Beyond the Site ศิลปะแห่งอุโมงค์ไม้ไผ่ ที่ผู้คนสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ภายในได้

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินระดับโลกที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า หวัง เหวิน-จื้อ (Wang Wen-Chih) ศิลปินชาวไต้หวัน ผู้ทำงานประติมากรรม และศิลปะจัดวางกลางแจ้งขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่สานขึ้นรูปเป็นโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าไปภายในผลงานได้

ผลงานของเขาได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมท้องถิ่นของเอเชีย ด้วยการประยุกต์งานช่างฝีมือพื้นบ้านมาใช้ในการสร้างงานศิลปะร่วมสมัย เขาใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติอย่าง ความยืดหยุ่น ความแข็งแรงคงทน และความสวยงามตามธรรมชาติของไม้ไผ่มาสร้างเป็นผลงานอย่างเชี่ยวชาญ จนกลายเป็นผลงานที่ผสมผสานระหว่าง ประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม และการออกแบบภูมิทัศน์เข้าด้วยกัน เพื่อสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบตัว ผ่านผลงานที่สร้างความดึงดูดใจและความประหลาดใจให้แก่ผู้ชมอย่างมาก

“หลังจากสร้างเสร็จแล้ว ผู้คนสามารถเข้าไปข้างในและเล่นสนุกและสัมผัสกับประสบการณ์ต่างๆ ภายในใจกลางผลงานของผมได้ ผมคิดว่าสิ่งนี้น่าสนใจกว่างานศิลปะที่ตั้งเอาไว้ให้คนดูเฉยๆ”

หวัง เหวิน-จื้อ เป็นตัวแทนของไต้หวันนำเสนอผลงานใน นิทรรศการมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 49 ในปี 2001 และมีบทบาทสำคัญในโครงการศิลปะสาธารณะหลายโครงการ ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงในหลายทวีป ทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ หวัง เหวิน-จื้อ นำเสนอผลงาน Beyond the Site (2023) โดยเป็นการร่วมงานระหว่างช่างฝีมือจากไต้หวันและสล่าของเชียงราย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปมีประสบการณ์ภายในผลงานของเขาได้ด้วยเช่นกัน

ดูๆ ไป ผลงานชิ้นนี้ของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับสถาปัตยกรรมที่ให้ผู้คนเข้าไปใช้สอยพื้นที่ภายในได้ หากศิลปินผู้นี้กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานของเขาว่า

“เมื่อเห็นผลงานของผม หลายคนอาจคิดว่าผมเป็นสถาปนิก แต่สิ่งที่งานของผมแตกต่างจากงานสถาปัตยกรรมหรืออาคารต่างๆ ก็คือ งานชิ้นนี้ไม่ได้มีประโยชน์ใช้สอยอื่นใดนอกจากเป็นพื้นที่เพื่อการผ่อนคลาย เหมือนเรามอบอุโมงค์กว้างให้คุณเข้ามาเพื่อพักผ่อน สงบจิตใจ ในขณะที่อาศัยอยู่ภายในร่มเงาของพื้นที่แห่งนี้ นั่นคือประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียวของงานชิ้นนี้”

“สิ่งที่ผมต้องการสร้างคือ พื้นที่แห่งหนึ่งที่คุณสามารถเข้ามาอยู่ภายในธรรมชาติ ให้คุณสามารถสัมผัสแสงอาทิตย์ สายลม สายฝน หรือแม้แต่เสียงร้องของนกได้ ผมอยากให้ทุกคนสัมผัสกับธรรมชาติภายในพื้นที่แห่งนี้ สำหรับผม การเข้ามาภายในอุโมงค์ไม่ต่างอะไรกับพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการเข้าไปสู่พื้นที่อันแตกต่างหลากหลาย เช่นนั้นการเข้ามาสู่อุโมงค์ก็เหมือนกับการเข้าไปสู่โลกมนุษย์ที่แท้จริง”

“ความหมายในอีกแง่หนึ่งของงานชิ้นนี้ก็คือ การที่ผมสร้างพื้นที่แห่งหนึ่งขึ้นมา ที่คุณจะสามารถเข้าไปพบกับคนแปลกหน้า พบเพื่อนใหม่ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ มีหลายคนเข้าไปพบกันภายในงานของผม และได้แต่งงานกันในท้ายที่สุด คู่รักหลายคนขอบคุณผมที่ทำให้พวกเขาได้พบกัน เพราะหลายคนบังเอิญได้พบกันโดยไม่ได้ตั้งใจในผลงานของผม”

“หลายคนไม่คิดว่าไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัตถุที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายทุกหนทุกแห่งจะสามารถนำมาใช้สร้างผลงานชิ้นใหญ่ขนาดนี้ได้ ผมใช้ไม้ไผ่สร้างพื้นที่ที่ผู้คนต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามานั่งเล่น นอนเล่น พูดคุยกันได้ ในปัจจุบัน งานสถาปัตยกรรมหลายแห่งใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการสร้างขึ้น ทั้งอาคารบ้านเรือน หรือใช้เป็นนั่งร้านในการก่อสร้าง ผมคิดว่าเป็นอะไรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมในโลกของเรา”

หวัง เหวิน-จื้อ เป็นศิลปินไต้หวันคนแรกที่เลือกใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการสร้างผลงานศิลปะขนาดใหญ่ ต่อมาในปัจจุบัน สถาปนิกหรือศิลปินในไต้หวันหลายคนก็หันมาใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานเช่นเดียวกัน เพราะไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบตามธรรมชาติที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในไต้หวัน

“เหตุผลที่ผมเลือกใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างงาน เพราะนอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ไม้ไผ่ยังเป็นวัตถุดิบที่ผมชื่นชอบด้วย ก่อนหน้านี้ ผมเคยทำงานกับวัตถุดิบธรรมชาติหลายอย่าง ในช่วงแรกๆ ของการทำงาน ผมเลือกใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ แต่เมื่อผมทำงานขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม้นั้นเป็นวัตถุดิบที่น้ำหนักมาก ขนส่งยาก ต้องเสียค่าขนส่งแพงมาก ผมเลยเลือกวัตถุดิบธรรมชาติชนิดอื่นๆ ผมหันมาเลือกไม้ไผ่ ซึ่งทำให้ผมทำงานในขนาดใหญ่มากๆ ได้ เพราะไม้ไผ่มีน้ำหนักเบา ทำให้ค่าขนส่งถูกกว่ามาก”

ด้วยรูปทรงอันแปลกประหลาด ดูคล้ายกับกระโจมของชนเผ่า ถ้ำดึกดำบรรพ์ หรือแม้แต่รังของสิ่งมีชีวิตอันไม่อาจระบุสายพันธุ์ หลายคนอาจสงสัยว่ามันมีที่มาจากอะไรกันแน่ ซึ่งศิลปินผู้นี้เฉลยให้เราฟังว่า

“รูปทรงของผลงานชิ้นนี้ ผมได้แรงบันดาลใจอย่างมากจากเครื่องแต่งกายพื้นบ้านของไทยอย่างหมวกงอบ หรือแม้แต่รูปทรงสามเหลี่ยมบนยอดหลังคาของ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) ผมยังต้องการให้ผลงานชิ้นนี้ของผมมีรูปทรงแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่นๆ ที่ผ่านมาผลงานทุกชิ้นของผมมีความแตกต่างกันทุกชิ้น ทั้งภายนอกและภายใน”

“ในผลงานที่ผ่านๆ มา ในบางประเทศ ผมไม่ใช้โครงสร้างเหล็กในงานของผมมากเท่าไหร่ แต่ผลงานชิ้นนี้เราต้องการให้งานคงทนอยู่เป็นเวลานานขึ้น เราจึงใช้โครงสร้างเหล็กมากกว่าที่อื่นๆ ซึ่งสีขาวและดำของโครงสร้างเสาเหล็กในงานชิ้นนี้ นอกจากจะได้แรงบันดาลใจจากสีสันของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเชียงรายแล้ว สีขาวและดำยังได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์หยินหยางด้วยเช่นกัน ในความเชื่อของผม ความเป็นหยินหยางนั้นอยู่ในธรรมชาติและในทุกสรรพสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สีขาวและดำ ที่เป็นคู่ตรงข้ามกันนั้นก็มีความเป็นหยินหยางอยู่ภายใน”

เมื่อเราเข้าไปเห็นยกพื้น ที่ให้คนไว้นั่งนอนเล่นภายในศิลปะจัดวางรูปอุโมงค์แห่งนี้ ก็ทำให้เราอดนึกไปถึงแคร่ไม้ไผ่ของไทยอยู่ไม่หยอกเหมือนกัน

“ผมไม่เคยเห็นแคร่ไม่ไผ่ของไทยนะ แต่ผมคิดว่าที่นั่งแบบนี้น่าจะดีต่อร่างกายเหมือนกับการได้นวดตัวด้วยลำไม้ไผ่ ตอนแรกผมคิดจะเอาเสื่อไทยมาปูรองนั่งเหมือนกัน แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ผมก็คิดได้ว่า ให้ผู้ชมได้นวดตัวก็ดีเหมือนกันนะ น่าจะดีต่อร่างกายเรา”

หวัง เหวิน-จื้อ กล่าวถึงการร่วมงานกับช่างท้องถิ่นชาวเชียงรายในการสร้างผลงานชิ้นนี้ว่า

“ผมมีความสุขมากที่ได้ร่วมงานกับช่างท้องถิ่นที่นี่ ตอนนี้เรากลายเป็นเพื่อนกันแล้ว หลังจากเราทำงานเสร็จ ผมก็ได้มอบเครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุดิบ หรือแม้แต่เสื้อผ้าให้แก่ช่างท้องถิ่นเหล่านี้ไว้ใช้สอย พวกเขาก็เอาหมากพลูมาแบ่งให้ผมลองกินดู เหมือนพวกเราเป็นเพื่อนสนิทกัน”

นอกจากนี้ ศิลปินผู้นี้ยังเผยให้เราฟังถึงแรงบันดาลใจสำคัญเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้อีกว่า

“เราเดินทางมาที่เชียงรายเมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อสำรวจเยี่ยมชมพื้นที่ และเรียนรู้วัฒนธรรมที่นี่ เราได้รับแรงบันดาลใจจากที่นี่มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ้านดำ ของ ถวัลย์ ดัชนี และ วัดร่องขุ่น ของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แต่สำหรับผม ข้างในวัดร่องขุ่นและบ้านดำ นั้นไม่ทำให้เราสงบนิ่งเท่าไหร่ เพราะภายในสถานที่ทั้งสองนั้นมีรายละเอียดเยอะแยะมากมายและวิจิตรพิสดารมาก ผมจึงอยากทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป ผมต้องการให้งานของผมสร้างความสงบนิ่งให้ผู้คน”

“อีกอย่าง โครงสร้างผลงานชิ้นนี้ถูกแบ่งเป็นสามชั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ของสามโลก คือ ท้องฟ้าเบื้องบน ผืนแผ่นดินโลก และใต้พิภพ ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจจากแนวคิด เปิดโลก (The Open World) (ที่ได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางเปิดโลก อันมีที่มาจากพุทธตำนาน พระเจ้าเปิดโลก หรือเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์และบันดาลให้โลกภูมิต่างๆ ทั้งสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกภูมิ เปิดสว่างจนมองเห็นซึ่งกันและกันได้) ของมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 อีกด้วย”

จะว่าไป ลักษณะที่ว่านี้ยังบังเอิญพ้องกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของไทยมีลักษณะเป็นเรือนยกพื้น ใต้ถุนสูง อยู่ไม่หยอกเหมือนกัน

“หลังจากสร้างเสร็จแล้ว ผลงานชิ้นนี้จะเป็นสมบัติของ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ซึ่งถ้าดูแลดีๆ ก็จะสามารถอยู่ได้นานหลายปี ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและฟ้าฝนที่นี่ และการดูแลรักษา ยังไงก็ขอมอบผลงานชิ้นนี้ให้แก่ชาวเชียงราย และประชาชนชาวไทยด้วยนะครับ” หวัง เหวิน-จื้อ กล่าวทิ้งท้าย

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน “Beyond the Site” ของ หวัง เหวิน-จื้อ ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM)

ขอบคุณภาพจากศิลปินและคุณเหม่ยเหวิน (Meiwen) ผู้แปลภาษาในการสัมภาษณ์ศิลปิน •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์