‘เด็กหญิงของเมื่อวาน’ และการกลับไปในที่อื่น

บทความพิเศษ | ชาคริต แก้วทันคำ

 

‘เด็กหญิงของเมื่อวาน’

และการกลับไปในที่อื่น

 

“ก่อนปิดเทอมฤดูร้อนนั้นจะผ่านพ้น ชั่วขณะที่เด็กอย่างพวกเราปีนป่ายกัดแทะมะม่วงสุกบ้างดิบบ้างกินคาต้น พวกพี่สาวก็ได้กลายเป็นเด็กสาวไปในพริบตา” (น.32)

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “เด็กหญิงของเมื่อวาน” ของขวัญเรียม จิตอารีย์ ตีพิมพ์ในชายคาเรื่องสั้น 15 ประเทศสัจนิยมมหัศจรรย์ มีมาโนช พรหมสิงห์ เป็นบรรณาธิการ

โดยจะวิเคราะห์ตัวบทใน 3 ประเด็น ดังนี้

 

เกิดเป็นผู้หญิง

แท้จริงต้องป่าวประกาศ (ใช่ไหม?)

เรื่องสั้นนี้เล่าความรู้สึกนึกคิดของเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่เป็นทั้งภาพแทนตัวฉันและอาจหมายรวมถึงเด็กหญิงคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน สังคม ประเทศนี้ ที่ชีวิตกำลังจะผ่านจากเด็กหญิงชั้นประถม ไปสู่เด็กสาวมัธยม จากชนทบทสู่เมือง ที่ให้ภาพเปรียบชัดเจนถึงความหวังเรื่องการศึกษา (ต่อ) เพราะวิถีของเด็กหญิงต้องเดินทาง จากจักรยาน นั่งรถสองแถว เปลี่ยนสถานที่ จากบ้านเราสู่บ้านเช่า และสังคมใหม่ซึ่งต้องปรับตัว พูดไทยกลางกับครูและเพื่อนบางกลุ่ม

ดังนั้น จากเด็กหญิงสู่เด็กสาวของครอบครัวและหมู่บ้านจึงต้องทนกับคำสบประมาท ทั้งต่อหน้า ลับหลังว่าจะไปเป็น “เด็กหัวสูง” หรือ “เด็กใจแตก” หรือไม่ ซึ่งคำนินทาปรามาส มันสำคัญต่อความรู้สึกเด็กหญิง เพราะเธอต้องแบกความคาดหวังเพื่อไม่เดินไปสู่หนทางที่ผิด หรือทำให้ชีวิตตนต้องพังพินาศ

สังคมชนบทจึงมีลักษณะป่าวประกาศ ซึ่งขวัญเรียมสะท้อนความคิดนี้ผ่านการมีประจำเดือนครั้งแรกได้อย่างน่าฉุกคิดว่า

“เมื่อแม่รู้ ร้านขายของชำก็รู้ พร้อมกับพี่ป้าน้าอาคนอื่น เพื่อนบ้าน แม้กระทั่งเด็กเล็กยังรู้ ห่อผ้าอนามัยมาถึงมือเรา พร้อมกับกางเกงในเปื้อนเลือดที่ถูกกระชากจากหว่างขาให้ใครต่อใครดูชม” (น.36)

ข้อความข้างต้น ขวัญเรียมใช้คำว่า “กระชาก” แทนความรู้สึกได้อย่างเห็นภาพ มันมีความรุนแรงแฝงนัยในฐานะผู้ถูกกระทำจากคำพูดข้างนอก ที่ซ้ำเติมมาถึงข้างใน ทั้งๆ ที่การมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติและธรรมชาติของเพศหญิง

แต่สังคมชนบทที่ชอบซุบซิบนินทา นำเรื่องในที่ลับมาเล่าไขสู่สาธารณะด้วยสีหน้ายิ้ม แซวแหย่ประหนึ่งเรื่องสนุก “มีผัวได้แล้วนะ” ซึ่งหยาบโลน ไม่ให้เกียรติ คุกคามทางเพศ โดยไม่สนว่าสิ่งที่พูดและทำจะสร้างความอับอายหรือบาดแผลในใจให้กับเด็กหรือไม่ แทนที่ผู้ใหญ่จะให้ความมั่นใจกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หรือกระทั่งความเข้าใจในเรื่องเพศ

“ไม่มีช่วงเวลาใดผ่านไปโดยง่ายสำหรับเด็กสาว เครื่องเพศ ช่องคลอด เต้านมและมดลูกของเรา กลายเป็นเรื่องกำหนดคุณค่าความเป็นมนุษย์มากกว่าตัวตนเราด้วยซ้ำ” (น.37)

ข้อความข้างต้น คือใจความสำคัญของเรื่องสั้นนี้ มันสะท้อนความรู้สึกเบื้องลึกที่เด็กหญิงและเด็กสาวถูกกดทับ เริ่มจากความเชื่อ ความคาดหวังของครอบครัว สังคม ความเป็นชนบทที่ชอบสอดรู้เรื่องคนอื่น ซึ่งกดทับเรื่องเพศแบบชายเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิหรือผลที่จะตามมา ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจกำหนดคุณค่าของผู้หญิง เพราะมันถูกเฝ้ามองจับผิด ผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อ ผู้ถูกกระทำ

ก่อนจะนำไปสู่คำถามต่างๆ เช่น เรียนจบแล้วทำงานอะไร มีผัวหรือยัง แต่งงานเมื่อไหร่ ไม่มีลูกอีกหรือ?

โลกความเชื่อ-ผีในพื้นที่ชนบท

: ฉันไม่อาจกำหนดชีวิตนี้ได้ตั้งแต่เมื่อไร

นอกจากคุณค่าความเป็นหญิงที่ตัวละครฉันไม่อาจกำหนดได้ ด้วยถูกมองจากสายตาสังคมที่ชอบจับผิด ป่าวประกาศ นินทา ผู้หญิงยังต้องแบกรับความคาดหวังต่างๆ อย่างเรียนให้จบ ทำงานดี มีครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว ไม่ใช่รักแล้วเลิก “เข้ากันไม่ได้” มีลูกไว้เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า

แต่โลกชนบทที่ชีวิตถูกผูกโยงความเชื่อเรื่องผีปู่ย่าตามแบบสังคมล้านนา เมื่อผู้หญิงจะมีผัว นอกจากประกาศให้คนรู้แล้ว ยังต้องบอกกล่าวให้ผีรู้ด้วย หากผิดผี พ่อแม่พี่น้องคนในครอบครัวจะป่วยไข้ มันสะท้อนความชอบธรรมตามทำนองคลองจารีต ประเพณี เพราะผีปู่ย่าเป็นผีฝั่งผู้หญิง

นอกจากสายใยที่ถูกถักทอและยึดโยงตั้งแต่เกิด ขวัญเรียมยังวิพากษ์ความเชื่อดังกล่าวว่า “สายตาวิญญาณกำลังเฝ้ามองเราอยู่ทั้งยามหลับและยามตื่น เด็กสาวต้องกุมมือปิดช่องคลอด กอดประคองมดลูกของตนไว้ เพราะมันมิใช่ของเธอเพียงผู้เดียวตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว” (น.39)

การเกิดเป็นผู้หญิง (ในสังคมชนบทล้านนา) แท้จริงนั้นลำบาก เพราะนอกจากจะต้องแบกรับสถานะทางเพศที่ติดตัวมาแล้ว ยังถูกความเชื่อและพิธีกรรมกดทับไว้ด้วย มันถูกสั่งสม สืบทอดจนกลายเป็นกฎระเบียบ ไม่เช่นนั้นจะถูกคนติฉินนินทา ถูกผีปู่ย่าลงโทษ

สะท้อนความเป็นท้องถิ่นที่ถูกครอบงำ และด้อยค่าผู้หญิง เพราะชีวิตต่างถูกเฝ้ามองทั้งจากคนและผี

 

บ้านไม่มีคนอยู่

: เมื่อกลับไม่ได้-ต้องไปเป็นคนอื่น

เมื่อการศึกษาทำให้เกิดการย้ายถิ่น ไปทำงานในเมือง มีครอบครัวที่อื่น ภูมิลำเนาจึงไม่มีคนอยู่ มีเพียงคนแก่ที่รอวันลูกกลับมาเยี่ยมตามเทศกาล บางส่วนอาจติดตามลูกเต้าไปช่วยเลี้ยงหลานต่างจังหวัด

เรื่องสั้นนี้ยังกล่าวถึงประเด็นคนชนบทอพยพเข้าเมือง ไปเป็นคนอื่น (otherness) บางคนส่งหลานกลับมาให้ย่ายายเลี้ยง แล้วค่อยหาเวลามาเยี่ยม ซื้อของฝาก ส่งเงินให้ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของชนบท ความเป็นครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว สายใยความผูกพันเหินห่าง ด้วยเรื่องปากท้อง ชีวิต เศรษฐกิจ สังคมและระบบทุนนิยมที่รุกคืบ

ประเด็นน่าสนใจคือ บ้านที่ไม่มีคนอยู่นี้ มันอาจสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงของแผ่นดินถิ่นเกิดที่ลูกผู้หญิงบางคนไม่อยากอยู่ ไม่อยากกลับ จะด้วยเหตุผลความอับอายหรือการถูกมองเป็นอื่นในสังคมหรือบ้านเกิดตัวเองก็ตาม มันจึงเหมาะที่จะเป็นบ้านที่ถูกทิ้งร้าง ไม่ต่างจากหิ้งหอของผีปู่ย่า ที่ยังอยู่เหย้าเฝ้าโยง รอเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

โดยจะวิเคราะห์ 3 ตัวละครหญิงวัยเดียวกัน ดังนี้

คนแรก เด็กหญิงที่เรียนสายศิลป์ อยู่หอพักเดียวกับฉัน วันหนึ่งถูกพ่อแม่และลุงจับยัดรถกระบะกลับบ้าน หลังรู้ว่าเธอไปนอนค้างกับแฟนหนุ่ม ความอับอายของพ่อแม่ ญาติพี่น้องและวงศ์ตระกูลที่สนใจกับความเชื่อ คำซุบซิบนินทาแบบชนบท มันผลักไสให้เด็กคนหนึ่งไม่ได้เรียนต่อ เมื่อเรียนไม่จบก็ต้องทำงานรับจ้าง ค่าแรงต่ำ

“เขาว่ากันว่าเธอเดินจากโรงงานหนึ่งสู่โรงงานหนึ่ง จากผัวคนหนึ่งสู่ผัวอีกคนหนึ่ง ตะลอนไปกับร่างกาย เครื่องเพศ มดลูกและชีวิตที่เป็นของเธอ บ้านเกิดกลายเป็นทางเดินที่แสนไกล คับแคบ รกชัฏและมืดมิด เธอไม่หันหลังกลับ” (น.38)

ข้อความข้างต้น ผู้หญิงคนแรกถูกผลักไสจากสังคมชนบทให้ไปเป็นคนอื่น แต่เธอมีชีวิตที่กำหนดเลือกได้ด้วยตนเองซึ่งต้องแลกกับหลายอย่าง แม้จะมีข่าวคราวบอกเล่าต่อกันมา แต่การไม่กลับบ้านเกิดเลย เพราะกลับไม่ได้ เธอไม่ยอมหันกลับมาเผชิญสังคมที่ไม่เคยมีพื้นที่ให้ยืน

คนที่สอง ดาเพื่อนฉัน เรียนจบ ป.6 ไม่ได้เรียนต่อ สูตรสำเร็จคือแต่งงานกับคนบ้านเดียวกัน มีลูกสาวคนหนึ่ง ต่อมาติดเชื้อ HIV จากเคยทำงานโรงงาน ต้องกลับมาปลูกผักฟักแฟง แตงเต้า ข้าวโพดที่บ้านเกิด

เธอกลายเป็นคนที่กลับบ้านได้ เพราะไปไม่ถึง หลีกหนีชะตากรรมไม่พ้น ดาจึงมีสถานะเป็นคนของที่นี่และคนที่มาจากที่อื่นด้วย

คนสุดท้าย “ฉัน” เป็นตัวละครที่กลับมาดูบ้านไม่ให้ร้าง แล้วสลับกลับไปในที่ของตัวเอง ไปๆ มาๆ ทั้งไปเป็นคนอื่นในที่อื่น และเป็นคนอื่นในบ้านเกิดตัวเอง เมื่อยืนยันว่า “มดลูกของฉันยังเป็นของฉันแต่เพียงผู้เดียว” (น.43)

การกลับไปกลับมาอาจตีความได้ว่า บ้านเกิดในความหมายของฉัน ยังเป็นบ้านในทรงจำของเด็กหญิงคนเมื่อวาน อีกทั้งการกลับบ้านในบางครั้ง ยังมองได้ว่าฉันก็ไม่อยากไปมีชีวิตเป็นคนอื่น เพราะฉันกลัวจะไม่ถูกนับว่าเป็นคนของที่นี่ มันคือตัวตนคนเดิมของฉันที่มาเพื่อให้สังคมชนบทยอมรับแนวคิดที่แฝงนัยไว้ ฉันจึงกลายเป็นคน “ก้ำกึ่ง” ที่กลับมาได้ ไปไม่พ้น

แม้ตอนจบของเรื่องสั้นอาจมองได้อีกว่า ตัวละครเหมือนจะหลุดพ้น แต่ก็ไม่ ฉันยังเป็นลูกกตัญญู ทำตามคำสั่งแม่ที่ไม่อยากให้บ้านร้าง เพราะแม่ต้องไปช่วยน้องเลี้ยงหลาน กลายเป็นคนอื่นที่ยังห่วงและโหยหาบ้าน แต่ก็กลับไม่ได้ จึงฝากฝังเธอให้มาเยี่ยมแทน ตัวละครฉันจึงเท่ากับติดอยู่ในห่วงของคนอื่น เพราะเธอไม่มีห่วงเรื่องครอบครัวและลูก

อีกทั้งตัวละคร “ฉัน” ยังมีความน่าสนใจในพฤติกรรมขบถแบบเด็กๆ มีความแก่น แม้จะไม่ถึงกับออกมาเรียกร้อง ปกป้องสิทธิสตรีตามนิยามเฟมินิสต์เสียทีเดียว แต่ก็บอกเล่ากระแสความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงคนหนึ่งที่เลือกจะอยู่กึ่งกลางระหว่างทางไปกลับอย่างโดดเดี่ยว

โดยไม่ยอมให้สังคมมากำหนดหรือพิพากษาชีวิต

บรรณานุกรม

ขวัญเรียม จิตอารีย์. (2564). “เด็กหญิงของเมื่อวาน”. ใน ชายคาเรื่องสั้น 15 ประเทศสัจนิยมมหัศจรรย์. อุบลราชธานี : เขียน, 30-43.