช เราไม่ทัชกับอะไรที่เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาให้มันดูวิเศษวิโสกว่าที่มันเป็นจริงๆ เราชอบอะไรที่มันปกติ เป็นมนุษย์มากกว่า

“แล้วก็ทำให้ทุกครั้งที่ครอบครัวเราเติบโต (ก้าวหน้า) เราเติบโตไปพร้อมกับครอบครัว ทุกคนเขาจะมองไปข้างหน้าใช่ไหม ว่าเขาไขว่คว้าอะไรได้บ้าง สามารถที่จะไปอยู่ในที่ตรงไหน แต่เราจะมองไปข้างหลัง ว่าเราทิ้งใครไว้เบื้องหลังบ้าง จากทุกย่างก้าวที่เราก้าวไป

“มันทำให้ตระหนักตลอดว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำ เราได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย เพราะจุดยืน (สถานะ) ของครอบครัว จุดยืนของตัวเราเอง เพราะตำแหน่งทางสังคมของเรา ตำแหน่งทางยศถาบรรดาศักดิ์อะไรต่างๆ”

ประสบการณ์ในสถานศึกษาที่มุ่งผลิตชนชั้นนำ ได้หล่อหลอมตัวตน วิธีคิด และจุดเปลี่ยนในชีวิตของชยพล

“จากการที่ผมเรียนจิตรลดามาก่อน ก็จะอยู่ในวงของคนที่มีหน้าตาทางสังคม พ่อแม่เป็นไฮโซ เป็นหม่อมกันเต็มไปหมด เราก็เข้าใจในมุมเขา เราก็เคยกินนอนอยู่บ้านเขา รู้จักกับพ่อแม่เขาหมด เราเข้าใจ แต่เราก็มองเห็นปัญหาด้วยเหมือนกัน

“ณ ตอนนั้น เราก็คุยกับข้าราชการในวังเยอะ แล้วทุกคนก็คือพี่ป้าน้าอาเรา ไม่เป็นพ่อแม่เพื่อน ก็คือเพื่อนพ่อแม่ เราก็เข้าใจว่าเขามีเพนพอยต์ (ปัญหาที่เป็นจุดอ่อน) อย่างไรบ้าง ว่าเขาอยากให้วงการตรงนี้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง เขาเองก็รู้ตัว ข้อเสียมันมีอะไรบ้าง

“หลังจากนั้น เราไปเข้าทหาร ตอนแรกเราจะรู้จักวงการทหารในมุมของการเป็นนายพล เพราะเราเป็นลูกของนายพล ก็จะเห็นว่าวงการทหารชั้นผู้ใหญ่เป็นอย่างไร ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้ชอบใจสักเท่าไหร่ มันเต็มไปด้วยการประจบประแจง มันเป็นการปลิ้นหลอกอะไรกันเต็มไปหมด เพื่อที่จะเข้าใกล้สู่อำนาจ

“แล้วพอเข้าเตรียมทหาร กลายเป็นทหารที่เริ่มต้นจากชั้นรากหญ้าสุด เป็นตัวเล็กตัวจ้อยตัวน้อยที่สุด มันเห็นภาพที่แตกต่างกันว่าตรงนั้น (ชีวิตนายพล) มันสวยหรู ทุกคนเข้าหาเรา เหมือนกับเราเป็นซูเปอร์สตาร์ อยู่ตรงนี้ คือไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะแอ๊ะ แค่พูดแอ๊ะขึ้นมา โดนตบเลย ไม่มีสิทธิ์ที่จะพูด ไม่มีสิทธิ์ที่จะอะไรเลย ไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อะไรทั้งสิ้น

“ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของการฝึกทหารเพื่อรองรับสถานการณ์พิเศษ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ในสถานการณ์พิเศษของสงคราม แน่นอนว่าความเป็นมนุษย์มันไม่เหลืออยู่

“แต่มันไม่ใช่แค่นั้น แค่เรื่องของการบริหารภายใน ที่มีการโกงเบี้ยเลี้ยง โกงยุทโธปกรณ์ โกงการจัดซื้อจัดจ้างการฝึกฝน มันแย่ไปหมด แล้วขนาดในโรงเรียนที่เป็นจุดสตาร์ตแรกสุดของการผลิตนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่สุดท้ายจะออกไปเป็นนายพลที่บริหารกองทัพ มันยังแย่ขนาดนี้ แล้วเราจะไปคาดหวังอะไรกับหลังจากนี้ที่เราเรียนจบไป ก็เลยทำให้ลาออกมา

“พอไปเข้าวิศวะ จุฬาฯ ก็เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด ระหว่างความคิดของเราที่เคยอยู่ทหารมาก่อน กับคนที่เป็นพลเรือนมาเต็มตัว ก็จะแลกเปลี่ยนวิธีคิดกัน ทำให้เราพัฒนาความคิดออกมาใหม่ ทำให้เราเริ่มสนใจ เริ่มตื่นตัวทางการเมือง เริ่มสลัดความคิดแบบทหารออกไป ที่มองว่าเราจะต้องเสียสละอะไรบางอย่างของตัวเอง เพื่อให้สังคมมันเดินหน้าต่อได้

“เริ่มมองว่าสิทธิพื้นฐานคือสิทธิของเรา คือสิทธิพึงมี ไม่ใช่สิทธิพิเศษที่ใครสักคนอนุญาตให้เรามีได้ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะฉะนั้น เราต้องปกป้องและหวงแหนในสิทธิพื้นฐานของเรา และถ้ามันถึงจุดที่เราจะต้องสูญเสียสิทธิพื้นฐาน เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อได้ อันนี้คือจุดที่เราต้องหันหน้าหาฝ่ายบริหาร ว่าบริหารอย่างไร?”

หลังจบการศึกษาสาขาวิศวกรรมอากาศยาน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชยพลประกอบอาชีพเป็นนักบินพาณิชย์ เขาเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้นอีก เมื่อเกิดพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562

“ตอนแรกเราก็ไม่ได้เชื่อใจอะไรเขาหรอก เราก็คิดว่าไอ้นี่มันขี้โม้หรือเปล่า? มันโผล่มาแล้วก็พูดอะไรใหญ่โต ทำได้จริงหรือเปล่า? นักธุรกิจหรือเปล่า? มันมาเพื่อผลประโยชน์ตัวเองเหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ หรือเปล่า? เป็นกลุ่มใหม่ที่ต้องการแค่จะแทรกตัวขึ้นมาสู่อำนาจหรือเปล่า?

“จนกระทั่งเขาเข้าไปในสภาจริงๆ แล้วแบบ เฮ่ย มันทำได้ว่ะ การที่เป็นคนธรรมดา การที่เป็นคนที่แค่อยากจะทำงาน มันเป็นไปได้จริง แล้วเราก็สามารถมองการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวได้ เราก็สามารถมีส่วนร่วมกับการเมืองได้”

เมื่อโควิดแพร่ระบาด โลกและประเทศติดอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ ท้ายสุด กู๊ดดี้ก็ต้องแยกทางกับสายการบินต้นสังกัด แล้วมุ่งเข้าสู่การเป็นนักการเมืองเต็มตัว ด้วยการร่วมงานกับพรรคก้าวไกล

หลังได้รับเลือกเป็น ส.ส. ชยพลเข้าทำงานใน กมธ.ทหาร โดยมีตำแหน่งเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ เขาเคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ The Politics ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ถึงพันธกิจของตนเอง เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่า

“ช่วงเวลาที่ผมอยู่เตรียมทหาร ผมจะได้สัมผัสอยู่อย่างหนึ่ง คือ หนึ่งสิ่งที่มันทำให้คนคนหนึ่งไม่สามารถจะพัฒนาตนเองได้ คือการไม่ฟังใคร

“วงการทหารมีเกียรติค้ำคอ ถ้าเกิดใครมาหยามมาแตะสักนิดหนึ่ง จะฮึดฮัดฉุนเฉียวตลอดเวลา พอคุณไปท้าทายอีโก้เขา เขาก็จะปิดหูใส่ แล้วบอกว่าคุณไม่ใช่คนใน คุณไม่รู้หรอก คุณไม่ได้อยู่ในวงการ คุณเป็นคนนอก คุณก็พูดไปเรื่อย

“นั่นคือสิ่งที่ผมเจอตอนผมอยู่เตรียมทหาร แล้วเขาก็ชอบพูดว่าทนไม่ไหวก็ลาออกไป ผมก็เลยลาออก พ่อผมก็ว้าวุ่นเลย นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าผมต้องแก้ให้ได้ คือการทำให้ทหารเป็นวงการที่ฟังกันมากกว่านี้ ฟังคนใน ฟังคนนอก

“อีกอย่างหนึ่ง พอมาเริ่มเป็นผู้แทนราษฎรแล้วได้คุ้ยกฎหมาย มันได้เห็นเรื่องของสภากลาโหม ที่ทำให้ผู้แทนฯ จากทางฝั่งราษฎร ไม่มีอำนาจในเชิงปฏิบัติเลยภายในกระทรวงกลาโหม

“เพราะทุกอย่างที่เป็นคำสั่งเกี่ยวข้องกับนโยบายทางการทหารหรืองบประมาณหรือกฎหมาย ต้องได้รับความเห็นชอบความยินยอมจากสภากลาโหม ซึ่งมี 25-28 ตำแหน่ง แล้วผู้แทนราษฎรเรามีประมาณสอง พอไม่ได้ตั้งรัฐมนตรีช่วย ก็มี (รมว.) หนึ่งหน่อท่ามกลางยี่สิบกว่านายพล

“ผมก็อยากจะแก้ตรงนี้ ให้กองทัพต้องยึดโยงกับประชาชนตั้งแต่ตัวกฎหมาย ที่ (ตอนนี้) ทำให้เขาเป็นเอกเทศเป็นพื้นที่ปกครองพิเศษ อยากแก้ไขตรงนี้ แล้วติดแฮชแท็ก #saveสุทิน เราต้องคืนอำนาจให้ท่าน”

นี่คือความปรารถนาของ “ชยพล สท้อนดี” ผู้ละทิ้งเส้นทางสาย “จักรดาว” สู่การเป็น “ดาวสภา”